|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2550
|
|
หนังสือเล่มไหนที่สร้างแรงบันดาลใจให้คุณ? หนังสือเล่มไหนที่สร้างแรงสะเทือนใจให้คุณ? เล่มไหนคือหนังสือในดวงใจของคุณ? ถ้าตลอดชีวิตที่ผ่านมา คุณยังไม่เจอหนังสือที่เป็นคำตอบให้ตัวเอง ลองมาค้นหาอีกความหมายของการอ่านกับ "ศึกษิตสยาม" ร้านหนังสือที่อาจเปลี่ยนชีวิตคุณ ...เหมือนเธอคนนี้
บนถนนเฟื่องนคร ถนนสายแรกๆ ของเมืองไทย ในย่านที่อุดมด้วยประวัติศาสตร์ และกลิ่นอายวัฒนธรรมที่คละคลุ้ง หลายคนไม่เชื่อว่าแถบนี้จะมีร้านหนังสือ
ชั้นล่างของตึกแถว 2 คูหา ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดราชบพิธ เป็นที่ตั้งของร้านหนังสือ "ศึกษิตสยาม"
"วันที่ 20 เมษายนนี้ เราครบรอบ 40 ปี" วัลลภา แวน วิลเลี่ยนส์วาร์ด สาวใหญ่ เจ้าของร้านคนปัจจุบัน กล่าวด้วยแววตาปลื้มปีติอย่างเห็นได้ชัด
ย้อนกลับไปในปี 2519 สมัยที่วัลลภายังเป็นนิสิตคณะอักษร จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย ท่ามกลางวิกฤติทางการเมืองที่แบ่งแยกสังคมทางความคิดออกเป็นฝักฝ่าย เธอเผชิญกับความสับสนอย่างรุนแรงในการค้นหา จุดยืนของตัวเอง
"เราไม่ใช่ซ้าย ไม่ใช่ขวา จะให้เราไปจัดตั้งเหมือนนิสิตนักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรม ก็ไม่ใช่ หรือจะให้ไปอยู่ปีกขวาแบบกระทิงแดง ก็ไม่ใช่อีก แต่บรรยากาศในมหาวิทยาลัยบีบจนรู้สึกไม่มีที่ทางสำหรับเรา"
ความวุ่นวายในมหาวิทยาลัยผลักดันให้วัลลภาต้องออกไปหาแหล่งพักพิงทางใจจาก ที่อื่น ซึ่งโชคชะตานำเธอเข้าไปยังร้านหนังสือ ศึกษิตสยามของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) ซึ่งขณะนั้นยังตั้งอยู่สามย่านข้างจุฬาฯ
แม้ในยุคเผด็จการ ร้านศึกษิตสยามจะเป็นราวกองบัญชาการลับขนาดย่อมของเหล่าปัญญาชนที่ต่อต้านระบอบบางกลุ่ม แต่บนชั้นวางหนังสือของร้านก็ยังมีพื้นที่สำหรับหนังสือที่พูดเรื่องสันติวิธีและหลักอหิงสธรรมของนักปรัชญาชีวิตหลายคน เช่น ติช นัท ฮันห์, มหาตมะคานธี, ท่านพุทธทาสภิกขุ ฯลฯ
ร้านศึกษิตสยามกลายเป็นแหล่งพักพิง ที่สงบและอบอุ่นของวัลลภา ตลอดเวลา 4 ปี ในการเป็นนิสิต เธอเลือกที่จะฝังตัวอยู่ภายใต้ บรรยากาศของทางสายกลาง ในสวนความคิด ของนักเขียนและนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ผ่านตัวอักษรบนหน้าหนังสือกองโต
"วันนี้พอเรามองกลับไป อยากจะบอกว่า เราอยู่รอดได้วันนั้นเพราะร้านหนังสือร้านนี้"
บทประพันธ์ที่ประทับใจและวันเวลาที่อบอุ่นภายในร้านศึกษิตสยาม ยังได้บ่มเพาะความฝันที่อยากทำร้านหนังสือให้กับวัลลภา โดยที่ ส.ศิวรักษ์ กลายเป็นต้นแบบของเธอมานับแต่นั้น
