|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
คลังกัดฟันยืนเป้าจีดีพีปี 50 โต 4-5% รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ต่ำกว่าคาดกดดันให้เงินเฟ้อลดลง แต่ยังไม่วางใจติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แย้มกุมภาฯประเมินภาวะเศรษฐกิจอีกรอบ ส่วนทั้งปี 49 มั่นใจเศรษฐกิจโตไม่ต่ำกว่า 5% รับอานิสงส์จากภาคการส่งออกที่ขยายตัวถึง16.9% ยันฐานะการคลังไม่มีปัญหา โชว์จัดเก็บรายได้ยังเกินเป้า-หนี้สาธารณะลดลง
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยังคงประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปี 2550 ไว้ที่ 4-5% คงเดิม โดยมองว่ายังมีปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันดิบดูไบที่อยู่ในระดับ 52 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ในระดับที่ 61 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ แม้ภาคการส่งออกจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัวลงบ้าง แต่ช่วงที่ผ่านมาการส่งออกก็ยังขยายตัวได้อยู่
“แม้ส่งออกจะมีแนวโน้มลดลงจากเศรษฐกิจโลกมีการชะลอ แต่เท่าที่ดูก็ยังมีการส่งออกได้อยู่ จึงเชื่อว่าฐานะการคลังในปีนี้ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะยังมีความมั่นคงอยู่มาก และที่ผ่านมามีการจัดเก็บภาษีได้เกินเป้าตลอด ประกอบกับหนี้สาธารณะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ฐานะการคลังทั้งปีจะเป็นอย่างไรคงจะต้องติดตามและประเมินต่อไป”นางพรรณี กล่าว
อย่างไรก็ตามแม้ว่ากระทรวงการคลังจะยังคงประมาณการจีดีพีไว้ที่ 4-5% ในปีนี้เหมือนเดิมแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ กระทรวงการคลังจะมีการติดตามและประเมินภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ก.พ. 2550 กระทรวงการคลังจะแถลงประมาณการเศรษฐกิจอีกรอบ
นางพรรณี กล่าวต่อถึง การขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2549 ว่าจะจะมีการขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศ ประมาณ 5.1% ซึ่ง สศค.เชื่อว่าจีดีพีจะขยายตัวได้เกิน 5%ได้แน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการประมาณการมาตลอดว่าในปี 2549 จีดีพีจะขยายตัวเกิน 5%
สำหรับภาวะเศรษฐกิจการคลังโดยรวมในเดือนธันวาคม 2549 ยังสามารถขยายตัวได้ดี โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดีมากในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ทั้งนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังอยู่ระดับแข็งแกร่งมาก โดยภาวะเศรษฐกิจภายนอกในเดือนธันวาคมได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า
ด้านเครื่องชี้ภาวะการคลังพบว่าการจัดเก็บรายได้ขยายตัวได้ดี ในขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลปรับตัวลดลง ซึ่งเกิดจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2550 ล่าช้า โดยรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในเดือนธันวาคม 2549 มีจำนวนทั้งสิ้น 91.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.3 ต่อปี ขณะที่ด้านรายจ่ายงบประมาณในเดือนธันวาคม 2549 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 98.9 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ -12.0 ต่อปี เนื่องจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 ล่าช้า
โดยเครื่องชี้ในด้านอุปทานพบว่า การผลิตภาคเกษตรในเดือนธันวาคมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 11.4 ต่อปี ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี จากที่หดตัวถึงร้อยละ -6.8 ต่อปี ในเดือนก่อน ทำให้คาดว่ารายได้เกษตรกรน่าจะมีการขยายตัวดีขึ้นในเดือนธันวาคม ขณะที่เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมบ่งชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ดังจะเห็นได้จากที่มูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบในเดือนธันวาคมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.2 ต่อปี ในเดือนก่อน และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคมขยายตัวร้อยละ 7.2 ต่อปีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.1 ต่อปีในเดือนก่อน
นางพรรณี กล่าวอีกว่า ในส่วนของมูลค่าการส่งออกสินค้าเดือนธันวาคมยังคงขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 10,959 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงในทุกหมวดสินค้า ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้ายังคงขยายตัวในระดับต่ำตามการใช้จ่ายในประเทศที่ชะลอลง โดยมีมูลค่า 10,047.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ต่อปี เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวชะลอลงตามการลงทุนภายในประเทศ ทั้งนี้การที่มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวสูงกว่ามูลค่าการนำเข้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนธันวาคมเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ 911.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ เสถียรภาพทั้งภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 40.8 ของ GDP ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าและต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ร้อยละ 50 ของ GDP ในขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 67.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นจาก 64.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม ขยายตัวในระดับเดียวกับเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมดัชนีราคาอาหารสดและพลังงาน ในเดือนธันวาคมปรับตัวลดลง อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี จากร้อยละ 1.7 ต่อปี ในเดือนพฤศจิกายน
อย่างไรก็ตามภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 โดยรวมได้รับปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภายนอกที่ยังขยายตัวในระดับสูงและแนวโน้มราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวลดลง ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
|
|
|
|
|