|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ตัวเลขในงบดุลปี 49 ชี้ชัดแบงก์ชาติบริหารทุนสำรองเจ๊ง 3 แสนล้าน รองผู้ว่าฯ อ้างไม่มีทางเลือก แถมโบ้ยค่าเงินเป็นเหตุจาก41 บาทต่อดอลลาร์เป็น 36 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลให้บัญชีงบดุลหลังบันทึกค่าเงินกลับมาเป็นบาทขาดทุนยับ ไม่วายฟุ้งยังคุ้มค่า ภาคส่งออกได้ประโยชน์ดันเศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้น ระบุหากไม่แทรกแซงจะขาดทุนจะมากกว่านี้ ค่าเงินบาทอาจอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยวาระการประชุมคณะกรรมการ ธปท.วานนี้ (22 ก.พ.) ว่า มีการเสนอให้คณะกรรมการฯ อนุมัติงบดุลประจำปี 2549 ของธปท. เพื่อนำส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบต่อไป โดยงบดุลในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารทุนสำรองทางการระหว่างประเทศในปี 2549 พบว่า แม้ได้มีการนำเงินสำรองทางการระหว่างประเทศไทยไปลงทุนและมีกำไรในรูปของดอลลาร์สหรัฐสูงถึง 7% แต่ค่าเงินบาทในช่วงต้นปี 2549 เมื่อเทียบกับปลายปีที่ผ่านมามีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณ 5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้เกิดผลขาดทุน 300,000 ล้านบาท เป็นผลมาจากค่าเงินที่แข็งค่าจากระดับ 41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสิ้นปี 2548 มาอยู่ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสิ้นปี 2549
ทั้งนี้ หลักการการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ จะคิดผลกำไรขาดทุนจากเงินสำรองทั้งก้อน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินดอลลาร์จำนวนนี้ ธปท.ได้เอาไปลงทุนหากำไรตลอดทั้งปีได้กำไรอยู่ที่ 7% ของเงินลงทุน ขณะที่มีต้นทุนจากการออกพันธบัตร ธปท.เพื่อดูดเงินกลับประมาณ 4-5% ดังนั้น หากค่าเงินบาทต้นปีปลายปีไม่เปลี่ยนแปลง การบริหารทุนสำรองจะได้กำไรประมาณ 2-3% แต่ปัญหาที่ต้องขาดทุน คือ ในการบริหารทุนสำรองได้กำไรเป็นเงินดอลลาร์ แต่เมื่อแปลงมาเป็นเงินบาทกลับแสดงผลเป็นขาดทุน
"เกิดจากการตีราคาเป็นสำคัญ ฉะนั้น เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินทุนสำรองขาดทุน 300,000 ล้านบาท แต่เมื่อหักกำไรที่ลงทุนได้และต้นทุนค่าดูดเงิน (จากการออกพันธบัตร) แล้วยังได้กำไรประมาณ 3% ทำให้ผลขาดทุนที่แท้จริงลดลงจาก 300,000 ล้านบาทเล็กน้อย แต่หากไม่แทรกแซงเลยค่าเงินบาทวันนี้อาจจะอยู่ที่ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งขึ้น 10 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อตีราคากลับมาอาจจะขาดทุนมากกว่าการที่ ธปท.แทรกแซงค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาก็ได้"
นางอัจนาย้ำว่า การขาดทุนจากการตีราคาเป็นการขาดทุนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะ ธปท.คงไม่สามารถไปลงทุนในอะไรที่ได้กำไรปีละ 17% เพื่อให้ทันกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น และต้องเข้าใจว่าการขาดทุน 300,000 ล้านบาทนี้ ไม่ใช่ยอดขาดทุนที่เกิดจากการที่ ธปท.เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท เพราะการขาดทุนจากการแทรกแซงนั้น ในงบดุลของ ธปท.ไม่ได้แยกเอาไว้ เพราะจะต้องคิดผลกำไรขาดทุนที่ละสัญญาตามช่วงเวลาที่ได้เข้าแทรกแซง จึงเป็นยอดที่ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ ( unrealize cost ) แต่จะคิดเป็นผลขาดทุนรวมจากการบริหารทุนสำรองรายปี
