Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2546








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2546
ศิลปกรรมใน "กสิกรไทย การ์เด้น"             
โดย ลักขณา ศิริวรรณ
 


   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารกสิกรไทย

   
search resources

ธนาคารกสิกรไทย, บมจ.
จันทรา สุขะวิริยะ
Banking and Finance




ชีวิตคนทำงานไม่กี่ปีมานี้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเห็นได้อย่างชัดเจน ภาพที่เห็นจนชินตาคือการทำงานในห้องที่มีผนังกั้นเป็นล็อก ตรงหน้ามีจอสว่างวาบของคอมพิวเตอร์ แทนการก้มหน้าดูเอกสาร บนโต๊ะ ชีวิตการทำงานที่เปลี่ยนไปทำให้สภาพแวดล้อมรอบตัวเราเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น อาจเป็นเพราะมนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่เราไม่เพียงพยายามที่จะพัฒนาชีวภาพของร่างกายเท่านั้น เรายังพยายามที่จะจัดระบบสภาพแวดล้อมให้ กลมกลืนและมีประโยชน์ต่อความเป็นอยู่มากขึ้นด้วย

เรื่องนี้ถ้าดูไปแล้วนับเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่เราต้องศึกษาความเป็นไปของสภาพแวดล้อมให้มาก เพื่อปรับสภาพแวดล้อมให้เข้ากับเราอย่างมีประโยชน์ คุ้มค่ามากที่สุด เพราะการพัฒนาความเจริญของมนุษย์เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำลายสภาพแวดล้อม ครั้งแล้วครั้งเล่า มันเป็นสภาพที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้นแต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ดูตัวอย่างง่ายๆ บางสำนักงานไม่มีที่ว่างตั้งโต๊ะทำงานให้พอเพียงกับจำนวนคนทำงาน เนื่อง จากค่าเช่าพื้นที่มีราคาแพง การจัดและออกแบบสำนักงานระบบใหม่ที่เน้นพื้นที่ใช้สอยเป็นเรื่องหลักมากกว่าหลักความสวยงามและฟุ่มเฟือย

แต่สิ่งหนึ่งที่นับวันจะเป็นเรื่องหลักให้สถานที่ทำงานนำมาคิดเพื่อการออกแบบคือเรื่องของCorporate Garden เพราะปัจจุบันนักบริหารสมัยใหม่ต่างให้ความสนใจในเรื่องของสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในสำนักงานว่า เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในห้องที่ไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวันเลยนั้น ต้นไม้มีส่วนช่วยลดความเครียดจากการทำงานและเพิ่มผลผลิตการทำงานให้มากขึ้นด้วย

การศึกษานี้เป็นผลงานของ Virginia I. Lohr, Caroline H. Pearson-Mims, and Georgia K. Goodwin แห่ง Department of Horticulture and Landscape Architectur Washington State University

รายงานนี้ได้กล่าวถึงการศึกษาของการนำต้นไม้เข้าไปตกแต่งในที่ทำงานที่ไม่มีหน้าต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องทำงานคอมพิวเตอร์ ปรากฏว่าปริมาณการทำงานเพิ่มขึ้น 12% และความดันโลหิต ของผู้ปฏิบัติงานลดลงจากเดิมหนึ่งในสี่

ทั้งยังมีรายงานการศึกษาของ Prof. Dr. Tove Fjeld, Agricultural University of Norway ศึกษาว่า "ต้นไม้ในที่ทำงานช่วยให้สุขภาพคนดีขึ้นจริงหรือ" รายงานฉบับนี้พบว่า ต้นไม้มีส่วนช่วยจริง โดยการทดลองสภาพแวดล้อมของห้องผู้ป่วยที่ไม่มีต้นไม้เลยมีแต่หน้าต่างมองไปที่ลานจอดรถ กับห้องที่มี หน้าต่างมองเห็นต้นไม้เต็มตา พบว่าสุขภาพของคนป่วยในสภาพแวดล้อมหลังจะหายเร็วดีกว่า และการทดลองในห้องทำงานที่ไม่มีต้นไม้กับห้องที่มีต้นไม้ ปรากฏว่าการตรวจสุขภาพหลังจากการทำงานผ่านไปสามเดือนเปรียบเทียบกัน คนทำงานในสภาพห้องที่มีต้นไม้มีสุขภาพ ความดันโลหิตดีขึ้นจากเดิมและคงที่ ในขณะที่คนทำงานในห้องที่ไม่มีต้นไม้สุขภาพแย่ลง

