|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนเกณฑ์สำรอง 30% เงินทุนจากต่างประเทศไปเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น ยืนยันว่าจะยังมีผลในการดูแลค่าเงินบาทตลาดในประเทศไม่ให้แข็งค่าขึ้นเกินไปเช่นเดิม โดยที่ ธปท. ยังคงมาตรการกันสำรอง 30% เอาไว้สำหรับการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาทรายการเดิมที่ต้องกันสำรอง แต่ได้เพิ่มทางเลือกให้ว่า จะเลือกกันสำรองเหมือนเดิม หรือจะเลือกป้องกันความเสี่ยง fully Hedge ซึ่งก็คือการไปซื้อหรือขายล่วงหน้าก็ได้ และเป็นการผ่อนปรนเฉพาะในส่วนที่เป็นเงินทุนระยะยาวและการลงทุนในหุ้นเท่านั้น
"การผ่อนเกณฑ์ดังกล่าว เกิดจากการที่แบงก์ชาติเขาคุยกับเอกชน เอกชนมีการร้องขอมา โดยผ่อนให้เฉพาะส่วนที่เป็นระยะยาว และการลงทุนในหุ้น ซึ่งก็ถูกต้องตามกฎเกณฑ์เดิม แต่เพิ่มทางเลือกให้ หรือจะทำแบบเดิม คือกันสำรอง 30% เหมือนเดิมก็ได้ ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นการปลดมาตรการ 30% แต่ระหว่างที่ยังมีมาตรการกันสำรอง 30% อยู่ เขาเพิ่มทางเลือก Hedge คือการไปซื้อหรือขายล่วงหน้าให้ ซึ่งยังมีผลกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินเท่ากัน แต่ใช้สำหรับบางรายการได้ โดยเลือกทำเฉพาะที่จำเป็นก่อน"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวด้วยว่า จากการที่ ธปท. ประกาศใช้มาตรการกันสำรอง 30% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าได้ผลเป็นอย่างดี เพราะทำให้ค่าเงินบาทของตลาดในประเทศ (ออนชอร์) ไม่แข็งค่ามากเกินไป โดยเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินบาทที่ซื้อขายในตลาดต่างประเทศ (ออฟชอร์) แล้ว ค่าเงินห่างกันเกือบ 2 บาท กล่าวคือ ออนชอร์อยู่ที่ประมาณ 35.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ออฟชอร์แข็งค่าไปถึง 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว ซึ่งต้องถือว่านางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. อ่านภาพออกในการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้ค่าเงินบาทในประเทศแข็งค่าไปถึงระดับ 34-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐก็ได้ อันจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเป็นอย่างมาก
"มาตรการที่ออกมาถือว่าดีทีเดียว ทำให้เราสามารถรักษาภาคการส่งออกได้ การที่ค่าเงินตลาดออฟชอร์กับตลาดในประเทศห่างกันถือว่าได้ผล ตอนนี้เกือบ 2 บาทแล้ว ถ้าไม่ทำอะไรเลยผู้ส่งออกลำบากไปแล้ว แต่นี่สบายใจได้ว่า อย่างน้อยที่เสี่ยงทำไปได้ผล ต้องชมผู้ว่าการ ธปท. ว่า ท่านอ่านตลาดออกตั้งแต่แรก ถ้าไม่ทำป่านนี้ถึง 34-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว.
