|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
นับตั้งแต่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยถูกยึดอำนาจการปกครองเมื่อ 19 กันยายน 2549 และได้รัฐบาลที่มี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่สถานการณ์ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นใจของภาคธุรกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่งของอดีตผู้นำอย่างพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ยังคงส่งสัญญาณถึงกลุ่มผู้สนับสนุนในประเทศและแจ้งต่อชาวโลกผ่านสื่อระดับโลก
ตามมาด้วยฤทธิ์ของมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อ 18 ธันวาคม 2549 ด้วยการให้ต้องมีการกันเงินสำรองไว้ 30% สำหรับเม็ดเงินใหม่และส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทำสถิติตกรุนแรงที่สุดเมื่อ 19 ธันวาคม 2549 จนต้องใช้มาตรการพักการซื้อขายชั่วคราวก่อนที่จะปิดตลาดปรับตัวลดลงไป 108.41 จุด ทำเอามูลค่าของตลาดหุ้นทั้งหมดหายไปในทันตา 8 แสนล้านบาท ก่อนที่จะฟื้นตัวในวันต่อมาโดยปรับตัวขึ้นไป 69.41 จุด ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาแสดงความมั่นอกมันใจว่ามูลค่าตลาดดีดกลับคืนมา 5 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากนับจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก่อนประกาศใช้มาตรการดังกล่าวปิดที่ 730.55 จุด เทียบกับ 692.48 จุดเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2550 เท่ากับตลาดหุ้นลดลงไปเพียงแค่ 38 จุดหรือ 5.21% เท่านั้น นับว่าเป็นเครื่องบ่งชี้ประการหนึ่งว่าความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนยังไม่กลับมา
แถมประเทศไทยังเจอเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในคืนส่งท้ายปีเก่าเมื่อ 31 ธันวาคม 2549 ที่ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ แม้จะมีการโยกย้ายพลตำรวจเอกโกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีและให้พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส มารักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องสะสางคดีลอบวางระเบิด เผาโรงเรียนตามต่างจังหวัดและสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้
เมื่อเข้าสู่ปี 2550 คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เมื่อ 9 มกราคม ท่ามกลางการคัดค้านของหอการค้าต่างชาติ
จากปัจจัยทั้งหมดส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งนักลงทุนในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคประชาชนเห็นได้จากอัตราการเติบโตของบัตรเครดิตที่เติบโตในอัตราที่ลดลง
จนคณะกรรมการนโยบายการที่ประชุมเมื่อ 17 มกราคม 2550 มีมติลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรจาก 4.9375 ต่อปี เป็น 4.75 ต่อปี ทำให้อัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินในประเทศเริ่มปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลง ถือเป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาทและช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้คนในประเทศ
นักธุรกิจหวั่นค่าเงินไม่นิ่ง
ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลในเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ทางภาคหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจ 400 รายที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดฯ ต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในช่วงเวลานี้ พร้อมกับมีการสอบถามข้อมูลแบบโฟกัสกลุ่มกับกลุ่มนักธุรกิจอีกจำนวนหนึ่ง
ผศ.ดร ธีรยุส วัฒนาศุภโชค รองประธานหลักสูตรเอ็มบีเอ ในฐานะผู้ดำเนินการ เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ถึงผลสำรวจพบว่า นักธุรกิจคำนึงถึงปัจจัยความผันแปรทางด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมามีความผันแปรทางด้านนี้ค่อนข้างมาก และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยขับเคลื่อนโดยการส่งออกเป็นหลัก ความผันแปรและควบคุมไม่ได้ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งขึ้นตามลำดับ จึงส่งผลต่อความได้เปรียบทางการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทยอย่างมาก รวมถึงมาตรการที่รัฐบาลนำออกมาใช้เพื่อลดการเก็งกำไรค่าเงินบาทไม่ว่าจะเป็นการกันสำรอง 30% พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจคนต่างด้าวหรือการลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศไทยทั้งสิ้น
ประเด็นที่ร้อนแรงและสร้างความตื่นตัวตามมาอย่างมากคือ ความไม่มั่นคงทางการเมือง ซึ่งมีผลต่อเนื่องมาจากการปฏิวัติครั้งล่าสุด ส่งผลต่อความไม่แน่นอนในเชิงนโยบายและการปกครอง รวมถึงความเชื่อมั่นในสายตาของชาวต่างชาติ ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพากิจกรรมทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศสูง จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบดังกล่าวได้