ผลการศึกษาของทั้ง 2 ฉบับต่างพบว่าต้นไม้ ที่อยู่รอบมนุษย์นั้นมีผลต่อมนุษย์ทั้งทางด้านจิตใจและร่างกายอย่างเห็นได้ชัดเจน

ทำให้เกิดข้อสงสัยกันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

คำอธิบายอย่างง่ายๆ คือมนุษย์นั้นเคยอยู่ป่ามาก่อน สภาพของป่าเป็นสภาพแวดล้อมดั้งเดิมที่ฝังลึกเกาะแน่นในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ มนุษย์นั้นพร้อมที่จะปรับตัวตลอดเวลา เพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมของป่าหรือสภาพแวดล้อมของเมือง การเข้ามาอยู่ในเมืองแม้จะสบาย กายแต่จิตยังยึดติดคิดถึงธรรมชาติเดิมอยู่ตลอด

ความสำคัญของเรื่องสภาพแวดล้อมในที่ทำงานจึงเกิดขึ้น เรื่องของการจัดสวนหรือการสร้างสวนให้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทหรือสำนักงานจึงจำเป็นขึ้นมา สถาปนิกและนักตกแต่งภายในมีเหตุผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในการออกแบบการตกแต่ง โดยนำสภาพแวดล้อมที่จะต้องอำนวยประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้งานในสถานที่นั้นๆ มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

น่าดีใจที่เจ้าของอาคารหรือผู้บริหารสำนักงานสมัยใหม่ มักจะเห็นด้วยกับการจัดสร้างสวนภายในและภายนอกอาคารสำนักงาน

ปัจจุบันวิวัฒนาการของ Corporate Garden ขยายวงออกไปอีก เหมือนการตกแต่งภายใน การตกแต่งสวนอาคารสำนักงานปัจจุบันไม่ใช่มีเพียงนำต้นไม้มาใช้อย่างเดียว ยังนำวัสดุและสิ่งของ ตลอดจนงานศิลปะ มาจัดวางไปทั้งสวน ด้วยเหตุผลว่างานศิลปะทำให้คนมองแล้วเกิดจินตนาการเป็นการผ่อนคลายความคิดความเครียดได้ดี

งานศิลปะที่นิยมนำมาวางปัจจุบันไม่พ้นงานประติมากรรมที่ทำจากหินและโลหะ นักประติมากรรมชั้นนำของทุกประเทศมักจะขายผลงานของตนได้ในราคาแพงให้กับงานที่นำออกไปโชว์อยู่กลางแจ้ง อาจเป็นเพราะผลงานเหล่านั้นต้องสื่อถึงอะไรบางอย่างที่ตรงใจสาธารณชนที่พบเห็นให้ได้

ตัวอย่างนักประติมากรรม John Brown หนึ่งในสมาชิกของสมาคมนักประติมากรรมแห่ง สหราชอาณาจักรอังกฤษในพระบรมราชินูปถัมภ์ เขาออกแบบและสร้างผลงานทางด้านประติมา กรรม เพื่อประดับใน Corporate Garden ไว้มาก มาย ผลงานของเขาเน้นให้คนที่มองผลงานชิ้นนั้นๆ เกิดความรู้สึกรับรู้อารมณ์ร่วม ให้เกิดจินตนาการและความคิด ผลงานของเขาโดยส่วนใหญ่จะออกมา เป็นรูปทรงของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ อารมณ์ของมนุษย์

