|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2550
|
|
เมื่อมองดูภาพในอดีต พินิจใบหน้าของหญิงชรานาม Khadija และได้เห็นบุตรชายทั้งสามของเธอคือ มิตร เอก และอัมมาร สยามวาลา พร้อมสะใภ้กับหลานทั้งเจ็ดวัยเยาว์ ก็ได้เห็นบรรพบุรุษของตระกูล "สยามวาลา" คือ Dilawer Husain Abdulali Siamwalla อยู่ในตัวพวกเขามากบ้างน้อยบ้าง แม้ว่าลึกๆ โดยเชื้อชาติ ภาษา เขาจะเป็น "the others within" ในสังคมไทย เฉกเช่นชาวจีนโพ้นทะเลแซ่ต่างๆ ก็ตาม
ความทรงจำเป็นรูปแบบหนึ่งของการพบปะ ขณะที่ความลืมเลือนเป็นรูปแบบหนึ่งของอิสรภาพ มีหลายเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตในอดีตที่มิตร สยามวาลา ผู้เฒ่าวัย 80 ขณะนี้ ได้เล่าและไม่ได้เล่าให้ฟัง แต่เมื่อพบปะกัน เขาได้หยิบยื่นหนังสือเล่มเล็กๆ ว่าด้วยเรื่อง "คุณแม่" ซึ่งจากไปเมื่อปี 2531 ให้อ่าน
มิตร เอก และอัมมาร สามพี่น้อง ทำใจตนประหนึ่งคนหนึ่งเป็นกระดาษ อีกคนเป็นเช่นหมึกและอีกคนเป็นเช่นปากกา ที่กลั่นหัวใจออกเขียนความเงียบในดวงใจแม่ ให้เห็นรักแท้ของแม่ที่มีต่อลูกชายทั้งสาม และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ลูกๆ ได้รับการศึกษาสูงที่สุด ดังจะเห็นได้จากจดหมายที่เขียนถึงลูกคนเล็ก (อัมมาร) ซึ่งศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษว่า
"ฉันคิดถึงลูกอยู่ตลอดเวลาที่ลูกจากไป บางทีก็คิดอยากจะเรียกลูกกลับมาเหมือนกัน แต่เมื่อคิดถึงความอยากเรียนของลูก ความสำเร็จของลูก และความก้าวหน้าที่จะเป็นของลูกในอนาคต ฉันก็สามารถทำใจได้ ฉันขอฮัลลาฮ์อยู่ตลอดเวลาว่า วันเวลาจะผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็วและลูกจะกลับมาอยู่พร้อมเพรียงกันกับพี่ๆ จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิตฉัน"
คุณแม่ลูกสามผู้นี้เป็นหญิงชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ เกิดที่เมืองบาโรดา ที่เป็นเมืองเล็กๆ อยู่ทิศตะวันตกของอินเดีย เธอสมรสกับนายห้างตาเฮอร์ขณะอายุเพียง 14 และเดินทางมาเมืองไทยเมื่อปี 2462-2463 ให้กำเนิดลูกชายสามคนคือ อามีร, อิมราน และอัมมาร (ซึ่งต่อมาในปี 2514 อามีรเปลี่ยนชื่อเป็น "มิตร" และอิมรานเปลี่ยนชื่อเป็น "เอก" มงคลนามนี้เกิดจากท่านเจ้าคุณไชยยศสมบัติ บิดาของ ศ.เติมศักดิ์ กฤษณามูระ เป็นผู้ตั้งให้ ความเคารพนับถือนี้ยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดย ศ.เติมศักดิ์รับเชิญเป็นประธานกรรมการบริษัท DHAS ด้วย)
การเกิดเป็นลูกนายห้างตาเฮอร์นั้นไม่ใช่เรื่องสบายๆ เอกเล่าว่า เขาต้องหมั่นเช็ดถู ปัดกวาด ทำงานทุกอย่างในออฟฟิศ "คุณพ่อบังคับให้ทำ เพื่อสอนให้รู้ว่า งานชั้นต่ำที่สุด เราทำใจได้ไหม? อย่าคิดว่าเป็นลูกพ่อแล้วจะไม่ต้องทำงานแบบนี้นะ ความจริงคุณพ่อเป็นคนใจดีมาก ถึงแม้จะดุบ้าง เมื่อเราผิดพลาดเช่นเขียนสัญญาซื้อขายแต่ไม่ระบุว่าใครจ่ายค่าภาษี คุณพ่อจะสอนให้ระมัดระวัง เพราะผิดพลาดก็คือเสียหาย" เอกเล่าให้ฟัง
