Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์19 กุมภาพันธ์ 2550
ปฏิบัติการสิงโตทะเล-"คลังกามิกาเซ่" "ห้ามเลือด" แบงก์ทหารไทย             
 


   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารทหารไทย
โฮมเพจ กระทรวงการคลัง

   
search resources

ธนาคารทหารไทย
กระทรวงการคลัง
Banking




แบงก์สัญลักษณ์ "ท็อปบูท" กลายเป็นเพียงแบงก์เดียว ที่เลือดยังไหลนองพื้นไม่หยุด และการปฏิบัติการพลีชีพด้วยการเพิ่มทุนของกระทรวงการคลัง "ผู้ถือหุ้นใหญ่" ถึง 3 ครั้ง 3 ครา เพื่อเข้าโอบอุ้มตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีทีท่าจะไปตลอดรอดฝั่ง กระทั่งการเพิ่มทุนครั้งล่าสุด ต่างก็คาดหมายกันว่า ต้องอาศัยภารกิจหน่วยรบ "กามิกาเซ่" เงินทุนจากกระทรวงการคลัง ควบคู่ไปกับ "ปฏิบัติการสิงโตทะเล" เม็ดเงินข้ามทะเลจากเกาะมหัศจรรย์ "สิงคโปร์" บ้านของ "ผู้นำตระกูลลี" เพื่อชุบชีวิตแบงก์ที่เกือบจะกลายเป็นซากศพให้กับมามีชีวิตอีกครั้ง....

แบงก์ที่เกิดจากสวัสดิการทหารสามเหล่าทัพในวัย 50 กว่าปี เกือบจะเรียกว่าเป็นเพียงแบงก์เดียวที่มองไม่เห็นอนาคต และยืนอยู่บนเส้นแบ่งความเป็นกับความตาย ในขณะที่แบงก์อื่นวิ่งไปไกลหลายช่วงตัวแล้ว

แบงก์ทหารไทยจึงยืนอยู่ในเขตแดนทศวรรษที่มืดมน ในขณะที่แบงก์อื่นๆ เดินเข้าสู่ยุคฟื้นฟูกิจการกันเป็นทิวแถว ทั้งๆ ที่หลังวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา ทหารไทยเป็นแบงก์เดียวที่ได้รับการโอบอุ้มจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กระทรวงการคลังมากที่สุด

และทุกครั้งที่ได้รับการช่วยเหลือจากผู้ถือหุ้นใหญ่ในลักษณะ "พลีชีพ" กระทรวงการคลังก็มักจะตกเป็น "ผู้ต้องสงสัย" พร้อมกับมีคำถามมากมายถึงภารกิจอุ้มชูที่ไม่เคยเห็นผลตอบแทนกลับคืนมาแม้แต่ครั้งเดียว

ตรงกันข้าม แบงก์ที่ยังคงมีภาพลักษณ์ "เครื่องแบบทหาร" กลับมีเลือดไหลพวยพุ่งไม่รู้จักจบจักสิ้น...

การเพิ่มทุนที่มีขึ้นก่อนหน้านี้ แทบจะไม่มีครั้งใดเลยที่ชวนให้แบงก์ทหารไทยถูกมองดูด้วยสายตาน่าเห็นใจ ส่วนใหญ่มักจะสร้างความคลางแคลงใจให้กับสังคม ผู้ถือหุ้น พนักงาน และผู้คนทั่วไป จนไม่ต่างจากการ "อำพรางคดี"....

ภาพของเหล่าทหารกล้ากลางสมรภูมิรบ ที่เคยมีอำนาจบารมีในอดีต จึงต่างไปอย่างสิ้นเชิงกับในปัจจุบัน การเพิ่มทุนติดต่อกันตลอดทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากไม่ช่วยห้ามเลือด แต่กลับทำให้แบงก์เครื่องแบบทหาร มีสภาพไม่ต่างจาก "ซากศพ" ที่รอวันยกไปกองรวมกันใน "สุสาน" ด้วยซ้ำ...