นอกจากนี้ การขาดทุนจากการแทรกแซงของ ธปท.ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความพยายามที่จะช่วยลดความผันผวนของค่าเงินบาท และการที่ค่าขึ้นบาทแข็งขึ้นนั้นก็เป็นผลดีต่อประเทศ เพราะเท่ากับว่า ไข่ดาว 1 ใบ หรือการให้บริการอะไรสักอย่างที่ประเทศขายให้ต่างชาติได้มีราคาแพงขึ้น เมื่อเทียบในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับว่าได้เงินตราต่างประเทศมากขึ้นจากทรัพยากรของประเทศเท่าเดิม ทำให้การขาดทุนในส่วนนี้ของ ธปท.ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเป็นห่วงเพราะเป็นการขาดทุนที่ทำให้พื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น
"เพื่อดูแลภาคการส่งออก ภาคเศรษฐกิจจริง ธปท.ไม่มีทางเลือกที่จะต้องแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมาก หรือแข็งค่าเร็วเกินไป เมื่อมีการแทรกแซงก็ต้องยอมรับว่ามีภาระขาดทุน แต่ไม่ได้หมายความว่า หากไม่แทรกแซงค่าเงินบาทแล้ว จะไม่มีภาระขาดทุน"
รองผู้ว่าฯ ธปท.เปิดเผยว่า เพื่อให้มีความชัดเจนว่า การเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทของ ธปท.ในแต่ละปี มีผลกำไร หรือขาดทุนเท่าไร ในร่างพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่กระทรวงการคลัง ธปท.ได้เสนอขอให้แยกบัญชีในส่วนของการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทออกจากบัญชีทุนสำรองทางการระหว่างประเทศรวม เพื่อให้ทราบว่าการแทรกแซงของ ธปท.มีผลอย่างไร ถ้าร่าง พ.ร.บ.ธปท.ใหม่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะสามารถแยกบัญชีได้
เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนปิดงวดบัญชีปี 2549 คือเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา ธปท.โดยความร่วมมือของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ออกมาตรการกันสำรองเงินนำเข้า 30% ปรากฏว่า มาตรการครั้งนั้นสร้างความเสียหายให้นักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้น 8 แสนล้านบาท ธปท.อ้างว่าเป็นมาตรการสกัดค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก แต่นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า ธปท.และ ม..ร.ว.ปรีดิยาธรอาจมีวาระซ่อนเร้นในการกลบความล้มเหลวจากการต่อสู้ค่าเงินจนขาดทุน จึงต้องออกมาตรการเพื่อลดผลขาดทุน ตัวเลขในงบดุลครั้งนี้จึงน่าจะพิสูจน์เรื่องดังกล่าวได้ดี ที่สำคัญค่าเงินบาทก็ยังไม่ได้อ่อนค่าลงตามที่ ธปท.ต้องการ โดยปัจจุบันกลับมาแข็งค่ามาอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ PHATRA กล่าวว่า ที่ผ่านมาเห็นว่านโยบายดูแลค่าเงินบาทของ ธปท.ถือเป็นการสร้างภาระให้กับประเทศ เนื่องจากแบงก์ชาติได้ใช้วิธีนำเงินบาทไปซื้อดอลลาร์ เพื่อชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ส่งผลให้ปริมาณบาทออกมาในระบบจำนวนมาก ทำให้แบงก์ชาติต้องออกพันธบัตรจำนวนมากมาดูดซับสภาพคล่องตรงนี้อีก ทำให้มีภาระเรื่องจ่ายดอกเบี้ยจำนวนมาก
|
|
|
|
|