|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หลังพ้นบารมีทักษิณ ค่ายมหากิจศิริปรับทัพธุรกิจในกลุ่ม ขายหุ้น INOX ให้เกาหลีใต้ ไม่วายโยกหุ้นผ่านบุคคล ส่วนที่ตั้งเป้าได้เงินก้อนใหญ่ เตรียมดัน TCI เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ คนวงการหุ้นตั้งข้อสังเกตุเหตุใดช่วงนี้จึงเร่งกำเงินสด
นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคม 2550 ธุรกรรมการเตรียมนำเอาบริษัท ไทยคอปเปอร์ อินดัสตรี จำกัด(มหาชน) หรือ TCI เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์และการขายหุ้นราว 800 ล้านหุ้นในบริษัทไทยน๊อคซ์ สเตนเลส จำกัด(มหาชน) หรือ INOX ของตระกูลมหากิจศิริ ที่เปิดฉากขึ้นมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปของบรรยากาศทางการเมือง
ทั้งประยุทธ มหากิจศิริ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยได้ปลุกปั้นทั้ง 2 บริษัทให้ฟื้นคืนชีพมาในยุคที่ทักษิณ ชินวัตร เรืองอำนาจ แถมการได้บริษัทไทยคอปเปอร์ที่ผลิตทองแดงมานั้นก็ล้วนถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงวิธีการได้มา รวมถึงความพยายามที่จะให้ภาครัฐบาลออกภาษีเพื่อมาปกป้องธุรกิจของคนในตระกูลนี้ และการตั้งราคาขายหุ้น INOX ที่ขัดแย้งกับที่ปรึกษาทางการเงิน
ประยุทธ มหากิจศิริ มีธุรกิจดั้งเดิมคือบริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TFI แต่หลายคนรู้จักกันในนามเจ้าพ่อเนสกาแฟ เมื่อพรรคไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศ กลุ่มมหากิจศิริได้เข้าไปฟื้นฟูกิจการบริษัทไทยคอปเปอร์ อินดัสตรี ที่อยู่ภายใต้การจัดการของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.) โดยได้ใช้เงินเพิ่มทุนของ TFI ราว 1.6 พันล้านบาทเข้ามาใช้ในการฟื้นฟูเมื่อต้นปี 2546 จนถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทำหนังสือสอบถามถึงความคุ้มค่าในการปรับโครงสร้างหนี้ในครั้งนั้น
สุดท้ายมหากิจศิริก็ได้ธุรกิจเดิมของตนกลับคืนมาแม้จะถูกตั้งข้อสังเกตุว่าทำไมต้องยอมซื้อมาในราคาแพง แต่หากรวมกับใบสำคัญแสดงสิทธิที่ได้มาในราคา 1 สตางค์ สัดส่วนการแปลงเป็นหุ้นสามัญที่ 1 ต่อ 1 จำนวน 17.56 ล้านหน่วย คิดเป็น 43.69% ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายแล้วถือว่าต้นทุนในครั้งนั้นไม่สูงจนเกินไป ซึ่งตามเป้าหมายเดิมต้องการนำเอาไทยคอปเปอร์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2548 แต่ก็ต้องเลื่อนออกไป
จนกระทั่งมีการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อ 25 มกราคม 2550 ว่าเตรียมจะนำเอา TCI เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่สิงคโปร์เพื่อต้องการระดมทุนราว 1 หมื่นล้านบาท ทั้ง ๆ TCI เพิ่งดำเนินงานมาได้ราว 1 เดือนทำให้ไม่สามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้
เร่งกำเงินสด
ความพยายามในการผลักดันเอา TCI เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ได้รับการชี้แจงจากประยุทธว่าเพื่อนำไปใช้ในการขยายกำลังการผลิต
"การระดมทุนในครั้งนี้หากประสบความสำเร็จ แน่นอนว่าจะได้เงินเข้ามาราวหมื่นล้านบาท แต่จะนำไปใช้ในการขยายกิจการ TCI หรือไม่ตอบยาก เพราะที่ผ่านมากลุ่มนี้เคยขอเพิ่มทุนด้วยวัตถุประสงค์หนึ่ง แต่นำไปใช้อีกวัตถุประสงค์หนึ่งก็บ่อยไป" แหล่งข่าวจากวงการหลักทรัพย์กล่าว
