|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
จับทิศ "เอ็มเอฟซี" ตั้งเป้าบุกเอาดีกับการลงทุนหุ้นในต่างประเทศ ตลอดปี 50 นี้ เรียงคิวกันออกถึง 6 กอง หวังใช้เป็นหมัดเด็ดในการต่อกรแย่งชิงเม็ดเงินกับ บลจ.เครือแบงก์ยักษ์ใหญ่ ชูจุดเด่นมีทีมงานและระบบคอมพิวเตอร์บริหารเอง ผลงานที่ผ่านมาเอาชนะดัชนีมาตรฐานได้ ลุยจับฐานลูกค้าเดิมและสถาบันเป็นหลักเหตุเสียเปรียบเรื่องสาขาช่องทางการจัดจำหน่าย
หากนับลำดับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ตามจำนวนสินทรัพย์ภายใต้การบริหารแล้ว "เอ็มเอฟซี" ถือได้ว่ามีเม็ดเงินมากเป็นที่ 3 แต่หากไม่นับรวมพอร์ตของกองทุนวายุภักษ์แล้วก็จะพบว่า "เอ็มเอฟซี" อยู่ในลำดับ 8 เท่านั้น ดังนั้นการตั้งหลักปักทิศเติบโตด้วยการเปิดกองทุนใหม่ๆในช่วงต่อจากนี้ไปคือสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งเม็ดเงินในตลาดกองทุนรวมนอกจากนี้ยังถือเป็นการลดความเสี่ยงหากในอนาคตกองทุนนี้จะครบกำหนดไถ่ถอนอีกด้วย
ดร.พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2550 ว่า ได้ตั้งเป้าหมายมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการอยู่ที่ 2.32 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินสุทธิให้เป็น 4 แสนล้านบาท ภายในปี 2553 เพื่อยกระดับให้เป็นบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตั้งเป้าที่จะเติบโตให้ได้อย่างต่อเนื่องปีละ 15%
สำหรับกองทุนใหม่ที่จะเปิดตัวในปีนี้มีทั้งสิ้น 19 กอง แบ่งเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนอิงกับค่าดัชนีต่างๆ 5 กองทุน กองทุนรวมตราสารทุน 4 กองทุน กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) 6 กองทุน กองทุน Private Equity จำนวน 2 กองทุน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์อีก 2 กองทุน
การตั้งเป้าในลักษณะนี้ ดูผิวเผินก็อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่อะไรที่แปลกใหม่เพราะทุก บลจ.ต่างก็จะมีการกำหนดเป้าหมายแบบเดียวกันนี้ในทุกช่วงต้นปีคล้ายๆ กัน แต่หากสังเกตให้ลึกลงไปก็จะพบว่าการออก FIF ถึง 6 กอง ซึ่งมากเท่ากับ FIF ที่ "เอ็มเอฟซี" บริหารอยู่ในขณะนี้ทั้งหมด หลังจากใช้เวลาตลอด 4 ปีที่ผ่านมาปั้นผีลุกปลุกผีนั่งกับกองทุนประเภทนี้มา ถือเป็นการเติบโต 100% ภายในปีเดียว (ในด้านจำนวนกองทุน) และมากกว่าจำนวน FIF ของ แต่ละ บลจ.ที่จะมีการตั้งกองใหม่ในปีนี้หรือบริหารอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งชี้ให้เห็นได้ว่าเป็นการตั้งเป้าบุกครั้งสำคัญ
สิ่งนี้ถือเป็นนัยยะที่สำคัญที่บ่งบอกทิศทางอันชัดเจนของ "เอ็มเอฟซี" ในช่วงต่อจากนี้ไป ภายใต้การต่อสู้ในสมรภูมิ บลจ.เครือแบงก์ที่มีสินทรัพย์ในการบริหารงานสูงสุด 5 อันดับแรก ซึ่งต่าง บลจ.ต่างก็มีหมัดเด็ดและศักยภาพที่แข็งแกร่งด้วยการหนุนหลังจากธนาคารพาณิชย์ผู้ถือหุ้นใหญ่
ดร.ศุภกร สุนทรกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บลจ. เอ็มเอฟซี กล่าวว่า ปัจจุบัน "เอ็มเอฟซี" มี FIF ภายใต้การบริหารทั้งหมด 6 กองด้วยกัน ซึ่งมีทั้งประเภทที่บริหารเอง และเป็น Fund Of Fund ลงทุนในกองทุนอื่นต่อ โดยถ้าเป็นกองทุนที่ลงทุนตราสารทุนในภูมิภาคเอเชีย "เอ็มเอฟซี" ก็จะใช้ทีมงานบริหารจัดการเอง แต่ถ้าเป็นการลงทุนในพันธบัตร ตราสารหนี้ และสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมีความยุ่งยากและซับซ้อนมากกว่าก็จะใช้วิธีลงทุนต่อในกองทุนอื่นอีกทอดหนึ่ง ซึ่งจากผลงานที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น FIF ที่ลงทุนโดยตรงหรือโดยอ้อมนั้นก็สามารถเอาชนะดัชนี MSCI ซึ่งเป็นดัชนีเปรียบเทียบมาตรฐานได้หมด