ถึงกระนั้น ทั้งสามพี่น้องต่างก็ได้รับการศึกษาขั้นสูง ได้จบโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งต่อมาเจนเนอเรชั่นรุ่นที่ 4 ก็เรียนที่นี่เช่นกัน
ความรักการอ่านหนังสือมากๆ ของ "คุณแม่" และสอนลูกให้เรียนรู้จากฝรั่งเพื่อจะสู้กับฝรั่ง ได้กลายเป็นวัฒนธรรมครอบครัวสยามวาลาที่อยู่ในสายเลือดหลายชั่วอายุคน ดังจดหมายที่แม่เขียนถึงอัมมารขณะนั้นว่า
"ปีนี้เป็นปีแรกที่ลูกจะมีโอกาสเห็นฝรั่งเขาฉลองวันคริสต์มาสและปีใหม่กัน ลูกคงสนุกร่วมกับเขาด้วย ฉันหวังว่าลูกจะพยายามศึกษาและเข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีของฝรั่งอย่างลึกซึ้ง"
ศาสตราจารย์ ดร.อัมมาร สยามวาลา จึงมีวันนี้ เพราะพระคุณแม่และพี่ชายทั้งสอง ซึ่งทำงานส่งน้องเรียนต่างประเทศได้หลังจากสิ้นพ่อ ซึ่งจากไปกะทันหันด้วยโรคหัวใจ ขณะนั้นมิตรอายุ 25 และเอกอายุ 23 ต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหนี้ที่ทวงเช้าทวงเย็น...
"ก่อนคุณพ่อเสีย ท่านปล่อยให้เราทำกันเอง ส่วนท่านไปทำงานให้แก่สังคม คุณพ่ออาจจะวางมือเร็วเกินไป ตอนนั้นพวกเราก็เลยคิดอยู่อย่างเดียวต้องทำยอดขายให้สูงสุด ยิ่งขายได้ออร์เดอร์มา 5 แสนบาท ยิ่งดีใจมาก ทั้งๆ ที่ในกระเป๋าเราไม่มีตังค์ที่จะไฟแนนซ์โครงการที่มันเกินตัว แต่ก็รู้ว่าคุณพ่อมีเพื่อนฝูงที่ช่วยได้ พอเงินขาด ก็บอกคุณพ่อว่า วันนี้ต้องเอาเงินเข้าแบงก์สามแสน คุณพ่อก็วิ่งเต้นหาเงินมาให้ทันบ่ายสามโมง เรียกว่าหมุนเงินโดยไม่คำนึงว่า เงินที่ได้มาจะต้องเสียดอกเบี้ยเท่าไร หรือคุ้มกับเงินที่ลงทุนไปไหม? เวลานั้นคึกคะนองมาก ทำยอดขายได้สูงขึ้นๆ พร้อมกับหนี้ก็สูงขึ้นๆ รวมแล้วเราเป็นหนี้อยู่สองล้านบาท" เอกเล่า
ทั้งคู่สามารถกอบกู้ฐานะธุรกิจ DHAS ที่ติดลบสำเร็จ ได้ภายใน 2-3 ปี เหมือนพระเจ้าช่วยให้เขาได้พบบ่อน้ำมัน เพราะในช่วงระหว่างปี 2496-2500 เป็นช่วงที่รัฐบาลควบคุมการนำเข้า โดยกำหนดเพดานโควตานำเข้าเท่ากับยอดเดิมเมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่ง DHAS มีโควตายอดนำเข้าสูงมาก ทำให้ได้เปรียบคู่แข่ง "เมื่อเราสั่งสินค้าเข้ามา ยังไม่ทันจะนำเข้า ของก็ขายได้หมดแล้ว เพราะของมันขาดตลาดหลังสงครามเกาหลี เครื่องเขียนหลายอย่างมีกำไรสูงมาก กำไรที่สูงนี้ให้โอกาสบริษัทจ่ายหนี้ที่ค้างอยู่ในระยะเวลาอันสั้นได้" เอกเล่า
จากจุดเริ่มต้นธุรกิจเครื่องเขียนที่ได้ WINSOR & NEWTON ซึ่งเป็นสีหลอดที่มี prestige และชื่อเสียงที่สุดในโลก ทำให้มิตรสามารถไปเจรจาธุรกิจกับบริษัทอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น และได้มาอีกหลายเอเยนซี่ เช่น ผลิตภัณฑ์กระดาษ Conquerer, ปากกา Cross, ปากกา rotring, ปากกาลูกลื่น ชไนเนอร์, ดินสอมิตซูบิชิและ Stabilo ปากกาเน้นข้อความที่สยามวาลานำเข้า
