|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2550
|
|
เอก สยามวาลา เป็นผู้คร่ำหวอดอยู่เบื้องหลังการบริหารการจัดการคลังสินค้า โรงงานและระบบการขนส่ง Logistic ของบริษัท DHAS มาตั้งแต่เขาอายุ 18 ร่วมกับบิดาและพี่ชายจนถึงปัจจุบันซึ่งเขาอายุ 78
"ผมดูแลในเรื่องอิมปอร์ต ทำตั้งแต่พิมพ์ดีด ทำสัญญาคอนแทรกต์ อิมปอร์ต ชิปปิ้ง เคลียริ่ง สมัยนั้นหน้าที่ขายกับหน้าที่การสั่งของสัมพันธ์กันมาก ต้องให้แน่ใจว่าของมาถึงตามกำหนด กว่าเรือจะมาถึงก็สองเดือน จนกระทั่งของมาก็ให้ชิปปิ้งไปออกของ และส่งของให้กับลูกค้าของเราคือ กิจการค้าส่งค้าปลีกใหญ่ที่สำเพ็ง โดยเราไม่เก็บสต็อกมาก สมัยนั้นเราไม่มีโกดังใหญ่พอที่จะเก็บ" เอกเล่าให้ฟัง
จากยุคการค้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เอกสร้างโรงงานของ DHAS แห่งแรกที่นวนคร บนเนื้อที่ 5 ไร่ และเปิดใช้ในปี 2523 เพื่อผลิตแฟ้มตราช้างเป็นหลัก และโรงงานนวนครแห่งที่สองเนื้อที่ 13 ไร่ได้เปิดในปี 2531 เริ่มขยายจากการผลิตแฟ้มไปสู่เครื่องเขียนอื่นๆ เช่น สมุด สติ๊กเกอร์ และสามารถพัฒนาแม่พิมพ์ วัตถุดิบพลาสติก PP และเครื่องจักรเองเป็นครั้งแรก
ก้าวกระโดดของการผลิตแบบอุตสาหกรรมนี้นำไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ที่เอกได้สร้างคลังสินค้าที่กิ่งแก้วมูลค่า 300 ล้านบาท เป็นศูนย์กระจายสินค้าตั้งแต่ปี 2539 แทนที่การเช่าโกดังเก็บสินค้าที่คลองเตยและราษฎร์บูรณะ ซึ่งทำให้ยากต่อการจัดการขนส่งและค่าใช้จ่ายสูง
"ผมไปศึกษาจากเมืองนอกมาละเอียด ทั้งไปยุโรปสองเที่ยว ไปญี่ปุ่นสองเที่ยว และไปสิงคโปร์มาเที่ยวหนึ่ง เพื่อคัดเลือกว่าระบบไหนเหมาะสมที่สุด คุณมิตรคิดเพียงว่า โกดังก็คือโกดัง ทำไมต้องลงทุนมากถึง 300 ล้าน แต่ผมคิดว่าโกดังคือ Logistic คือการเปลี่ยนจากการวางของแบกะดิน แล้วเอาคนหรือรถยกมาทำงาน
แต่ธุรกิจเรามันใหญ่ขึ้น สินค้าก็มากมายเป็นพันๆ รายการ เราจะพึ่งความจำของพนักงานอย่างเดียวก็ไม่ได้บางอย่างเขาหาไม่เจอ พอมีออร์เดอร์มา เขาก็บอกว่าไม่มีอย่างนี้ก็จะทำให้ยอดขายหายไป ทั้งๆ ที่มีของในโกดัง" เอกได้แสดงกระบวนทัศน์แท้จริงต่อไปว่า
"เรามีแนวคิดใหม่ว่า แทนที่คนจะไปหาของ น่าจะให้ของมาหาคนจะง่ายกว่า วิธีนี้จะไม่พลาดและรวดเร็ว สามารถยกของจากโกดังออกมา และสามารถ consolidate ส่งให้ลูกค้า นี่เป็นระบบที่ผมนำเสนอว่ามีประสิทธิภาพแต่ว่าลงทุนเยอะ 300 ล้าน"
แต่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ย่อมเกิดผลกระทบและปัญหา กว่าที่เอกและทีมงานจะบริหารคลังได้ลงตัวได้เหมือนวันนี้ ก็ต้องใช้เวลาเกือบปีกว่าจะปรับแก้ปัญหาระบบให้เข้ากับคนทำงานได้ จนกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นคลังตัวอย่างที่แบงก์ชาติเคยขอดูงานบริหารคลังที่นี่ด้วย
บริเวณคลังสินค้ากิ่งแก้ว เนื้อที่ 13,000 ตร.ม. ซึ่งเป็นที่ดินที่เอกเป็นผู้ติดต่อซื้อมาจากบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ที่ตั้งติดกัน ภายในพื้นที่เต็มไปด้วยชั้นวางสินค้า (racking) สูง 16 เมตร บรรจุสินค้ากว่า 8,800 pallets หรือประมาณ 8,000 items หรือประมาณ 60-70 กลุ่มสินค้า