"อาจารย์สุลักษณ์เป็นแรงบันดาลใจอย่างยิ่ง เรารู้สึกว่า เรายังไม่เจอใครที่เป็นนักอ่านที่แท้จริงเท่าอาจารย์ ท่านไม่ได้แค่อ่านหนังสือแตก แต่ยังอ่านสังคมไทยแตก รู้กำพืดสังคมไทย และรู้ว่าจะเชื่อมโยงความรู้ใหม่ๆ จากโลกตะวันตกได้อย่างไร"
ย้อนหลังกลับไปในวัยเด็ก วัลลภาใช้ชีวิตอยู่ในห้องสมุดและร้านหนังสือราวกับบ้านหลังที่สอง จนรู้สึกว่า เธอโตขึ้นมากับกองหนังสือในทุกช่วงวัย โดยมีผู้เป็นแม่เป็นแรงดลใจสำคัญที่ทำให้เธอรักการอ่าน
"สมัยเด็ก แม่บอกเราเสมอว่า เวลาเห็นลูกๆ ท่องบทอาขยานแล้วแม่จะแช่มชื่นใจ เพราะตัวแม่เองอ่านหนังสือไม่ออก แล้วก็ฝันอยากจะอ่านหนังสือได้ เวลาที่แม่เล่าความฝันทีไร ท่านจะย้ำว่า ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรจะให้ นอกจากความรู้ที่ลูกๆ ต้องหาเอาเอง"
วัลลภาเล่าถึงผู้เป็นแม่ด้วยน้ำเสียงชื่นชมในความยิ่งใหญ่ของผู้หญิงคนเดียวที่ใช้เพียงสองมือและสมองที่ไม่เคยได้เล่าเรียน เพื่อส่งเสียเลี้ยงลูกทั้ง 10 คน ให้กลายเป็นปัญญาชน
หลังจากเรียนจบ วัลลภาเดินทางบนถนนชีวิต เพื่อ ตามหาความมั่งคั่งและความหมายในชีวิตเฉกเช่นบัณฑิตทุกคน จากพนักงานบริษัทเอกชนก้าวสู่การเป็นเจ้าของบริษัทจัดงานแสดงสินค้า คลุกคลีในแวดวงธุรกิจ ใช้ชีวิต อยู่บน "Fast Lane" ไม่ต่างจากคนอื่นที่กำลังวิ่งแข่งกันอยู่ในสังคมทุนนิยม
โดยที่เธอยังคงมีหนังสือเป็นเพื่อนคลายเครียดผ่อนทุกข์ และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเรื่อยมา
"พอใช้ชีวิตเร่งรีบมากๆ จริตในการอ่านงานวรรณกรรม หรือบทกวีแล้วเกิดความอิ่มเอม มันเริ่มหายไป จำได้ว่าตอนเรียน เคยอ่านเรื่องกามนิต-วาสิฏฐีแล้วดื่มด่ำ ซาบซึ้งกับคำพูดที่สวยงามกับแง่คิดที่ทำให้เราอ่านแล้วต้องสะเทือนใจในชะตาชีวิตของกามนิต
เหมือนว่าได้มองเห็นตัวเราในกามนิต ที่ยังคงถาม หาพระพุทธเจ้า ทั้งๆ ที่กำลังสนทนาอยู่กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่ได้รู้เลยว่าผู้ที่กำลังสนทนาอยู่ด้วยนั้นก็คือพระพุทธเจ้าที่ตนเฝ้าตามหา"
แม้วรรณกรรมซีไรต์อย่างเรื่อง "ตลิ่งสูงซุงหนัก" ของนิคม รายวา ที่พรรณนาถึงวิถีชีวิต อันละเมียดและแช่มช้าของคนทำงานแกะสลักไม้ ทว่า ณ ช่วงชีวิตเช่นนั้น วัลลภาทนไม่ได้กับความเนิบนาบนั้น
เธอเริ่มถามตัวเองว่า สุนทรียภาพที่เคยมีกับการอ่านนั้นหายไปไหน แล้วก็ค้นพบว่า ชีวิตที่เร่งรีบทำให้เธอไม่ซึมซับและรื่นรมย์กับความงามจากการอ่านอีกต่อไป เธอตัดสินใจหยุดนิ่งเพื่อค้นหาตัวเอง ก่อนจะ "U-turn" ชีวิตครั้งสำคัญ
"ถือเป็นช่วง soul searching เผอิญได้เข้าอบรมกับเสมสิกขาลัย ก็เลยได้รู้จักเรื่องราว ของการศึกษาทางเลือกและการค้นหามุมสงบภายในจิตวิญญาณ รวมทั้งได้รู้จักกับอาจารย์สุลักษณ์"
เหมือนโลกของวัลลภาหมุนกลับ เมื่อ ส.ศิวรักษ์กำลังมองหาผู้จัดการเสมสิกขาลัยคนใหม่และเธอก็ได้ร่วมงานกับ "ไอดอล" ของ ตัวเองอย่างใกล้ชิด จน 6 ปีก่อนเธอออกมา ตั้งสำนักพิมพ์ "สวนเงินมีมา" และถัดมาอีก 1 ปีความฝันที่อยากทำร้านหนังสือของวัลลภา ก็มาบรรจบ เมื่อ ส.ศิวรักษ์ยกร้านศึกษิตสยาม ให้เธอมาดูแลภายใต้สำนักพิมพ์
