2 ผู้บริหารทศท.กสท. ยัดไส้ซื้อซ้ำขยายเครือข่ายไทยโมบายกว่า 2 พันล้านบาท หวังให้คุณหญิงทิพาวดี
พิจารณาอนุมัติ แต่ผิดหวังถูกตีกลับทบทวน แผนธุรกิจใหม่ ด้านนอร์เทล อัดแหลกเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
แหล่งข่าวจากบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการกิจการร่วมค้าไทยโมบาย
(ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบจีเอสเอ็ม 1900 เมกะเฮิรตซ์) หรือซูเปอร์บอร์ดว่าในการประชุมเมื่อวันที่
28 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงไอซีทีเป็นประธาน
ได้มีการยัด ไส้เรื่องการขออนุมัติขยายโครงข่ายเพิ่ม อีกประมาณ 2,000 กว่าล้านบาทโดยเป็น
การซื้อซ้ำจากกลุ่มคอนซอร์เตี้ยมเดิมคือซีเมนส์ อีริคสันและเอ็นอีซี โดยไม่ได้มีการเปิดประมูลทั่วไป
รายละเอียดในการขยายโครงข่ายเพิ่มอีกประมาณ 2 แสนเลขหมายจะเป็นการซื้อสถานีฐานเพิ่ม
จากซีเมนส์และอีริคสันรวมกันประมาณ 300 สถานีและโครงข่ายอัจฉริยะหรือไอเอ็นกับไมโครเวฟจากเอ็นอีซี
โดยแบ่งเป็น 2 ขั้น ขั้นแรกซื้ออุปกรณ์ 22.715 ล้านเหรียญกับอีก 719.97 ล้านบาทเป็นค่าติดตั้งขั้นที่
2 ซื้ออุปกรณ์ 7.806 ล้านเหรียญกับอีก 54.18 ล้าน บาทเป็นค่าติดตั้ง และค่าไอเอ็นไมโครเวฟ
4.681 ล้านเหรียญกับอีก 13.467 ล้านบาทเป็นค่าติดตั้ง
รวมทั้เสนอคือค่าอุปกรณ์ 35.203 ล้านเหรียญหรือ 1,513.729 ล้านบาท (1 เหรียญเท่ากับ
43 บาท) กับ 787.619 ล้านบาท หรือคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 2,301.348 ล้านบาท
การยัดไส้เสนอขออนุมัติดังกล่าวสร้างความไม่สบายใจให้นายสิทธิชัย ส่งพิริยะกิจ
กรรมการผู้จัดการใหญ่ทศท.เป็นอย่างมาก ถึงกับปรารภกับคนใกล้ชิดว่าควรจะต้องมีคนช่วยกลั่นกรองเรื่องต่างๆก่อนเสนอให้ซูเปอร์บอร์ด
พิจารณา ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับทศท.และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) รู้เห็นเป็นใจด้วย
แหล่งข่าวกล่าวว่าทั้งนายอรัญ เพิ่มพิบูลย์ รอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ทศท.กับนายกิตติน
อุดม เกียรติรองผู้ว่าการกสท.ซึ่งอยู่ในไทยโมบายต่างก็เคย ผ่านการทำงานโครงการขนาดใหญ่มาแล้ว
น่าจะรู้ดีว่า โครงการงบลงทุนขนาดพันล้านบาทจำเป็นต้องผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนา
การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ก่อน
อีกทั้งไทยโมบายอยู่ในสภาพรัฐวิสาหกิจ ต่างจากเอซีทีเดิมที่ได้รับอนุมัติจากครม.ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบรัฐวิสาหกิจ
จนเป็นที่มาทำให้การติดตั้งโครงข่ายล่าช้า
"ผู้บริหารทั้ง 2 ท่านก็ร่วมไปดูงาน 3 GSM World Congress 2003 ที่ฝรั่งเศส เกี่ยวกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ
3G ตอนกลับมาคุณอรัญยังจะให้ซัปพลายเออร์รายหนึ่งมาทดลอง 3G จำนวน 2 สถานีฐาน แต่อยู่ๆ
กลับเสนอขยายโครงข่าย 2G เดิมของไทยโมบายเพิ่ม"
