เซ็นทรัล กรุ๊ป ประกาศนโยบายทางธุรกิจประจำปี 2550 ปรับเป้ายอดขายลดลง 3% รับความผันผวนทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม พร้อมทุ่มงบ 19,000 ล้านบาท ลงทุนขยายสาขาใหม่ รีโนเวตสาขาเก่า ขณะที่แผนโกอินเตอร์ยังไม่คืบ เงื่อนไขพันธมิตรที่อินโดฯไม่เวิร์ค พุ่งเป้าศึกษาความเป็นไปได้ในจีนและเวียดนาม
"พื้นฐานเศรษฐกิจของไทยถือว่ามั่นคงมีเถียรภาพซึ่งเห็นได้จากดัชนีต่างๆไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมลดลง เงินเฟ้อก็ลดลงซึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มดอกเบี้ยทำให้สินเชื่อชะลอตัว ประกอบกับปัจจัยบวกอื่นๆที่จะมาสนับสนุนให้เศรษฐกิจปี 2550 เติบโต แต่ก็มีปัจจัยลบที่ต้องระวังคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การขาดดุลของอเมริกาที่จะเป็นแรงผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัว ห่วงโซ่อุปทานของตลาดปิโตรเลียม ตลอดจนปัจจัยภายในประเทศอย่างความไม่สงบในภาคใต้ การวางระเบิดต่างๆก่อให้เกิดความหวาดระแวงไม่กล้าเดินห้าง เอกชนชะลอการลงทุน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ทำให้คาดการณ์กันว่า GDP ในปีนี้จะอยู่ที่ 3.5-4%" สุทธิชัย จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าว
ทั้งนี้ความผันแปรต่างๆในปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ โดยในส่วนของเซ็นทรัล กรุ๊ป สามารถสร้างยอดขายได้ 90,900 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 5.2% ต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 11% และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่กลุ่มเซ็นทรัลมีการเติบโตต่ำกว่า 10% โดยในส่วนของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก (CRC) ปิดยอดขายที่ 71,700 ล้านบาทเติบโต 4.6% ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (CPN) ปิดยอดที่7,800 ล้านบาท เติบโต 11.7% ธุรกิจค้าส่ง (CMG) ปิดยอดที่ 4,630 ล้านบาท ติดลบ 1.1% ธุรกิจโรงแรม (CHR) ปิดยอดที่ 2,600 ล้านบาท เติบโต 12.2% และกลุ่มเรสเตอรองส์ (CRG) ปิดยอด 4,100 ล้านบาทเติบโต 6.9% ซึ่งนอกจากเป็นผลมาจากปัจจัยลบแล้วยังเกิดจากการปิดปรับปรุงห้าง ZEN ในช่วงต้นปี 2549 ทำให้บริษัทขาดรายได้ดังกล่าวไป
สำหรับในปีนี้บริษัทตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 100,350 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 10.4% ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวได้มีการปรับลดจากเป้าเดิม 3% เพื่อให้เป้ายอดขายใกล้เคียงกับความเป็นจริงภายใต้สภาวแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงและผันผวนสูง โดยตั้งเป้ารายได้จากกลุ่มธุรกิจค้าปลีก (CRC) ไว้ที่ 78,400 ล้านบาทเติบโต 9.3% ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (CPN) 9,370 ล้านบาท เติบโต 20.2% ธุรกิจค้าส่ง (CMG) 4,700 ล้านบาท เติบโต 1.6% ธุรกิจโรงแรม (CHR) 3,400 ล้านบาท เติบโต 31.1% และกลุ่มเรสเตอรองส์ (CRG) ปิดยอด 4,440 ล้านบาทเติบโต 8.1%
เซ็นทรัล กรุ๊ป ได้ทุ่มงบลงทุนในปีนี้ไว้ที่ 19,000 ล้านบาท โดยจะมีการสำรองงบ 10% จากงบดังกล่าวเพื่อไว้ใช้หากสามารถเจรจากับคู่ค้าในต่างประเทศสำเร็จ ส่วนงบที่เหลือกระจายการลงทุนตามกลุ่มบริษัทต่างๆในเครือโดยกลุ่มธุรกิจค้าปลีก (CRC) ใช้งบ 5,400 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 28.4% ของการลงทุนกลุ่มเซ็นทรัล ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (CPN) ลงทุน 9,700 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 51.% ธุรกิจค้าส่ง (CMG) ลงทุน 180 ล้านบาท เป็นสัดส่วน 1% ธุรกิจโรงแรม (CHR) ลงทุน 3,370 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.7% และกลุ่มเรสเตอรองส์ (CRG) ลงทุน 350 ล้านบาทเป็นสัดส่วน 1.9% โดยการลงทุนในปีที่ผ่านมาบริษัทใช้งบลงทุนไป 13,000 ล้านบาท ต่ำกว่างบที่วางไว้ 16,000 ล้านบาท