ทั้งนี้"เอ็มเอฟซี" ถือได้ว่าเป็น บลจ.ไทย รายแรกและรายเดียวในขณะนี้ที่มีทีมงานในการบริหาร FIF ตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง โดยมีการพัฒนาทีมงานและระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์หุ้นโดยอัตโนมัติ แยกได้เป็น Gobal Team เป็นบุคลากรซึ่งมีความรู้และเข้าใจ สามารถวิเคราะห์หลักทรัพย์ ตัดสินใจสั่งซื้อขายตามสัญญาณ รวมถึงเป็นผู้เลือกหุ้นเลือกประเทศและกำหนดสัดส่วนการลงทุนภายใต้การวิเคราะห์เชิงคุณภาพและปริมาณ ขณะที่ Quantitative Team จะเป็นทีมงานที่สร้างแบบจำลองโมเดลการลงทุนและนวัตกรรมโปรแกรมด้วยคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้กับการลงทุน อาทิ การหาจังหวะซื้อ-ขาย, หยุดความสูญเสีย(Stop lost), การซื้อกลับ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้นและควบคุมความเสี่ยง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
"แม้วันนี้ "เอ็มเอฟซี" จะยังใช้ผู้จัดการกองทุนเป็นแกนหลักในการตัดสินใจอยู่ก็ตาม บางกองทุนให้น้ำหนัก 70% บางกอกทุนให้น้ำหนัก 50:50 แต่ในอนาคตแล้ว Quantitative Team อาจจะมีน้ำหนักในการตัดสินใจเป็นส่วนใหญ่ก็ได้ ซึ่งแม้จะใช้คนน้อยทำให้คล่องตัวกว่าก็จริง แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรดีกว่าอะไรเพราะเป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆให้ลงตัวและเหมาะสมมากที่สุด"
นอกจากการมีทีมงานบริหารการลงทุนเองซึ่งถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่แตกต่างกับ บลจ.อื่นๆ แล้ว ในด้านต้นทุน การเปิด FIF จำนวนมากนี้ก็ยังสามารถช่วยในการเฉลี่ยต้นทุน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานต่อกองเกิดการประหยัดต่อขนาดและถูกลง รวมถึงยังเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนก้าวสู่การขยายงานรุกทำตลาดในภูมิภาคนี้ตามแผนงานของ "เอ็มเอฟซี" อีกด้วย
ขณะที่ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย แม้ "เอ็มเอฟซี" จะเป็นรอง บลจ.ยักษ์ใหญ่อื่นๆ อยู่มากในเรื่องการมีสาขาของธนาคารพาณิชย์ในเครือข่ายช่วยกระจายผลิตภัณฑ์สู่ลูกค้ารายย่อย สุนทร พจน์ธนมาศ รองกรรมการผู้จัดการบลจ. เอ็มเอฟซี กล่าวว่า จริงอยู่ที่แบงก์ใหญ่มีอิทธิพลในการเพิ่มของฐานลูกค้า แต่ทว่า 30ปีที่ผ่านมาของ "เอ็มเอฟซี" ส่งผลถึงความได้เปรียบจากการมีฐานลูกค้ารายย่อยจำนวนมากซึ่งก็ต้องเจาะกลุ่มเป้าหมายส่วนนี้ก่อน อาทิการจัดสัมมนา มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามากขึ้น มีการเปิดเคาท์เตอร์-คอลเซ็นเตอร์ให้คำปรึกษาการลงทุนที่ตึกคอลัมน์ทาวเวอร์ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ รวมถึงบริการด้านอินเทอร์เน็ตและกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับธนาคารออมสินเพื่ออาศัยสาขาให้บริการและเข้าถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามที่จะนำผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างนี้ไปเสนอกลุ่มลูกค้าสถาบันด้วยเช่นกันซึ่งก็คาดว่าน่าจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินภายใต้การบริหารได้มากและมีศักยภาพพอที่จะแข่งขันกับ บลจ.อื่นๆ ได้
|
|
|
|
|