คุณหญิงไอซีทีตีกลับแผนธุรกิจ
นายอรัญ เพิ่มพิบูลย์ ในฐานะผู้จัดการกิจการ ร่วมค้าไทยโมบาย กล่าวภายหลังการประชุมซูเปอร์บอร์ดที่มีคุณหญิงทิพาวดี
เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวง ไอซีทีเป็นประธานว่าที่ประชุมได้ให้กิจการร่วมค้าไทยโมบายกลับไปทบทวนแผนธุรกิจใหม่
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นจำนวนผู้ใช้ไทยโมบาย หลังจากที่เปิดตัวมายังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย
ที่วางไว้ ปัจจุบันมียอดผู้ใช้เพียง 1 หมื่นกว่ารายเท่านั้น
ตัวเลขที่คณะกรรมการกิจการร่วมค้าไทยโมบายตั้งไว้สำหรับแผนธุรกิจใหม่คือต้องสร้างยอดตัวเลขผู้ใช้ให้ได้
1 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้ แบ่งเป็นช่วง ครึ่งปีแรก 500,000 ราย และครึ่งปีหลังอีก
500,000 ราย ทำให้ไทยโมบายจะต้องมีการลงทุนขยายเครือข่ายเพิ่มเติม ซึ่งในเรื่องนี้จะมีการเสนอแผนงบประมาณลงทุนเครือข่ายอีก
5,000 ล้านบาท หลังจาก ที่ในช่วงเปิดตัวไทยโมบายมีการลงทุนไปแล้ว 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในงบประมาณ 5,000 ล้านบาทที่จะลงทุน เพิ่มนั้น จะแบ่งการลงทุนออกเป็นสองช่วง
คือช่วงครึ่งปีแรก 2,000 ล้านบาท และช่วงครึ่งปีหลัง 3,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการลงทุนเพิ่มในส่วนนี้จะต้อง
เสนอกลับมาพร้อมกับแผนธุรกิจใหม่ให้คณะกรรม การกิจการร่วมค้าได้พิจารณาอีกครั้งภายใน
2 สัปดาห์
"การทุ่มงบประมาณก้อนใหม่เพื่อขยายเครือข่ายในครั้งนี้ จะเป็นจุดสำคัญที่จะช่วยฉุดดึงสิ่งที่เรา
ได้ลงทุนไปแล้วกว่า 3 พันล้านบาท แต่ยังไม่สามารถ กระตุ้นตลาดได้ ซึ่งการขยายเครือข่ายเองย่อมดีกว่า
การที่จะไปใช้เครือข่ายของคนอื่น"
สำหรับยอดลูกค้าจำนวน 500,000 รายในช่วง ครึ่งปีแรกนั้น นายอรัญ กล่าวว่าไม่น่าที่จะมีปัญหาอะไรเนื่องจากจะมียอดจากการคืนค่าประกันเลขหมายของทศท.จำนวน
150,000 เลขหมายในครั้งแรก และสำหรับโครงการคืนเงินประกันในครั้งที่สองจะมีจำนวนอีก
200,000 เลขหมาย ส่วนที่เหลือจะได้มาจากการทำตลาดผ่านตัวแทนจำหน่ายของไทยโมบายคือสามารถกับไออีซี
นอกจากนี้ในการทำตลาดไทยโมบายเพื่อให้ยอดตามเป้าหมายที่คณะกรรมการกิจการไทยโมบายได้วางไว้นั้น
จะมีการพิจารณาปรับโปรโมชั่นเพิ่มเติมอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดต่างจังหวัดที่จะเน้นทำตลาดเป็นพิเศษ
โปรโมชั่นที่คิดไว้นั้นไทยโมบายจะจัดโปรโมชั่นให้ผู้ใช้ต่างจังหวัดโทร.ฟรี 100
ครั้ง เชื่อว่าน่าจะกระตุ้นตลาดได้เป็นอย่างดี รวม ทั้งการเปิดตัวระบบพรีเพดสำหรับไทยโมบายในเร็วๆ
นี้ จะยิ่งมีส่วนผลักดันให้ตลาดของไทยโมบายเติบโต ขึ้นด้วย
นอร์เทลอัด "ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ"
นายทอม เครือโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นอร์เทล เน็ทเวิร์คส์ (ประเทศไทย)
