Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2550
ร้านกาแฟ             
โดย สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
 





ในเยาว์วัย ยามเดินผ่านร้านกาแฟข้างบ้าน เป็นต้องสูดกลิ่นหอมของกาแฟที่โชยมา ยุคนั้น อาหารเช้าของชาวกรุง คือโอยัวะกับปาท่องโก๋ อันว่าโอยัวะนั้นคือกาแฟใส่นม เสิร์ฟมาในแก้วสูง พร้อมช้อนคันเล็ก ควันกรุ่นหอมอวล นมข้นหวานนอนก้นมาในแก้วกาแฟ ต้องใช้เวลาคนนานกว่านมข้นจะแตกตัวกลืนกับกาแฟ เด็กไม่ได้รับอนุญาตให้ดื่มกาแฟ หากสิ่งที่พิสมัยคือปาท่องโก๋ มีทั้งแบบตัวยาวสองขาประกบกันและแบบกลมที่เจือหวานเล็กน้อย บางครั้งเรียกแบบกลมว่า แก้วตาโบ๋ เป็นเพราะตรงกลางเป็นหลุมโบ๋ลงไปนั่นเอง

แปลกแต่จริง ร้านกาแฟมักมีชาวจีนเป็นเจ้าของ จึงมักเรียกว่าร้านกอปี๊ กอปี๊คือกาแฟในภาษาจีนนั่นเอง ชอบดูพ่อค้าชงกาแฟ หม้อต้มน้ำเป็นทองเหลือง ฝาปิดเจาะเป็นช่องๆ นอกจากช่องกว้างสำหรับกระบวยตักน้ำแล้ว ยังมีช่องให้วางกระป๋องชงกาแฟ ภายในกระป๋องเป็นถุงผ้า ตรงขอบเย็บตรึงกับ ลวดทองเหลือง ถุงผ้าค่อนข้างยาว เวลาชงจะตักผงกาแฟใส่ในถุงจำนวนมากพอสมควร ตักน้ำเดือดเทลงในถุงผ้า ย้ายถุงผ้าไปยังกระป๋องทองเหลืองอีกใบหนึ่ง เทน้ำกาแฟในกระป๋องแรกลงในถุง ทำเช่นนี้สามสี่ครั้งเพื่อให้ได้น้ำกาแฟเข้มข้น แล้วจึงเทใส่แก้วอีกทีหนึ่ง ผงกาแฟนั้นนัยว่ามิใช่กาแฟแท้ แต่บดจากเม็ดมะขาม ทว่าเป็น "กาแฟ" รสข้นและหอมหวน ในปัจจุบันไม่เห็นการชงกาแฟด้วยถุงผ้าอีกแล้ว นอกจากตามต่างจังหวัดบางแห่ง

ได้เห็นถุงกาแฟอีกครั้งหนึ่งในกรุงปารีส แต่เป็นถุงขนาดเล็กสำหรับชงชา เจ้าของความคิดคงมิใช่ใครอื่น นอกเสียจากหนุ่มไทย ที่เป็นเจ้าของร้านขายชา Mariage Fr'res อันเลื่องชื่อของฝรั่งเศสนั่นเอง

โอยัวะคือกาแฟร้อน ส่วนโอเลี้ยงคือกาแฟดำเย็น เป็นกาแฟไม่ใส่นม เสิร์ฟมาในแก้วพร้อมน้ำแข็ง หากใครต้องการใส่นม ต้อง สั่งกาแฟเย็น

เขต 13 (3eme arrondissement) ของกรุงปารีส เป็นถิ่นของชาวอินโดจีนที่อพยพ หนีภัยคอมมิวนิสต์ในทศวรรษ 70 จำนวนไม่น้อยเป็นชาวไทยที่ผสมผเสขอลี้ภัยในฝรั่งเศส ในฐานะผู้อพยพชาวลาว ชาวอินโดจีนเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว เขต 13 จึงถือเป็นย่านคนจีนซึ่งผู้คนทำมาหากินตัวเป็นเกลียว เพื่อสร้างหลักฐานให้เป็นปึกแผ่น ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่เจ้าของประเทศ

