หากจะกล่าวถึงดาราจากจีนแผ่นดินใหญ่ ณ วันนี้ ในสมองของชาวไทยรวมถึงชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อย คงปรากฏหน้าหมวยๆ ของดาราสาวที่ชื่อ "จางจื่ออี๋" ขึ้น
ในสายตาของชาวตะวันตก ณ วันนี้ จางจื่ออี๋ หรือ Zhang Ziyi ได้กลายเป็นดาราดังของฮอลลีวูด และตัวแทนของชาวจีนทั้งมวลไปเรียบร้อยแล้ว จากบทบาทในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวูดมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Crouching Tiger Hidden Dragon, Geisha, The Banquet หรือภาพยนตร์โฆษณามากมาย
ของดีของวัฒนธรรมดั้งเดิมจีน จำเป็นต้องถูกส่งผ่านทางช่องของวัฒนธรรมสมัยนิยม (Popular Culture หรือ Pop Culture) จึงจะสามารถส่งออกไปได้ ภาพลักษณ์ของเหยาหมิงหนึ่งคน จางจื่ออี๋อีกหนึ่งคนนั้นได้ผลกว่าการส่งออกตำราของขงจื๊อเป็นหมื่นๆ เล่มเสียอีก! ตัวอย่างของละคร 'แดจังกึม' ของเกาหลีที่สามารถนำวัฒนธรรมดั้งเดิมและวัฒนธรรมสมัยนิยมมาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว แสดงให้เราเห็นมาแล้ว...
"เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับจางจื่ออี๋ เท่ากับให้ความสำคัญกับขงจื๊อ วัฒนธรรมจีนจึงจะมีอนาคต"
เจ้าของประโยคข้างต้นนั้นคือ ศาสตราจารย์จางกู้อู่ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ผู้หาญกล้ากล่าววิพากษ์วิจารณ์ยุทธศาสตร์การสร้างอิทธิพลทางวัฒนธรรมของรัฐบาลจีน เพื่อผลักดันให้ประเทศจีน ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจ (ตัวจริง) ของโลกในศตวรรษที่ 21
แล้วในปัจจุบันจีนยังไม่ถือว่าเป็นมหาอำนาจของโลกอีกหรือ?
หากท่านผู้อ่าน อ่านคอลัมน์ China Inside-Out นี้อย่างต่อเนื่องก็คงจะจำได้ว่าในนิตยสารผู้จัดการเมื่อกลางปี 2549 ผมเคยกล่าวถึงคำว่า ความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรม ในบทความเรื่อง "จีนกับการขาดดุลวัฒนธรรม" (นิตยสารผู้จัดการ ฉบับพฤษภาคม 2549) มาก่อน
ความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรมนี้ในภาษาอังกฤษเขาเรียกกันว่า Soft Power
Soft Power เป็นศัพท์คิดขึ้นโดยศาสตราจารย์จาก Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นาม Joseph S. Nye โดยศัพท์คำนี้ถูกนำมาใช้ในทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่ออรรถาธิบายศักยภาพทางการเมืองของรัฐนั้นๆ ที่ส่งอิทธิพลโดยทางอ้อมต่อพฤติกรรมหรือความสนใจของรัฐอื่นๆ ผ่านการเผยแพร่ทางวัฒนธรรมหรือความคิด
ในหนังสือ Soft Power : The Means to Success in World Politics (เผยแพร่ในปี 2547) ของ Nye ระบุถึงแนวคิดพื้นฐานของอำนาจในการทำให้ผู้อื่นปฏิบัติตามความต้องการของเราว่า สามารถแบ่งแยกได้เป็น 3 ประการคือ
หนึ่ง ใช้กำลังบังคับ
สอง ล่อด้วยผลตอบแทน
สาม คือการจูงใจให้ผู้อื่นร่วมมือ โดย Nye ให้ความเห็นว่าการสร้างแรงจูงใจในแบบที่สามนั้นมีต้นทุนน้อยกว่าสองวิธีแรกมากนัก
ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 20 นอกจากจะรู้จักใช้ยุทธศาสตร์ Hard Power อันหมายถึง กำลังทหาร, อาวุธยุทโธปกรณ์, อิทธิพลทางเศรษฐกิจ เป็นเครื่องมือในการครองโลกแล้ว สหรัฐฯ ยังมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึง Soft Power ซึ่งหมายความรวมถึงนโยบายต่างประเทศ, อิทธิพลทางวัฒนธรรม โดยใช้ผ่านยุทธศาสตร์ด้านข่าวสาร-สื่อสารมวลชน, หนังสือ-นิตยสาร, ภาพยนตร์-ดาราฮอลลีวูด, ซีรีส์โทรทัศน์, แฟชั่น, การให้ทุนการศึกษา-วิจัย, การเปิดรับนักศึกษาต่างชาติให้เข้ามาศึกษา-ทำงานต่อในสหรัฐฯ ฯลฯ
เช่นเดียวกัน องค์กรเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมทั้งหลายของตะวันตกที่แพร่กระจายอยู่ทั่วโลกและบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็น British Council ของอังกฤษ, Goethe ของเยอรมัน, Alliance Franaise ของฝรั่งเศส ฯลฯ สถาบันเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การสั่งสม Soft Power ลำดับที่สามที่ Nye ระบุไว้
