เปิดใจ "ซิคเว่ เบรคเก้" บอกอนาคต "ดีแทค" หลังสิ้นยุครายได้ขายวอยซ์มือถือ ปูทางสู่ "ไวร์เลส คอมปานี" รองรับการใช้งานเทคโนโลยีไร้สายแจ้งเกิดแน่ เดินหน้าปรับโครงสร้างภายใน ดึงผู้บริหารมืออาชีพ จิ๊กซอว์สร้างความสำเร็จ คุยข่มมาทีหลัง "เอไอเอส" แต่เหนือชั้นกว่าด้วยความพร้อมทุกด้าน ตีแผ่อุตสาหกรรมมือถือแข่งขันแย่งลูกค้ารุนแรงหลากหลายชั้นเชิงธุรกิจต่อกรกัน
หลังจากที่ต้องฟาดฟันกันอย่างถึงพริกถึงขิงเพื่อหวังดึงส่วนแบ่งตลาดบางส่วนจากผู้นำตลาดอย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ของบริษัทเบอร์สองในตลาดมือถืออย่างบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จนวันนี้น่าจะเรียกได้ว่า ดีแทคได้บรรลุเป้าหมายไปได้แล้วในระดับหนึ่ง ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการที่ในส่วนระบบเติมเงินหรือพรีเพด 9,496,225 เลขหมาย ระบบจดทะเบียนหรือโพสต์เพด 1,966,602 เลขหมาย ภายใต้สถานีโครงข่ายหรือเซลไซต์ 7,078 สถานี ณ สิ้นเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา
เมื่อมองเป้าหมายของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีผู้บริหารสูงสุดที่เป็นชาวต่างชาติแต่มีความเป็นไทยมากขึ้นเรื่อยๆ "ซิคเว่ เบรคเก้" ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่จะขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ไปข้างหน้า
"ไวร์เลส คอมปานี" หรือ "ไวร์เลส โอเปอเรเตอร์" เป็นคำที่ผู้บริหารอย่างซิคเว่ เบรคเก้ เอ่ยปากออกครั้นเปิดตัวผู้บริหารคนใหม่ "แอนดรูว์ แม็คบีน" อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัดเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง
จากที่ได้มีการพูดคุยกับซิคเว่เพื่อค้นหาแนวคิดการถึงการวางเป้าหมายใหม่ของดีแทคในครั้งนี้ ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่อะไรเท่าไรนัก เพราะเรื่องนี้ทางค่ายเอไอเอสหยิบยกมาพูดและผลักดันตลาดมา 1-2 ปีเข้าไปแล้ว แต่ก็ยังไม่คืบหน้าเท่าไรนัก
ซิคเว่ได้ตอบข้อสงสัยที่ว่า ทำไมดีแทคถึงเพิ่งจะเริ่มมากำหนดเป้าหมายดังกล่าวในช่วงนี้ว่า หากย้อนกลับไปเมื่อดีแทคเพิ่งเริ่มให้บริการครั้งแรก เทคโนโลยียังเหมาะสมกับการให้บริการทางด้านเสียงอย่างเดียว ณ ตอนนั้นเริ่มจากอนาล็อกที่การส่งข้อมูลอยู่ที่ 9.6 กิโลไบต์ต่อวินาที เหมาะสมกับการให้บริการเสียง ทำให้รูปแบบการทำธุรกิจตอนนั้น แผนการทำธุรกิจกับการให้บริการฟิกเทเลโฟนมากกว่า ตอนนี้ที่ดีแทคเปลี่ยนจากอนาล็อกมาสู่ดิจิตอล เข้าสู่จีพีอาร์เอส เข้าเอดส์ เข้าสู่ 3จี ไวแม็กซ์ จะเห็นว่า เทคโนโลยีที่มีอยู่เคลื่อนตัวเข้าไปสู่เทคโนโลยีทางด้านดาต้าได้ ทำให้มองว่า ถึงเวลาที่ดีแทคจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของแผนธุรกิจที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อขยายธุรกิจรองรับในอนาคต
"เท่าที่มองธุรกิจการให้บริการเสียงนั้นใกล้จะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว คาดว่าภายใน 2 ปี ที่ธุรกิจมือถือจะถึงจุดอิ่มตัว เพื่อเป็นการรองรับอนาคตข้างหน้าจากการให้บริการแค่เสียงเท่านั้น"