ทั้งนี้การลงทุนในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกกำลังมีการสร้างอาคารต่อขึ้นไปจากห้าง ZEN เพื่อเป็นไลฟ์สไตล์บิลดิ้ง หรือ Fully Integrate Department Store ซึ่งจะมีทั้งฟิตเนส สปา ร้านเสริมสวย การศึกษา ธุรกิจท่องเที่ยว เรสเทอรองสต์ แกลเลอรี่ พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ การเปิดห้างโรบินสันสาขาจังซีลอนภูเก็ต การขยายสาขาใหม่ๆของธุรกิจย่อยในเครืออย่างเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล โฮมเวิร์ค เพาเวอร์บาย บีทูเอส ซูเปอร์สปอร์ต และการรีโนเวตสาขาเก่า ส่วนกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะมีการทำโปรเจกเซ็นทรัลเวิลด์ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปีนี้ ส่วนโครงการใหม่มีที่แจ้งวัฒนะ ขอนแก่น พัทยา สำหรับสาขาชลบุรีมีความเป็นไปได้ที่จะทันในปีนี้ ขณะที่กลุ่มโรงแรมก็มีการปรับโฉมสาขาเก่าอย่างหัวหิน สมุย พร้อมกับการทำโรงแรมแห่งใหม่คือที่ ภูเก็ต และเซ็นทรัลเวิลด์ซึ่งคาดว่าจะเสร็จทันปลายปีนี้ โดยในส่วนของคอนเวนชั่นฮอลล์ของโรงแรมที่เซ็นทรัลเวิลด์คาดว่าจะสามารถให้บริการได้ในช่วงกลางปีนี้
สำหรับแผนในการรุกตลาดต่างประเทศที่วางไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้วยังไม่มีความคืบหน้าเนื่องจากการเจรจากับพันธมิตรที่อินโดนีเซียมีข้อจำกัดและความเสียเปรียบในหลายเรื่อง ดังนั้นทางกลุ่มจึงหันมาศึกษาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจที่ประเทศจีนและเวียดนามก่อน แต่ก็ยังไม่ทิ้งตลาดอินโดนีเซีย
"การลงทุนดำเนินธุรกิจในต่างประเทศจำเป็นจะต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ ส่วนจะเห็นความชัดเจนในปีนี้ได้หรือไม่ยังไม่สามารถตอบได้ แต่ทางกลุ่มมีการสำรองงบ 10% จาก 19,000 ล้านบาทเผื่อไว้ใช้เป็นเงินลงทุนเบื้องต้นหากการเจรจาในต่างประเทศมีความคืบหน้า" สุทธิชัย กล่าว
ทั้งนี้ วิชั่นของปี 2010 Big step forward จาก Domestic สู่ Regional Leader ที่กลุ่มเซ็นทรัลประกาศแผนดำเนินธุรกิจระยะยาวไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้วโดยตั้งเป้าที่จะบุกตลาดต่างประเทศก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์แต่ยังไม่ได้มีการลงรายละเอียดในการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
วิชั่น 2010 Big step forward ของเซ็นทรัล กรุ๊ปเกิดจากการเติบโตทางธุรกิจในเมืองไทย แต่ด้วยขนาดของประชากร 60 กว่าล้านคนจึงถือเป็นตลาดที่มีขนาดเล็กเกินไปสำหรับเซ็นทรัล ดังนั้นบริษัทมีแผนที่จะรุกตลาดต่างประเทศ โดยเริ่มต้นจากการขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคอาเซียนก่อนเนื่องจากพฤติกรรมการบริโภค วิถีการดำรงชีวิต ความเชื่อ และวัฒนธรรม รวมถึงรสนิยมมีความใกล้เคียงกัน จึงเชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ได้ดีกว่าคู่แข่งที่มาจากภูมิภาคอื่น
Big step forward วิชั่น 2010 เป็นแผนระยะยาวที่เซ็นทรัลกำลังร่างแนวทางที่จะก้าวไปสู่การเป็น Regional Leader หลังจากประสบความสำเร็จในการเป็น Domestic Leader แต่ปัจจุบันปัจจัยลบมิได้เกิดขึ้นแต่ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ยังมีการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการขาดดุลของอเมริกาที่จะทำให้ประเทศยักษ์ใหญ่รายนี้เดินเกมลดค่าเงินดอลลาร์ซึ่งจะส่งผลต่อประเทศคู่ค้าจึงอาจเป็นอุปสรรคในการขยายสาขาสู่ต่างประเทศของเซ็นทรัล กรุ๊ป
นอกจากการดำเนินนโยบายทางธุรกิจแล้วกลุ่มเซ็นทรัลยังคงดำเนินนโยบายด้านสังคมอย่างต่อเนื่อง (Corporate Social Responsibility) ทั้งในเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร การทำกิจกรรมสาธารณกุศล รวมถึงการช่วยเหลือเกษตรกรโดยมีโครงการ Contract Farming ซึ่งมีท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต คอยรับผลิตผลจากเกษตรกรเข้ามาจำหน่ายโดยผ่านกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้บริโภคและคู่ค้าที่มีกว่า13,400 ราย รวมถึงพนักงานกวา 61,700 คน
|