หลักสำคัญของงานประติมากรรมในสวนคือชื่อที่ตั้งให้งานประติมากรรมชิ้นนั้นๆ จะเน้นหรือสื่อให้คนเข้าใจผลงานมากยิ่งขึ้น จนเกิดอารมณ์ร่วมและความรู้สึกที่เป็นสากลให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยเฉพาะงานประติมากรรมที่ประดับใน Corporate Garden ยิ่งต้องเน้นความรู้สึกดีๆ ที่เป็นสาธารณะมากขึ้นกว่างานที่จะเป็น private collection

ผลงานของ John Brown ที่เป็นประติมากรรม ใน Corporate Garden เขาตั้งชื่อไว้ว่า "Guardian" "Stillness" "Resolve" "Sentinel" เป็นต้น แต่ละชื่อที่ตั้งต้องสื่อความหมายที่เป็นภาพลักษณ์และความรู้สึกดีๆ ให้เกิดขึ้นต่อสาธารณชนที่พบ นั่นคือหลัก ของงานประติมากรรมใน Corporate Garden

งานศิลปกรรมใน Corporate Garden ในเมืองไทย ยังไม่เด่นชัดและสื่อความหมายที่ชัดเจน มักจะนำเพียงสัญลักษณ์ หรือตราของบริษัทมาแสดงประกอบงานแต่งสวนหน้าบริษัทเป็นหลักใหญ่ ไม่รู้ว่าใครเป็นต้นแบบเรื่องนี้แต่ก็เห็นทำตามๆ กันจนเป็นที่นิยมมากในเมืองไทย น่าเสียดายที่เราต่างเสียเงินเสียค่าดูแลสวนของบริษัท และสำนักงาน ปีหนึ่งๆ เป็นเงินเยอะมากแต่กลับไม่เกิดคุณค่าทางสายตาและความคิดแก่ผู้พบเห็นทั้งจากภายในและภายนอกอาคารสำนักงาน

เท่าที่สำรวจงานศิลปกรรมใน Corporate Garden ในเมืองไทย ที่มีหลักและความหมายอย่างเป็นเรื่องเป็นราวน่าสนใจ สมควรนำมากล่าวถึงเห็นตัวอย่างชัดเจน คือ "ธนาคารกสิกรไทย"

งานศิลปะกับธนาคารกสิกรไทยสะท้อนปรัชญาผัสสะศิลป์ของกรรมการผู้จัดการธนาคารฯมาตั้งแต่สมัยบัญชา ล่ำซำ มาจนถึงรุ่นลูกคือบัณฑูร ล่ำซำ แต่ละท่านรักงานศิลปะด้วยใจไม่ใช่พาณิชย์ ทั้งให้การสนับสนุนศิลปะแขนงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

เมื่อได้คุยกับจันทรา สุขะวิริยะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายจัดการงานกลาง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานศิลปกรรมทั้งหมดของธนาคาร ยิ่งแน่ใจว่า การที่ธนาคารให้การสนับสนุนงานศิลปะทุกแขนงตลอดมานั้น ล้วนเกิดจากแรงผลักดันที่สำคัญมาจากกรรมการผู้จัดการธนาคารทั้งสิ้น

เพราะหลักที่บัณฑูร ล่ำซำ ให้ไว้ในการเลือก งานศิลปะคือ ต้องสวยงามเข้ากับตัวตึก มีหลักสอนใจและที่สำคัญต้องมีความงามของงานศิลปะ โดยไม่เน้นว่าต้องเป็นศิลปินชื่อดังเท่านั้น เพียงขอให้เขาต้องมีศิลปะถ่องแท้ส่องนำปรัชญาที่ธนาคารกสิกรไทยต้องการสื่ออย่างเข้าใจ

เมื่อยึดหลักดังกล่าวข้างต้นมาพิจารณาจะพบว่า งานศิลปกรรมในสวนทุกชิ้นมีเหตุผลชัดเจน ไม่ใช่ตั้งวางไว้อย่างไร้ความหมายและเหตุผลอันสมควร