ซิคเว่ยังบอกอีกว่า ดีแทคไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจออกไปเท่านั้น ยังอยู่ในแนวคิดเดิมจากในเรื่องวอยซ์ทูวอยซ์ โดยเปลี่ยนมาเป็นวอยซ์ทูดาต้า ตรงนี้ถ้าให้มอง เชื่อว่าเทคโนโลยีตรงนี้จะเป็น Kill เลอร์แอปพลิเคชั่น บริการสื่อสารแบบมีสายทั้งหลาย ทั้งบริการโทรศัพท์มีสายตามบ้านและบริการมีสายที่เป็นบรอดแบนด์ เชื่อมั่นว่า ผู้ใช้บริการต้องการที่จะในลักษณะที่เป็นไร้สายมากกว่า แต่สำหรับภาคธุรกิจแล้วจะยังคงจะใช้บริการสื่อสารแบบมีสายอยู่ในการเชื่อมต่อข้อมูล แต่ว่าถ้าในรูปแบบผู้ใช้ทั่วไปตามบ้าน ทุกอย่างจะเข้าสู่ตามบ้านเทคโนโลยีไร้สาย เป็นโมบายไร้สาย
"ถ้าพูดถึงไทม์เฟรมคงตอบไม่ได้แน่ชัด เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับไลเซนต์ที่ขอไปว่าจะได้เมื่อใด หวังว่า ทั้งรัฐบาลและกทช. ไม่ดีเลย์โปรเจ็กต์ในการพิจารณาตรงนี้ ไม่เช่นนั้นผู้เดือดร้อนน่าจะเป็นผู้ใช้บริการ ซึ่งถ้าตรงนี้อนุมัติ เราก็พร้อมจะลงทุนได้ทันที"
ซิคเว่สรุปสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไปว่า จะเกิดแนวคิดในเรื่องระบบไร้สายที่จะมาทดแทนบรอดแบนด์ที่เป็นบริการสื่อสารมีสายทั้งหมดด้วยบริการสื่อสารแบบไร้สาย สอง อินเทอร์เน็ตจะเข้าถึงผู้ใช้บริการกลุ่มใหญ่มากขึ้น คนที่ไม่เคยได้ใช้ก็จะมีโอกาสที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากเทคโนโลยีไร้สายที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้
"คิดว่า มาไม่ช้าเกินไป เมื่อดูจากการลงทุนของเอไอเอสในการผลักดันเรื่องนี้ เมื่อดูถึงรูปแบบเงินลงทุนไป หรือดูด้านมาร์เก็ตติ้งที่ลงไป ซึ่งทางเอไอเอสลงทุนในส่วนนี้ไปมาก แต่ถ้าดูในแง่ของรายได้ที่มาจากดาต้าหรือผู้ใช้บริการแล้วพูดได้ว่า อยู่ในระดับเดียวกับดีแทค เรียกว่า ลงทุนมากกว่า แต่ว่า ผลตอบแทนไม่ต่างกัน ซึ่งอาจจะพูดได้ว่า เริ่มต้นเร็วเกินไป"
ซิคเว่ยังบอกอีกว่า ในแง่ของแพลตฟอร์ม ดีแทคมีซัปพลายเออร์รายเดียวทั้งเครือข่าย ทั้งในแง่แพลตฟอร์มของบิลลิ่ง แพลตฟอร์มโครงสร้างเองตรงนี้เป็นประโยชน์ในการให้บริการเพราะทุกอย่างสามารถที่ดีลีฟเวอร์ได้ทันที ไม่มีความขัดแย้งกันในเน็ตเวิร์ก
เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ซิคเว่ได้ทำการปรับโครงสร้างภายในดีแทคเพื่อรองรับใน 3 ส่วน เริ่มจากการมอบหมายให้แอนดรูว์ แม็คบีน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กรเข้ามารับผิดชอบดูแลการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ องค์กรบริษัทข้ามชาติ ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ซึ่งเป็นส่วนที่มีความต้องการสูงทั้งในแง่โซลูชั่นและพื้นที่การให้บริการ
ส่วนที่สอง ซิคเว่ได้สร้างยูนิตใหม่ขึ้นมานั้นคือ บริการเสริมหรือ vas จากเดิมที่ส่วนนี้แยกไปอยู่ เมื่อก่อนนี้ตรงส่วนนี้จะแยกกันอยู่ตรงพรีเพด กับอยู่ที่โพสต์เพด แต่วันนี้ได้นำทั้งสองส่วนมาอยู่ที่เดียวแล้วรายงานตรงต่อซิคเว่เพื่อที่จะพัฒนาบริการเสริมใหม่ๆ ให้กับทั้งกลุ่ม ซึ่งในยูนิตนี้เริ่มงานทางด้าน 3 จี ไวแม็กซ์ไปบ้างแล้ว และส่วนที่ 3 เป็นการผนึกส่วนงานทางด้านวิศวกรเข้ากับกลุ่มงานด้านไอทีเพื่อสร้างจุดแข็งในการให้บริการ
