"ผมเป็นมืออาชีพ อิสระ และเป็นไท ผมไม่ได้มาทำงานในนามของ CRC หรือห้างโรบินสัน"
ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ประธานกรรมการบริหารคนใหม่ของบริษัท Siam Family Mart
กล่าวทิ้งท้ายก่อนเข้ารับตำแหน่งเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ศกนี้
ความจริง การถือหุ้นของห้างสรรพสินค้าโรบินสันในบริษัท Siam Family Mart
ประมาณ 13.33% ถือเป็นธุรกิจที่กลุ่มเซ็นทรัล รีเทลคอร์ปอเรชั่น (CRC) ของตระกูลจิราธิวัฒน์มีผลประโยชน์ร่วม
อยู่ นอกเหนือจากผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างบริษัทแม่ Family Mart ที่ญี่ปุ่นถือ
43% ตามด้วยบริษัท SFM Holding ถือ 21% บริษัทสหพัฒนพิบูล และ ICC International
ถือ 8.33% และบริษัท Itochu Corp. ของญี่ปุ่นซึ่งติดตั้งระบบพลังงานให้ร้าน
Family Mart ถือหุ้น 6%
เป็นที่ทราบกันดีว่า 5 ปีที่ผ่านมา ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ได้ทำงานให้กับห้างโรบินสันยุคเข้าแผนฟื้นฟูในตำแหน่ง
CEO และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลงานที่เข้าตากรรมการก็คือ เป็นมือผ่าตัดปรับโครงสร้างหนี้และภาพพจน์ทางการตลาดที่ดีขึ้นจนสามารถทำให้หุ้น
Robinson เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อีกครั้งหนึ่ง
การข้ามฟากจาก CEO ห้างโรบินสันมาสู่ CEO ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ Family Mart
ของ ดร.กนก ถือเป็นความท้าทาย ในสายธุรกิจค้าปลีกอีกรูปแบบที่ต่างจากห้างสรรพสินค้า
ท่าม กลางกระแสข่าวว่า เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อน้ำเมาจะเข้ามามีบทบาทในฐานะหุ้นส่วนธุรกิจคนใหม่ของ
Family Mart ที่จะเข้ามาอัดฉีดเงินทุนใหม่เพื่ออนาคต Family Mart ที่ยังมีศักยภาพ
เติบโตในตลาดโดยรวมกว่า 2,500 ร้านในปัจจุบัน
เพราะเท่าที่ผ่านมา 10 ปี นับจากบริษัทแม่จากญี่ปุ่นเข้ามาก่อตั้งธุรกิจในไทยเมื่อเดือนสิงหาคม
2535 ปรากฏว่าธุรกิจร้านสะดวกซื้อ Family Mart มีสาขาอยู่เพียง 246 แห่ง
เพิ่มจาก ปีก่อนที่มีเพียง 165 สาขาเท่านั้น ทำยอดขายได้ปีที่แล้วประมาณ
2,500 ล้านบาทเพิ่มจากปีก่อนที่ขายได้เพียง 1,660 ล้านบาท
ในสายตานักลงทุนชาวญี่ปุ่นย่อมมองเห็นว่าผลดำเนินงาน Family Mart ในประเทศไทยไม่ดีนัก
เมื่อเทียบกับบริษัทในไต้หวัน ที่ใช้เวลา 14 ปี มีสาขามากถึง 1,303 ร้านและได้จดทะเบียนบริษัท
ในตลาดหุ้นไต้หวันด้วย ขณะที่เกาหลีมีถึง 1,430 ร้าน ส่วนที่ญี่ปุ่น มีร้าน
Family Mart มากถึง 5,956 ร้าน
อย่างไรก็ตาม แม้ในวันแถลงข่าวรับตำแหน่งของ ดร.กนก จะมีคำถามเชิงรุกจากนักข่าวถึงความเป็นไปได้หรือไม่ที่บริษัทแม่
Family Mart จะขายหุ้นทิ้งให้หุ้นส่วนธุรกิจคนใหม่ อย่างเช่น เจริญ สิริวัฒนภักดี
คำตอบที่ มร. Kitahara และ ดร.กนก ยืนยัน คือ ยังไม่มีความคิด
"การเลือกคนไทยอย่างผมเข้ามา เท่ากับตอกย้ำนโยบายการขยายธุรกิจในไทยต่อไปของบริษัทแม่
Famiily Mart เพราะคนไทยจะเข้าใจธุรกิจได้ดีที่สุด" ดร.กนกย้ำอย่างมั่นใจ
โดยหลักการ ดร.กนกบอกว่าเขาจะทำมีอยู่ 3 อย่าง สิ่งแรก คือศึกษาวิจัยความต้องการของลูกค้า
เพื่อจัดสินค้า ราคา บริการ รูปแบบร้าน และกิจกรรมการตลาดให้ตรงจุด สอง-สร้างสีสัน
และรูปแบบร้าน Family Mart ให้เร้าใจและมีพลังดึงดูด (Attractive&Powerful)
ลูกค้า และสามต้องบริหารเป็น Chainstore ที่มีระบบรองรับ เช่น ระบบ IT ระบบสินค้าคงคลัง
ระบบ P.O.S และระบบสั่งซื้อถูกต้องรวดเร็วจากสำนักงานใหญ่ไปยังสาขา
แต่ยุทธศาสตร์การตลาดยุคดร.กนกล้วนแล้วแต่ต้องการเงินทุนก้อนใหญ่ในการรุกตลาด
เพิ่ม outlet ให้มากขึ้นในปีนี้ ท่ามกลางคู่แข่งยักษ์ใหญ่ที่ผูกขาดตลาดร้านสะดวกซื้ออย่าง
7-eleven และ Discount store ต่างชาติเช่น Tesco Lotus ที่ยึดหัวหาดทำเลทองไว้หมด
แม้ว่าที่ผ่านมา Family Mart ได้ใช้กลยุทธ์สู้กับ 7-eleven โดยการผ่อนปรนเงื่อนไขการรับแฟรนไชส์
ซึ่งแต่ละ Outlet จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนขั้นต้นประมาณ 2 ล้าน บาทสำหรับค่าอุปกรณ์และตกแต่งร้าน
นอกจากนี้ Family Mart ยังเสนอบริการขายสินค้าทาง eCommerce ด้วย
วันนี้ภารกิจท้าทายของ CEO คนไทยคนแรกของ Family Mart ก็คือหาพันธมิตรทางธุรกิจที่เข้มแข็งทุกรูปแบบ
และเตรียม เผชิญกับแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนทางธุรกิจคนใหม่ ภายหลังกระบวนการเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม
150 ล้านบาทเสร็จสิ้นลง