จีนตอนนี้เปรียบไปก็เหมือนกับ "เด็กวัยรุ่น" ที่กำลังโตวันโตคืน บรรยากาศของภาวะเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น
ในภาวะเช่นนี้เอง ก็เป็นธรรมชาติ ที่อะไรอะไรก็ดูจะเติบโตเร็วไปเสียหมด
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 1998 ถึงปัจจุบัน ทางการจีนได้ประเมินรายรับขั้นต่ำของภาค
Food Service ไว้ว่าเพิ่มขึ้นถึงเกือบสองเท่าตัวจาก 33,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในปี 1998 เป็น 60,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2002
คนที่ไปเซี่ยงไฮ้ ไม่ว่าจะทำธุรกิจ หรือไปท่องเที่ยว ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
ปัจจุบันเซี่ยงไฮ้ มีอาหารเลิศรสทุกชนิดจากทั่วมุมโลกให้ลิ้มลอง และ เรียกได้ว่ากระเถิบเข้าไปเหมือนฮ่องกง-ไต้หวัน
ทุกทีๆ ขณะที่ปักกิ่งก็ไม่แพ้กัน ร้านอาหารหลากชนิดต่างผุดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจหนึ่งที่เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ดีถึงภาวะเศรษฐกิจของในแต่ละประเทศว่ากำลังอยู่ในภาวะใด
ก็คือ "ธุรกิจอาหาร" อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าการเจริญเติบโตของธุรกิจอาหารทุกชนิดจะ
เป็นเครื่องบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ
อย่างในประเทศไทยเอง ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจหนึ่งที่ดูเหมือน จะเอาตัวรอดไปได้ก็คือ
ธุรกิจด้านอาหาร อย่างที่เขาว่ากันว่า
"เศรษฐกิจจะแย่ยังไง คนก็ต้องอยู่ ต้องกิน"
เราจึงเห็นคนตกงาน กับพนักงานถูกเลย์ออฟ ที่มีเงินเก็บอยู่บ้าง หรือเซียน
หุ้น ต่างหันไปจับธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารไม่ว่าจะเป็น แซนด์วิช อาหารปิ่นโต
ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว หรือใครที่พอมีเงินหน่อยก็เข้าหุ้น กับเพื่อนๆ เปิดร้านอาหารซะเลย
ดังนั้น ธุรกิจอาหารที่กำลังจะพูดถึงต่อไปก็ไม่ได้หว่านไปในอาหารทุกประเภท
แต่เน้นไปที่ธุรกิจ อันอยู่ในมือของบริษัทข้ามชาติ และธุรกิจที่ผมกำลังจะพูดถึงก็หนีไม่พ้น
อาหารแดกด่วน หรือฟาสต์ฟู้ด (Fast Food)
จริงๆ อาหารจีนจำนวนมากก็แทบจะนับได้ว่า เป็นอาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ดอยู่แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นเกี๊ยว หมั่นโถว ซาลาเปา หรือสารพัดเนื้อเสียบไม้ แต่อาหารเหล่านี้ชาวจีนนั้นเรียกกันว่า
เป็นอาหารทานเล่นหรือ
เสี่ยวชือ (Xiao Chi) ส่วนฟาสต์ฟู้ด จำพวก "แฮมเบอร์เกอร์-ไก่ทอด-พิซซ่า"
นั้นชาวจีนเรียกกันว่า
"ไขว้ชาน สือผิ่น (Kuaican Shipin)" ฟาสต์ฟู้ด แบรนด์แรกๆ ที่เข้ามาทำตลาดใน
เมืองจีนได้แก่ เคนตั๊กกี้ฟรายด์ชิกเก้น หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม เคเอฟซี
(KFC) ที่มีโลโกเป็นคุณลุงหน้ายิ้มชื่อ "ผู้พันแซนเดอร์ส" เคเอฟซีหรือที่คนจีนเรียกกันว่า
"เขิ่นเต๋อจี (KFC)" เข้ามาในจีนเมื่อสิบห้าปีก่อน (1987) จากนั้นอีก 3 ปี
พิซซ่าฮัท (Pizza Hut) ก็ตามเข้ามาภายใต้ร่มธงของบริษัทเดียวกันคือ Tricon
จาก สหรัฐฯ (ปีนี้เพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น Yum!) ปัจจุบันเคเอฟซี กลายเป็นเครือข่ายร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ใหญ่ที่สุดในจีนด้วย
จำนวนสาขามากกว่า 700 สาขา ซึ่งนับว่า เติบโตเร็วอย่างมาก จาก 580 สาขาเมื่อสิ้นปี
2001
ส่วนตำนานอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่าง แมคโดนัลด์ (McDonald's) หรือที่คนจีนเรียกว่า
"ไม่ตังเหลา" การเติบโตนั้นยังด้อยกว่าร้านของผู้พัน แซนเดอร์สอยู่ ด้วยจำนวนสาขาเพียง
