|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แม้ความต้องการการลงทุนในธุรกิจค้าปลีกหรือคอนวี่เนี่ยนสโตร์ถูกตีตื่นจากธุรกิจประเภทอื่นด้วยความหลากหลายของประเภทธุรกิจที่มากขึ้นก็ตาม แต่คอนวีเนี่ยนสโตร์ยังคงติดอันดับ 1 ใน 3 การลงทุนที่นักลงทุนคิดที่จะลงทุนเสมอ
ด้วยปัจจัยพื้นฐานอันดับแรกที่นึกถึงคือสินค้าอุปโภค บริโภค ที่ไม่อิงกับสภาพเศรษฐกิจมากนัก เพราะคนยังต้องกินต้องใช้ อย่างไรเสียรายได้อาจลดลงไปบ้างแต่ก็ยังขายได้
แต่กับปัจจุบันพบว่ารูปแบบการขายสินค้าและบริการ ได้มีการปรับตัวไปอย่างรวดเร็ว และไทยขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำในเรื่องของนำเสนอด้วยรูปแบบสินค้าและบริการใหม่ๆ เสมอ ฉะนั้นสิ่งที่เห็นและเกิดขึ้นไม่เฉพาะสินค้าที่ซื้อมาขายไปเท่านั้น แต่แฝงด้วยกลยุทธ์ทางธุรกิจมากมาย ที่สามารถเชือดเฉือนนำมาวัดความสำเร็จของธุรกิจกันได้ง่ายๆ
รู้ทันกลยุทธ์ก่อนคิดลงทุน
สิทธิชัย ทรงอธิกมาศ รองประธานฝ่ายวางแผนและพัฒนา สถาบันพัฒนาศักยภาพนักบริหาร กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" กล่าวถึง ปัจจัยความสำเร็จการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกคือการครอบครองพื้นที่ตลาดหรือจำนวนสาขา ด้วยการเข้าถึงแหล่งชุมชน ซึ่งอาจแตกต่างจากธุรกิจประเภทอื่นที่สร้างการรับรู้ของคนด้วยการสร้างแบรนด์ ทั้งนี้เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกเป็นธุรกิจที่ซื้อมาขายไปหรือเป็นตัวกลางในการขายสินค้า ฉะนั้นแบรนด์จึงมีความสำคัญน้อยกว่าการครอบครองพื้นที่
จะเห็นว่าแนวทางการตลาดดังกล่าว เซเว่นอีเลฟเว่น (7/11) มาเป็นอันดับของจำนวนสาขาที่มากที่สุดในปัจจุบัน จากการที่ซี.พี.บริหาร 7/11 ในไทยเกือบ 20 ปีแล้วนั้น ตั้งเป้าในอีก 3 ปีข้างหน้านี้จะมีสาขาครบ 5,000 สาขาและอีก 6 ปีที่ 10,000 สาขา
ด้วยจำนวนที่มีกว่าคอนวีเนี่ยนสโตร์รายอื่นๆ หลายเท่าตัว สามารถกล่าวได้ว่า 7/11 เป็นผู้นำตลาดคอนวีเนี่ยนสโตร์ด้วยการเป็นเบอร์ 1 ในการเข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด และเป็นรายใหญ่ที่ขยับตัว หรือการการเคลื่อนไหวใดๆ ย่อมส่งผลต่อรายอื่นๆ ทั้งสิ้น และ 7/11 เป็นผู้ครอบครองพื้นที่ตลาด (Dominate) ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ฉะนั้นการที่คอนวีเนี่ยนสโตร์รายอื่นที่รุกขึ้นมาแข่งขันจึงเป็นไปด้วยความลำบาก นอกจากการหากลยุทธ์ใหม่ๆ หรือสร้างความแตกต่างออกไป
"ผมยกตัวอย่างว่ากรณีของ 7/11 กับคอนวีเนี่ยนสโตร์รายอื่นๆ นั้นแตกต่างกันมากที่จำนวนสาขา 7/11เป็นผู้ Dominate กว่า 80% ทำให้รายอื่นลุกขึ้นมาทำอะไรจึงค่อนข้างยาก ซึ่งแตกต่างจากเครื่องดื่มน้ำดำ อย่างโค้ก แป๊บซี่ ที่ถือครองตลาดใกล้เคียงกัน หรือฟูจิ โกดัก"
