นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดบ้านสร้างเสร็จจดทะเบียน ซึ่งเก็บตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 ว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2549 มีบ้านสร้างเสร็จทะเบียนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลรวม 6,592 หน่วย ลดลง 13% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วที่มีบ้านจดทะเบียนรวม 7,548 หน่วย ในขณะที่ตัวเลขบ้านสร้างเสร็จจดทะเบียนตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2549 มีจำนวนทั้งสิ้น 72,723 หน่วย แบ่งเป็นบ้านแนวราบจำนวน 56,880 หน่วย ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว 40,059 หน่วย บ้านแฝด855 หน่วย ทาวน์เฮาส์ และอาคารพาณิชย์ 15,966 หน่วย
ส่วนที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูงมีจำนวน 15,843 หน่วย เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับ 11 เดือนของปี 2548 หากแยกประเภทที่อยู่อาศัยเปรียบเทียบระหว่าง 11 เดือนของปี 2548 และ 2549 จะพบว่า บ้านเดี่ยวสร้างเสร็จจดทะเบียนลดลง 5% บ้านแฝด จดทะเบียนเพิ่มขึ้น 27% ทาวน์เฮาส์ และอาคารพาณิชย์ จดทะเบียนเพิ่ม 28% ขณะที่อาคารสูงจดทะเบียนเพิ่มขึ้นสูงถึง 58% เป็นที่น่าสังเกตว่า บ้านสร้างเสร็จจดทะเบียน 11 เดือนของปี 2549 มีจำนวนสูงกว่าบ้านสร้างเสร็จจดทะเบียนทั้งปี 2548 ที่มีจำนวน 72,072 หน่วย
นายสัมมา กล่าวว่า สำหรับตัวเลขบ้านจดทะเบียนในเดือนธ.ค.โดยเฉลี่ย จะมีประมาณ 6,000-7,000 หน่วย จึงพอประเมินได้ว่า บ้านสร้างเสร็จจดทะเบียนตลอดปี 49 จะมีประมาณ 79,000 หน่วย หรือมีอัตราการเติบโตประมาณ 9% ส่วนสัดส่วนการจดทะเบียนบ้านระหว่างแนวราบและอาคารสูงจากเดิมเฉลี่ยที่ 7:1 เหลือ 3.5:1 เนื่องจากมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมมากขึ้น และต้องระมัดระวังมากขึ้นในการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทดังกล่าวในปี 2550-2551
สำหรับนโยบายการบริหารศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์นั้น นายสัมมากล่าวว่า ในฐานะที่ต้องเข้ามารับผิดชอบงานในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ฯ จะยังคงสานต่อโครงการเดิมให้บรรลุผลตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยมีโครงการหลัก 4 โครงการ ประกอบด้วย
1.โครงการพัฒนาระบบคลังข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (Data Warehouse) เนื่องจากปัจจุบัน ศูนย์ข้อมูลฯทำหน้าที่จัดเก็บและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาฯจากหน่วยงานราชการต่างๆ นับ 10 แห่ง โครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการรวบรวมสถิติข้อมูลจากหลายแห่ง และมีปริมาณมากให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการประเมินผลและวิเคราะห์สถานการณ์
2. โครงการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยในเขต กทม.-ปริมณฑล และ 11 จังหวัดยุทธศาสตร์ในภูมิภาค เพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมทั้งด้านสินค้าคงค้าง( Stock Supply) และกำลังซื้อ( Demad) ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์ข้อมูลฯใช้งบประมาณถึง 14 ล้านบาท เพื่อทำการสำรวจข้อมูล ดังนั้นในปี 2550 จึงจำเป็นต้องทำการสำรวจต่อเนื่องเพื่อให้ได้ฐานข้อมูลเป็นปัจจุบัน
3. โครงการต้นแบบพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูล ใบอนุญาตก่อสร้างดัดแปลง/รื้อถอนอาคารให้แก่หน่วยงานท้องถิ่น ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งในปี 2549 ศูนย์ข้อมูลฯ ติดตั้งโปรแกรมให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปแล้ว 1,769 แห่ง ปัจจุบันมีการส่งข้อมูลใบอนุญาตก่อสร้างอาคารผ่านระบบออนไลน์ กลับมาที่ศูนย์ข้อมูลจำนวน 8,697 ใบอนุญาต และในปีนี้ มีแผนขยายการติดตั้งโปรแกรม และจัดอบรมวิธีการใช้โปรแกรมให้แก่อปท.เพิ่มอีก 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย, นครสวรรค์ ,ประจวบคีรีขันธ์ ,เพชรบุรี, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี และกระบี่ เมื่อโครงการนี้บรรลุผลตามแผนงาน จะช่วยลดระยะเวลาการจัดเก็บข้อมูลการออกใบอนุญาตก่อสร้าง จากแหล่งข้อมูลที่กระจายอยู่ในภาคต่างๆ ให้รวดเร็วขึ้น
และ 4. โครงการสำรวจความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย และสำรวจพฤติกรรมการซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวิเคราะห์และประเมินความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในระบบ
นอกจากสานต่อโครงการเก่า ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2549 ยังมีแผนการสร้างเสริมงานใหม่ อีก 3 โครงการ คือ 1.การจัดทำดัชนีตัวชี้วัด เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในปัจจุบันคือดัชนีราคาที่อยู่อาศัย 2.การจัดทำ web poll เพื่อประเมินสถานการณ์ที่อยู่ในกระแส และ 3.การขยายขอบเขตการสำรวจและการเชื่อมต่อข้อมูล
อีกทั้ง ยังมีนโยบายปรับกระบวนภายใน ให้สามารถปรับลดขั้นตอนการทำงานเพื่อให้ข้อมูลต่างๆเปิดเผยสู่สาธารณะได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายในด้านต่อไปคือ ปรับรูปแบบการให้บริการข้อมูลให้เข้าถึงมวลชนมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาซูนย์ข้อมูลฯพบว่าปัจจุบันผู้ใช้บริการข้อมูลปัจจุบันกว่า 1,300 รายเป็นบุคลธรรมดา เช่น นักวิชาการ ,นักศึกษา, สถาบันการเงินและหน่วยงานราชการ และอีกประมาณ 80 รายเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยในปี 2550 มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการข้อมูลถึงเท่าตัว หรือประมาณ 2,000 ราย
“ ในปี 2550 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่ศูนย์ข้อมูลฯ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรภายในและร่วมพัฒนาวิชาการผ่านเวทีสาธารณะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งองค์กรระดับสากลที่ศูนย์ข้อมูลฯมีแผนในการประสานงานเพื่อการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลประกอบด้วย National Association of REALTORS ,Association for Real Estate License Law Officials และ Asian International Real Estate Expo & Conference” นายสัมมากล่าว
ทั้งนี้ ในประเทศ ปี 2550 ศูนย์ข้อมูลฯจะใช้ช่องทางการประชาสัมพันธ์ทั้งหมดที่มีอยู่ ประกอบด้วย ข่าวประชาสัมพันธ์ บทความวิชาการ รายการอสังหาฯน่ารู้ทางคลื่น FM 92.5 MHz การสัมมนา และวารสารศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ และผลงานด้านการจัดทำฐานข้อมูล เนื่องจากในปีนี้มีเป้าหมายขยายการจัดเก็บข้อมูลการออกใบอนุญาตอาคาร และข้อมูลที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียน ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงมีความสนใจในการศึกษาแนวโน้มทิศทางอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ โดยกำหนดให้เป็นการประสานความร่วมมือไปยังนักวิชาการและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ท้องถิ่น เพื่อให้ได้ข้อมูลถูกต้องที่สุด
|