|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
บลจ.เอ็มเอฟซีปัดฝุ่นแนวคิดจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์2เสนอคลัง ชี้เป็นทางออกที่ดีที่สุดใน”ยุคเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อระดมทุนในประเทศลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ แถมยังทำให้เศรษฐกิจในประเทศขับเคลื่อนดีกว่ากู้เจบิค ลดภาระหนี้สาธารณะให้กับประเทศ
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) (MFC) เปิดเผยว่า การจัดตั้งกองทุนรวมวายุภักษ์2 น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสุดสำหรับการระดมทุนเพื่อไปลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (เมกะโปรเจกต์) รวมถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่อื่นๆ เนื่องจากมีต้นทุนการดำเนินการที่ต่ำ เมื่อเทียบกับการระดมทุนโดยวิธีอื่น อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงในยุคปัจจุบันด้วย
ส่วนแนวคิดที่จะกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินกู้ยืมจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจบิค) เพื่อไปลงทุนในโครงการเหล่านี้นั้น นายพิชิตกล่าวว่า สามารถทำได้ เพียงแต่ต้นทุนการดำเนินงานอาจสูงกว่า และยังทำให้ภาระหนี้ของรัฐบาลสูงขึ้นด้วย
เนื่องจากเงินกู้ยืมส่วนนี้จะถูกบันทึกรวมในหนี้สาธารณะ นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยของ เจบิค ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับมาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจทำให้เงินกู้ส่วนนี้ต้องทำประกันความเสี่ยง (เฮดจ์) ในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทำให้ภาระต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นตามไปด้วยทั้งหมดนี้ยังไม่รวมเงื่อนไขของการกู้ยืมที่ทำร่วมกันไว้
“ปกติการกู้ยืมจากต่างประเทศมักจะมีเงื่อนไขอื่นๆ ระบุเอาไว้ ซึ่งตรงนี้เราไม่สามารถรู้ได้ เช่น อาจระบุว่าการสั่งซื้อสินค้าต้องสั่งจากประเทศเขาเท่านั้น ดังนั้นหากจะกู้ยืมต่างประเทศก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบ และถ้าดูแล้วเชื่อว่าต้นทุนน่าจะสูงกว่าการตั้งกองทุนวายุภักษ์ และหนี้ส่วนนี้ยังถูกนำไปรวมไว้ในหนี้สาธารณะด้วย”นายพิชิตกล่าว
ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีแนวคิดจัดตั้ง กองทุนรวมวายุภักษ์2 ขึ้นมาจริง เชื่อว่าคงใช้หลักการเดียวกับการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์1 โดยรัฐบาลหรือกระทรวงการคลังนำหุ้นรัฐวิสาหกิจที่ตัวเองถืออยู่ออกมาบางส่วน เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนรวมขึ้นมาแล้วนำหน่วยลงทุนออกขายให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงนักลงทุนสถาบันที่ให้ความสนใจ
สำหรับหุ้นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลถือลงทุนอยู่ในปัจจุบันมีมูลค่าจำนวนมาก แต่หากนับเฉพาะหุ้นส่วนเกินที่เหลือจากความจำเป็นซึ่งกระทรวงการคลังต้องถือเพื่อความเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท เพียงพอต่อการนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนรวมอยู่แล้ว และหากต้องการขยายมูลค่ากองทุนให้สูงกว่านี้ รัฐบาลอาจออกพันธบัตรขายให้กับกองทุนรวมนี้ด้วยก็ได้
“หุ้นในส่วนที่กระทรวงการคลังสามารถนำออกขายเพิ่มนั้นมีมูลค่าประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ส่วนจะถึง 1 แสนล้านบาทหรือไม่คงขึ้นอยู่กับนโยบายการถือหุ้นของกระทรวงการคลังว่าจะลดสัดส่วนการถือหุ้นเหล่านี้ลงได้หรือไม่ หรือไม่ก็ออกเป็นพันธบัตรรัฐบาลขึ้นมาขายให้กับกองทุนนี้ เท่ากับกองทุนนี้จะได้ผลตอบแทนทั้งในรูปของเงินปันผลจากหุ้น และอัตราดอกเบี้ยจากบอนด์รัฐบาลด้วย”นายพิชิตกล่าว
นายพิชิต กล่าวว่า สาเหตุที่มองกว่าหากตั้งกองทุนวายุภักษ์2 ควรใช้หลักการเดียวกับกองทุนวายุภักษ์1 เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนวายุภักษ์1 ช่วงที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าให้ผลตอบแทนในระดับที่ดี และเชื่อว่าหากออกกองทุนรวมวายุภักษ์2 จริง ก็น่าจะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนสถาบันอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวอยากเสนอว่า หากจะออกกองทุนวายุภักษ์2 จริง อยากให้ผ่อนปรนนโยบายการลงทุนให้มีความคล่องตัวมากขึ้น อย่างน้อยก็สามารถปรับพอร์ตลงทุนได้บ้าง โดยนำหุ้นรัฐวิสาหกิจบางตัวที่คิดว่าผลตอบแทนไม่น่าจูงใจขายออกไปในตลาด และหันไปลงทุนในหุ้นที่ผลตอบแทนดีกว่าแทน หลังจากนั้นเมื่อใกล้ครบกำหนดอายุกองทุนค่อยกลับไปซื้อหุ้นรัฐวิสาหกิจตัวนั้นเพื่อนำไปคืนกระทรวงการคลังแทน
กรรมการผู้จัดการบลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวอีกว่า หากกองทุนวายุภักษ์2 สามารถเทิร์นพอร์ตได้ก็จะดีมาก เพราะสามารถนำหุ้นที่ผลตอบแทนต่ำขายออกไปก่อน เพื่อไปลงทุนในหุ้นที่ผลตอบแทนดีกว่าได้ หลังจากเมื่อครบอายุการลงทุนก็ค่อยกลับไปซื้อหุ้นตัวเดิมแทน ซึ่ง วายุภักษ์1 การจะขายหุ้นที่ถือออกไปก็ทำได้เพียงแต่ต้องขออนุญาตกระทรวงการคลังก่อนจึงไม่คล่องตัวนัก
|
|
 |
|
|