สองพี่น้องทั้งมิตรและเอกต่างมีบุคลิกนิสัยที่เติมเต็มให้กันและช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยมิตรเป็นนักค้าขายที่เก่งมีชั้นเชิงทางธุรกิจการค้า รอบรู้จักเลือก สินค้าแบรนด์ดีและมีคุณภาพแล้ว นำมาสร้างตลาดจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
ขณะที่เอกน้องชายมีบทบาทเป็น supporter บริหารดูแลบัญชีการเงินอยู่เบื้องหลังและเมื่อพี่ชายมีวิสัยทัศน์จะตั้งโรงงานแฟ้ม เอกก็เดินทางไปหาข้อมูลด้านเครื่องจักรและวัตถุดิบในต่างประเทศทั้งเยอรมนี ญี่ปุ่น ฮอลแลนด์ ออสเตรีย อยู่หลายปี ก่อนจะศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเองอยู่หลายตลบเป็นปี จนเคาะตัวเลข ว่าจะสามารถคืนทุนได้ใน 12 ปี ซึ่งในความคิดของมิตรคงร้องโอ้โฮอยู่ในใจว่า ทำไมนานจัง แต่เขาก็ได้บอกน้องว่าเอาไงเอากันจะให้ทำยอดขายเท่าไรต่อปีก็บอกมา มัวแต่ดีดลูกคิดอยู่นั่นแหละ... แต่พอได้ลงมือทำจริงๆ ลงทุนครั้งนั้น 10 ล้าน ปรากฏว่าภายในสองปีครึ่ง DHAS สามารถคุ้มทุนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับเอกมากๆ
"หลังจากนั้นเวลาผมเริ่มลุย คุณมิตรต้องคอยเบรกผมบ้าง" เอกเล่าพลางหัวเราะ
ตลอดเวลาไม่ต่ำกว่า 40 ปีที่ทั้งสองพี่น้องทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันเป็น "สหายร่วมรบ" ที่ไม่เคยทิ้งกันทั้งยามทุกข์และสุข และร่วมกันสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กิจการ โดยไม่ชิงดีชิงเด่นกันเอง สมดังความตั้งใจของแม่ที่เคยห่วงใยและตักเตือนด้วยถ้อยคำว่า
"ฉันเองอยากจะได้เห็นพี่น้องสามคนมีความปรองดองกัน นี่คือสิ่งที่ฉันปรารถนามากที่สุดในชีวิต"
ด้วยปณิธานที่เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ของแม่เช่นนี้ จึงทำให้เกิดบ้านสามหลังของสามพี่น้อง มิตร, เอก, อัมมาร ตั้งเรียงรายอยู่ในซอยศูนย์วิจัย 14 มีเนื้อที่ติดกันระหว่างบ้านของมิตรและของเอก ถัดไปมีถนนในซอยคั่นคือบ้านอัมมาร
"ตอนย้ายมาสามพี่น้อง ผมเป็นคนเดียวที่ยังไม่มีครอบครัว ให้คุณแม่มาอยู่กับผม คุณแม่ดูแลเอาใจใส่ผมมาก"
เอกใช้ชีวิตคู่อยู่กับพรรณี สยามวาลา เธอชอบถ่ายรูป และเก็บสะสมภาพเก่าๆ ในอดีตของครอบครัวด้วย
"ผมไม่มีลูกและลูกคุณมิตรทั้งห้าก็เป็นลูกผม ผมผูกพันกับทุกคน แต่ผมจะมีความลำเอียงไปให้สุหฤทมากหน่อย เพราะเขาร่าเริงและไม่ท้อแท้ เป็น fighter เจอสถานการณ์ที่ยากเขาจะยิ้มสู้เสมอ เขาเคยพาผมไปฟังเพลงของเขาที่ห้อง ผมบอกว่าฟังไม่รู้เรื่อง เพราะผมชอบเพลงคลาสสิก แต่ของเขาเป็นอัลเทอร์เนทีฟ" เสียงหัวเราะเบาๆขณะเอกเล่าเรื่องลูกหลานให้ฟัง