เกี่ยวกับการรับสินค้า การเก็บสินค้า (warehouse) การจัดส่งตลอด 24 ชั่วโมงที่คลัง ทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่เร็วและแม่นยำ ตั้งแต่พนักงานขายคีย์ออร์เดอร์ส่งอินเทอร์เน็ตมาที่สำนักงานใหญ่และคลัง เครื่องจะเช็กว่ามีสินค้าหรือไม่ ขณะที่ตรวจข้อมูลลูกค้า จากนั้นก็จะส่งข้อมูลทั้งหมดไปยังคลัง ซึ่งจะเรียบเรียงออร์เดอร์ว่าจะเริ่มหยิบยกสินค้าตัวไหนก่อนหลัง โดยส่งคำสั่งไปยังเครน เครนก็จะไปยกสินค้าจากชั้นสูงๆ มา โดยไม่ต้องใช้คนเลย โดยนำ pallet ชั้นสินค้าตัวนั้นๆ มาวางไว้ข้างหน้าแถวพนักงานที่ทำงานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ 6-7 ตัว ซึ่งจะบอกข้อมูลเกี่ยวกับ pallet ที่หยิบมาว่ามีสินค้าอะไรบ้าง จำนวนเท่าไร เมื่อเรียบร้อยเครื่องก็จะทำสลิปออร์เดอร์สินค้า ออกมาเพื่อไปปะหน้าสินค้าที่จัดส่ง
สุรเดช สุจฉายา รองกรรมการผู้จัดการสายงานสนับสนุน ซึ่งในปี 2540 เริ่มเข้ามาดูแลสายงาน Logistic ทั้งด้านจัดซื้อสต็อกและจัดส่งทั้ง inbound และ outbound รวมทั้งดูแลฝ่ายบุคคล ธุรการและ IT ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ ERP เฟสที่ห้า ซึ่งจะอยู่บนเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า web base อยู่ระหว่างการพัฒนาซอฟต์แวร์ของบริษัท ICE Solution ซึ่งดนุพล สยามวาลา เป็นกรรมการผู้จัดการ
"สำหรับคลังจะแยกไปจาก ERP เพราะเป็นตัวที่ลึกมาก เป็นตัวที่ผมวางโครงสร้างไว้ต่างหาก เพราะผมกำลังเน้น supply chain คือ บริษัทนี้จะก้าวไปสู่ service อีกอย่างหนึ่ง คือ customer service เพราะเราพบว่า ใน modern trade แพ้ชนะ อยู่ตรง service ที่เราสามารถส่งสินค้านับพันตัวได้โดยคนอื่นทำไม่ได้" สุรเดชกล่าว
การเน้นสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าเป็นหลัก ก่อให้เกิดกระบวนการทำงานที่ต้องมีการวางแผนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งลดต้นทุนและบริการที่รวดเร็วถูกต้อง
"หลังจากโรงงานแห่งที่ 3 ที่โรจนะ อยุธยา เกิดขึ้น ระยะทางขนส่งของเราจะเพิ่มขึ้นอีก 60 กม. เราจึงต้องคิดไม่ให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น หมายถึงว่า ส่วนของโรงงานแห่งที่ 2 ที่นวนคร จะกลายเป็น DC 2 ดูแลการจัดส่งลูกค้าแถบทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ และทางฝั่ง DC 1 หรือคลังกิ่งแก้วก็จะดูแลจัดส่งลูกค้าแถบทิศใต้และตะวันออก รวมถึงการส่งออกด้วย เพราะใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ" บุญชัย จิระวิชชเลิศ ผู้จัดการ warehouse & distribution center เล่า
ตั้งแต่ปีนี้ แผนการยกเครื่องระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้กับคลังมานานสิบปีแล้ว โดยเปลี่ยนคอนเซ็ปต์จากเดิมที่เน้น operations excellence มาสู่ customer service ในยุคการค้าสมัยใหม่
"DC กิ่งแก้วนี้ผมร่วมวางระบบไว้เมื่อสิบปีที่แล้ว เราแก้ปัญหาให้เดิน operations หลังจากนั้นผมก็ไปยุ่งน้อยลง แต่ตอนนี้ผมกำลัง research ดูว่าจะเอาตัวไหนเข้ามาแทน ซึ่งอยู่ในขั้นศึกษา" ดนุพลกล่าว
ปัจจุบันดนุพลกับประคัลภ์ งามวรรณากร Technology Director ที่ร่วมสร้างทีมงานหนุ่มสาว ICE Solution ให้เป็นมืออาชีพผู้เชี่ยวชาญซอฟต์แวร์เรื่อง applications, system และ service support แก่บริษัท DHAS ซึ่งเป็นบริษัทแม่และลูกค้าภายนอกกว่า 100 บริษัท
วันนี้ระบบบริหารคลังและ logistic ของ DHAS ถือว่าเป็นผู้นำกระบวนทัศน์การใช้เทคโนโลยี ที่น่าจับตาหลังจากการลงทุนเพิ่มในเฟสต่อไป
|
|
|
|
|