ความผันแปรล่าสุดที่สร้างความตื่นตระหนกอย่างมาก นั่นคือเหตุการณ์ความไม่สงบทางสังคม ที่เกิดขึ้นเมื่อวันส่งท้ายปีเก่า รวมถึงข่าวลือเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ
นอกจากนี้ ประเด็นความผันแปรที่ติดอันดับในความกังวลของนักธุรกิจไทย หนีไม่พ้นเรื่องของการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา ทั้งจากผู้ประกอบการในประเทศและผู้ประกอบการจากประเทศอื่นๆ ที่มีโครงสร้างต้นทุนต่ำ อาทิ จีน เวียดนาม เป็นต้น รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถดถอย จากปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลต่ออำนาจซื้อของประชาชนและต้นทุนพลังงานที่อยู่นอกเหนือการควบคุม
อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นของนักธุรกิจค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องใหญ่ แม้ระยะนี้จะมีเหตุการณ์ทางการเมืองเข้ามากลบ แต่พวกเขาก็ยังกังวลในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ดี
"ไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ดังนั้นค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและยังไม่นิ่งทำให้นักธุรกิจเหล่านี้ยังไม่เชื่อมั่น เพราะทุกอย่างจะมีผลต่อวงจรธุรกิจทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของต้นทุนสินค้า การตั้งราคาขาย หากค่าเงินบาทแข็งก็จะทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาแพงขึ้น และจะกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจตามมา ท้ายที่สุดจะทำให้อำนาจซื้อของภาคประชาชนลดลง" ผศ.ดร. ธีรยุส ระบุ
นอกจากนี้ ในความคิดเห็นของหอการค้าต่างประเทศ ยังไม่แน่ใจในเรื่องสถานการณ์ค่าเงินบาทที่เป็นห่วงว่าเงินบาทของไทยอาจถูกโจมตีอีกระลอก ซึ่งครั้งนี้อาจทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจนอาจมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราเดิมเมื่อก่อนประกาศลอยตัวค่าเงินบาท
ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องทำให้ค่าเงินบาทนิ่ง มีความผันผวนน้อย จะเป็นการช่วยภาคธุรกิจในระยะยาว แต่ตอนนี้พวกเขาก็ต้องยอมรับสภาพที่เป็นอยู่
สร้างความแตกต่างแก้ปัญหา
การสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจในครั้งนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยว่า จากสภาพปัญหาที่พวกเขากังวลในเวลานี้จะมีแนวทางในการรับมืออย่างไร
นักธุรกิจไทยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญของการสร้างความแตกต่าง สร้างเอกลักษณ์ให้มีความโดดเด่นจากสินค้าและบริการของคู่แข่งขันรายอื่นๆ โดยปัจจัยด้านความแตกต่างที่นักบริหารเหล่านี้จะมุ่งเน้นก็คือ การให้บริการที่เป็นเลิศ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักธุรกิจชาวไทยเล็งเห็นความสำคัญก่อนปัจจัยอื่น เนื่องจากมองว่าเป็นสิ่งที่เริ่มลงมือทำได้เลย แต่ในความเป็นจริงก็สัมฤทธิ์ผลยากเช่นกัน เนื่องจากต้องอาศัยการพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทักษะของบุคลากรด้วย และการเปลี่ยนคนยอมรับกันว่าเปลี่ยนยากที่สุด
ปัจจัยที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน คือ การสร้างความโดดเด่นโดยใช้แบรนด์ และการพัฒนาเทคโนโลยีในผลิตภัณฑ์และบริการให้ล้ำสมัยเหนือคู่แข่ง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผลิตภัณฑ์ทั้งหลายมีการลอกเลียนแบบกันอย่างรวดเร็ว ทำให้พวก Me-too product เกลื่อนเต็มตลาด สินค้าจึงมีความคล้ายคลึงแยกจากกันออกลำบาก สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนก็คือ แบรนด์ในเรื่องของเทคโนโลยีเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักธุรกิจไทยเล็กเห็นถึงความสำคัญ แต่ก็ยอมรับว่าปัจจุบันธุรกิจไทยยังพึ่งพาเทคโนโลยีชั้นสูงส่วนใหญ่จากต่างชาติ เนื่องจากกิจกรรมทางด้านวิจัยและพัฒนายังได้รับความสนใจน้อยมาก ความช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านนี้จากภาครัฐจึงมีความเป็น เช่น การออกกฎหมายที่สนับสนุน ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจตื่นตัวมากขึ้น รวมถึงการคุ้มครองสิทธิทางปัญญาก็ต้องนำมาใช้ด้วย
ถัดมาคือการสร้างความโดดเด่นด้วยการดีไซน์ที่เก๋ไก๋ สะดุดตา และการสร้างความสะดวกในการเข้าถึงลูกค้าอย่างครอบคลุม ล้วนแล้วแต่ได้รับการเล็กเห็นความสำคัญจากนักธุรกิจไทย
โดยประเด็นแรกนั้นได้ทราบถึงความสำเร็จจากกิจการระดับโลกหลายแห่ง ที่ยกระดับความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ตนเอง ด้วยการลงทุนมหาศาลด้านดีไซน์ เช่น ซัมซุง ที่พลิกโฉมหน้ามาเป็นผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีดีไซน์แปลกตา คว้ารางวัลการออกแบบระดับโลกมากมาย
อย่างไรก็ตาม ศักยภาพทางด้านการออกแบบของไทยยังมีข้อจำกัดและยังไม่แพร่หลายในวงกว้าง จึงอาจต้องทำความร่วมมือเชิงพันธมิตรกับกิจการต่างชาติที่มีความสามารถทางด้านนี้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดทักษะร่วมกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ซึ่งดีกว่าการเอาต์ซอร์สให้กิจการอื่นไปทำการออกแบบให้ โดยที่บุคลากรของเราไม่มีโอกาสในการพัฒนา