มิตรกับภรรยา "ซามีนา" มีลูกทั้งหมด 5 คน เป็นลูกชาย 4 คนและลูกสาวคนเดียวเริ่มจากคนโต ยิ่งศักดิ์ เกิดในปี 2500 ปัจจุบันคือซีอีโอของ DHAS อีกสามปีมิตรจึงได้ลูกสาวชื่อยาซมิน สมรสแล้ว เป็นอาจารย์วิชา IT อยู่ประเทศ คูเวต ลูกคนที่สามชื่อโอภาส ดูแลมูลนิธิตาเฮอร์ฯ คนที่สี่ชื่อ สุหฤท เป็นนักขายที่มีหัวใจรักดนตรีเต็มร้อย และดนุพล ลูกคนสุดท้อง มี ambition ที่จะสร้างความเป็นหนึ่งในอาณาจักรซอฟต์แวร์ (ได้ฟอร์มบริษัทใหม่ในเครือสยามวาลา ชื่อ ICE SOLUTION ซึ่งทำธุรกิจด้าน IT Software)
"ผมฝึกฝนสอนลูกทุกคนตลอดเวลาว่า เงินพวกนี้ไม่ใช่เงินที่ลูกสร้างคนเดียว แต่เป็นเงินที่สร้างกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย บริษัทนี้มีชื่อเสียงที่ลูกๆ หลานๆ จะหาเงินได้ ถ้าหากลูกหลานทำลายบริษัท ก็เท่ากับทำลายตัวเอง ให้ไปร้อยล้านก็หมดได้ บริษัทเหมือนประเทศชาติ ถ้าไม่มีประเทศ เราจะอยู่ได้อย่างไร? เขาก็ต้องระมัดระวังและไม่ออกนอกลู่นอกทาง" มิตรย้ำถึงจุดนี้มากๆ
ห้าพี่น้องหล่อหลอมบุคลิกนิสัยตัวเองจากครอบครัว โรงเรียน และอาชีพ การทำงานที่แตกต่างกันแบบเห็นได้ชัด แต่เมื่อรวมกันแล้วทั้งหมดเป็นหน่วยที่แบ่งแยกไม่ได้
สำหรับยิ่งศักดิ์ วันนี้เขาคือคนที่ต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ เป็นคนที่มีความละเอียดรอบคอบมากๆ จนบางครั้งมิตรต้องเตือนให้เขาปล่อยวางและหยุดงานพักผ่อนบ้าง แต่เขาก็อดไม่ได้ที่จะแวบไปดูโรงงานวันเสาร์อาทิตย์บ้าง
โดยส่วนตัวเขาสนใจเคมีฟิสิกส์มากขนาดทำครีมกันแดดไว้ใช้เองได้เลย พอๆ กับงานอดิเรกอ่านหนังสือ เล่น Windsurf และดนตรี Sequencer Synthesizer
ส่วนลูกสาวคนเดียวของมิตรคือยาซมิน เป็นศิษย์เก่าเซนต์โยเซฟฯ และไปศึกษาที่อังกฤษด้าน Business Study จาก North London Polytechnics กลับมาทำงานบริษัทอสังหาริมทรัพย์ก่อนที่เริ่มเข้ามาช่วยงานธุรกิจครอบครัวเป็นคนแรก หลังจากที่โรงงานแห่งแรกเกิดขึ้น เธอใช้จิตวิทยาสังคมดูแลคนงานให้เพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างเป็นธรรมชาติ
ยาซมินมีบุคลิกผู้หญิงเก่งคนหนึ่งที่มีจิตวิทยาสูงความรู้สึกไว ในวัยสาวเธอเรียนการบินจนขับเครื่องบินได้ ท่ามกลางความอกสั่นขวัญแขวนของแม่ และนิยมขับรถเร็วแบบเดียวกับที่พ่อเคยทำมา
ปัจจุบัน ยาซมินมีลูกแฝดเป็นชายสองคน ชื่อ ทรีฟและทาริฟ ซึ่งคนโตเรียน Material Science & Engineering ส่วนคนน้องเรียน Manufacturing Design Engineering" กับ "Industrial Engineering" ซึ่งเป็นการเรียนเอาปริญญาตรีสองใบในเวลาเดียวกัน ทั้งสองเรียนด้วยกันที่มหาวิทยาลัย North Western ในชิคาโก
