แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ปรับโฟกัสการตลาด เพิ่มสัดส่วนบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้าน จาก
13% เป็น 25% รองรับลูกค้าระดับกลางที่เริ่มฟื้นตัว ส่วนผลประกอบการปีที่ผ่านมาฟันกำไรเพิ่ม
146% ด้านกฤษดามหานครแจงยังขาดทุนเพราะปรับหนี้ไม่แล้วเสร็จ
นายอนันต์ อัศวโภคิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
หรือ LH เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปีนี้ว่า มีแผนจะเปิดโครงการใหม่เพิ่มอีก 15
โครงการ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 22,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนยูนิต ประมาณ 4,000 ยูนิต
โดยปีที่แล้วบริษัทส่งมอบบ้านให้ลูกค้าประมาณ 2,800 ยูนิต ส่วนในปีนี้จะส่งมอบเพิ่มอีก
20-25% โดยทุกๆ เดือนจะมีบ้านสร้างเสร็จพร้อมขายในมือ 250-300 ยูนิต
เพิ่มสัดส่วนบ้าน 3 ล้านลงมา
ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ากลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ได้มุ่งกวาดลูกค้ากลุ่มที่มีกำลังซื้อบ้านเดี่ยวในระดับ
ราคา 5 ล้านบาทขึ้นไปมาโดยตลอด แต่มาในปีนี้ ทางแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ก็ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า
โครงสร้างด้านราคาของสินค้าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน ในแง่ของจำนวนยูนิตที่มีการส่งมอบให้
ลูกค้า
โดยในปี 2545 บริษัทมีบ้านระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13% ของจำนวนยูนิตทั้งหมดที่โอนกรรมสิทธิ์
ส่วนที่เหลือเป็นบ้านราคา 3 ล้านบาทขึ้นไปจนถึง 20 ล้านบาท ขณะที่ในปีนี้นั้น บ้านในระดับราคาไม่เกิน
3 ล้านบาท จะเพิ่มสัดส่วน เป็น 25% สำหรับบ้านราคา 5 ล้านบาทขึ้นไปจะมีสัดส่วนราว
40% ส่วนอีก 35% คือบ้านที่มีระดับราคาระหว่าง 3-5 ล้านบาท
จากการหันมาโฟกัสที่บ้านหลังเล็กลงมากขึ้น ในครั้งนี้ อาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ได้ว่าตลาดบ้าน
ระดับบนความต้องการเริ่มจะคลายตัวลงแล้ว หรือใกล้ถึงจุดอิ่มตัว ขณะที่บ้านราคา
2.5-3 ล้านบาท เริ่มกลายเป็นตลาดดาวรุ่งที่ฟื้นต่อเนื่องจากกำลังซื้อระดับบน เนื่องเพราะปัจจัยด้านดอกเบี้ยที่อยู่ใน
ระดับต่ำ ส่งผลให้ผู้บริโภคที่เคยซื้อบ้านในราคาล้านปลายๆ สามารถขยับกำลังซื้อมาเป็นบ้านราคา
2 ล้านกว่าได้ไม่ยากนัก
"ในจำนวนโครงการใหม่ที่เปิดตัวมี 12 โครงการ ที่พัฒนาเป็นโครงการบ้านเดี่ยว สำหรับกลุ่มเป้าหมายระดับราคาตั้งแต่
2.5 - 10 ล้านบาท ส่วนอีก 3 โครงการเป็นโครงการทาวน์เฮาส์ระดับราคาเริ่มต้น ที่
3 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่ดำเนินงานอยู่ 26 โครงการ ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ
20 โครงการ" นายนพร สุนทรจิตต์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ LH กล่าวเสริม
คาดตลาดบ้านเดี่ยวโตได้อีก 30%
นอกจากนั้นนายอนันต์ยังได้กล่าวถึงภาพรวมของภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีที่ผ่านมาว่า
หากพิจารณาจากจำนวนที่อยู่อาศัยจดทะเบียนเพิ่มในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลว่า ตัวเลขแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย
โดยปี 2544 มีการจดทะเบียน 34,023 ยูนิต ขณะที่ ปี 2545 มีการจดทะเบียน 34,035
ยูนิต หรือเพิ่มขึ้นแค่ 0.04% เท่านั้น
สำหรับสาเหตุที่ตัวเลขโดยรวมที่ขยับขึ้นไม่มากถ้าพิจารณารายละเอียดจะพบว่าเป็นเพราะตลาด
อาคารชุดที่หดตัวลงอย่างมากถึง 58% แต่ทาวน์เฮ้าส์จัดสรรและบ้านเดี่ยวจัดสรรเติบโตขึ้น
51.41% และ 48.29% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในส่วนของบ้านจัดสรรมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.6% คือมีการจดทะบียนรวม
16,342 ยูนิต ซึ่งคิดเป็น 11.6% ของตัวเลขจัดสรรจดทะเบียนของปีที่เติบโตสูงสุด
"ตัวเลขอาคารชุดที่ตกลงไปมากมีสาเหตุหลักมาจากอาคารชุดที่เหลือส่วนใหญ่เป็นยูนิตขนาดเล็ก
สำหรับผู้มีรายได้น้อย ราคาต่ำกว่า 5 แสนบาท ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะยื่นขอกู้สินเชื่อจากแบงก์