เริ่มตั้งแต่ ด้านข้างอาคารสำนักงานใหญ่ของ ธนาคารกสิกรไทย ที่ราษฎร์บูรณะ งานประติมากรรม ในสวน แต่ละชิ้นมีเหตุผลแตกต่างกันไปเช่น เพื่อความสวยงาม เหตุผลทางศาสนาและความเชื่อตาม จารีตประเพณี คือ เทวรูปเศรษฐีชุมพล ผลงานของอาจารย์สุชาติ รัตนสุข ที่ตั้งอยู่ริมน้ำด้านหน้าสำนักงาน

ส่วนเหตุผลเพราะความงามเข้ากับตัวตึก มีหลักสอนใจ มีความงามของงานศิลปะ ที่พบเห็นที่โดดเด่นที่สุดคือ "อินทรีย์ 5" ผลงานของอาจารย์ ชลูด นิ่มเสมอ ลักษณะเป็นประติมากรรมร่วมสมัยใช้วัสดุที่เป็นสำริดเหล็กไร้สนิมและหินแกรนิตสีดำ รูปพีระมิดทรงสูงฐานรูปสามเหลี่ยมเรียงกัน 5 รูป อันเป็นรูปทรงปริมาตรที่มีด้านน้อยที่สุด มีมุมแหลม คมที่สุด

อินทรีย์ 5 เป็นประติมากรรมประดับสวนที่ตั้งด้านหน้าอาคารศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ข้างอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทยชิ้นนี้ เป็นงานประติมากรรมแบบธรรมศิลป์ หมายถึงธรรมที่เป็นใหญ่ 5 ประการ ที่จะควบคุมและนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จสูงสุด โดยเฉพาะสู่ความหลุดพ้นตามแนวของพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา งานประติมากรรมชิ้นนี้มีแนวคิดในการประสานงานศิลปะ ความสุนทรีย์และ สาระเรื่องราวที่สื่อไปในทางพุทธศาสนาใช้รูปทรงสามเหลี่ยมสามมุมเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงไตรสิกขา หลักธรรมะที่ประกอบด้วยองค์ 3 คือ ศีล สมาธิและปัญญา

ในสวนญี่ปุ่นใต้อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารฯ มีงานศิลปกรรมที่ใช้องค์ประกอบ 3 อย่าง คือ ทรงกลม รอยคราดบนหินเกล็ดและบันได 4 ขั้น มาสื่อความหมายคือ ทรงกลม เป็นตัวแทนของชีวิต จิตวิญญาณที่แตกต่างกัน เสมือนบัวที่อยู่ใต้น้ำ ปิ่มน้ำ เหนือน้ำ รอยคราดและหินเกล็ดเปรียบเหมือนอุปสรรค และปัญหาต่างๆ ที่ต้องเผชิญ ส่วนบันได 4 ขั้นเปรียบเหมือนการพัฒนาของธนาคารที่จะนำไปสู่ความเจริญ

แนวคิดการเลือกงานศิลปกรรมของธนาคารกสิกรไทย คงหนีไม่พ้นที่จะแสดงภาพลักษณ์อันโดดเด่นของผู้นำองค์กร อย่างบัณฑูร ล่ำซำ ที่มีรสนิยมของชีวิต และงานบริหาร อย่างมีแผนยุทธศาสตร์สำคัญออกมาตลอดช่วงวิกฤติการณ์เศรษฐกิจที่ผ่านมา

บทบาทที่แท้จริงของบัณฑูร ล่ำซำ ไม่ใช่อยู่ ที่การมีวิสัยทัศน์ที่ดีในการทำงานเท่านั้น ที่สำคัญ ที่สุด เขาสนใจในทุกเรื่อง เขาคิดในทุกเรื่อง ทุกด้าน ไปพร้อมๆ กัน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างไรเลยที่งานศิลปกรรมที่ตั้งอยู่ในสวนหน้าสำนักงานใหญ่จะถูกออกแบบให้มีความหมาย มีแง่คิด และสวยงามไปพร้อมกัน

นั่นคงเป็นตัวอย่างของงานศิลปกรรมในCorporate Garden ที่ได้เรื่องได้ราวเป็นสาระและมีความหมายให้เห็นชัดเจนที่สุดของไทยทีเดียว ขณะนี้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us