|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ยุทธการปรับแผนธุรกิจท่องเที่ยวใหม่!...เมื่อสนามบินดอนเมืองถูกหยิบมาปัดฝุ่นใช้อีกครั้ง เจาะกลยุทธ์สายการบิน-ท่องเที่ยวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น!...
28 กันยายน 2549 แอร์ไลน์ทุกสายการบินถูกย้ายให้ไปใช้สนามบินแห่งใหม่ “สุวรรณภูมิ” แม้ว่าสายการบินในตระกูลโลว์คอร์สทำท่ายึกยักส่งสัญญาณจะไม่ยอมย้ายไปใช้สนามบินสุวรรณภูมิก็ตาม แต่เมื่อเจอแรงกดดันหลายอย่างเข้าไป รวมถึงต้องปิดสนามบินดอนเมืองทันทีหลังจากเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ส่งผลทำให้ทุกสายการบินจำเป็นต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำอย่างไทยแอร์เอเซียที่ประกาศย้ายเป็นอันดับต้น ๆ ก่อนวันเปิดอย่างเป็นทางการเสียด้วยซ้ำไป
แน่นอน...การย้ายสนามบินไม่เหมือนการย้ายบ้าน ทุกขั้นทุกตอนจึงต้องมีการวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่และกลยุทธ์การตลาด ซึ่งทุกแอร์ไลน์ค่อนข้างที่จะมีความพร้อมและชัดเจน โดยเฉพาะการปรับผังตารางบิน การกำหนดเส้นทางบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงการให้บริการบนภาคพื้นดิน ส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องปรับแผนกลยุทธ์รองรับตลาดนักท่องเที่ยวให้สอดคล้องเหมาะสมกับเส้นทางบินที่ถูกวางไว้ด้วยเช่นกัน
ชั่วระยะเวลาเพียงแค่ 4 เดือนกว่าๆเท่านั้น สนามบินสุวรรณภูมิที่คิดว่าจะสร้างเป็นฮับแห่งเอเชีย กลับมีปัญหาเรื่องของความไม่ปลอดภัย และเหลือเวลาอีกเพียงแค่ 45 วันเท่านั้นที่สายการบินภายในประเทศ(เฉพาะที่สมัครใจ)จะต้องกลับมาใช้สนามบินดอนเมืองอีกครั้ง...
การกลับมาใช้บริการใหม่ของสนามบินดอนเมืองครั้งนี้จึงอาจจะมีผู้ประกอบการบางส่วนที่ถูกใจและไม่ถูกใจ...แต่ท้ายที่สุดการตัดสินใจทั้งหมดเพื่อย้ายไปใช้บริการสนามบินดอนเมืองก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของสายการบินแต่ละแห่ง
...แน่นอนผลกระทบจะส่งให้ 6 สายการบินหลักที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น การบินไทย ไทยแอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ นกแอร์ วัน-ทู-โก และพีบีแอร์ จึงต้องเร่งตัดสินใจ
แต่ใช่ว่าทุกสายการบินจะให้คำตอบตกลง!...เหมือนกัน เนื่องจากแต่ละสายการบินต่างก็มีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเส้นทางบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวนเครื่องบินที่มีอยู่ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ
ทั้งหลายทั้งปวงคือข้อจำกัดในเรื่องของการวางแผนกลยุทธ์รตลาดของสายการบินแทบทั้งสิ้น...