สิทธิชัย กล่าวต่อไปว่า แต่ใช่ว่าคอนวีเนี่ยนสโตร์รายอื่นๆ หรือเบอร์ 2 เบอร์ 3 ในตลาด หมดหนทางที่จะยืนอยู่ได้ ทั้งนี้ในตลาดของกลุ่มเหล่านี้จะพบว่ากลยุทธ์การทำตลาดอยู่มากมายที่สามารถทำให้ขยายสาขาไปได้จำนวนมากเช่นกัน ซึ่งนับว่ามีสาขาที่ไม่น้อย เช่น เฟรชมาร์ท ตัวเลขขยับเข้าใกล้ที่ 400 กว่าสาขาแล้วและมีแผนการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง วีช็อป 1,000 กว่าสาขา หรือแฟมิลี่มาร์ทใกล้ที่ 1,000 สาขา หรือรักบ้านเกิด 800 สาขา
ส่องเกมต่อกรตลาดค้าปลีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้จะพบว่าคอนวีเนี่ยนสโตร์ รายอื่นๆ ก็มีจุดแข็งทางการตลาดที่แตกต่างกันไป วีช็อป แบรนด์ไทยที่มีสาขารองจาก 7/11 ที่ผู้บริหารให้ข้อมูลว่าอัตราการขยายตัวของวีช็อป 2 วันต่อ 1 สาขา และมีการแตกแบรนด์เป็นวีช็อป เอ็กซเพรส และไทย ช้อป ที่มีลงทุนที่ต่ำกว่า
ขณะเดียวกันยังหาพันธมิตรทางธุรกิจที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้องที่สามารถไปได้กับคอนวีเนี่ยนสโตร์ได้ทั้งพื้นที่ภายในร้านและบริเวณหน้าร้าน กรณีของพื้นที่หน้าร้านนั้นลงทุนกับวีช็อปยังได้ธุรกิจอื่นพ่วงมาอีกคือร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นโกเด้งหรือโฮเด้ง ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญกู๊ดดริ้ง ร้านลูกชิ้นปิ้ง ด.เด้ง
ส่วนเฟรชมาร์ท ล่าสุดได้แตกไลน์ธุรกิจสู่ธุรกิจขายตรงภายใต้แบรนด์ “เฟรชไลฟ์” โดยใช้เครือข่ายร้านแฟรนไชส์เฟรชมาร์ทกว่า 400 สาขาเป็นจุดกระจายสินค้าหรือคลังสินค้า ทั้งนี้ยังได้แฟรนไชซีเป็นเครือข่ายสมาชิก สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น รายได้จากการจำหน่ายสินค้าผ่านร้านเฟรชมาร์ที่ 2% จากราคาสินค้าและ 50 บาทจากใบสมัครสมาชิกเฟรชไลฟ์
ทั้งนี้ “นรินทร์ จิยารมณ์” ซีอีโอบริษัท กล่าวว่า ธุรกิจขายตรงเฟรชไลฟ์จะเป็นธุรกิจใหม่ที่เอื้อกับเฟรชมาร์ทได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องใช้พื้นที่หรือการลงทุนเพิ่มแต่ฐานลูกค้าเป็นกลุ่มเดียวกัน เพราะสินค้าที่เสนอขายเฟรชไลฟ์คือเครื่องสำอางและอาหารเสริม
ล่าสุด ยังได้ขยายรูปแบบการลงทุนของเฟรชมาร์ทในระดับเงินลงทุนที่ 390,000 บาท เพื่อจับตลาดร้านโชว์ห่วยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ต่างลุกขึ้นมารับเปลี่ยนโฉมธุรกิจเพื่อเป็นร้านสะดวกซื้อที่ทันสมัยขึ้น ด้วยระบบการบริหารธุรกิจด้วยเทคโนโลยี และการตกแต่งร้าน ตั้งเป้าที่ 100 สาขาในปี 2550 นี้
หรืออย่างร้าน 108 ช้อปของเครือสหพัฒน์ฯ ร้านรักบ้านเกิดที่สร้างความแตกต่างด้วยการนำสินค้าในชุมชนต่างๆ เข้ามาวางจำหน่ายภายในร้าน
