|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ในขณะที่ข่าวสารบ้านเมืองกำลังให้ความสนใจอยู่กับจุดจบยกแรกของสื่อเสรี ไอทีวี ที่มีจุดกำเนิดภายหลังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งในบ้านเมือง พฤษภาทมิฬ 2535 โดยคณะรัฐมนตรีเฉพาะกาลของนายอานันท์ ปัณยารชุน การก่อรัฐประหาร กันยายน 2549 ก็กำลังนำมาซึ่งการกำเนิดของสื่อเสรีอีกสถานี ที่รัฐบาลขิงแก่ของ พล อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นผู้ขับเคลื่อน ภายใต้ชื่อ ทีวีสาธารณะ
กฎหมายการจัดตั้งทีวีสาธารณะ ที่กำลังอยู่ในรูปของ ร่าง พ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ (พ.ร.บ.โทรทัศน์สาธารณะ) จึงถูกหลายฝ่ายในวงการสื่อหาแนวทางในการทำคลอดทีวีสาธารณะ เลี้ยงดูให้เติบโตคู่สังคมไทย โดยไม่ถูกผู้ปกครองประเทศไม่ว่ายุคสมัยใดเข้าครอบงำใช้เป็นประโยชน์ส่วนตน และพวกพ้องได้
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ หนึ่งในคณะกรรมการผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ.โทรทัศน์สาธารณะ กล่าวถึงแนวทางหากการจัดตั้งโทรทัศน์สาธารณะ เพื่อเป็นสถานีที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ส่งเสริมการผลิตข่าวสารที่เป็นจริง เป็นกลาง ส่งเสริมประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชน การถกอภิปรายของประชาชนในประเด็นสาธารณะที่มีความสำคัญ เช่น โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ นโยบายสำคัญของรัฐที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง การนำเสนอข้อคิดเห็นในรายการเหล่านั้นต้องเป็นข้อคิดเห็นที่ให้ปากให้เสียงกับทุกฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างกัน ไม่ใช่เป็นการนำเสนอข้อมูลมุมเดียว ส่งเสริมการทำความดี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชน และประชาชน ซึ่งจะช่วยสร้างท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ประมาณการว่าต้องใช้งบประมาณทุนประเดิม 3,000 ล้านบาท ในการสร้างสถานีใหม่ หรืออาจลดลงหากเลือกแปลงสภาพจากสถานีโทรทัศน์ของรัฐ เช่น ช่อง 11 หรือไอทีวี และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอีกปีละ 2,000 ล้านบาท โดย 1,700 ล้านบาท เป็นส่วนของการผลิต และออกอากาศ อีก 300 ล้านบาท เป็นเงินสนับสนุนผู้ผลิตรายการชุมชนในการผลิตรายการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการใช้สื่อโดยภาคประชาชนเองโดยตรง
บี้เพิ่มสัมปทาน ทีวี 3 - 7 ดึงรายได้ละครน้ำเน่าหนุนสื่อน้ำดี
ดร.สมเกียติ อ่อนวิมล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แสดงความเห็นด้านเงินงบประมาณสนับสนุนว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะนำเงินรายได้มาจากรัฐโดยตรง เมื่อผู้ที่จัดสรรให้เป็นฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายการเมือง ก็จะเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาแทรกแซงได้ แต่ถ้าที่มาของรายได้มาจากประชาชน จะน่าจะทำให้โทรทัศน์สาธารณะทำหน้าได้ตามที่มุ่งหวังได้มากกว่า ดังนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า ถ้าเงินมาจากภาษี หรือสิทธิสัมปทาน แต่ต้องมาจากประชาชนโดยตรง
ด้าน รศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร รณะนันท์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอแนวคิดหนึ่งที่นำมาจาก พ.ร.บ.การศึกษา 2542 ที่ระบุว่า การจัดตั้งกองทุนเพื่อจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ จะใช้เงินสนับสนุนจากค่าสัมปทานโทรคมนาคม สัมปทานสื่อสารมวลชน มีลักษณะคล้ายกับเงินกองทุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ใช้เงินจากภาษีเพิ่มขึ้นในสินค้าบุหรี่และสุรา เป็นแนวคิดหนึ่ง เพราะการของบประมาณจากรัฐบาล หรือการมีสปอนเซอร์ชิพ ล้วนมีความเสี่ยงที่จะถูกแทรกแซง