การที่ดีแทคตั้งเป้าเป็นผู้นำในการให้บริการไวร์เลส โซลูชั่น เป็นผู้ให้บริการไวร์เลสทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น EDGE 3จี หรือ 3.5จี ไวแม็กซ์ ไวไฟ ทางดีแทคได้เตรียมเม็ดเงินลงทุนในอีก 2-3 ปีข้างหน้าไว้ 30,000 ล้านบาท การลงทุนในส่วนนี้จะมีส่วนสนับสนุนเรื่องการลงทุนเทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้นด้วย
"ในอนาคตเราต้องการให้ดีแทคเป็นมากกว่าโมบายคอมพานี เราต้องการที่จะเป็นไวร์เลส คอมพานี" ซิคเว่กล่าว
ซิคเว่ยังกล่าวถึงทิศทางตลาดโทรศัพท์เคลื่อนทีในประเทศไทยปีนี้ไว้ว่า ปีนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 3 อย่าง การเปลี่ยนแปลงอย่างแรก คือ การมาถึงของอินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ อย่างการออกตัวโปรโมชั่นใหม่ ลดเหลือราคา99 บาท เป็นเรื่องของออนเน็ตกับออฟเน็ต สิ่งที่เห็นเอไอเอสออกตามเรา 99 บาท ส่วนทรูออกมาที่ 89 บาท จะเห็นการแข่งขันที่อยู่บนความพยายามให้ลูกค้าโทร.ในออนเน็ตมากขึ้น จะเป็นความพยายามสร้างคอมมูนิตี้ของผู้ให้บริการเพื่อให้เพื่อโทร.หาเพื่อนหรือเป็นในลักษณะเมมเบอร์เก็ตเมมเบอร์ ถ้าหาสมาชิกเข้ามาเพิ่มขึ้นก็จะได้พอยต์ในการโทร.เพิ่มขึ้น การทำอย่างนี้นั้นหมายความว่า รายได้จะลดลง จึงต้องพยายามรักษาความหนาแน่นในการโทร.ของกลุ่มคนให้เพิ่มมากขึ้น ตรงนี้คือ จุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมของการนำไอซีเข้ามาใช้
"ประการที่สอง ขยายประชากรในการใช้งานโทรศัพท์มือถือให้มากขึ้น ทางดีแทคมองว่า น่าจะมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นได้ถึง 9-10 ล้านคน ขณะที่ทางเอไอเอสมองว่า น่าจะมีอยู่แค่ 5 ล้าน ซึ่งจะเห็นว่า เป้าหมายของเราตั้งไว้ค่อนข้างจะสูงกว่าค่อนข้างเยอะ การแข่งขันจะเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก ไม่ใช่การแข่งขันแค่ราคา แต่การมาถึงของไอซีด้วยส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้น จะเห็นซิมการ์ดจะออกมาหลายรูปแบบ ส่วนหนึ่งตัวซิมจะมีราคาลดลง ที่ผ่านมาเราเพิ่งออกตัวซิม 49 บาท ออกมาในตลาดส่วนหนึ่งก็คือ ฟรีซิมจะออกมาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจมีเป้าหมายไปที่คนที่ยังไม่มีซิมหรือซิมแรกในชีวิตหรือสำหรับคนที่มีซิมที่สองซิมที่สาม
"ตลาดอีสานเติบโตค่อนข้างมากในตอนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ดีแทคมีโปรโมชั่นและได้ขยายตัวเซลไซต์เพิ่มมากขึ้น 1,000 เซลไซต์ ในปีนี้จะขยายเซลไซต์เพิ่มขึ้นในภาคเหนือและภาคใต้ที่เป็นตลาดต่อไปที่ดีแทคจะบุก โดยจะเพิ่มสถานีฐานอีก 1,200 เซลไซต์สำหรับภาคเหนือและภาคใต้อย่างละ 50% จะเห็นดีแทคมีโปรโมชั่นออกมาสำหรับภาคเหนือและภาคใต้มากกขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มผู้ใช้ที่ไม่สามารถในการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อไปก็จะสามารถมีได้ ราคาจะลดลง มีซิมมากขึ้น จะเห็นการแข่งขันที่เปลี่ยนไปไม่เฉพาะซิมที่มีราคาต่ำลง มีทั้งฟรีซิม ที่ผ่านมาเรามีอีสานซิม จะมีซิมสำหรับภาคใต้ มีซิมสำหรับเหนือมา