ส่วนด้านการเข้าถึงลูกค้าและพัฒนาช่องทางการจำหน่ายนั้น นักธุรกิจไทยฝากความหวังไว้กับช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากพอควร ทั้งอินเตอร์เน็ตและโมบายล์ โดยเฉพาะในส่วนของโมบายล์ คอมเมิช ที่มีอัตรการเติบโตสูง พร้อมทั้งสะดวกและสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้ามากกว่า น่าจะเป็นช่องทางที่สนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจได้เป็นอย่างดี แต่การเติบโตของช่องทางนี้ อาจจะยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่เป็นลักษณะดิจิตอลโพรดักส์ เช่น ข้อมูล ไฟล์ เอนเตอร์เทนเมนต์ บริการต่างๆ
ผศ.ดร ธีรยุส วัฒนาศุภโชค ย้ำด้วยว่าการที่จะสร้างความแตกต่างให้สัมฤทธิ์ผลนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ควรต้องมีเงื่อนไขต่างๆ เริ่มจากต้องสร้างความแตกต่างพร้อมกับมีเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบในเวลาเดียวกันด้วย เช่น ซัมซุงเน้นสร้างดีไซน์ที่แตกต่าง แต่ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความเป็นเอกลักษณ์ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และทุ่มเทกับการสร้างแบรนด์อย่างหนัก รวมถึงลงทุนกับการพัฒนารูปแบบของเอาท์เล็ตที่โดดเด่นสะดุดตา
เงื่อนไขที่สอง คือ ความแตกต่างที่นำเสนอนั้น ต้องสามารถโน้มน้าวใจให้ลูกค้าตระหนักถึงคุณค่าจนยอมที่จะจ่ายเพิ่มเติมได้ เงื่อนไขสุดท้ายคือกิจการต้องสร้างความแตกต่างและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานไปในเวลาเดียวกันด้วย เพื่อลดค่าใช้จ่ายของลูกค้าที่จะต้องจ่ายเพื่อความแตกต่างดังกล่าว
นอกจากนี้ นักธุรกิจไทยยังมุ่งเน้นใช้กลยุทธ์ตัดขายหน่วยธุรกิจที่ขาดทุนหรือไม่สอดคล้องกับความแข็งแกร่งของกิจการทิ้งไป (Divestment) เพื่อผจญกับความผันแปรที่เกิดขึ้น
ตามติดมาด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรหรือกระบวนการดำเนินงานหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมต่างๆ อย่างรุนแรง ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนผู้บริหารและโครงสร้างการบังคับบัญชาให้ราบลง (Flat) อันจะทำให้การตอบสนอง สั่งการจากฝ่ายบริหารถึงฝ่ายจัดการใช้เวลาน้อยลง ทำให้ยืดหยุ่นและปรับตัวเร็วขึ้น
กลยุทธ์การลดต้นทุนจากการดำเนินงาน ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่นักธุรกิจไทยมุ่งเน้น เพื่อรับมือกับสภาวะผันแปรที่ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายลดลง เศรษฐกิจที่ขยายตัวถดถอย ส่งผลถึงอำนาจซื้อในกระเป๋าของประชาชนที่ลดต่ำลงด้วย
"พอเพียง" เข้าใจไม่จริง
การสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้ได้สอบถามถึงแนวคิดด้านเศรษฐกิจพอเพียงที่จะนำมาใช้กับการรับมือกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ พบว่านักธุรกิจไทยมีความรู้ความเข้าใจต่อแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นแนวคิดที่มาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคนไทยทุกคนน้อมเกล้าให้ความสนใจกับแนวคิดที่เป็นประโยชน์อนันต์นี้อย่างมาก
ในประเด็นที่นักธุรกิจไทยระบุว่ามีความรู้ความเข้าใจมากที่สุด คือ เงื่อนไขทางด้านคุณธรรมที่เป็นพื้นฐานในการนำสู่ความพอเพียง ซึ่งต้องมุ่งเน้นความสุจริต หมั่นเพียร ใช้สติปัญญาในการตัดสินใจต่าง ๆ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง รวมถึงความโปร่งใสในการทำงาน การมีจริยธรรมในการดำเนินงาน และการตรวจสอบควบคุมภายในที่ชัดเจนและเป็นธรรม ไม่มีความลำเอียง
ตามมาด้วยเงื่อนไขด้านความรอบรู้ ที่เน้นด้านการมีข้อมูลข่าวสาร และความรู้ในธุรกิจที่ตนดำเนินการอยู่อย่างเหมาะสม เพียงพอ อีกหลักการหนึ่งที่นักธุรกิจไทยมีความเข้าใจเป็นอย่างดีคือ การมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยเน้นทางด้านความแข็งแกร่ง พร้อมรับความเสี่ยง เรียนรู้และพัฒนาตนอย่างต่อเนื่อง
ส่วนทางด้านของความสำคัญต่อการนำไปรับมือกับสถานการณ์ผันแปรนั้น ปรากฏว่านักธุรกิจไทยเล็งเห็นความสำคัญของเงื่อนไขทางด้านคุณธรรม ความโปร่งใสและความยุติธรรมมากที่สุด เนื่องจากมองว่าการมุ่งเน้นที่หลักการนี้ จะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับกิจการในระยะยาว รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์และความเข้าใจอันดีกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกับกิจการได้ (Stakeholders) ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า องค์กรของรัฐและกลุ่มทางสังคมต่างๆ
ถัดมาที่เห็นว่าน่าจะนำมาในการจัดการกับความผันแปรคือ การมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยกิจการจะมุ่งเน้นการสร้างความแข็งแกร่งผ่านทางการจัดการระบบการจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เริ่มแต่การวิเคราะห์ประเด็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดกับกิจการ ประเมินระดับและโอกาสของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงแนวทางการรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดดังกล่าวด้วย