สิทธิชัย ให้ข้อมูลเสริมว่า จะเห็นได้รายที่ไม่ได้เป็นผู้ Dominate ตลาดแต่สามารถหาสินค้า บริการที่แตกต่าง ที่มีโอกาสในการจำหน่ายและเป็นที่สนใจของผู้บริโภคมาเป็นตัวช่วย และด้วยเงินลงทุนที่ไม่สูงมากนักทำให้การเก็บค่าวางสินค้าไม่สูงราคาสินค้าที่วางจำหน่ายจึงราคาที่ถูกกว่า และด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวเหล่านี้สามารถทำให้แข่งขันได้ อยู่รอดได้จึงทำให้ยังคงมีแฟรนไชซีหรือผู้ร่วมทุนเกิดการขยายสาขาต่อเนื่อง หรือจากการตอบโตที่เน้นการลงทุนที่ต่ำกว่า ไม่มีเงื่อนไข จึงเป็นลักษณะเครือข่ายความร่วมมือ ที่บริษัทเหล่านี้ได้คือการจำหน่ายสินค้าผ่านร้านเครือข่าย ฉะนั้นระบบแฟรนไชส์ที่ใช้ในระบบเป็นภาพลักษณ์มากกว่า
ผ่าเส้นทางสร้างธุรกิจ 7/11
หากย้อนกลับมาที่ 7/11 รายใหญ่ในตลาด สิ่งที่ทำควบคู่กับการขยายสาขา จะเห็นการพัฒนาสินค้าและบริการภายในร้าน ในยุคเริ่มต้นที่ 7/11 เปิดให้บริการในไทยสินค้าในร้านจะเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดมาขาย เน้นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาพัฒนาสู่สินค้าที่มีผลกำไรดี เช่น ของกิน จำพวกขนมจีบ ซาลาเปา ร้านอื่นไม่มีขายทำให้พัฒนาผลกำไรตัวเองไม่ได้ แต่ 7/11 พัฒนาเพิ่มผลกำไรโดยหาผลิตภัณฑ์ที่มีกำไรสูง บนเครือข่ายของบริษัทแม่คือเครือซี.พี. คอนวีเนี่ยนสโตร์รายอื่นแม้จะหาสินค้าอาหารมาขาย แต่ไม่มีแหล่งผลิต ราคาขายย่อมสูงกว่าหรือได้กำไรไม่เท่า 7/11
จากนั้น 7/11 ได้พัฒนาต่อคือการนำสินค้า บริการใหม่ๆ เพิ่มเติม แต่บนพื้นที่ที่เท่าเดิม จึงมีการนำเสนอขายในรูปแบบใหม่คือบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส และการจำหน่ายสินค้าผ่านแคตาล็อก หรือเป็นการหาสินค้า บริการอะไรก็ได้ที่สร้างมาร์จิ้นเพิ่มและไม่กระทบรายได้เดิม ทั้งนี้เป็นการแข่งขันที่ฉีกเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ
"ปัจจุบัน 7/11 ได้หนีคู่แข่งขันรายอื่นคือรูปแบบตลาดที่มีการพัฒนา รวมถึงสินค้าที่วางจำหน่ายอยู่นั้นหลายแบรนด์ผูกขาดที่ 7/11 เท่านั้นหรือผลิตขึ้นมาเพื่อวางขายเฉพาะใน 7/11 เท่านั้น ทั้งนี้ทำให้ผู้บริโภคเกิดความพอใจที่เจอของมากกว่า ของใหม่มีเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ นี่คือความหมายของการแข่งขัน"
หลักคิดการเลือกแบรนด์
แล้วจะเลือกลงทุนกับแบรนด์ใด? สิทธิชัย ให้ข้อมูลว่า การที่นักลงทุนจะเลือกแบรนด์ใด อันดับแรกขึ้นกับศักยภาพทางการเงินของผู้ลงทุน เพราะระดับเงินลงทุนคอนวีเนี่ยนสโตร์มีตั้งแต่ระดับแสนจนถึงระดับล้านบาทขึ้นไป
แต่ต้องยอมรับว่าตลาดคอนวีเนี่ยนสโตร์มี Dominate ตลาดมากถึง 80% แต่ไม่ใช่ว่าไม่สามารถลงทุนได้ ผู้ที่มีเงินลงทุนปานกลางยังสามารถเลือกลงทุนธุรกิจคอนวีเนี่ยนสโตร์ได้ แต่ให้พิจารณาว่าแบรนด์ที่เลือกนั้นอยู่ในกรอบของการแข่งขันได้หรือไม่ เช่น ราคาสินค้าถูกกว่า มีสินค้า บริการที่เป็นตัวช่วยสร้างความยั่งยืน มีการปรับตัวตั้งรับการแข่งขันได้อย่างไร และแข่งขันได้จริงหรือไม่ Dominate ต้องคิดอย่างมากในฐานะผู้ประกอบการ
ผู้ลงทุนต้องระวัง Dominate ตลาด ถ้าไม่เลือกเจ้าตลาดก็ต้องเผชิญหน้า ถ้าแข่งขันไม่ได้จะทำอย่างไร และถ้าไม่ลงทุนกับเจ้าตลาดทำได้หรือไม่แต่ถ้ามีทางออกก็ย่อมแข่งขันได้
|
|
|
|
|