สอดคล้องกับที่ อุดม ตันติประสงค์ชัย ซีอีโอของโอเรียนท์ไทยที่พร้อมจะทำการบินภายในประเทศขึ้น-ลงในสนามบินดอนเมือง ถึงแม้ว่าจะมีการลงทุนด้วยงบประมาณของบริษัทบ้างก็ตาม เนื่องจาก วัน-ทู-โก มีเส้นทางการบินภายในประเทศอยู่จึงไม่ส่งผลกระทบเท่าไรนัก
ขณะที่ ทัศพล แบเลเว็ล ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ยังคงต้องกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งหลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีออกมา เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากมีเส้นทางบินทั้งในและต่างประเทศอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ด้วยข้อจำกัดที่ให้เฉพาะสายการบินที่ให้บริการภายในประเทศเท่านั้นมาใช้สนามบินดอนเมือง จึงทำให้ต้นทุนของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของไทยแอร์เอเชียจะต้องเสียถึงสองสนามบินซึ่งไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้นไทยแอร์เอเชียเคยประกาศตัวเป็นหัวเรือใหญ่ในการล็อบบี้ขอให้สายการบินโลว์คอร์สย้ายกลับไปใช้สนามบินดอนเมือง หลังเจอทั้งภาวะต้นทุนพุ่งและความไม่พร้อมของสุวรรณภูมิ ในหลายเรื่อง
แต่การล็อบบี้ของไทยแอร์เอเชียครั้งนั้นกลับไม่ได้ทำอย่างโจ๋งครึ่ม อาจเป็นเพราะยังหวั่นเรื่องของ นอร์มินี แต่ก็อาศัยพันธมิตรสายการบินอื่น ๆ อาทิ วันทูโก ของอุดม ตันติประสงค์ชัย นกแอร์ โดยพาที สารสิน
ขณะที่พีบีแอร์ เป็นตัวช่วยในการจัดทำข้อมูล แจงข้อดี- ข้อเสียส่งตรงถึงมือบิ๊ก ทอท.และ ขอ. กระทรวงคมนาคมประกอบการตัดสินใจ
และในที่สุด พลเรือเอก ธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ออกมายอมรับว่าต้องกลับมาใช้สนามบินดอนเมืองในเชิงพาณิชย์อีกครั้ง โดยเลือกที่จะให้สายการบินภายในประเทศเข้ามาเปิดให้บริการเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ประกอบการแต่ละสายการบินด้วย
การปรับกลยุทธ์วางแผนการตลาดใหม่ของแต่ละสายการบินจึงต้องเกิดขึ้น...
แม้ว่าสำหรับสายการบินภายในประเทศที่มีเส้นทางบินตรงระหว่างจังหวัดกับจังหวัดจะไม่ส่งผลกระทบเท่าไรนักก็ตาม แต่ขณะที่สายการบินของคนไทยอย่าง บางกอกแอร์เวยส์และไทยแอร์เอเชีย ที่มีเส้นทางบินระหว่างประเทศ คาดว่าน่าจะส่งผลกระทบไม่น้อย เพราะผู้โดยสารที่จะต่อเครื่องไปยังต่างประเทศจะต้องไปขึ้นเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ
ปัญหานี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาและบทสรุปเบื้องต้น สายการบินไทย อาสาจะเป็นสายการบินที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนามบินดอนเมือง
ไทยธุรกิจท่องเที่ยวขอความชัดเจน
สายการบินคือหัวใจหลักในการเดินทางของนักท่องเที่ยว เมื่อสายการบินมีการจัดตารางเที่ยวบินใหม่ วางแผนเส้นทางการบินเรียบร้อยเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปลงสนามบินดอนเมือง ด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยก็จะนำไปใช้เป็นข้อมูลเตรียมตัวเพื่อวางแผนการตลาดต่อไป
เกี่ยวกับเรื่องนี้ อภิชาติ สังฆอารี นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว บอกว่า หากสนามบินสุวรรณภูมินั้นยังไม่มีความพร้อมในเรื่องของการเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ แต่เมื่อเปิดให้บริการไปแล้วกอปรกับมีปัญหาเกิดขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องออกมาสร้างความชัดเจนเพราะถ้า สายการบินเกิดหยุดทำการบินไม่บินมาลงประเทศไทยขึ้นมา ปัญหาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายในประเทศย่อมส่งผลกระทบแน่นอน
ขณะเดียวกันเมื่อมีข่าวเรื่องความไม่ปลอดภัยของสนามบินสุวรรณภูมิออกไปในต่างประเทศด้วยแล้ว บริษัทประกันภัยก็คงไม่ครอบคลุมทั้งหมด ส่งผลให้สายการบินต่างๆก็ไม่กล้าบินมาลงที่ประเทศไทย กอปรกับความฝันที่จะสร้างสนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นฮับแห่งเอเชีย กลับกลายเป็นดับฝันตัวเองลงไปทันที