ถัดมาหลักการด้านของความมีเหตุมีผล และความพอประมาณ ที่ต้องนำความรู้และข้อมูลที่มีในองค์กรมาทำการวิเคราะห์ในเบื้องลึก เพื่อหาสาเหตุที่เหมาะสมกับแต่ละประเด็นในการจัดการองค์กร รวมถึงไม่เติบโตและลงทุนเกินตัว จนกระทั่งเกิดความไม่เพียงพอทางด้านของทรัพยากรและศักยภาพของตน นั่นคือ พิจารณา trade-off ระหว่าง "ผลตอบแทนและความเสี่ยง" อย่างสมเหตุสมผล ตลอดจนไม่เล็งผลเลิศจนเกินไป ก็จะทำให้องค์กรดำเนินงานอย่างพอประมาณ ไม่เปิดตัวเองต่อความผันแปรภายนอกมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลที่ออกมาจากแบบสอบถาม จะระบุว่านักธุรกิจไทยมีความเข้าใจและให้ความสำคัญในการนำไปใช้ แต่ในทางสอบถามในทางลึกและการปฏิบัติจริง ยังพบว่า ส่วนใหญ่ยังมีความรู้ความเข้าใจที่ไม่ลึกซึ้งสอดคล้องกันกับกรอบแนวคิดทางด้านนี้นัก นักธุรกิจหลายท่านยังมีความเข้าใจไม่เหมือนกันในแนวคิดหลักแต่ละด้านของเศรษฐกิจพอเพียง
"รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น มีตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น จะกู้เงินได้หรือไม่ ถ้ากู้เงินจะกู้ในสัดส่วนใดที่องค์กรจะสามารถรับความเสี่ยงได้ การเติบโตขององค์กรควรเติบโตแค่ไหน และจะสร้างความแข็งแกร่งให้องค์กรอย่างไรเพื่อให้รับมือกับความผันแปรที่จะเกิดขึ้นให้ได้" ผศ.ดร.ธีรยุส กล่าว
ดังนั้น ควรที่จะมีการตั้งองค์กรใดองค์กรหนึ่งเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นรูปธรรมในเรื่องของปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ควรมีเพียงองค์กรเดียว เนื่องจากที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้ออกมาพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงทำให้มีความเข้าใจที่แตกต่างกันตามการตีความของแต่ละหน่วยงาน
หากมีองค์กรต้นแบบได้จะทำให้เกิดตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม สำหรับเท่าที่คณะฯได้ประเมินดูแล้วเห็นว่าบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) น่าจะเป็นองค์กรที่เป็นตัวอย่างได้ดี เห็นได้จากการเติบโตที่ไม่หวือหวาและโตบนจุดแข็งของธุรกิจ มีระบบการบริหารจัดการด้านความเสี่ยง มีความมั่นคง เน้นการประสานประโยชน์ทุกฝ่ายทั้งลูกจ้าง ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น ลูกค้า ซับพลายเออร์ และสังคมที่เน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ให้เติบโตไปพร้อมกัน
เทรนด์มาแรง
ขณะเดียวกัน แนวโน้มทางการตลาดของปีนี้ที่จะมาแรงสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ หากเป็นสินค้าน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ที่ผู้บริโภคจะมีความต้องการมากขึ้นและจะก่อให้เกิดรูปแบบการบริโภคและไลฟ์สไตล์แบบใหม่ที่เรียกว่า The Wellness Society หรือสังคมแห่งการกินดีอยู่ดีของประชากร
ต่อมาเป็นด้านการให้บริการที่คนเราทุกวันนี้มีข้อจำกัดในชีวิตมากมาย ดังนั้น การให้บริการที่สร้างความสะดวกสบาย ครบวงจร จึงเป็นอีกแนวทางที่สำคัญสำหรับสภาพการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงการใส่ใจในสังคมและสภาพแวดล้อม ซึ่งทำให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) กลายเป็นประเด็นสำคัญของทุกธุรกิจ
สำหรับกิจการที่มีแบรนด์ติดตลาดอยู่แล้ว อาจจะมีการออกสินค้าอีกซับแบรนด์หนึ่งเพื่อจับตลาดอีกระดับหนึ่งที่ต่ำลง และมีอำนาจซื้อลดลง แต่ประเด็นที่กังวลในกรณีนี้คือ ต้องมีการแบ่งแยกตลาดให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ลูกค้าเกิดความสับสนและเกิดการแย่งตลาดกันเอง (Cannibalisation)
นอกจากนี้ กลยุทธ์การเอาต์ซอร์สก็ยังคงเป็นที่นิยมของนักธุรกิจไทย ในการที่จะรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น เนื่องจากการเอาท์ซอร์สจะช่วยให้กิจการไม่ต้องลงทุนเองในทุกๆ ด้าน กิจกรรมบางอย่างจะว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่าไปดำเนินการ ตนเองก็จะได้ไปมุ่งเน้นทุ่มเทในกิจกรรมที่มีประโยชน์และสำคัญต่อสินค้าและบริการของตนเองมากที่สุด
หนุนจุดแข็งภาคบริการ
ดร.ธีรยุส ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เท่าที่ได้มีการหารือกับคณาจารย์ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นตรงกันว่า ประเทศไทยจะต้องหาจุดแข็งของสินค้าไทยว่าคือสินค้าใด ที่ต่างชาติทำได้ไม่ดีเท่าเรา เราจะไปแข่งขันกับต่างชาติด้วยการผลิตสินค้าชนิดเดียวกับเขาคงเป็นเรื่องยาก เพราะเราไม่เชี่ยวชาญเท่าเขา
"ประเทศไทยมีจุดเด่นในเรื่องของสินค้าภาคบริการ เช่น ธุรกิจสปา ธุรกิจการแพทย์ ดังนั้นรัฐต้องส่งเสริมสินค้าในกลุ่มนี้อย่างจริงจัง อีกทั้งเป็นสินค้าที่ไม่ตกยุคง่าย ต้องสร้างให้เป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม สร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของสินค้าประเภทนี้ เพื่อดึงให้ลูกค้าจากทั่วโลกมาใช้บริการ"