"สิ่งที่ลูกเรียนมาก็น่าช่วยได้ในอนาคต เมื่อปิดเทอมซัมเมอร์ที่แล้ว ลูกคนเล็กมาช่วยดีไซน์เครื่องจักรให้ที่โรงงาน ยังเป็นภาพ workshop drawing ใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบ เขารู้สึกว่ามาแล้วได้เรียนรู้เยอะ แต่คิดว่าถ้าเขาจบแล้วในสองปีข้างหน้า ก็อยากให้เขาฝึกทำงานข้างนอก DHAS ก่อนดีกว่า เมื่อกลับมาเขาจะได้เป็นผู้ให้มากกว่ารับ" ยาซมินเล่าให้ฟังเรื่องลูกซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 5 ของสยามวาลา
ขณะที่โอภาสเป็นคนเก่งเรียนเก่งงาน เคยอยากเรียนรัฐศาสตร์การทูตแต่หักเหมาเรียนบริหารธุรกิจ ที่ Kellog มหาวิทยาลัย North Western คิดวิเคราะห์เป็นกรอบเป็นระบบ ชอบว่ายน้ำและรักการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือ ชุดกำลังภายในจีน เช่น กระบี่ไร้เทียมทาน ฤทธิ์มีดสั้น โอภาสมีโอกาสได้ใกล้ชิดติดตามมิตรไปต่างประเทศและได้ซึมซับวิธีการเจรจาการค้าแลกเปลี่ยนและตัดสินใจ
"สมัยที่ผมอายุ 23-24 ก็ยังไม่มากประสบการณ์คุณพ่อให้ความไว้วางใจมอบหมายให้เจรจากับซัปพลายเออร์จากเมืองนอก ก็ให้ผมนั่งเจรจา แต่พอผมติดปัญหา นึกไม่ออกแต่ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาด ขณะนั้นผมก็ขอตัวเข้าห้องน้ำสัก 5 นาที แต่แอบหลบไปเคาะประตูเรียก "คุณพ่อคร๊าบ..." ปรึกษาท่าน ประสบการณ์นี้แหละที่เป็น on the job training ที่คุณพ่อส่งผมให้ไปเรียนรู้ว่ายน้ำด้วยตัวเอง แต่คุณพ่อจะช่วยอยู่เบื้องหลัง ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็จะโยนห่วงให้"
ปัจจุบันโอภาสเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาธุรกิจ ดูแลตลาดปากกา Cross และเป็นผู้จัดการ "มูลนิธิตาเฮอร์เพื่อการศึกษา" ซึ่งครอบครัวสยามวาลา contribute ให้กับสังคม เน้นการสร้างครูที่มีคุณภาพ
นอกจากนี้ โอภาสยังมีบทบาทเป็น public figure ที่คนรู้จักมากกว่าพี่น้องคนอื่น ในฐานะหน้าที่เป็นอุปนายกสมาคมเครื่องเขียนแห่งประเทศไทยที่มีแผนจะตั้งเป็นสหพันธ์เครื่องเขียนฯ โดยรวมกับอีกสองสมาคม คือ สมาคมผู้ผลิตเครื่องเขียนเพื่อการส่งออก และสมาคมผู้ค้าหนังสือและแบบเรียน ในเดือนมีนาคมนี้จะมีการจัดงานเครื่องเขียนขึ้นที่สยามพารากอนด้วย
ส่วนสุหฤทจบเอแบคแล้วทำงานและต่อปริญญาโทนิเทศศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ด้วยความเป็นคนช่างฝันและรักความสมบูรณ์แบบของชีวิตกับการงานอย่างมีจินตนาการนอกกรอบและพลวัตมากๆ สมดังคำขวัญที่ปะทะสายตาทุกคนที่เข้าห้องทำงานเขาในยุคแรกๆ ว่า "โลกมีแนวไว้ให้แหวก" งานอดิเรกคือเป็นคลับดีเจเปิดแผ่นเต้น เป็นความสุขเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่หลังเสร็จจากงาน เป็นดุลยภาพที่หล่อเลี้ยงชีวิตสองโลกของเขา
สำหรับดนุพล ลูกคนสุดท้องที่เอาดีทาง IT สร้าง ซอฟต์แวร์เฮาส์ ICE Solutions ที่พัฒนาระบบ open source ที่โดดเด่นจนมีลูกค้ากว่าร้อยราย และมักจะถูกเรียกร้องจาก สุหฤทให้ช่วยคิดระบบขายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดนุพลชอบยิงปืน
"คุณพ่อจะสอนเราบนโต๊ะอาหารว่าธุรกิจต้องมีคุณธรรม แต่ว่ามันไม่ง่าย พ่อบอกให้ดูปลาแซลมอน เวลามันจะวางไข่ จะเลาะลำธารแล้วกระโดดขึ้นไปจนถึงเหนือเขื่อนเพื่อไปวางไข่ น้ำที่บนนั้นมันสะอาดที่สุด การขึ้นที่สูงมันลำบากแต่ว่าเราจะเจอสิ่งที่ดีๆ" ดนุพลเล่าให้ฟัง
วัฒนธรรมพี่น้องที่กินข้าวกลางวันร่วมกันที่บ้าน สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่อยู่บน brothers' dialogue แม้จะต้องคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องธุรกิจก็ตาม ว่ากันว่าเมื่อก่อนอาหารที่ปรุงมาจากฝีมือแม่ของพวกเขานั้นอร่อยยิ่งนัก แต่ต่อมาแต่ละคนแต่งงานมีครอบครัวแล้ว จึงต่างคนต่างหิ้วปิ่นโตจากบ้านมากันเอง
"นี่เป็นช่วงเวลาที่ผมหวงมากในแต่ละวัน เป็นช่วงที่ผมอยากมาบริษัท เพราะช่วงเวลาที่เรากินข้าวกลางวันกัน มันเป็นช่วงที่สนุก จะมีแซว หยอดกันและคุณยิ่งศักดิ์จะมาแซว ผมกับคุณยิ่งศักดิ์จะเป็นคู่กัดและคู่ทะเลาะกันตลอด สองคนทั้งคุณโอภาสและคุณดนุพล ก็คอยมองว่าจะแจมช่วงไหนดี? คือเราจะเล่นกัน ทะเลาะกันในชั่วโมงหนึ่งที่มี" สุหฤทเคยเล่าเรื่องนี้ในรายการ "สุริวิภา" ที่ฉายภาพครอบครัวสยามวาลาในแง่มุมที่งดงามอบอุ่น
แม้โต้แย้งกันก็ใช่ว่าจะแบ่งแยกกันได้ ยามนี้ทั้งสามพี่น้องคือ โอภาส สุหฤท และดนุพลได้ย้ายไปซื้อบ้านสามหลังอยู่ด้วยกันที่ถนนพัฒนาการแล้ว โดยทุกวันเสาร์หรืออาทิตย์ ลูกๆ จะมารับพ่อแม่ไปอยู่ด้วย ขณะที่ยิ่งศักดิ์ก็จะกลับมาอยู่กับพ่อที่บ้านซอยศูนย์วิจัยหลังจากที่ก่อสร้างปรับปรุงอาณาบริเวณใหม่เสร็จแล้ว
ชีวิตหลังรีไทร์ของมิตร ต้องดูแลตนเองให้กระฉับกระเฉง แม้ว่าจะมีปัญญาอันแจ่มใสในร่างกายที่ชรา มิตรยังคงไปประชุมบ้างประมาณ 2 เดือนครั้งจากเดิมเดือนละครั้ง หลังจากประสบปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับโรคหัวใจเมื่อปี 2548
"ผมคงเสียใจมากเลย ถ้ารุ่น 5 ของเราจะไม่สนิทกันเหมือนเดิม เราจะพยายามทำทุกวิถีทางให้พี่น้องอยู่ด้วยกัน เพื่อให้รุ่นต่อไปเห็นเหมือนกับที่เราเห็น เหมือนเราเห็นคุณพ่อรักน้องๆ สองคน อยู่บ้านด้วยกัน เวลาคุณพ่อกลับมาคุยกันบนโต๊ะอาหารสอนเรา ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่เราน่าจะต้องทำกับลูกต่อไป ผมไม่อยากเห็นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่แตกต่างไป พี่น้องทั้งหมดรักกัน หอมแก้มกัน เราจะปลื้มใจทุกครั้งและอยากให้อยู่ร่วมกันต่อไปอีกหลายๆ รุ่น" สุหฤทเปิดใจให้ฟัง
ตราบใดที่ความเป็นพี่น้องคือความรับผิดชอบร่วมกันต่อคนรุ่นต่อไป ตราบนั้นความปรารถนาของผู้หญิงคนหนึ่งเป็นจริง
"ฉันเองอยากจะได้เห็นพี่น้องสามคนมีความปรองดองกัน นี่คือสิ่งที่ฉันปรารถนามากที่สุดในชีวิต" - Khadija
|
|
|
|
|