จำกัด กล่าวว่า การลงทุนใหม่สำหรับไทยโมบายในการขยายเครือข่ายนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล
เนื่องจากสถานการณ์ธุรกิจของไทยโมบายไม่ได้ดีอย่างที่คิดไว้ ปัจจุบันมียอดลูกค้าเพียงพันกว่ารายเท่านั้น
การลงทุนใหม่เหมือนการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หลังจากที่คิดผิดตั้งแต่เริ่มการลงทุนพัฒนาธุรกิจและพัฒนาเครือข่าย
น่าจะใช้ความได้เปรียบที่ทศท.เป็นผู้ถือสิทธิ์การให้บริการ 3G ในอนาคต เป็นทางเลือกใหม่สำหรับธุรกิจ
มากกว่า
"ผมแปลกใจเหมือนกันว่ารัฐยอมทุ่มเงินลงทุนกับโครงการที่ไม่มีอนาคตอย่างไทยโมบาย
แต่กับโครงการที่มีอนาคตอย่างการให้บริการซีดีเอ็มเอ กลับไม่มีความคืบหน้า ทั้งๆ
ที่มีการพิจารณาคัดเลือก คนที่พัฒนาเครือข่ายเรียบร้อยแล้ว"
อย่างไรก็ตาม ทางนอร์เทลยังรอคำตอบจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ว่าจะให้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายซีดีเอ็มเอหรือไม่
เพราะถือเป็นโครงการใหญ่ และหากต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง ในด้านราคางบประมาณการลงทุนก็สามารถพูดคุยกัน
สิ่งเหล่านี้ทางบริษัทรอการพิจารณาจากทางภาครัฐอยู่
ด้านนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
กล่าว ว่าการพัฒนาซีดีเอ็มเอนั้น ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องพิจารณาถึงงบประมาณการลงทุนเป็นสำคัญ
เนื่องจากโครงการนี้มีมูลค่าสูงมากถึง 31,000 ล้านบาท ตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงเกินไปหากเปรียบเทียบกับราคามาตรฐานที่มีบริษัทได้การวิจัยไว้
จึงน่าที่จะหาข้อสรุปที่ดีที่สุดก่อนที่จะตัดสินใจเลือกพัฒนาโครงการนี้ต่อไป
ในความเป็นจริงแล้วจากการได้พูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทควอลคอมม์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการซีดีเอ็มเอรายใหญ่ของโลก
ได้มีการถามถึงความเป็นไปได้ที่จะนำเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอเชื่อมกับการให้บริการของโครงข่ายอื่นๆ
อย่างจีเอสเอ็ม คำตอบก็คือสามารถทำได้ โดยเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังออกสู่ตลาดอันใกล้นี้
จะสามารถเชื่อมการให้บริการระหว่างสองระบบนี้ได้ หมายความว่าการให้บริการซีดีเอ็มเอ
สามารถที่โรมมิ่งกับเครือข่ายจีเอสเอ็มที่มีอยู่ได้ เทคโนโลยีใหม่ที่ว่าจะออกวางสู่ตลาดประมาณไตรมาสที่
3 หรือ 4 ของปีนี้ นอกจากนี้ทาง ชินคอร์ปเองได้มีการยืนยันว่าสามารถที่จะให้บริการข้ามเครือข่ายให้กับซีดีเอ็มเอได้
"เราต้องการที่จะอุดช่องโหว่ของการทำตลาดให้ กับการบริการซีดีเอ็มเอ เพราะหากติดปัญหาเรื่องของการให้บริการในพื้นที่ไม่มีเครือข่าย
ย่อมไม่เป็นที่ต้องการผู้บริโภคอย่างแน่นอน แต่หากสามารถใช้การโรมมิ่งให้เกิดขึ้นได้
การทำตลาดเพื่อขายสินค้าก็สามารถโปรโมตได้ว่ามือถือซีดีเอ็มเอสามารถใช้ได้ทั่วประเทศ"
หวังงุบงิบซื้อเครือข่าย