จุดแข็งอีกประการหนึ่ง คือ สินค้าเกษตรของไทย ที่รัฐต้องหาทางเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเหล่านี้ให้มากขึ้น หรือใช้จุดเด่นทางด้านวัฒนธรรมของคนไทยเข้ามาเป็นตัวสร้างความแตกต่างให้กับประเทศไทย ซึ่งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ทางอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยจะเปิดเผยยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างจุดแข็งให้กับรัฐบาลและประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดในท่ามกลางที่ต้องการแข่งขันกับกระแสโลก และเป็นการเดินตามแนวยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงที่จะช่วยแก้วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศได้ด้วย
แนะปรับโครงสร้าง 5 กลุ่ม ตั้ง "องค์กรกลาง -รีเอ็นจีเนียริ่ง" ศก.พอเพียง
แนะตั้ง "องค์กรกลาง" ประสานงานเศรษฐกิจพอเพียงหลังการขับเคลื่อนยังไม่เป็นรูปธรรม ชี้ปัญหาเกิดจากการ "ไม่รู้เขาแต่รู้เรา" ทำให้เกิดการแข่งขันกันเอง พร้อมเสนอ "รีเอ็นจีเนียริง" โครงสร้าง 5 กลุ่มที่เป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศ
การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้แม้หลายภาคส่วนจะพยายามที่จะขับเคลื่อนให้ออกมาเป็นรูปธรรมแต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จมากมายนัก
อาจารย์ถนัด แก้วเจริญไพศาล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผย "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ถึงวิธีการจัดการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นกลไกในการขัดเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรมว่า อันดับแรกคนไทยทุกคนโดยเฉพาะภาครัฐซึ่งเป็นแกนนำในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงออกไปสู่การปฏิบัติต้องเข้าใจ "ทฤษฎีหนอนบิน" เสียก่อนคือต้องเรียนรู้ที่จะมองการพัฒนาเศรษฐกิจจากภายนอกเข้ามาก่อนเพราะทุกวันนี้เรามองการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ "ไม่รู้เขาแต่รู้เรา" แต่เพียงอย่างเดียว ประเทศไทยเรารู้จักการผลิตสินค้าออกมาสู่ตลาดแต่ไม่รู้จักมองโครงสร้างของผู้ซื้อซึ่งประกอบด้วยสามส่วนคือ ผู้ซื้อในท้องถิ่น ผู้ซื้อนอกถิ่นการผลิตในประเทศและผู้ซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งเราผลิตสินค้าโดยไม่มีใครศึกษาโครงสร้างทั้งสามส่วนทำให้มีการผลิตสินค้าที่เกินความจำเป็นลงทุนมากแต่ได้กำไรน้อยและที่สำคัญเมื่อมีการผลิตสินค้าออกมามากทำให้เกิดการแข่งขันสูงและในที่สุดเข้าจะเข้าสู่ทฤษฏีของทะเลสีเลือดนั้นคือผู้ผลิตในประเทศต่างลดราคาสินค้าให้ถูกลงเพื่อให้สามารถแข่งขันกันได้
สำหรับการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้ได้ผลนั้นควรจะมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในโครงสร้างสำคัญของระบบเศรษฐกิจของชาติก่อนนั้นก็คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง 5 กลไกคือ 1.กลไกผู้ผลิตและผู้ให้บริการ 2.กลไกผู้บริโภค 3.กลไกภาครัฐ 4.กลไกในสถาบันการเงิน และ 5.กลไกด้านการคลังภาครัฐทั้งส่วนที่เป็นผู้หารายได้ เช่น กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร และภาคส่วนที่เป็นรายจ่ายด้วย
"หากจะให้เศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนไปได้ต้องมานั่งคุยกันใหม่ทั้งหมดและที่สำคัญโครงสร้างทั้ง 5 ส่วนนี้จะต้องมีการรีเอนจิเนียริ่งทั้งหมดไม่เช่นนั้นโอกาสที่จะนำเศรษฐกิจพอเพียงให้ขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จนั้นเห็นจะเป็นไปได้ยาก"
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการปรับกลไกทั้ง 5 ส่วนแล้วควรที่จะมีการจัดตั้ง "องค์กรกลาง" ขึ้นมาเพื่อประสานงานในโครงการนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้เพราะปัจจุบันได้มีการทำเศรษฐกิจพอเพียงตามความเข้าใจของแต่ละหน่วยงานไม่ได้มีทิศทางที่เดินไปร่วมกัน ไม่มีการวางแผนทำงานร่วมกัน ดังนั้นหากจะให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมจึงเป็นไปได้ยากมาก
นอกจากนี้ เศรษฐกิจของไทยนั้นมีพื้นฐานมาจากภาคการเกษตรซึ่งในอดีตรู้จักแต่กระบวนการผลิตต้นทางหรือที่เรียกว่าสินค้าต้นทาง ที่ขายสินค้าเป็นกิโลกรัม ขณะทีประเทศพัฒนาแล้วต่างรอจังหวะหรือใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญกว่านำสินค้าที่เราผลิตได้ไปต่อยอดเพื่อผลิตสินค้าอีกขึ้นหนึ่ง แล้วนำออกมาขายสร้างรายได้จากสินค้าที่ต่อยอดจากเรามหาศาล
"ถึงเวลาที่เราต้องลุกขึ้นมาปรับวิธีคิดและวิธีการทำงานเสียใหม่ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้และเดินนำหน้าก็น่าจะมีการหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อจัดระเบียบในการนำหลักปรัชญาเศรษบกิจพอเพียงมาใช้ให้เป็นรูปธรรมเร็วที่สุด" อาจารย์ถนัดกล่าว
เศรษฐกิจ-การเมืองรุมสกรัม 'ขิงแก่' ! นักลงทุนเผ่น "จีน-อินเดีย" รับผลบุญ
4 เดือนผ่านไป "ขิงแก่" ยังอ่อนหัดทั้งเรื่อง "การเมือง-เศรษฐกิจ" ตอบโจทย์แก้ปัญหาบ้านเมืองยังไม่สะเด็ดน้ำ เหตุมีปัจจัยแทรกแซงการทำงานทั้งบึ้มกรุง 8 จุด, ฉีดยาแรงสกัดค่าเงิน และ พ.ร.บ.ต่างด้าวที่นักลงทุนต่างส่ายหน้าเซย์โนมาตรการดังกล่าว ขณะที่นักลงญี่ปุ่นจ่อย้ายฐานหนีไทยในไม่ช้านี้