และนี่เป็นคำตอบที่ว่าทำไมถึงมีคนแห่ไปจองบ้านเอื้ออาทรของการเคหะฯเป็นจำนวนมาก"
ดังนั้น ตลาดในปีนี้ยกเว้นอาคารชุดราคาถูกน่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าตลาดบ้านเดี่ยวน่าจะเติบโตได้อีกอย่างน้อย
30% แต่อุปสรรคใหญ่ของธุรกิจคงหนีไม่พ้นเรื่องวัสดุก่อสร้างขึ้นราคา อันมีสาเหตุมาจากต้นทุนที่แท้จริงและกระแสความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น
แม้ว่าขณะนี้กำลังการผลิตจะใช้ยังไม่เต็มที่ก็ตาม
นอกจากนี้ ปัญหาด้านการขนส่งและแรงงาน จะเป็นข้อจำกัดที่ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้า
ประกอบกับปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่รัฐจะให้ความช่วยเหลือ ในส่วนของมาตรการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียม
ผู้ประกอบการทุกค่ายจึงต้องแข่งกันสร้างให้ทัน เพราะปีก่อนรับจองไว้จำนวนมาก
ปีนี้วางงบลงทุน 4 พันล้าน
นายอดิศร ธนนันท์นราพูล รองกรรมการ ผู้จัดการ LH ชี้แจงถึงงบลงทุนในปีนี้ว่า
ได้เตรียมเม็ดเงินไว้ทั้งสิ้น 4,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาในปี
2547 เป็นจำนวนอย่างน้อย 3,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
โดยเงินลงทุนทั้งหมดจะมาจากกระแสเงินสดที่ได้รับจากการดำเนินงานปกติ
ด้านผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2545 LH มีกำไร 3,820.12 ล้านบาท ในขณะที่งวดเดียวกันของปีก่อน
มีกำไรสุทธิจำนวน 1,551.32 ล้าน บาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,268.80 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น
146.25%
เนื่องจากยอดขายจากการโอนบ้านที่สูงขึ้นจากปีก่อน 45% หรือมียอดขาย 15,103 ล้านบาท
ส่วนดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงจากเงินกู้ที่ลดลงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำลงกว่าปีก่อนทำให้ดอกเบี้ยจ่ายน้อยลงจำนวน
200 ล้านบาท
ประกอบกับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายของบริษัทและบริษัทย่อยลดลงมากเมื่อเทียบกับ
ทั้งอุตสาหกรรม คือเเหลือเพียงร้อยละ 7.6 ของยอดขายในปี 2545 โดยลดลงจากระดับร้อยละ
9.4 ของยอดขายในปี 2544
อีก 2 ปีใช้หนี้ธนาคารหมด
ฐานะทางการเงินในรอบปีที่ผ่านมาบริษัทได้คืนเงินกู้กว่า 2,200 บาท และส่วนของผู้ถือหุ้น
ได้เพิ่มขึ้นกว่า 5,000 ล้านบาท ทำให้สัดส่วน หนี้สินต่อทุนลดลงจาก 0.73:1 มาอยู่ที่
0.40:1 เมื่อสิ้นปี 2545
"ในปีนี้เรามีแผนที่จะคืนหนี้แบงก์อีก 2,000 - 3,000 ล้านบาท นั่นเท่ากับว่าอีก
2 ปีข้างหน้า บริษัทแทบจะไม่มีหนี้สถาบันการเงินเหลืออีกเลย สำหรับโครงสร้างของเงินกู้ปัจจุบันบริษัทพึ่งพาตลาดทุนมากขึ้นเป็น
60% จากที่มีสัดส่วนของเงินกู้ 63% ก็จะเหลือ40% จากเงินกู้ทั้งหมด 6,000 ล้านบาท"
นายอดิศรกล่าว
KMCแจงเริ่มมีกำไร จากการดำเนินงาน
ด้านนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ กรรมการ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด(มหาชน)
เปิดเผยถึงผลประกอบการในปีที่ผ่านมาว่า มีผลขาดทุนสุทธิ 1,316 ล้านบาท ทั้งนี้มีสาเหตุหลัก
3 ประการ คือ 1.ในปีที่ผ่านมาบริษัทยังไม่ได้ลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้
2 รายสุดท้าย คือบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.) และธนาคารกรุงไทย ทำให้บริษัทยังคงต้องบันทึกภาระดอกเบี้ยจ่ายจำนวนกว่า
300 ล้านบาท โดยคาดว่าจะลงนามได้ภายในเดือนมี.ค.นี้
2.บริษัทได้ยกเลิกสัญญากับลูกค้า จำนวน 20 ราย ที่ไม่ได้รับโอนสินค้าที่สร้างเสร็จแล้ว
จำนวน 932 ล้านบาท และ 3.บริษตั้งสำรองในส่วนของมูลค่าที่ดินที่ได้รับการประเมินใหม่เพิ่มขึ้นอีก
141 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น
"ดังนั้น เมื่อนำรายการพิเศษต่างๆ มาลบ ด้วยยอดขาดทุนสุทธิ จะเป็นกำไร 136.777
ล้านบาท ซึ่งในงบปีนี้ ส่วนที่สำรองไว้จะกลับมาทันที 1,453 ล้านบาท และเรายืนยันว่ารายได้ในปีนี้จะรับรู้ได้
มากกว่า 1,500 ล้านบาท อย่างแน่นอน" นายรัชฎากล่าว