"เรายังนึกขำตัวเอง ตอนอยู่จุฬาฯ ร้านนี้เคยเป็นแหล่งพักพิงจากความสับสนพอทำงานร้านนี้ก็ยังเป็นที่พิงพักของเราได้อีก เลยรู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน" คำพูดของเธอยิ่งทำให้ร้านอบอุ่นขึ้นทันที
ตลอด 5 ปี ภายใต้การดูแลร้านหนังสือ แสนรักของวัลลภา เธอเรียนรู้ว่า ร้านหนังสือเล็กๆ ที่สายป่านไม่ยาวและไร้ซึ่งแฟรนไชส์ ท่ามกลางระบบทุนขนาดใหญ่ ถ้าจะอยู่ให้ได้จะต้องสรรหา และคัดเลือกหนังสืออย่างมีคุณภาพและแตกต่างจากตลาด
ถึงแม้ว่าตลาดบ้านเราตอนนี้จะหนาแน่นไปด้วยหนังสือฮาว-ทู และนิยายคิกขุฯ จนเธอนิยามการอ่านหนังสือของเด็กยุคใหม่ "เหมือนกับเคี้ยวหมากฝรั่ง อ่านเสร็จแล้วก็โยนทิ้ง"
แต่ถึงอย่างไร วัลลภาก็ยังเห็นว่า การรณรงค์ให้คนในสังคมอ่านหนังสือ ไม่ว่าประเภทไหน ถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะว่าการอ่านหนังสือถือเป็นกระบวน การขัดเกลาจิตใจ และเป็นศาสนธรรมอย่างหนึ่ง
"เวลาพูดถึงหนังสือ มันไม่ใช่มีแค่ Head แต่ยังต้องมี Heart ด้วย การอ่านแล้วสนุกจะกลายเป็นพาหะที่พาเราไปสู่การอ่านที่สูงขึ้น แยบคายและใคร่ครวญมากขึ้น เพราะทั้งหมดทั้งปวงมันคือ จินตนาการและแรงบันดาลใจ ส่วนพุทธิปัญญาจะตามมาทีหลัง"
เหมือนกับที่สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ แห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงมีพระราชดำรัสไว้ในหนังสือแปลที่ชื่อ "สร้างสะพาน" ว่า
...บางครั้งการอ่านมอบรากเหง้าให้แก่ฉัน บางครั้งก็มอบปีกจินตนา การให้ฉัน ทั้งรากเหง้าและปีก ช่วยให้ฉันสร้างสะพานเชื่อมกับภายนอกและ ภายใน ช่วยให้ฉันค่อยๆ ขยายโลกของตัวเองและสร้างโลกของตัวเองขึ้นมาได้
...การอ่านมอบโอกาสให้ฉัน ได้คิดคำนึงถึงความเศร้าและความสุข หนังสือพรรณนาถึงเรื่องราวของความเศร้าอันหลากหลาย การอ่านทำให้ฉันรู้ว่า นอกจากตัวฉันแล้ว คนอื่นๆ มีความลึกล้ำเพียงใด และมีความรู้สึก เจ็บช้ำมากมายเพียงใด
ในฐานะหน่วยย่อยของอุตสาหกรรมแห่งปัญญา วัลลภากำลังพยายาม และเรียกร้องให้ร้านหนังสืออื่นๆ หันมาช่วยกันรณรงค์คุณภาพการอ่านของ สังคมไทย ด้วยการหันมาพูดกันที่คุณภาพของเนื้อหาผ่านการจัดอันดับ "สุดยอดหนังสือเนื้อหาดี" หรือ "สุดยอดหนังสือสร้างแรงบันดาลใจ" แทนที่ จะพูดถึงแค่ "สุดยอดหนังสือขายดี" ที่ผ่านการปรุงแต่งด้วยเครื่องมือการตลาด
วันนี้แม้วัยจะล่วงเลยจน 50 ปี แต่วัลลภาก็ยังลุกขึ้นมาตั้งแต่ตี 3 ท่ามกลางความดึกสงัดของราตรี เธอเชื่อว่า นั่นเป็นช่วงเวลาที่จะสามารถดื่มด่ำซึมซับกับสุนทรียภาพความงามจากการอ่านหนังสือได้มากที่สุด
|
|
|
|
|