ผ่านไปแล้ว 4 เดือนภายใต้การบริหารราชแผ่นดินของ "รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์" ที่มีแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ภาพการทำงานที่ปรากฏตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาพิสูจน์ได้ชัดจากโพลสำนักต่างๆ ที่พบว่าความนิยมเริ่มดิ่งถลำลงเรื่อยๆ อาทิ เอแบคโพลล์ สำรวจคะแนนนิยมของนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เปรียบเทียบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีลดต่ำลงอย่างมากจาก 70.5% ในเดือนพฤศจิกายนเหลือ 48.2% ในผลสำรวจล่าสุดในขณะที่คะแนนนิยมของประชาชนต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยจาก 15.8% มาอยู่ที่ 21.6% ด้านความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล และหน่วยงานความมั่นคงที่จะดูแลคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนพบว่าประชาชนกว่า 50.7%ไม่เชื่อมั่น คำถามที่ตามมาอะไรคือสาเหตุเหล่านี้ มีหลายคนอาจจะพูดว่าเพราะรัฐบาลยังไม่สามารถจัดการกับอำนาจเก่าได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้ให้เสถียรภาพทางการเมืองไม่นิ่ง ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ-ไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งทั้งหมดย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับการค้า-การลงทุนโดยรวม
ยิ่งเมื่อตีกรอบแคบเข้าไปอีกจะพบมาตรการต่างๆ ทั้งการสกัดเก็งกำไรค่าเงิน, กันสำรองร้อยละ 30 และ พ.ร.บ.นอมินีล้วนแต่ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สบายใน ส่งผลความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจของไทยกำลังสั่นคลอน ระเบิดลูกใหญ่กว่ากำลังตามติดหากยังไม่แก้ไขและยังทำตัวเป็น "ขิงแก่" อยู่แบบนี้
อย่างไรก็ดี สัปดาห์นี้ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ขอย้อนรอยสิ่งที่กระทบต่อความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลสุรยุทธ์ในเรื่องนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเมืองในรอบ 4เดือนที่ผ่านไปเรื่องแรกคือคงจะหนีไม่พ้นเรื่องสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ถือเป็นหน้าตาของประเทศแต่ฉาวโฉ่กระฉ่อนทั่วโลกทั้งเรื่องการคอร์รัปชั่น พื้นรันเวย์ แท็กซี่เวย์ที่ชำรุด และจะปิดหรือไม่ปิดสนามบินยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล แต่ที่น่าอายไปกว่านั้นคือผลสำรวจสนามบินดาวรุ่งแห่งเอเชีย 6 แห่งของสถาบันจัดอันดับ sky trax สนามบินสุวรรณภูมิที่คนไทยภาคภูมิใจกลับติดแค่ 2 ดาวในการสำรวจต่างจากสนามบินโดยมีจุดบกพร่องคือ ตารางการบินที่ไม่ตรงเวลา และการบริการ ขณะที่ท่าอากาศยานของสิงคโปร์มาเป็นอันดับ 1 ได้รับความนิยมถึง 5 ดาว ส่วนท่าอากาศยานอื่น เช่น ท่าอากาศยานฮ่องกง ดูไบ และมาเลเซีย ต่างได้รับความนิยมในระดับ 4 ดาวทั้งสิ้น
พ.ร.บ.นอมินีไม่จัดเจน กระทบลงทุนในประทศ
ขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแก้ไขร่างกฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว (กม.นอมินี) ให้เกิดเป็นธรรมและโปร่งใสไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ผลที่ออกมาต่างถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักลงทุนต่างชาติว่ายังเกาไม่ถูกที่คัน เพราะควรจะเปิดเสรีบัญชี 3 (บางประเภท) มากกว่าไม่ใช่เขียนตีขุมแบบนี้ ร้ายยิ่งไปกว่านั้นยังถูกมองว่า พ.ร.บ.นอมินีที่ว่านี้คือกฎหมาย "นิรโทษกรรม" สำหรับกรณีบริษัทกุหลาบแก้วโดยเฉพาะ
ประเด็นดังกล่าว "อาจดนัย สุจริตกุล" ประธานชมรมบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ ได้แสดงความห่วงใยว่า สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติกังวลใจ คือ นอมินีที่ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร ว่าอะไรจะเกิดขึ้นนับจากนี้ไป และกระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการแก้ไขอย่างไรกับบริษัทที่มาลงทุนในประเทศไทยแล้ว และโครงสร้างบริษัทเหล่านี้เป็นนอมินี เพราะกระทบหลายบริษัทแต่นักลงทุนจะยังไม่ย้ายการลงทุนออกไป แต่จะระมัดระวังมากขึ้นส่วนระยะเวลาการปรับตัวควรจะมากกว่า 1 ปี เพราะราชการไทยล่าช้า
ประการต่อมา คือ ปัญหาใหญ่ของผู้ส่งอออกไทย คือเรื่องค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าถึงระดับ 35.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำสถิติแข็งค่าในรอบ 9 ปีว่า เงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากมีแรงเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐออกมามากเพื่อซื้อเงินบาท แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมองว่าเป็นไปตามภาวะปกติของอุปสงค์และอุปทาน เพราะผู้ขายเงินดอลลาร์สหรัฐก็ยินดีที่จะขาย ขณะที่ผู้ซื้อก็เต็มใจซื้อ ซึ่งสะท้อนความต้องการของตลาดที่เป็นไปตามกลไกตลาด
ปัญหาจากค่าเงินแข็งค่าส่งผลให้ 4 สมาคมประกอบด้วยสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออก และสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย และ 10 สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการส่งออกด้านอาหารและเครื่องนุ่งห่ม-สิ่งทอวิงวอนขอให้รัฐบาลและ ธปท.ช่วยเหลือเพราะเดือดร้อนอย่างหนักจากการแข็งค่าของเงินบาท
มาตรการสกัดค่าเงินบาท ยาแรงเกินขนาดนักลงทุนหนี !