ว่ากันว่า การเพิ่มทุนทุกครั้ง นอกจากจะไม่ทำให้สุขภาพร่างกายของคนป่วยเรื้อรังดูดีขึ้น ตรงกันข้ามกลับทำให้หุ้นแบงก์ทหารไทยไม่ต่างจาก "หุ้นขยะ" พร้อมกับมีหนี้เน่ากองพะเนินเทินทึกถึง 11.9% ของสินเชื่อรวม คิดเป็น 6.6 หมื่นล้านบาท และขาดทุนสะสมกองสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน

ก่อนจะประกาศโครงการเพิ่มทุนครั้งใหม่ภายในเดือนมิถุนายน 2550 อีกครั้ง ชนิดที่ใครต่อใครต่างก็มีคำถามอยู่ในใจ

นักวิเคราะห์หลายสำนักก็ยังมองในมุมเดิมคือ การเพิ่มทุนครั้งใหม่โอกาสรอดชีวิตยังมีอยู่ แต่จะตลอดรอดฝั่งหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของทีมบริหารจัดการ และนโยบายดำเนินธุรกิจของแบงก์ทหารไทยเอง

เพียงแต่คราวนี้จะต่างจากการเพิ่มทุนทุกครั้ง ที่มีกระทรวงการคลังเป็นแกนนำ เพราะครั้งนี้หน่วยรบกามิกาเซ่ของกระทรวงการคลังจะดำเนินการควบคู่ไปกับ "ปฏิบัติการสิงโตทะเล" ซึ่งเม็ดเงินส่วนใหญ่จะถูกขนถ่ายข้ามทะเลมาจาก "สิงคโปร์" บ้านของ "ผู้นำตระกูลลี"

การเพิ่มทุนแบงก์ทหารไทย หลังคลื่นวิกฤตเศรษฐกิจ เริ่มต้นขึ้นเมื่อทางการในสมัย "ทนง พิทยะ" นั่งรักษาการเก้าอี้ขุนคลัง และเคยเป็นอดีตเอ็มดีเก่าแบงก์แห่งนี้ได้แก้เกณฑ์ให้เข้าโครงการ 14 สิงหาคม 2541 อย่างง่ายดาย

คลังใส่เงินไปในครั้งนั้น 2 หมื่นล้าน จนปลายปี 2546 ทหารไทยก็เพิ่มทุนอีก 2.2 หมื่นล้านบาท โดยนำหุ้นการบินไทยไปจำนำกับธนาคารออมสินคลังจึงต้องใส่เงินเข้ามาอีก 3 หมื่นล้านบาท แต่ยิ่งถมเท่าไรก็ยังไม่เต็มอยู่ดี...

แต่การโรดโชว์ในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกมีตัวเลขสีแดงเถือก กลับไม่ช่วยหยุดยั้งเลือดที่ไหลทะลักได้ จนในที่สุดก็มาจบลงที่เม็ดเงินจากเจ้าบุญทุ่ม "อดีต" นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และไทยประกันชีวิตเข้ามาเป็นผู้ช่วยชีวิตเอาไว้

ชั่วเวลาไม่นานนัก สัญลักษณ์ "รั้วของชาติ" ก็สร้างความน่าอดสูให้กับกองทัพ...

เพราะการเพิ่มทุนนอกจากจะไม่ช่วยกอบกู้แบงก์ทหารไทย แต่ยิ่งกลับซ้ำเติมมากขึ้นไปอีก เมื่อต้นปี 2547 ทางการได้มีการจับควบรวมกับ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) และดีบีเอสไทยทนุ จนเกิดคำถามหลากหลาย

การควบรวมครั้งนั้น ทั้ง 3 องค์กรต้องเผชิญกับเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน ตกเป็นเป้าโจมตีจากสังคม ขณะเดียวกันผลประกอบการก็ขาดทุนสะสมถึง 5.67 หมื่นล้านบาท มีหนี้เสีย 5.6 หมื่นล้านบาท ส่วนดีบีเอสไทยทนุขณะนั้นก็มีผลขาดทุนสะสมถึง 3.44 หมื่นล้านบาท

การช่วยชีวิตครั้งนั้นของกระทรวงการคลัง ก็ยังไม่ทำให้ร่างที่เกือบจะกลายเป็นซากศพเดินได้ของแบงก์ทหารไทยแข็งแกร่งขึ้นมาได้ เลือดยังคงไหลเจิ่งนองท่วมแบงก์....