“ย้ายกลับดอนเมืองไม่น่ามีปัญหา แต่ต้องมีความชัดเจนรวมทั้งดำเนินการให้รวดเร็ว เพราะไม่อย่างนั้นจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ เมื่อไม่มีสายการบินมาลงก็คงไม่มีนักท่องเที่ยวด้วย”อภิชาติ กล่าว
อย่างไรก็ตามการย้ายกลับไปใช้สนามบินดอนเมืองครั้งนี้น่าจะตรงกับช่วงโลว์ซีซันพอดี จึงคาดว่าน่าจะสามารถรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวได้ ขณะเดียวกัน สายการบินไทยก็จะมีไฟล์ตบินเชื่อมต่อไปต่างประเทศให้ด้วยก็จะเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปวางแผนการตลาดเพื่อจองตั๋วเครื่องบินได้
กรณีการมีสองสนามบินในประเทศไทย นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว บอกว่าในหลายประเทศใหญ่ๆก็มีสองสนามบินกัน ในฐานะผู้ประกอบการท่องเที่ยวไม่วิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะไม่ได้เกิดความเสียหายอะไรขึ้นมา ขณะเดียวกันคือต้องมีความชัดเจนในเรื่องของการเปิดให้บริการของแต่ละสายการบิน และตราบใดที่การบินไทยยังคงให้บริการเชื่อมต่อระหว่างประเทศได้ กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็สามารถที่จะบุ๊กไฟล์ตให้กับนักท่องเที่ยวได้
นั่นแสดงว่าสายการบินที่ตอบรับว่าจะทำการบินขึ้น-ลงในสนามบินดอนเมืองจะต้องมีความชัดเจนของผลสรุปแผนเส้นทางตารางบินทั้งหมดให้เร็วที่สุดหลังจากที่รัฐบาลประกาศให้กลับมาใช้สนามบินดอนเมือง ซึ่งจะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีเวลาวางแผนการตลาดด้วยเช่นกัน
“ปกติสายการบินจะมีการวางแผนล่วงหน้า 6 เดือนทั้งช่วงฤดูไฮซีซั่นและฤดูโลว์ซีซั่น ซึ่งสนามบินดอนเมืองยังคงสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้”นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยวกล่าว
ก่อนหน้านั้นมีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นหลังเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิกลับเป็นตัวฉุดให้ตัวเลขของนักท่องเที่ยวน้อยลงไป สาเหตุสำคัญคือเรื่องของความไม่ปลอดภัย
หากหน่วยงานภาครัฐให้ความชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลความเป็นจริงในเรื่องความปลอดภัย กอปรกับสายการบินมีบทสรุปในเรื่องของการเปิดให้บริการในสนามบินดอนเมืองที่ชัดเจน การเตรียมตัวรองรับของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายในประเทศก็จะมีความพร้อมวางแผนรับกลุ่มนักท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่
“ตอนนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายในประเทศแทบไม่ต้องทำอะไรมากนัก...ขณะที่แอร์ไลน์คือสิ่งสำคัญที่สุดเพราะเป็นตัวเชื่อมขนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ซึ่งถ้าเกิดแอร์ไลน์ขาดความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยขึ้นมา เขาก็จะลดเที่ยวบินถึงตรงนั้นซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยแน่นอน”นายกสมาคมฯกล่าว
ยังไม่สายหากจะเปลี่ยนให้สายการบินที่เปิดให้บริการเฉพาะภายในประเทศกลับไปใช้สนามบินดอนเมืองอีกครั้งและสำคัญที่สุดภาครัฐจะต้องมีความชัดเจนในทุกๆเรื่อง และต้องมีการดำเนินการให้รวดเร็วที่สุดเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอย่างแน่นอน
รีเทิร์นดอนเมือง...ใครได้ประโยชน์?...
กระแสการย้ายสายการบินต้นทุนต่ำไปอยู่ที่สนามบินดอนเมืองเมื่อช่วงท้ายปี 2006 ดูจะเริ่มเป็นจริงขึ้นมา หลังจากที่บอร์ดการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย(ทอท.)อดรนทนไม่ไหวจำเป็นต้องประชุมด่วนเพื่อหาข้อยุติทันที
องค์ประชุมให้น้ำหนักไปที่หากให้ โลว์คอส แอร์ไลน์ กลับมาดอนเมือง เท่ากับเปิดขุมทรัพย์ให้โลว์คอร์ส แอร์ไลน์และผลประโยชน์จะตกอยู่กับคู่แข่งอย่างสิงคโปร์หรือมาเลเซีย เสียมากกว่า
แล้วการบินไทยจะทำอย่างไร ? ส่วนประเทศไทยจะได้หรือเสียอะไร?.. เมื่อประเด็นเริ่มเซ็นซิทีฟแบบนี้ทุกคนที่ออกจากห้องประชุมจึงถูกสั่งให้ปิดปากเงียบ!..