กระทั่งธปท.ได้ออกประกาศใช้มาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทโดยการให้สถาบันการเงินตั้งสำรองเป็นสกุลเงินต่างประเทศร้อยละ 30 ส่วนอีกร้อยละ 70 แลกเป็นเงินบาท ลูกค้าที่สถาบันการเงินกันเงินไว้ จะขอคืนเงินได้เมื่อครบกำหนด 1 ปี หากจะนำเงินกลับคืนก่อน จะได้รับเงินคืนเพียง 2 ใน 3 ของเงินที่กันไว้ แต่ได้ยกเว้นให้แก่ผู้ส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะความกังวลว่ามาตรการดังกล่าวจะกระทบผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งระหว่างวันดัชนีปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ระดับ 587.92 จุด ลดลง 142.63 จุด เปลี่ยนแปลงร้อยละ 19.52 ก่อนที่จะปิดในระดับ 622.14 จุด ลดลง 108.41 จุด เปลี่ยนแปลงร้อยละ 14.84 ด้วยมูลค่าซื้อขาย 72,131.55 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าการซื้อขายที่สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นเวลา30ปี
"กัมปนาท โลหเจริญวนิช" นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์และกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวไว้ว่า ในส่วนตลาดทุนไม่ควรใช้มาตรการนี้ เพราะประเทศไทยมีนโยบายจะส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นอยู่แล้ว และตลาดหุ้นก็มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาก
นักลงทุนญี่ปุ่นไม่มั่นใจ ศก.ไทย จ่อย้ายฐานไป "จีน-อินเดีย" แทน
ประการต่อมา คือ ระเบิดลูกใหญ่ที่รอเวลาปะทุ เพราะต้องยอมรับว่านักลงทนจากญี่ปุ่น คือกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เข้ามาลงทุนในตลอด 20ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะเบาใจได้ในระดับหนึ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นในระยะสั้นจะไม่ปรับแผนการลงทุนในประเทศไทย แต่ระยะยาวมีโอกาสที่เม็ดเงินลงทุนใหม่จากญี่ปุ่นจะไม่ไหลเข้ามาลงทุนโดยมี 3 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ คือ เหตุการณ์รัฐประหาร เหตุการณ์ระเบิดและ และ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว "ยูอิชิ คาโต" ประธานเจโทร กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่าจะเติบโตน้อยกว่าปีที่แล้ว เพราะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐจะขยายตัวในทิศทางชะลอลงและไทยไม่มีจุดเด่นที่ชัดเจนจะดึงดูดความสนใจการลงทุนของต่างชาติได้ ผิดกับมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งขณะนี้ความสนใจลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นหันไปลงทุนในจีน และอินเดีย
"ดังนั้น รัฐบาลไทยจะต้องหันกลับมามองว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติได้ โดยเฉพาะนโยบายภาครัฐที่ออกมาจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาเร็วที่สุด" ประธานเจโทร ระบุ
นี่คือสัญญาณเตือนที่ชัดเจนที่สุดจากนักลงทุนที่ได้ชื่อว่าเป็นเบอร์หนึ่งในประเทศไทย ที่ต้องระวังให้มากว่าหากวันนั้นมาถึงเร็วกว่ากำหนดวิกฤติเศรษฐกิจลูกใหม่ที่ใหญ่กว่ากำลังจะตามในไม่ช้านี้ หากยังทำตัวเป็น "ขิงแก่" เช่นทุกวันที่ผ่านไป
นอกจากแนวนโยบายทางเศรษฐกิจ สิ่งที่ส่งผลกระทบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ก็คือ สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 ที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคการลงทุนและภาคการท่องเที่ยวอันถือว่ารายได้หลักของประเทศที่เริ่มชะลอตัวจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่สถานการณ์กลับขึ้นรุนแรงเมื่อเกิดเหตุระเบิด 8 จุดในคืนวันสงท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ขึ้นทำลายความมั่นใจด้านความมั่นคงต่อนักท่องเที่ยว นักลงทุนและประชาชนอย่างมาก
บึ้มกรุงฉุดความมั่นใจดิ่ง
เหตุการณ์ดังกล่าว สร้างความหวาดวิตกต่อนักท่องเที่ยวและนักลงทุนรวมถึงประชาชนชาวไทยอย่างมาก ซึ่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ออกโรงยืนยันภายหลังการเกิดเหตุอย่างรวดเร็ว ว่าเป็นฝีมือของ "กลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์" ซึ่งสามารถตีวงกว้างได้ว่าเป็นฝีมือของผู้มีอิทธิพล ทหาร ตำรวจ หรืออดีตผู้มีอำนาจในประเทศ อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ ดร.นิตยา วงศ์ธาดา ผู้อำนวยการหลักสูตรเอ็มบีเอภาคภาษาอังกฤษ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นกระทบอย่างมากในเรื่องของช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าซึ่งเมื่อผู้บริโภคไม่สามารถออกมาจับจ่ายใช้สอยได้เศรษฐกิจย่อมไม่ขยับได้ตามที่หวังไว้
"ช่องทางจำหน่ายถือเป็นกลยุทธ์สำคัญเพราะคนไม่กล้าเดินทางไปซื้อของรายได้จึงลด" แต่ถ้าร้านค้าทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นว่ามีความปลอดภัยก็จะช่วยลดความหวาดระแวงได้ ซึ่งในเวลานี้ หากใครสามารถกู้ความมั่นใจกับคืนมาได้ก่อนก็จะถือว่าได้เปรียบอย่างยิ่ง" ดร.นิตยา กล่าว
โดยการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงยังคงติดขัดเนื่องจากปัจจุบันนั้นยังไม่สามารถหาผู้อยู่เบื้องหลังมาลงโทษและการันตีความมั่นคงด้านความปลอดภัยได้ สิ่งสำคัญคือการเร่งกู้ความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งก็ยังไม่สามารถความหาตัวผู้อยู่เบื้องหลังมาลงโทษได้
บีบแบงก์ชาติเลิก 30% อุปสรรคสร้างรถไฟฟ้า
ภาคตลาดทุนเห็นพ้องเรียกร้องให้แบงก์ชาติยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เงียบหาย โบรกเกอร์ต่างประเทศประเมินท้ายที่สุดต้องเลิก เหตุเป็นตัวการหลักขวางทุนต่างชาติเข้าประมูลรถไฟฟ้าที่รัฐบาลอนุมัติให้ก่อสร้าง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาคทุนยังคงความเห็นว่ามาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อ 18 ธันวาคม 2549 ที่ต้องกันสำรองไว้ 30% แม้จะยกเว้นให้กับภาคตลาดทุนแล้วก็ตาม แต่โดยรวมแล้วมาตรการดังกล่าวยังคงส่งผลต่อนักลงทุนต่างประเทศที่ไม่กล้าเข้ามาลงทุนในตลาดทุน
โบรกเกอร์ต่างประเทศรายหนึ่งกล่าวว่า แม้ว่ามาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการผ่อนคลายมากขึ้น แต่เป็นการผ่อนคลายแบบมีเงื่อนไข ทำให้เม็ดเงินใหม่ไม่เข้ามา ส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไม่คึกคัก ส่วนยอดที่เห็นนักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิถือเป็นเรื่องของเม็ดเงินเดิมที่ซื้อขายหมุนเวียน
"แม้มาตรการดังกล่าวจะไม่ครอบคลุมในฝากของตลาดหุ้น แต่นักลงทุนต่างประเทศก็ไม่กล้าเข้ามาลงทุน เพราะเป็นเรื่องทางจิตวิทยา พวกเขาได้เปลี่ยนไปลงทุนในตลาดหุ้นประเทศอื่นที่ให้ผลตอบแทนและกฎระเบียบน้อยกว่า"
ข้อเรียกร้องในภาคของตลาดทุนที่เสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้เสนอไปแล้ว ถึงวันนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทางการว่าจะเห็นเป็นอย่างไร แต่ถึงอย่างไรมาตรการนี้ในไม่ช้าก็ต้องยกเลิก เนื่องจากตัวมาตรการดังกล่าวถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
"รัฐบาลได้อนุมัติโครงการสร้างรถไฟฟ้า 5 สายไปแล้ว เพื่อเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และมาตรการนี้หากไม่ยกเลิกคงยากที่ผู้ที่ต้องการเข้าประมูลจากต่างชาติจะเข้ามา ซึ่งเรื่องนี้ทางการต้องพิจารณาให้ดี" แหล่งข่าวกล่าว
มยุรี โชวิกรานต์ ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายวิจัย บล.นครหลวงไทย กล่าวว่า แม้ว่าผลของมาตรการ 30% เพื่อสกัดการเก็งกำไรค่าเงินจะส่งผลต่อด้านตลาดทุนไทยเป็นอย่างมากในช่วงแรกที่ประกาศใช้ แต่ด้วยการที่มีข้อผ่อนปรนทยอยออกมาเป็นระยะๆ ทำให้เห็นว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกทำให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนเริ่มมีทัศนะที่ดีขึ้น ประกอบตลาดหุ้นไทยมีพี/อีที่ถูกมากเมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาค สังเกตได้จากแรงซื้อของต่างชาติที่ไหลเข้ามาได้พักใหญ่แล้ว(Forign net buy)ทำให้เกิดแรงซื้อภาวะตลาดมีดัชนีเป็นบวกติดต่อกันมาหลายวันแล้ว คาดว่ารอบนี้น่าจะมีแนวรับอยู่ที่ 696 จุดและแนวต้านอยู่ที่ 720-725 จุด
ทว่าแรงซื้อในรอบนี้คาดว่าน่าจะมาจากเม็ดเงินในประเทศซึ่งเข้ามาลงทุนอยู่แล้วก่อนหน้านี้และยังไม่ได้นำออกไป มากกว่าที่จะไหลเข้ามาจากต่างประเทศโดยตรง แม้แนวโน้มเม็ดเงินจากตะวันตกยังคงไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง และเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าข่ายมาตรการกันสำรอง 30%ก็ตาม เพราะดูจากค่าเงินบาทแล้วก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับ 35.70-35.80 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพราะไม่เห็นมีดีมานด์แรงซื้อที่จะเข้ามาเพิ่มเติมจนทำให้เงินบาทแข็งเหมือนในช่วงก่อนหน้าที่จะมีมาตรการออกมา
ส่วนการที่ยังมีเสียงเรียกร้องของโบรกเกอร์ให้ธปท.ยกเลิกมาตรการ 30% ทั้งหมดอยู่นั้น ทั้งๆ ที่มาตรการนี้ไม่ได้มีผลทางภาคปฏิบัติในการซื้อขายหุ้นเลย ก็เพราะการมีมาตรการของภาครัฐลักษณะเช่นนี้จะเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่าตลาดฯไทยไม่เสรีนักและยังอยู่ภายใต้การควบคุมซึ่งกองทุนและนักลงทุนต่างชาติหลายรายจะหลีกเลี่ยงตลาดที่มีลักษณะนี้ หันไปลงทุนในตลาดอื่นๆ ที่มีความเสรีมากกว่า
ขณะที่วงการตราสารหนี้ที่เป็นแหล่งพักเงินของบรรดานักเก็งกำไรนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการกันสำรอง 30% นั้น ทำให้นักลงทุนต่างประเทศหายไปส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่จะเข้ามาใหม่ มูลค่าการซื้อขายหายไประดับหนึ่ง แต่ก็มีการชดเชยด้วยพันธบัตรระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เพิ่งออกมา
เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่น ทางฝั่งของตราสารหนี้ได้รวบรวมความคิดเห็นของดีลเลอร์และสมาชิกต่างๆ เสนอให้กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังแล้ว แต่ผลจะออกมาอย่างไรคงต้องขึ้นกับการพิจารณาของทางการ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือต้นทุนในการออกพันบัตรหรือหุ้นกู้จะแพงขึ้นเพื่อดึงดูดใจ เนื่องจากผู้ซื้อรายใหญ่หายไปจากตลาด จึงเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจของไทยอยู่ไม่น้อย
|
|
|
|
|