500 แห่งใน 70 เมือง และถึงแม้บริษัทแม่ของแมคโดนัลด์จะอยู่ในช่วงลดไขมันส่วนเกิน
มีนโยบายปิดร้านอาหารทั่วโลกกว่า 175 แห่งและลดพนักงานกว่า 600 ตำแหน่ง แต่ก็ยังคงทุ่มเงินทุนมาที่จีนโดยระบุว่าในปี
2003 จะเปิดสาขาในจีนเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 100 แห่ง
ขณะที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเจ้าอื่นๆ อย่าง Pizza Hut หรือ Subway ก็พอมีบ้างแต่ยังนับว่าน้อยกว่ายักษ์ใหญ่สองเจ้าแรก
มีคำถามว่า แล้วคนจีนจะยอมวาง "ตะเกียบ" มาบริโภคอาหารเหล่านี้หรือ? เพราะแต่ละมื้อนั้นเปรียบราคากับอาหารจีนแล้วก็นับว่าไม่ใช่ถูก
อาหาร ชุดหนึ่งอย่างต่ำๆ ก็ 15 หยวน (ราว 85 บาท) มีแฮมเบอร์เกอร์/ไก่ทอด
เฟรนช์ฟรายด์ น้ำอัดลมหนึ่ง แก้ว ส่วนอาหารจีนปกติราคาเดียวกันนั้นกินบะหมี่ได้สัก
4-5 ชามโตๆ
คำตอบก็คงเหมือนกับการเจาะตลาดผู้บริโภค ในบ้านเรา ที่อาหารฟาสต์ฟู้ดเหล่านี้
สำหรับชาวบ้าน ทั่วๆ ไปไม่ได้เป็นอาหารที่กินกันทุกวัน แต่ต้องเป็นคนชั้นกลางซึ่งพอมีรายได้ในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ การ เจาะตลาดโดยการผสมวัฒนธรรมที่เหมาะสมกับ คนในแต่ละท้องถิ่น
อันเรียกกันในภาษาวิชาการว่า Localization ก็นับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง
บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ต่างกำคัมภีร์ พร้อมกับ ร่ายคาถา "Think Global,
Act Local" ไปยึดตลาด ทั่วโลก และจีนก็หนีไม่พ้น
คนอเมริกันคงแปลกใจหากบอกว่า แมคโดนัลด์ ที่เมืองไทยมีแมคส้มตำ-ข้าวเหนียวหมูย่าง,
แมคโดนัลด์ ที่ฝรั่งเศสขายเบียร์, เคเอฟซีที่ญี่ปุ่นมีแซลมอนเบอร์เกอร์ และเคเอฟซีที่เมืองไทยและเมืองจีนมีขายข้าวไก่ทอด
(สำหรับในเมืองจีนแต่ละเมืองเมนูก็แตกต่าง กันไปอีก) เพราะรายการเหล่านี้เป็นเมนูเสริมที่สาขาในแต่ละประเทศของบริษัทข้ามชาติเหล่านี้สรรหามาจับกลุ่ม
และรสนิยมของลูกค้าที่แตกต่างกัน ภายใต้กรอบใหญ่ ที่กำหนดมาจากบริษัทแม่
แน่นอน! ใช่ว่าการเข้ามาของร้านอาหารเหล่านี้จะมีแต่ผลบวก เช่น การสร้างงานให้กับคนท้องถิ่น
ในทางตรงกันข้าม ด้วยมาตรฐานของบริษัท แม่ที่อยู่ในประเทศตะวันตก วัตถุดิบอย่างเช่น
มันฝรั่ง แทบทุกชนิดที่ขายในร้านฟาสต์ฟู้ด แทบจะต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ ทั้งหมด
อย่างเช่น "เฟรนช์ฟรายด์" ที่เคเอฟซีขายอยู่ในเมืองจีนนั้น ผ่านขั้นตอนเกือบทั้งหมดมาจากโรงงานในเมืองอเบอร์ดีน
ในรัฐไอดาโฮ สหรัฐฯ คือ "วัดขนาด-ทอดขั้นแรก-แช่แข็ง" ก่อนที่จะส่งไปตามประเทศต่างๆ
เพื่อทอดขั้นสุดท้ายก่อนถึงมือลูกค้า
ด้วยความเสียเปรียบทางด้านดุลการค้า เช่นนี้เอง ทำให้รัฐบาลจีนพยายามจูงให้แมคโดนัลด์
หรือ เคเอฟซี แทนที่จะเปิดสาขากระจุกอยู่ตามเมืองที่เจริญ แล้วทางฝั่งตะวันออก
มุ่งไปเปิดสาขาในภาคตะวันตก ที่ความเจริญด้อยกว่าบ้าง เพื่อเป็นการสร้างงาน
และ เป็นการบีบให้บริษัทเหล่านี้ใช้วัตถุดิบภายในท้องถิ่น
ในยุคทองของอาหารฟาสต์ฟู้ดเช่นนี้เอง ใช่ว่า คนจีนจะไม่หยิบฉวยมาจับเป็นธุรกิจ
คนจีนเองก็สร้าง แบรนด์ของตัวเองมาแข่งเช่นกัน เช่น ร้านไก่ทอดชื่อ "ไม่เขิ่นจี
(Maikenji)" หรือร้านพิซซ่าชื่อ "Mr.Pizza" แต่ร้านที่มาแรงที่สุดบอกแล้วก็อาจจะต้องตกใจเพราะเป็นแฟรนไชส์ขายน้ำเต้าหู้และอาหารว่างแบบจีน
สัญชาติไต้หวัน ที่ชื่อ "หย่งเหอต้าหวัง (Yong He Da Wang - www.yonghe.com.cn)
ที่พกคำขวัญ "หว่อเหมินเตอห่าวหลินจู - เพื่อนบ้านที่ดีของเรา" เปิดสาขาทั่วจีนแล้วกว่า
170 สาขา และที่สนุกไปกว่านั้นโลโกถอดแบบมาจาก "ผู้พันแซนเดอร์ส" อย่างกับฝาแฝดร่วมท้อง