ล่าสุดต้นปี 2007 กระแสเสียงการตอบรับการย้ายมาใช้สนามบินดอนเมืองเริ่มเข้มข้นขึ้นอีก เมื่อสุวรรณภูมิเจอปัญหาสารพัด โดยเฉพาะความแออัด และต้องใช้เม็ดเงินอีกหลายหมื่นล้านขยายการลงทุนรองรับ อีกทั้งแท็กซี่เวย์มีรอยแยก รันเวย์มีรอยร้าว...ฯลฯ
อีกทั้งยังมีสัญญาณที่ชัดเจนว่า การบินไทยร่วมวงไพบูลย์ด้วย ภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องเป็น สายการบินที่มีเส้นทางบินภายในประเทศเท่านั้น แบบพอย์ททูพอย์ท หรือจุดบินต่อจุดบิน ต่อไปต่างประเทศนั้นหมดสิทธิ์ ก็เท่ากับว่า เป็นการปิดทางฝันให้กับไทยแอร์เอเชียกลับดอนเมืองอย่างสิ้นหวัง
เนื่องจากการเปิดใช้สองสนามบินไทยแอร์เอเชียทำให้ต้นทุนพุ่งปี๊ด เครื่องบินก็ไม่พอที่จะจัดสรรใช้สองสนามบินได้ทุกวัน โดยเฉพาะไทยแอร์เอเชียมีปัญหาที่ต้องรอเครื่องบินจากจุดบินหนึ่งที่ ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องบินที่บินระหว่างต่างประเทศเพื่อมารับผู้โดยสารภายในประเทศ
ดังนั้นการเตรียมย้ายกลับมาใช้ดอนเมือง จึงน่าจะไม่มี ไทยแอร์เอเชีย เหลือแค่มีเพียง การบินไทยที่แอ่นอกรับอยากย้ายเต็มที่ รวมทั้ง วันทูโก นกแอร์ ที่ยอมรับว่าไม่มีปัญหาหากจะต้องย้ายที่ทำการบิน ส่วนบางกอกแอร์เวย์สประกาศจุดยืนไม่ย้ายตั้งแต่ต้นเพราะมีผู้โดยสารต่างชาติ ต้องต่อเครื่องไปจุดหมายปลายทางอื่น เป็นจำนวนมาก
เรื่องนี้อาจจะไม่จบลงง่าย ๆ เมื่อ พลเรือเอก ธีระ ห้าวเจริญ ออกมาพูดนิ่ม ๆ ว่าถึงการกลับมาใช้สนามบินดอนเมืองว่า จำเป็นต้องย้ายสายการบินภายในประเทศเข้ามาให้บริการในสนามบินดอนเมือง แต่ภายใต้เงื่อนไขของความสมัครใจแต่ละสายการบิน
ขณะที่ข่าววงในพบว่าไทยแอร์เอเซียก็ยังเดินสายล็อบบี้ให้เปิดแบบ พอยท์ทูพอยท์ด้วย ซึ่งยิ่งทำให้ประเด็นการย้ายดอนเมืองร้อนแรงจนกลายเป็นเสียงแตก มีทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ไหนจะมีเรื่องของการสูญเสียความเป็นฮับทางการบิน
ขณะเดียวกันรัฐบาลก็กลัวเสียหน้าที่จะต้องย้ายไป-ย้ายมาไม่รู้จะตอบคำถามต่างชาติอย่างไร?...
ประการสำคัญการย้ายกลับดอนเมืองจะถูกสายการบินที่ให้บริการสุวรรณภูมิบีบให้ บมจ.การท่าอากาศไทย(ทอท.)เก็บค่าบริการเท่ากับดอนเมืองหรือไม่?...ขณะที่จำนวนสายการบินที่จะมาเปิดให้บริการที่สนามบินดอนเมืองสรุปแผนตารางบินเมื่อไรนั้น... ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาหนักอกของผู้เกี่ยวข้องที่ต้องตัดสินใจแทบทั้งสิ้น ดังนั้นภาครัฐคือกลไกที่จะต้องสร้างความชัดเจนและดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งช้าเท่าไรอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศไทยจะถูกผลกระทบอย่างแน่นอน...
ข้อดีของการย้ายสนามบิน...
1. พนักงานส่วนใหญ่ของสายการบินภายในประเทศมีบ้านพักอยู่แถบย่านดอนเมืองเดินทางสะดวกขึ้น
2. ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวในแถบย่านดอนเมืองโดยเฉพาะโรงแรม น่าจะดีขึ้นหลังจากที่ซบเซามานาน
3. รัฐไม่ต้องไปลงทุนเพิ่มอีกกว่า 1,000 ล้านบาทในสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อสร้างอาคารให้กับโลว์คอส
|
|
 |
|
|