|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธุรกิจรักษาพยาบาลในพื้นที่ภาคตะวันออกส่อแววแข่งดุตั้งแต่ต้นปี 50 หลายแห่งทุ่มงบฯก้อนโต พัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ ชูความเป็นต่อและความพร้อมในการรักษาพยาบาลแบบครบวงจร โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา เปิดใช้อาคารรักษาผู้ป่วยหลังใหม่ที่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการขนย้ายผู้ป่วยทางอากาศมูลค่า 1.2 พันล้านบาท อย่างเป็นทางการ ขณะที่สมิติเวชศรีราชา ประกาศลงทุนด้านเครื่องมือแพทย์ในปีนี้อีก 120 ล้าน พร้อมเปิดศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางอย่างต่อเนื่อง ส่วนโรงพยาบาลในเครือกรุงเทพภาคตะวันออกทั้ง 4 แห่งจับมือร่วม 4 บริษัทประกันชั้นนำขยายฐานลูกค้าประกันสุขภาพ
การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคตะวันออก ไม่เพียงแต่จะส่งผลให้เกิดการขยายการลงทุนในภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เพื่อรองรับกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
ในส่วนของธุรกิจรักษาพยาบาลก็ขยายตัวตามเช่นกัน เหตุเพราะรายได้ต่อหัวประชากรในภูมิภาคแห่งนี้สูงเป็นรองเพียงกรุงเทพมหานครเท่านั้น โดยรายได้ประชาชาติของภาคตะวันออกสูงถึง 572,837 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16% ของทั้งประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ มุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้ากลุ่มผู้เอาประกันกับบริษัทประกันชีวิตต่างๆ ที่หันมาให้บริการประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพเครือข่ายภาคตะวันออก อันประกอบด้วยโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี และโรงพยาบาลกรุงเทพตราด ถือเป็นกลุ่มที่ขยับตัวก่อนใครด้วยการหันมาจับมือกับบริษัทประกันภัยชั้นนำ 4 แห่งคือบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด บริษัท ไทยประกันภัยสุขภาพ จำกัด บริษัท เจนเนอราลี่ประกันภัย (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท กมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) เดินหน้าขยายฐานบริการลูกค้ากลุ่มประกันสุขภาพ ซึ่งในแต่ละปีมูลค่าตลาดรวมของฐานคนไข้กลุ่มนี้มีไม่น้อยกว่า 500ล้านบาท
แพทย์หญิงยิ่งดาว ไกรฤกษ์ ประธานบริหารกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพเครือข่ายภาคตะวันออก กล่าวถึงการรวมตัวของโรงพยาบาลกรุงเทพภาคตะวันออกกับบริษัทประกันภัยทั้ง 4 แห่งว่า เพื่อให้กลุ่มคนไข้ในพื้นที่ได้มีหลักประกันที่มั่นคงด้านสุขภาพ และยังรวมความทันสมัยของเทคโนโลยีทางการแพทย์และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาพยาบาลเฉพาะทาง นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจที่กลุ่มคนไข้มีต่อโรงพยาบาลทั้งในส่วนของทีมแพทย์ เครื่องมือที่ทันสมัย สอดคล้องกับนโยบายในการพัฒนางานบริการให้ครอบคลุม
ทั้งนี้ในแต่ละปีโรงพยาบาลกรุงเทพ ทั้ง 4 แห่ง มีรายได้จากการให้บริการคนไข้กลุ่มประกันสุขภาพไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท และคาดว่าเมื่อสร้างพันธะมิตรในการดำเนินธุรกิจแล้วรายได้จากการให้บริการคนไข้กลุ่มนี้จะเติบโตอีกไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี
เช่นเดียวกับโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ที่ถือฤกษ์ดีเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ ทำพิธีเปิดใช้บริการอาคารขนาด 15 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารผู้ป่วยหลังใหม่ที่ใช้งบฯ ก่อสร้างถึง 1.2 พันล้านบาทอย่างเป็นทางการ โดยมีนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดอาคาร อาคารแห่งนี้เป็นอาคารขนาด 400 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากถึง 1,800 คนต่อวัน และยังมุ่งเน้นให้เป็นศูนย์การรักษาโรคระดับตติยภูมิและเป็นศูนย์กลางของกลุ่มโรงพยาบาลในภาคตะวันออก และบนชั้นที่15 ยังจัดสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ระดับมาตรฐานโลก เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ
นายแพทย์พิรัส ประดิษฐวณิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา เผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2549 ที่ผ่านมาว่ามีการขยายตัวของฐานคนไข้ทั้งชาวไทยและต่างชาติมากถึง 35% ซึ่งผลจากการดำเนินนโยบายสานต่อการเป็น "เมดิคอลฮับ" ในพื้นที่ภาคตะวันออก ทำให้โรงพยาบาลฯ ต้องพัฒนาองค์กรเพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากรให้มีคุณภาพ ด้วยการเน้นงานบริการในระดับมาตรฐานสากลเทียบเท่าโรงแรมระดับ 5 ดาว ส่วนความพร้อมด้านบุคลากรแพทย์นั้น โรงพยาบาลฯมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขากว่า 90 คน และยังมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการรักษาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ยังจัดให้มีล่ามกว่า 20 ภาษาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยชาวต่างชาติ และเปิดให้บริการศูนย์ต่ออายุหนังสือเดินทางภายในโรงพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว หรือชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการภายในโรงพยาบาลอีกด้วย
ด้านโรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา ล่าสุดก็ได้ประกาศทุ่มงบประมาณในปี 2550 อีก 100-120 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาโรคเฉพาะทาง และในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ใช้งบประมาณจำนวน 50 ล้านบาท จัดซื้อเครื่อง MRI รุ่นล่าสุดเพื่อใช้ในศูนย์ MRI และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ รวมถึงศูนย์สมอง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการวินิจฉัย ตรวจรักษาโรคทางสมอง กระดูกสันหลัง หัวเข่าและเส้นเลือดต่างๆ รวมทั้งระบบทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ
นายแพทย์สมชาย พัฒนะอเนก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา กล่าวถึงศูนย์ฯดังกล่าวว่า จะรองรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสมอง กระดูกสันหลังฯลฯ ที่ต้องการการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ซึ่งเครื่องมือที่นำเข้ามานี้จะให้การรักษาและวินิจฉัยโรคที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจะสามารถรองรับกลุ่มคนไข้ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและใกล้เคียง รวมถึงกลุ่มคนไข้ในจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้วได้โดยไม่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และในปี 2550 ยังมีแผนที่จะใช้งบประมาณอีก 100-120 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการตรวจและวินิจฉัยโรคเฉพาะทางต่างๆ อีกด้วย
|
|
|
|
|