ธปท.คาดปีนี้ความต้องการสินเชื่อในประเทศเพิ่มสูงขึ้น เหตุมาตรการกันสำรอง 30% กระตุ้นให้นักลงทุนหันมากู้แบงก์ในประเทศมากขึ้น แนะแบงก์ต้องบริหารสินทรัพย์และหนี้สินให้มีประสิทธิภาพ เพื่อทดแทนความสามารถในการทำกำไรและการดำรงเงินกองทุนที่ลดลง ขณะที่ไตรมาส 4 ของปีก่อน ระบบแบงก์พาณิชย์ไทยเจอพิษ “IAS39” สร้างผลขาดทุนกว่าหมื่นล้าน โดยเฉพาะแบงก์ขนาดเล็ก-กลาง ขณะที่แบงก์รายใหญ่เร่งปรับโครงสร้างหนี้หนีเกณฑ์บัญชีใหม่ ทำให้มีเพียงกำไรลดลงเท่านั้น
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้คาดการผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในปี 2550 ยังคงมีธนาคารพาณิชย์บางแห่งจะต้องกันสำรองเพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มทุนให้เพียงพอตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 39 (IAS39) ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2551 แต่ ธปท.ได้ให้ทยอยปฏิบัติในส่วนของการด้อยค่าของสินทรัพย์และการกันสำรองตั้งแต่งวดบัญชีสิ้นธ.ค.49 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ความต้องการสินเชื่อในประเทศน่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนการกู้ยืมจากต่างประเทศจากผลของมาตรการกันสำรอง 30% ของเงินทุนจากต่างประเทศที่นำเข้ามาลงทุนในไทย ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ต้องมีความระมัดระวังการบริหารจัดการทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและการดำรงเงินกองทุน
สำหรับผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไทยล่าสุดในไตรมาส 4 ของปี 2549 ปรากฏว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 14,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการกันสำรองที่เพิ่มขึ้นมากของบางธนาคาร เพื่อปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชี IAS39 อย่างไรก็ตามหากไม่รวมการกันสำรองตามมาตรฐาน IAS39 ธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีกำไรจากการดำเนินงานทั้งสิ้น 27,700 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อธนาคารพาณิชย์ไทยนำมาตรฐานบัญชีใหม่มาใช้ส่งผลให้กำไรลดลงถึง 13,400 หรือลดลงเกือบเท่าตัวจนผลประกอบการกลับขาดทุนจำนวนดังกล่าว
ทั้งนี้ ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจำนวน 14,300 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน เป็นผลขาดทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กบางแห่งเป็นสำคัญ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่งมีกำไรลดลง เนื่องจากมีรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ รวมทั้งมีการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนถึงประมาณ 36,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสำรองในระดับสูง เพื่อปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชี IAS39 ที่ธปท.ประกาศทยอยดำเนินการในงวดบัญชีสิ้นเดือนธ.ค.49 และงวดบัญชีสิ้นเดือนมิ.ย. และสิ้นเดือนธ.ค.50 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี มีธนาคารพาณิชย์บางแห่งสามารถดำเนินการกันสำรองได้เพียงในงวดบัญชีเดียว ถือเป็นเรื่องที่ดี
อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมของการกันสำรองในระดับสูง ธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 27,700 ล้านบาท แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 36,600 ล้านบาท และลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนถึง 33,000 ล้านบาท โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและเงินปันผลไม่ได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงและค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธปท.ได้กำหนดให้สถาบันการเงินทยอยกันสำรองแบ่งเป็น 3 งวดบัญชีตามมาตรฐานทางบัญชีแบบใหม่ หรือ IAS39 โดยงวดแรกเริ่มในช่วงเดือนธ.ค.49 ที่ผ่านมา โดยต้องมีการกันเงินสำรอง 100% สำหรับลูกหนี้ประเภทศาลมีคำพิพากษาแล้วหรือยู่ระหว่างบังคับคดี และลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีให้กันสำรอง ส่วนงวดที่สองเริ่มกันเงินสำรองในช่วงเดือนมิ.ย.50 เป็นต้นไป โดยต้องมีการกันเงินสำรองในสัดส่วน 100% จากเดิม 50% สำหรับลูกหนี้ที่ถูกจัดเป็นหนี้ทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญและชั้นสงสัยให้กันสำรอง และงวดสุดท้ายในช่วงเดือนธ.ค.50 เป็นต้นไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่ถูกจัดเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ถือเป็นลูกหนี้ที่มีมากที่สุดในระบบในปัจจุบันจะต้องถูกกันเงินสำรองในสัดส่วน 100% จากเดิมอยู่ที่ระดับ 20%
|