ข้ามมาถึงปีกลางปี 2549 ทหารไทยก็ต้องประกาศเพิ่มทุนอีก 1.2 หมื่นล้าน นี่ก็อีกเช่นเคย กระทรวงการคลังต้องกลายเป็นผู้ใส่เงิน "อัดฉีดสารกระตุ้น" โดยที่ "คลังหลวง" ในขณะนั้น ก็มีสภาพไม่ต่างจากคนไข้ในห้องไอซียู เท่าไรนัก

คราวนี้เป็น "หุ้นอสมท" ที่ได้นำไปจำนำกับธนาคารออมสิน เพื่อนำเงินมาใช้สิทธิเพิ่มทุน ในที่สุดโครงสร้างใหม่แบงก์ทหารไทยก็ตกมาเป็น คลังถือหุ้นใหญ่ 31% ดีบีเอส ตระกูลลี 16% เหล่าทัพ 5% ไทยประกันชีวิต 2-3%

ขณะเดียวกัน คลังก็ยังถูกตั้งข้อกล่าวหาที่ว่า การเพิ่มทุนครั้งนั้น คือการพยายามรักษา "กองมรดก" ผู้นำประเทศ ที่มี "นอมินี" หรือ "หุ่นเชิด" อยู่จำนวนหนึ่ง รวมถึงพันธมิตรตระกูลลีจากเกาะสิงคโปร์ในขณะนั้นมากกว่าจะเป็นอย่างอื่น

เพราะหลังการเพิ่มทุน "หุ้นหุ่นเชิด" ของครอบครัวตระกูล "ชินวัตร" ก็ถูกเทขายเกลี้ยงพอร์ต...

นักวิเคราะห์หลายสำนักถึงกับแปลกใจว่า ทหารไทยที่มีภาพเป็นแบงก์เอกชนและมีกลิ่นอายของตระกูลลี จากสิงคโปร์เจือปนอยู่ ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีจากกระทรวงการคลังการตลอดทศวรรษ แต่กลับไร้ซึ่งอนาคตและจุดยืนในระยะยาว

อย่างไรก็ตามมาถึงวันนี้ แบงก์ทหารไทยก็ยังคงสร้างความงุนงงไม่แปรเปลี่ยน เพราะหลังการเพิ่มทุนครั้งล่าสุด ในช่วงต้นปี 2550 ก็มีการเตรียมโครงการเพิ่มทุนอีกครั้ง

โดยคราวนี้เม็ดเงินจะสูงกว่าทุกครั้งคือ 3.5 หมื่นล้านบาท และออกหุ้นกู้ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยมีความท้าทายจากตัวเลขหนี้เสีย ผลประกอบการขาดทุนสะสม และการแข่งขันจากคู่ต่อสู้ทั่วทุกสารทิศ รอคอยอยู่เบื้องหน้า

พร้อมๆ กับเสียงครหาที่ยังดังกึกก้อง และความประหลาดใจว่า ทุกครั้งที่มีการโอบอุ้มแบงก์สัญลักษณ์ท็อปบูท ใครคือผู้ได้ประโยชน์ และคลังมีเหตุผลอะไรต้องเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นผลตอบแทนคืนกลับมา "สักแดง" เดียว ตลอดเวลาเกือบ 10 ปี

ตรงกันข้าม ภาพการบริหารงานที่อุ้ยอ้าย ไม่คล่องตัว ประสิทธิภาพค่อนข้างล้าหลัง และยังมีภาพความขัดแย้งภายในองค์กรเล็ดลอดออกมาให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้แบงก์ทหารไทยเกือบจะกลายเป็นสินค้า "เลหลัง" และถูกขึ้นป้าย "เซลส์" ขายให้กับนายทุนเงินหนาอยู่ตลอดเวลา

ทศวรรษที่ผ่านมา การโอบอุ้มโดย "ภารกิจพลีชีพ" ของกระทรวงการคลังที่มี "เงาการเมือง" ปกคลุมอยู่ อาจทำให้แบงก์ทหารไทยมีลมหายใจอยู่ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

แต่หลัง "ปฏิบัติการสิงโตทะเล" ก็อาจจะได้เห็นภาพการเข้ามา "ทุ่ม" ด้วยเงิน "บุกเข้ายึด" และ "ครอบงำ" โดยประเทศที่ปกครองโดยคนตระกูลลี จากเกาะสิงคโปร์ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

ถึงวันนั้น แบงก์ทหารไทย ก็จะตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของตระกูลลี และกลายมาเป็นสาขาย่อยของ "สิงคโปร์" เกาะมหัศจรรย์อย่างเต็มตัว....   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us