แฉ30%ไม่ทำให้บาทอ่อนค่า
วานนี้ (30 ม.ค.) ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ปิดตลาดที่ 35.80 บาท นักค้าเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาให้ความเห็นว่า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ โดยเปิดและปิดตลาดอยู่ในระดับเดียวกันคือ 35.80-35.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยที่จะเข้ามากระทบต่อค่าเงินบาทในขณะนี้ยังไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่จะรอดูผลการประชุมเฟด และตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ใกล้จะออกมา อาทิ ตัวเลขการว่าจ้างงานนอกภาคเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้ ก็จะอิงอยู่กับค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศ(Off Shore) โดยเงินบาทในตลาดออฟ ชอว์วานนี้อ่อนค่าลงค่อนข้างมากคืออยู่ในระดับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์จากวันก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์
"เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เงินบาทในออฟชอว์อ่อนค่าลง อาจจะเป็นเพราะดีมานด์น้อยลง แบงก์ชาติเข้าไปแทรกแซง หรือดอลลาร์แข็งค่าขึ้นก็ได้ แต่แม้ว่าตลาดทั้ง 2 ตลาดจะแยกจากกัน แต่เป็นผลทางจิตวิทยาที่ค่าเงินบาทในตลาดออน ชอว์จะอิงตามตลาดออฟชอว์"
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศออกมาตรการสกัดกั้นค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า ในเวลา 16.30 น. โดยสั่งกันสำรองเงินนำเข้า 30% ค่าเงินบาทปิดที่ 35.31-35.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนวันที่ 19 ธ.ค.วันที่มาตรการ 30% มีผลบังคับใช้ ค่าเงินบาทปิดที่ 35.85-35.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นหากนับตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. พบว่าบาทอ่อนค่าลง 50 สตางค์ แต่หากนับตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.พบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปด้วยซ้ำ ตัวเลขดังกล่าวพิสูจน์ชัดว่ามาตรการ 30% ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
เจโทรเผยเชื่อมั่นไทยวูบ-กังวลบาทแข็ง
นายโยชิอิ คาโตะ ประธานคณะกรรมการวิจัยทางเศรษฐกิจ หอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (เจซีซี) และประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจโทร) ในไทย แถลงผลสำรวจของเจโทรเกี่ยวกับดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจหรือค่าดีไอใน 5 ชาติอาเซียน คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และไทย ประจำเดือนมกราคม พบว่าประเทศไทยมีค่าดีไอต่ำที่สุด อยู่ที่ระดับ- 12.9 ขณะที่สิงคโปร์มีค่าดีไออยู่ที่ + 13.1 ดีที่สุดใน 5 ชาติอาเซียน รองลงมาคืออินโดนีเซีย +4.6 ฟิลิปปินส์ –4.3 และมาเลเซีย –4.6 โดยตัวเลขประเทศไทยตกต่ำต่อเนื่องมานานถึง 9 เดือน หากเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งค่าดีไอของไทยแย่ลงจากเดิมที่มีตัวเลขอยู่ในระดับเดียวกับฟิลิปปินส์และมาเลเซีย แต่ดีกว่าอินโดนีเซีย แต่พบว่าขณะนี้ไทยกลับแย่กว่าทุกประเทศรวมทั้งอินโดนีเซีย
สำหรับผลสำรวจค่าดีไอในครึ่งแรกปี 2550 ของไทย ตัวเลขอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก โดยค่าดีไอมีค่าประมาณการอยู่ที่ระดับ 23 แต่ถือว่าดีกว่าการสำรวจเมื่อครึ่งหลังของปีที่แล้วที่มีอยู่เพียงระดับ 9 แต่หากเทียบกับครึ่งแรกของปีที่แล้ว ผลสำรวจยังต่ำกว่า เพราะค่าดีไอในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 25 สรุปแล้วค่าดีไอของไทยในช่วง 2 ปี ต่ำสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยจากผลสำรวจในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 พบว่า บริษัทที่ตอบว่า สภาพธุรกิจดีขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 41 ซึ่งอยู่ในระดับคงที่เมื่อเทียบกับระยะก่อนหน้านี้ ขณะที่บริษัทที่ตอบว่า สภาพธุรกิจแย่ลงมีร้อยละ 18 ลดลง 14 หน่วยเมื่อเทียบกับระยะก่อนหน้า ทำให้ค่าประมาณการสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมแต่ละประเภทในอุตสาหกรามการผลิต พบว่าอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวในทิศทางแย่ลง ขณะที่การปรับตัวในทิศทางดีขึ้นมีเกือบทุกอุตสาหกรรมการผลิตประเภทอื่น ๆ ส่งผลให้ค่าดีไอประมาณการของอุตสาหกรรมการผลิตดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ค่าดีไอดังกล่าวยังไม่รวมผลกระทบเหตุการณ์ระเบิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และมาตรการกันสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท การแก้ไข พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและ พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งอาจจะยังไม่มีผลกระทบต่อการย้ายการลงทุนจากไทยทันที แต่ส่งผลต่อความมั่นใจการลงทุนในประเทศไทย เพราะนักลงทุนญี่ปุ่นจะเลือกลงทุนในประเทศที่อำนวยความสะดวกด้านการส่งออก เช่น กรณีมาเลเซียมีมาตรการส่งเสริมการส่งออกธุรกิจไฟฟ้า และค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่อยู่ในระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็นระดับที่แข็งค่ามาก ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นนำไปเป็นฐานประกอบการพิจารณาลงทุน โดยหลายบริษัทกำลังตัดสินใจว่าอาจจะลงทุนในประเทศญี่ปุ่นแทนที่จะย้ายฐานมาลงทุนในประเทศไทย
นอกจากนี้ผลสำรวจค่าดีไอยังพบว่า ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย บริษัทส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพรวมทั้งค่าจ้างแรงงานเป็นปัจจัยสูงสุด รองลงมาเป็นการบริโภคและการลงทุนไม่ขยายตัว เพราะภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนรวมทั้งความยืดเยื้อของความสับสนทางการเมือง
ส่วนยอดขายในปี 2550 นั้น มีการคาดการณ์ว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นและกำไรก่อนหักภาษีก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่การลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักร ผลสำรวจพบว่า ในปี 2550 จะลดลงร้อยละ 26.5 เมื่อเทียบกับรอบปี 2549 โดยคาดว่าเม็ดเงินลงทุนในปีนี้จะมีประมาณ 49,529 ล้านบาท ส่วนปี 2549 มีประมาณ 67,372 ล้านบาท และบริษัทที่ตอบว่า การลงทุนเพิ่มขึ้นมีจำนวน 66 บริษัท น้อยกว่าบริษัทที่ตอบว่า การลงทุนลดลงที่มี 72 บริษัท โดยเหตุผลการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เกิดจากการจัดซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องัจกรเดิม การขยายจำนวนเครื่องจักรเป็นสำคัญ
สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน จากผลสำรวจบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย 341 บริษัทที่ตอบกลับมา ร้อยละ 27 พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นต้องการให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายต่อเนื่อง รองลงมาคือเร่งขจัดภาพพจน์เชิงลบของรัฐประหารจากสายตาต่างประเทศ และเร่งให้นำเงินงบประมาณประจำปี 2550 มาใช้บริหารประเทศอย่างรวดเร็ว โดยกรณีผลกระทบจากรัฐประหาร พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เห็นว่าส่งผลทำให้เกิดการชะลอตัวของการบริโภคในประเทศมากที่สุด และเกิดการชะลอตัวทางธุรกิจ เนื่องจากชาวญี่ปุ่นระงับการเดินทางและมีการชะลอตัวสำหรับการลงทุนภายในประเทศอีกด้วย
“สิ่งที่นักลงทุนกังวลมากที่สุดคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ารวดเร็ว โดยในวันนี้แข็งค่าอยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่หารือกันว่า หากค่าเงินบาทแข็งค่าไปถึง 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นจะยกเป็นประเด็นพิจารณาเร่งด่วนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแผนการลงทุน ซึ่งจะมีการโยกย้ายการลงทุนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท อย่างไรก็ตามจากผลสำรวจของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือเจบิค พบว่า ผลสำรวจในปี 2549 ประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุด คือ จีน รองลงมาคือ อินเดีย เวียดนามและไทย ทำให้ประเทศไทยน่าสนใจในการลงทุนน้อยลง จากก่อนหน้านี้ไทยมีความน่าสนใจลงทุนมากกว่าเวียดนามและตัวเลขการลงทุนโดยตรงของเวียดนามปีที่แล้วอยู่ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าไทยที่มีประมาณ 8,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” ประธานเจโทรกล่าว
นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ยอมรับว่าไม่ดีมากนัก หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ,จีน และญี่ปุ่น ซึ่งอุปสรรคเมื่อเทียบปัญหาของไทยกับประเทศเหล่านี้แล้ว ก็กลับพบว่าของไทยนั้นแย่กว่า จึงมีความเป็นห่วงและหนักใจสุด เพราะมองไม่เห็นว่าตลาดจะดีขึ้นมาได้อย่างไร เมื่ออัตราค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้น ดังนั้นคงไม่ตั้งความหวังมากนักเห็นว่าวิธีแก้ไขคงจะต้องใช้เศรษฐกิจพอเพียง