ซิคเว่กล่าวอีกว่า ประการที่ 3 ผู้ให้บริการจะมองหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น ในส่วนของดีแทคเอง ตอนนี้เพิ่งได้ไลเซนต์ไอดีดีจาก กทช.ในการให้บริการไอดีดี ปัจจุบันเอไอเอสได้แล้ว และทรูก็ได้ด้วย บริการให้บริการทางด้านนี้จะแข่งขันกับผู้ให้บริการที่ผูกขาดอยู่ตอนนี้ ก็คือ ทีโอที กับกสท. การให้บริการทางด้านนี้อาจจะออกมาในรูปของโปรโมชั่นพิเศษ ซึ่งจะออกมาใน 2 รูปแบบ คือ ให้โทร.3 เลขหมาย หากโทร.เบอร์นี้จะได้คุณภาพการโทร.ที่เรียกว่า ไอดีดี ถ้าโทร.3 เบอร์นี้ก็ได้วอยซ์โอเวอร์ไอพี ก็จะเป็นบริการที่ถูกลงเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้า
"นอกเหนือจากนี้เป็นการให้บริการทางด้านข้อมูล ที่เราจะอัพเกรดเครือข่ายจีพีอาร์เอสให้เป็น edge ทั้งหมดให้ได้เดือนพฤษภาคมศกนี้ โดยปัจจุบัน 50% ของเน็ตเวิร์กเป็น edge อยู่แล้ว ในเดือนพฤษภาคมศกนี้จะขึ้นเป็น 100% พอครบจะเห็นปริมาณทางด้านดาต้าของคนเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันประมาณ 10% ของรายได้มาจากรายได้ทางด้านเดต้า การใช้งานตรงนี้มองว่า ต่อไปจะไม่ใช่แค่การใช้งานดาต้าบนมือถือจะขยายตัวไปยังกลุ่มการใช้งานดาต้าบนแอร์การ์ดที่ว่างอยู่บนแล็ปท็อป ทำให้เราแค่บอกการขายแค่ตัววอซย์ เข้าไปสู่การขายโซลูชั่นเต็มให้กับองค์กร ส่วนนี้ไม่ใช่แค่การผู้ให้บริการมือถือ ไม่ได้เป็นแค่โอเปอเรเตอร์ แต่เราจะเป็นไวส์เวล โอเปอเรเตอร์ ในอนาคตมองถึงการขอไลเซนต์ทั้งไวแม็กและไวไฟเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งในรูปแบบของธุรกิจไร้สาย และสามารถแข่งขันได้กับธุรกิจฟิกไลน์ที่เป็นบรอดแบนด์"
ซิคเว่ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของโครงสร้างของบริษัทยังคงในรูปแบบเดิม แต่ในส่วนขอธุรกิจองค์กรเดิมซึ่งมี 4 ส่วนคือ1.coporate sale ดูแลเกี่ยวกับริการด้านเสียงกับลูกค้าองค์กร2.Business Solutionดูแลบริการด้านPush Mail ,SMSให้กับลูกค้า เป็นต้น 3.SME ซึ่งจะให้บริการทางด้านเสียงกับลูกค้าระดับ SME 4.Customer Service ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของสันติ สันติเมธาวิกุล รองประธานฝ่ายบริหารลูกค้า
ทั้ง 4 ส่วนนี้มีพนักงานกว่า 100 คน จะเข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของแอนดรูว์ เมื่อเข้ามาบริหารงานเรียบร้อยแล้วอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ดูทั้งรายได้ การทำตลาด การบริหาร การลงทุนในอนาคตข้างหน้าเทคโนโลยีไม่ได้เปลี่ยนแปลงตลาด ไม่เกี่ยวกับเงินลงทุน เพราะเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ใครก็สามารถหาซื้อได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือบุคลากรซึ่งหมายถึงทีมงานและผู้บริหาร
|