ใครเลยจะคิดว่าจะมีโอกาสสั่งโอยัวะในกรุงปารีส ก็ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเขต 13 ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวไทย ใครไปใครมาเป็นต้องแวะเยือน อาหารไม่ได้วิเศษไปกว่าร้านอื่นๆ หากเสน่ห์อยู่ที่หนุ่มใหญ่ลูกชายเจ้าของ ร้านที่ชอบทักทายลูกค้าคนไทย หนุ่มนี้มีการแต่งกายที่ไม่มีใครเทียบเทียม เพราะจะมีเสื้อกั๊กสวมทับเสมอ และบนเสื้อกั๊กนี้เต็มไปด้วยเข็มกลัดและพินที่ระลึก มีทั้งของจริงประดับเพชรและของเล่น หนุ่มนี้รู้ความเคลื่อนไหวของชาวไทยที่มาเยือนเป็นอย่างดี อาม่าเจ้าของร้านวัยกว่า 70 แล้ว แต่ยังแข็งแรง ไต่ถามได้ความว่าเป็นชาวไทยอีสานที่ต้องการชีวิตที่ดีกว่า จึงยื่นขอลี้ภัยมายังประเทศฝรั่งเศสในฐานะผู้ลี้ภัยชาวลาว อาม่า ชงโอยั๊วะได้อร่อยมาก ใช้กาแฟ espresso สองถ้วยเทลงในแก้วที่มีนมข้นหวาน เป็นโอยัวะรสเข้มที่อาจก่อให้เกิดปัญหานอนไม่หลับ ในตอนกลางคืนได้ เคยไปถามหาโอยัวะจากร้านอาหารอื่นๆ ในย่านนี้ รสชาติไม่กลมกลืน เหมือนโอยัวะของอาม่าแห่งร้าน Paris

ในขณะที่อังกฤษมีผับ (pub) และสหรัฐอเมริกามีบาร์ ทว่าร้านกาแฟเป็นสถาบัน ที่เป็นเอกลักษณ์ของยุโรปก็ว่าได้ แรกทีเดียว ร้านกาแฟเป็นสถานที่ผู้คนแวะมาดื่มกาแฟ และค้นพบในภายหลังว่าร้านกาแฟมีข้อดีหลายประการ เริ่มจากการที่ได้ออกจากบ้านมาพบปะกับผู้คนหลากหลาย มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือหลบหนาวหาไออุ่น ร้านกาแฟถือกำเนิดในเวนิส แล้วค่อยๆ แพร่หลายในยุโรป

แม้ผับจะเคียงคู่กับวิถีชีวิตชาวอังกฤษ ใช่ว่าชาวอังกฤษจะไม่เคยคุ้นกับร้านกาแฟเลย ด้วยว่า กรุงลอนดอนและเมืองออกซฟอร์ดมีร้านกาแฟมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แล้ว ผู้ชาย ทิ้งครอบครัวไปชุมนุมในร้านกาแฟ จนแม่บ้าน ทั้งหลายสิ้นความอดทน จึงยื่นฎีกาถึงกษัตริย์ ชาร์ลส์ที่สอง ซึ่งสั่งปิดร้านกาแฟทั้งมวลในปี 1676 ทว่าบรรดาสามีออกมาคัดค้านคำสั่งนี้จนได้รับการถอนในที่สุด

ร้านกาแฟของเอ็ดเวิร์ด ลอยด์ เป็นศูนย์รวมของนักเดินเรือและกลาสี ซึ่งมารับจดหมายและรับฟังข่าวสารเกี่ยวกับทะเล พร้อมกับแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากัน ในปัจจุบัน Cafe Lloyd หาไม่แล้ว แต่ Lloyd กลายเป็นบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ร้านกาแฟแห่งแรกในกรุงเบอร์ลินเปิดในปี 1670 ในขณะที่ฟรานเชสโก โปรโกปิโอ กุลเตลลี (Francesco Procopio Cultelli) ได้รับอนุญาตจากหลุยส์ 14 ให้ตั้งร้านกาแฟในปี 1686 ในกรุงปารีส Le Procope ยังคงอยู่มาจนทุกวันนี้ และที่ Le Procope นี่เองที่บรรดานักคิดนักเขียนมาพบปะกันก่อนที่จะ ร่วมปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789