สมชาย แสวงการ รองประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวสนับสนุนว่า แม้สิ่งที่อยากเห็นสถานีสาธารณะของประชาชน ประชาชนทั่วประเทศจะเป็นผู้ช่วยกันสนับสนุน แต่ในความเป็นจริงอาจต้องประสมประสาน รัฐอาจเป็นผู้สนับสนุนส่วนหนึ่ง แต่ทั้งนี้ กองทุนเพื่อสื่อสาธารณะจะต้องเกิดขึ้น ฟรีทีวีที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 และโมเดิร์นไนน์ ได้ประโยชน์จากการทำรายการบันเทิงควรแบ่งรายได้มาสนับสนุนกองทุน กำหนดสัดส่วนที่เหมาะสม ก็น่าจะได้เงินที่มากพอที่จะบริหารโทรทัศน์สาธารณะ
"ปัจจุบันค่าสัมปทานที่ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และสถานีโทรทัศน์ ช่อง 7 ต้องจ่ายตามจริง ไม่ใช่เงินจำนวนร้อยกว่าล้านบาท จริง ๆ ต้องจ่ายในอัตราเดียวกับไอทีวี ปีละพันล้านบาท จึงจะถูกต้อง ช่อง 7 กับ ช่อง 3 มีรายรับปีละ 6 พันล้านบาท จ่ายสัมปทานปีละ 100-200 ล้านบาท ไม่ถูกต้อง แล้วถ้าจ่ายถูกต้องแล้ว จะตัดสัดส่วนมาเข้ากองทุนกี่เปอร์เซนต์ เหมือนเป็นการบังคับ แต่เป็นการบังคับเพื่อเข้ากองทุนทำทีวีสาธารณะ ผมว่าไม่ใช่เรื่องยาก"
ทั้งนี้แหล่งข่าวในวงการโทรทัศน์กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ถึงแนวทางการปรับแก้ค่าสัมปทานของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่มีบริษัทบีอีซีเวิลด์ เป็นผู้บริหาร และโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 ที่บริหารโดยบริษัท กรุงเทพโทรทัศและวิทยุ ว่า สามารถปรับแก้เงื่อนไขให้ทางผู้บริหารสถานีจ่ายค่าสัมปทานเพิ่มจากหลักร้อยล้านบาทต่อปี ให้เป็นอัตราสมเหตุสมผล พันล้านบาทดังเช่นที่ไอทีวีเคยจ่ายได้ โดยในส่วนของช่อง 3 ที่ได้รับสัมปทานจาก อสมท. นั้น ในสัญญามีช่องให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ เข้าไปปรับแก้ เช่นเดียวกับสัมปทานของช่อง 7 ที่เป็นสถานีของกองทัพบก แม้จะไม่เป็นที่เปิดเผยในรายละเอียดสัมปทาน แต่หากภาครัฐเห็นความสำคัญในการจัดตั้งทีวีสาธารณะ ก็เชื่อว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. น่าจะสั่งการได้
ขจัดเหลือบ ช่อง 11 แปลงโฉมสู่ ทีวีสาธารณะ
สำหรับสถานีโทรทัศน์ที่จะถูกตั้งขึ้นเป็นโทรทัศน์สาธารณะ วสันต์ ภัยหลีกลี้ ที่ปรึกษา สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า การตั้งสถานีใหม่จะติดปัญหาความล่าช้า และตามข้อกฎหมายในปัจจุบันก็ไม่สามารถจะตั้งได้ รัฐธรรมนูญฉบับเดิม เรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่กำหนดไว้ และมีกฎหมายรองรับ คือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ไม่ว่ากรมประชาสัมพันธ์ หรือรัฐบาลก็ไม่สามารถจะไปจัดสรรคลื่นใหม่เพื่อจะตั้งเป็นคลื่นใดได้ ดังนั้น ถ้าจะทำตรงนี้ ช่อง 11 ที่เมื่อแรกจัดตั้งก็มีแนวทางเป็นทีวีสาธารณะ ไม่เป็นธุรกิจ ไม่มีโฆษณา มีรายการต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับสังคม หากจะมีการปรับใหม่ มีคณะกรรมการ และการจัดการที่ดี มีรายได้พอสมควร ก็คิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
ด้านสมชาย แสวงการ กล่าวเห็นพ้องว่า ช่อง 11 มีศักยภาพทางด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ มากมาย แต่มีการใช้งานเพียง 10% แต่ปัจจุบันกลับปล่อยให้บริษัทเอกชนที่มีผลประโยชน์กับรัฐบาลชุดก่อนเกาะกิน ก็น่าจะยกเครื่องจัดตั้งองค์กรใหม่ รองรับสถานีโทรทัศน์สาธารณะเพื่อประชาชน ก็น่าจะเหมาะที่สุดแล้ว
|
|
 |
|
|