|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
“พรรณี”ขัดลำแบงก์ชาติใช้ IAS 39 กับแบงก์เฉพาะกิจของรัฐ ย้ำไม่จำเป็น มั่นใจรัฐดูแลดี ฐานะแข็งแกร่งอยู่แล้ว ขณะเดียวกันคลังไฟเขียวให้ออมสินและบตท.ขายเอ็นพีแอล-เอ็นพีเอให้เอเอ็มซีได้ พร้อมปฏิเสธไม่มีแผนปิดตัว บตท. มั่นใจทีมบริหาร เผยขณะนี้แผนฟื้นฟูกิจการเรียบร้อยแล้ว รอเพียงการอนุมัติ
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำการประกาศบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ซึ่งรวมทั้งสถาบันการเงินพิเศษของรัฐ ต้องดำเนินการปฏิบัติตามใหม่โดยการกันสำรองเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ ค่าเผื่อการลดราคา ค่าเผื่อการด้อยค่า ค่าเผื่อการปรับมูลค่า เพื่อรองรับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (International Accounting Standard : IAS) ฉบับที่ 39 นั้น โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่า การนำเกณฑ์ที่ใช้กับธนาคารพาณิชย์กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐนั้นถือเป็นเรื่องคนละมิติ ซึ่งไม่น่าเอามาตรฐานเดียวกันมาบังคับใช้ธนาคารทั้ง 2 ส่วนนี้ แม้จะยอมรับว่าการเข้าเกณฑ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดีซึ่งน่าจะทำให้แต่ละธนาคารมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นก็ตาม
อย่างไรก็ตามในขณะนี้ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ สศค. ทำการศึกษาผลกระทบทุกแง่มุมในการนำธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้าปฏิบัติตามเกณฑ์ การกันสำรองเผื่อหนี้สูญใหม่ IAS ฉบับที่ 39 แล้ว โดยได้ตั้งประเด็นหลักในการศึกษาครั้งนี้ว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่นำธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้าปฏิบัติตามเกณฑ์ดังกล่าว หรืออาจะไม่นำเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทั้งหมดเต็มรูปแบบ
“สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้งทุกแห่งนั้นถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยมีกฎหมายเฉพาะ ซึ่งทำให้มีรัฐบาลเป็นผู้ที่คอยรองรับ คอยแก้ไข และหาเงินชดเชยผลการดำเนินกิจการที่ขาดทุนให้อยู่แล้ว ดังนั้นธนาคารเหล่านี้จึงมีความมั่นคงพอที่จะดำเนินกิจการอย่างแน่นอน ซึ่งตนจะหารือเรื่องดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติงาน อีกครั้งหนึ่งเพื่อหาความเหมาะสมในการนำเกณฑ์การตั้งสำรอง IAS 39 มาใช้กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐต่อไป” นางพรรณีกล่าว
นางพรรณี กล่าวว่า ได้ทำการทยอยส่งรายงานสถานะของธนาคารเฉพาะกิจแต่ละแห่งไปให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับทราบสถานะของธนาคารในเบื้องต้นแล้ว โดยในรายงานนั้น สศค. ทำการประเมินว่าหากธนาคารทั้ง 4 แห่งต้องการตั้งสำรองตามเกณฑ์ของธปท. ตามช่วงเวลาคือ ช่วง ธ.ค. 49 มิ.ย.และธ.ค. 50 นั้น รัฐบาลจะต้องมาจัดสรรเม็ดเงินครั้งละจำนวนเท่าใด และช่วงเวลาไหนถึงจะเหมาะสม
นางพรรณี ยังกล่าวอีกว่า ในขณะนี้กระทรวงการคลังได้ออกประกาศฉบับใหม่ โดยอนุญาตให้ธนาคารออมสิน และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย(บตท.) นับรวมเป็นสถาบันการเงินที่สามารถ จำหน่ายหนี้ที่ไม่เกิดให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) และสินทรัพย์รอการขาย(เอ็นพีเอ) ให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์(AMC) ซึ่งประกาศฉบับนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2549 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้จากการออกประกาศดังกล่าว ทำให้แผนการจัดการหนี้เสียของ บตท. ทำได้ง่ายขึ้น โดยในปัจจุบันบตท.มีหนี้เสียจากโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงที่ 30 ปี อยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท และมีส่วนที่จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้เจรจากับลูกหนี้เป็นข้อยุติ แล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือก็จะดูว่า เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการทุจริตเท่าไร จะได้สามารถคำนวณได้ว่า หากจะขายหนี้ให้ เอเอ็มซีจะเป็นจำนวนเท่าใด
สำหรับการเข้ารับซื้อหนี้ของ AMC ในส่วนของบตท.นั้น ขณะนี้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) และบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (BAM) อยู่ระหว่างการพิจารณาสินทรัพย์ของบตท. เพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป อย่างไรก็ตามยืนยันว่า กระทรวงการคลังยังไม่มีแผนที่จะปิดตัว บตท. อย่างแน่นอน เพราะในขณะนี้ฝ่ายบริหาร ได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และรอการพิจารณาโดยละเอียดอีกครั้ง
|
|
 |
|
|