ในปี 1683 กองทัพเติร์กเข้าล้อมกรุงเวียนนา กองกำลังของอาร์ชิดุ๊คแห่งลอแรน (Archiduc de Lorraine) และฌอง โซบีลสกี้ (Jean Sobielski) ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เพราะขาดข่าวสารเกี่ยวกับความเคลื่อนไหว ของกองทัพเติร์ก ชาวโปแลนด์ผู้หนึ่งคือ ฟรานซ์ จอร์ก โคลชิตสกี้ (Franz Georg Kolschitzky) ซึ่งเคยไปใช้ชีวิตในอิสตันบูล และพูดภาษาเติร์กได้ อาสาปลอมตัวเข้าไปสืบข่าว และส่งสัญญาณให้กองกำลังต่อต้านเข้าโจมตีกองทัพเติร์กจนแตกพ่าย ทหารเติร์ก ทิ้งปืนใหญ่และลูกกระสุน พร้อมกาแฟ 500 ถุงไว้ ฟรานซ์ จอร์ก โคลชิตสกี้ได้รับสัญชาติ ออสเตรียได้ครอบครองกาแฟทั้งหมด และได้รับอนุมัติให้เปิดร้านกาแฟชื่อ Zur Blauen Flasche หรืออีกนัยหนึ่ง La Bouteille bleue

เมื่อเริ่มแรกเปิดร้านกาแฟนั้น ฟรานซ์ จอร์ก โคลชิตสกี้ชงกาแฟแบบชาวเติร์กที่เขาเคยลองลิ้มในอิสตันบูล กล่าวคือใส่ผงกาแฟในหม้อน้ำเดือด ใช้ช้อนคนกาแฟให้เป็นเนื้อเดียวกับน้ำ ได้น้ำกาแฟข้นคลั่ก แล้วจึงรินกาแฟใส่ถ้วย กากกาแฟจึงตกในถ้วยกาแฟด้วย ซึ่งไม่ต้องตามรสนิยมของชาว เวียนนา ฟรานซ์ จอร์ก โคลชิตสกี้จึงกรองกากทิ้ง เติมครีมและน้ำผึ้ง กลายเป็นกาแฟรสเด็ด ความพิเศษของ Zur Blauen Flasche อยู่ที่หนังสือพิมพ์ที่ฟรานซ์ จอร์ก โคลชิตสกี้ซื้อไว้ในร้านเพื่อให้ลูกค้าอ่านพลางดื่มกาแฟ นอกจากนั้นเขายังทำขนมเป็นรูปเสี้ยวพระจันทร์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธงเติร์ก ขนมชนิดนี้เป็นที่มาของครัวซองต์ (croissant) อาหารเช้าอันโอชะของชาวฝรั่งเศสนั่นเอง ครัว ซองต์ถือเป็น viennoiserie - ขนมจากกรุงเวียนนาในฝรั่งเศส viennoiserie เป็นร้านขาย ครัวซองต์และขนมอื่นๆ เช่น ขนมปังลูกเกด ขนมปังไส้ช็อกโกแลต เป็นต้น

กิจการของร้าน Zur Blauen Flasche รุ่งเรือง จึงมีผู้เปิดร้านกาแฟทั่วราชอาณาจักร และเวียนนากลายเป็นเมืองหลวงแห่งร้านกาแฟ เป็นเวลาสองศตวรรษ ร้านกาแฟเป็นแหล่งนัดพบของผู้คนหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นขุนนาง ชนชั้นกลาง ศิลปิน นักศึกษา นักปรัชญาและนักหนังสือพิมพ์ สงครามโลกทั้งสองครั้งทำให้ยุคเฟื่องของกรุงวียนนาต้องสิ้นสุดลง และไม่สามารถหวนหาบรรยากาศเก่าๆ ของร้านกาแฟได้

การบริโภคกาแฟในยุโรปมีแต่สูงขึ้น ในขณะที่ผู้ผลิตชาวมุสลิมผลิตได้ในจำนวนจำกัด ทำให้ไม่สามารถส่งออกได้มากนัก ยุโรปจึงต้องหันไปหาอาณานิคมของตน ชาวฮอลันดาปลูกกาแฟในเรือนกระจก และนำไปปลูกในชวาและอเมริกาใต้ในอาณานิคมของตนที่สุรินัม ในปี 1914 กัปตันมาธิเออ เดอ คลิเออซ์ (Mathieu de Clieux) นำต้นกาแฟที่ฮอลันดาถวายแก่หลุยส์ 14 ไปปลูกในหมู่เกาะอองตีส์ (Antilles) เพียงชั่วระยะเวลาสามปี มาร์ตินิค (Martinique) และ แซงต์-โดแมงค์ (Saint-Dominque) เต็มไปด้วยต้นกาแฟ ทั้งอเมริกาใต้และหมู่เกาะอองตีส์กลายเป็นแหล่งผลิตกาแฟสำคัญ   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us