ที่ผ่านมากลุ่มนี้เพิ่งให้ INOX จ่ายเงินปันผลในรอบ 9 เดือนสูงถึง 0.15 บาทต่อหุ้น ทั้ง ๆ ที่กำไรสุทธิที่ทำได้อยู่ที่ 0.19 บาทต่อหุ้น ได้เงินได้ไม่น้อยจากสัดส่วนการถือหุ้นที่มากกว่า 67%
จากนั้นได้ตัดสินใจขายหุ้นที่ถือใน INOX จำนวน 800 ล้านหุ้นหรือ 10% ที่ราคา 1.67 บาทให้กับบริษัท POSCO จำกัดจากเกาหลีใต้ ตามข้อตกลงเดิมที่กำหนดจำนวนหุ้นที่ต้องการขาย 1,200 ล้านหุ้น ได้เงินก้อนแรกไปราว 1.34 พันล้านบาท
"ดูเหมือนช่วงนี้กลุ่มนี้ต้องการถือครองเงินสดค่อนข้างมาก ส่วนจะนำไปใช้อะไรคนในตระกูลเท่านั้นที่จะทราบ"
ก่อนหน้านี้ในช่วง 8 ธันวาคม 2549 ได้มีการขายหุ้น INOX ที่บริษัทเลควูดแลนด์ขายให้กับอุษณา มหากิจศิริ 200 ล้านหุ้น นัยยะตรงนี้อาจตีความได้ว่าการขายหุ้น INOX ให้ POSCO เป็นการขายในนามบุคคล ทำให้ไม่มีภาระภาษีส่วนต่างกำไร ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับที่ตระกูลชินวัตรขายชิน คอร์ป ให้เทมาเส็กจากสิงคโปร์
โดยเฉพาะการขายหุ้น INOX ที่ประยุทธภูมิใจในบริษัทนี้มาก เนื่องจากสเตนเลสเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยอดขายค่อนข้างดีแถมเพิ่งปรับราคาขายขึ้นไป และเพิ่งนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปลายปี 2547 ซึ่งในช่วงที่มีการกระจายหุ้น INOX กลุ่มมหากิจศิริได้นำเอาหุ้นเดิมที่ถืออยู่นำมากระจายพร้อมกันทำให้ได้เงินไปมากกว่า 4.5 พันล้านบาท
แปลงสภาพไทยคอปฯ
เท่าที่ประเมินดูจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงบริษัทของเครือญาติส่วนใหญ่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่มีนัยยะสำคัญ อย่างมากเป็นแค่การลาออกของกรรมการบางท่านเท่านั้น แต่บริษัทเหล่านั้นมีการตั้งมาตามขั้นตอนหรือเป็นการเข้าซื้อกิจการบริษัทที่อยู่ในกลุ่มฟื้นฟูมาปั้นใหม่
แตกต่างจากกลุ่มมหากิจศิริที่เข้าไปฟื้นฟูกิจการในบริษัทไทยคอปเปอร์ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ซึ่งมีข้อครหาถึงการได้มาในครั้งนั้นว่ามีการเอื้อประโยชน์กัน หากกรณีนี้มีการรื้อฟื้นหรือมีการตรวจสอบขึ้นมาคงสร้างปัญหาให้กับผู้ถือหุ้นไม่น้อย
ที่ปรึกษาทางการเงินกล่าวว่า โดยทั่วไปหากมีลูกค้าที่เข้ามาขอคำปรึกษา ช่องทางออกก็มีเหมือนกัน แม้จะไม่ใช่ทางออกที่ดีแต่กว่ากระบวนการกว่าจะแล้วเสร็จก็ใช้เวลานาน และการติดตามก็ทำได้ไม่ง่าย คือเร่งดันให้เอาบริษัทนี้เข้าระดมทุนที่ใดที่หนึ่ง เพราะเมื่อมีเจ้าของหลายรายการหาทางเอาบริษัทคืนหรือถอนออกจากตลาดหุ้นย่อมทำไม่ง่าย อีกประการหนึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่จะได้เงินก้อนใหญ่ไปก้อนหนึ่งแล้ว ยิ่งถ้าจดทะเบียนที่ต่างประเทศแล้วยิ่งเป็นการเพิ่มความยุ่งยากในการติดตามเข้าไปอีก
แต่แนวทางนี้ถือว่าเสี่ยงต่อชื่อเสียงของที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงที่จะรับลูกค้าเหล่านี้ เว้นแต่เป็นแนวทางที่ลูกค้าวางแผนมาแล้ว ที่ปรึกษารับทำหน้าที่เฉพาะงานด้านเอกสารเท่านั้น
เรื่องเหล่านี้ถือเป็นเรื่องของเจตนา ทุกวันนี้จริยธรรมของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บางแห่งมีค่อนข้างน้อย พวกเขายึดประโยชน์และความมั่งคงเป็นหลัก แม้กระทั่งตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่สามารถทำอะไรพวกเขาได้ แม้ในบางครั้งจะมีการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในช่องทางที่ผิดวัตถุประสงค์
|
|
|
|
|