“ทุกๆ ต้นปีจะมีคนมาถามว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรมาเป็น 10 ปีแล้ว ซึ่งผมไม่ชอบตัวเลขแต่ใช้ความรู้สึก ซึ่งทุกๆ ปีก็บอกว่าเราต้องลำบากขึ้นทุกครั้ง แต่แม้ลำบากก็ผ่านไปได้ด้วยดี แต่ปีนี้เมื่อเรามองปัญหาของไทยเทียบกับเพื่อนบ้านที่เราเคยเปรียบเทียบอย่างเวียดนาม ญี่ปุ่น จีนแล้ว ไทยแย่กว่าเขาก็เลยรู้สึกเป็นห่วงนิดหน่อยและยังมองไม่ออกว่าปีนี้จะเป็นอย่างไร ก็คงบอกได้ว่าอย่าตั้งความหวัง”นายบุณยสิทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า มีนักลงทุนจากต่างประเทศนำเงินมาลงทุนในประเทศไทยซึ่งไทยเองควรจะดีใจ แต่ปรากฏว่าเข้ามาแล้วทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น ซึ่งรัฐน่าจะมีวิธีแก้ไขปัญหาได้ แต่ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมปล่อยให้บาทแข็งค่า เพราะค่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรใช้โอกาสที่เงินบาทแข็งค่าลงทุน เพราะเงินดอลลาร์ฯถูกลง สามารถใช้การลงทุนเป็นการชดเชยได้
นายธนิต โสรัตน์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สายงานเศรษฐกิจกล่าวว่า สายงานเศรษฐกิจส.อ.ท.ได้จัดทำรายงานสถานะเศรษฐกิจไทยปี 2550 ซึ่งมีปัจจัยที่น่ากังวลสำคัญคือ 1. เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว 2. ความผันผวนของเงินบาท 3. ความสามารถในการควบคุมความมั่นคงภายในของรัฐบาล 4. การสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและผู้บริโภค 5. แนวโน้มการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ซึ่งกรณีประเด็นวินาศกรรมหากรัฐบาลยังแก้ไขปัญหาไม่ได้จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคอย่างรุนแรงโดยจะส่งผลให้การบริโภคลดลง 10% และการลงทุนจากต่างประเทศลดลงประมาณ 25,000 ล้านบาท
“ หากรัฐแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ การเติบโตเศรษฐกิจไทยก็จะขยายตัวได้ 4.5-5.5% แต่หากความวุ่นวายและประเด็นทางการเมืองยังไม่มีความชัดเจน ปีนี้ก็อาจจะอยู่ที่ 3-4% ซึ่งก็เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะแก้ไขได้ทั้งหมด ”นายธนิตกล่าว
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า อีก 3-5 ปีข้างหน้า นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งได้ประชุมร่วมกันที่ฮ่องกงได้ทำนายว่า ค่าเงินบาทของไทยจะแข็งค่ามาอยู่ถึงระดับ 18-19 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งผู้ประกอบการเองคงจะต้องยอมรับความจริงในแง่ของการขาดทุนหากบาทยังคงแข็งค่าขึ้น
นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอาจมีส่วนผลักดันให้นักลงทุนตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปจากไทย เพราะนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในไทยต่างก็หวังผลกำไรเป็นสิ่งตอบแทน ทั้งเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากๆ ค่าแรงงานราคาถูก และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เมื่อมีปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนไม่ได้รับประโยชน์ต่อไปก็ยอมรับว่านักลงทุนอาจเปลี่ยนไปลงทุนที่อื่นแทน
“นักลงทุนต่างชาติไม่ได้รักชาติไทยหรอก แต่เห็นโอกาสที่จะเข้ามาลงทุน หากไม่พอใจก็อาจจะย้ายไปลงทุนที่อื่น ดังนั้น เราก็ต้องทำสังคมให้ดี ให้มีคุณภาพ เขาก็จะตัดสินใจมาลงทุนเอง อย่าไปกังวลมาก แต่คนไทยย้ายไปไหนไม่ได้ ยังต้องอยู่ที่บ้านเมืองเราตลอด ก็ต้องทำให้ดีที่สุด และอย่าหวังทำธุรกิจโดยใช้บาทอ่อน หรือค่าแรงงานราคาถูก เราต้องไปลงทุนในต่างประเทศด้วย” นายเกริกไกรกล่าว
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึง การผ่อนปรนมาตรการสกัดกั้นการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทของ ธปท.ในเรื่องการเข้ามาลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ หรือวอแรนต์ โดยไม่ต้องกัน 30% ว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้น และจะทำให้เม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น โดยช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหลังจากธปท.มีการผ่อนปรนมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มียอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาทแล้ว
ทั้งนี้ การที่ตลาดหุ้นจะกลับเข้ามาสู่สภาวะที่เป็นปกติคงต้องประเมินจากปัจจัยอื่นๆ ประกอบ ปัจจัยในเรื่องมาตรการ 30% แม้ว่าจะมีการผ่อนปรนเรื่องเดียวคงไม่ได้ช่วยตลาดหุ้นกลับมาคึกคักเหมือนในช่วงอดีต ดังนั้นนักลงทุนจะต้องประเมินภาพรวมของตลาดหุ้นรวมถึงปัจจัยให้รอบด้านก่อนการลงทุน
|
|
|
|
|