"Hard Power นั้นทำให้คนกลัว แต่ Soft Power นั้นทำให้คนยอมรับ"
ไม่นานมานี้รัฐบาลจีนก็เริ่มเรียนรู้และยอมรับถึงแนวคิดดังกล่าวนี้ โดยแทนที่รัฐบาลจีนจะมุ่งเน้นแต่เพียงการขยายศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า การต่างประเทศ และการทหารของตนเพียงอย่างเดียว ล่าสุดจีนเองก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญยุทธศาสตร์อำนาจลำดับที่ 3 กับเขาด้วยเหมือนกัน
อย่างที่ผมเคยกล่าวไปนับตั้งแต่ปี 2548 รัฐบาลจีน ภายใต้การดูแลของสำนักงานการศึกษาภาษาจีนกลาง ได้ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถาบันขงจื๊อ (หรือ Confucius Institute) ขึ้นมาในหลายประเทศทั่วโลก โดยสถาบันขงจื๊อนี้เองก็เปรียบเสมือนกับเป็นองค์กรที่ช่วยกระตุ้นให้ชาวโลกหันมาให้ความสนใจกับวัฒนธรรมจีนมากขึ้น
ทำไมสถาบันเผยแพร่วัฒนธรรมของจีนต้องใช้สัญลักษณ์เป็นขงจื๊อ? ทำไมไม่เป็นมังกรที่ดูมีความเป็นจีนมากกว่า?
ในประเด็นนี้นิตยสาร New Weekly ฉบับสุดท้ายของปี 2549 ให้คำตอบไว้ว่า ประเด็นแรก ในสายตาของชาวตะวันตก 'มังกร' นั้นเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ประหลาดที่ดุร้าย-น่าสะพรึงกลัว มากกว่าที่จะเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าของความดีอย่างความเชื่อของชาวจีน ดังนั้นจึงอาจเป็นการไม่ค่อยเหมาะสมนักที่จะใช้มังกรเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันดังกล่าว
ประการต่อมา 'ขงจื๊อ' คือ นักปรัชญา-นักการศึกษา ผู้ยิ่งใหญ่ของจีน ที่เกิดในสมัยชุนชิวเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว แต่คำสอนของขงจื๊อกลับได้รับการถ่าย ทอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ถึงแม้ในช่วงร้อยกว่าปีมานี้ ชาวจีนในยุคสาธารณรัฐ-ยุคคอมมิวนิสต์จะมองว่าประเพณีปฏิบัติและคำสอนของลัทธิขงจื๊อนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวจีนและประเทศจีน ต้องตกระกำลำบากนับตั้งแต่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จวบจนหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม ค.ศ.1966-1976 (พ.ศ.2509-2519) แต่ในช่วงหลายปีหลังมานี้ในแวดวงการศึกษาและสังคมจีนกลับยอมรับกันว่า ลัทธิขงจื๊อและคำสอนของลัทธิขงจื๊อนั้น เป็นหนึ่งในแก่นแกนของประวัติศาสตร์จีนและวัฒนธรรมจีนที่จำเป็นต้องรักษาเอาไว้เยี่ยงมรดกสำคัญของชนชาติ
แม้ว่าคำสอนจำนวนไม่น้อยของขงจื๊อ จะตกยุคไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับประเพณี อย่างเช่น คำสอนที่ว่าเมื่อบิดา-มารดาเสียชีวิต บุตรหลานต้องไว้อาลัยเป็นเวลาสามปี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คำสอนของขงจื๊ออีกจำนวนมหาศาล กลับสามารถนำมาดัดแปลงเพื่อใช้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มาตรฐานทางจริยธรรมของชาวจีนในยุคศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไม่ขัดเขิน อย่างเช่นคำสอนที่ว่า
....."เอาใจเขามาใส่ใจเรา"
...... "ในจำนวนคนที่เดินทางมาสามคน หนึ่งในนั้นต้องมีคนที่เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าได้ " ; คำสอนนี้มีไว้เพื่อให้คนเรารู้จักถ่อมตน ไม่ทระนงตนจนเกินไป ทั้งยังสอนให้รู้จักแยกแยะส่วนดี-ไม่ดีของผู้อื่นเพื่อมาปรับปรุงตนเอง) เป็นต้น
สถาบันขงจื๊อเป็นสถาบันที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยงบประมาณที่รัฐบาลจีนเจียดมาให้มหาวิทยาลัย ที่จัดตั้งสถาบันขงจื๊อในแต่ละแห่งนั้น คิดเป็นจำนวนกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมกับบุคลากรและตำราเรียนในลักษณะต่างๆ โดยจุดประสงค์แรก ก็เพื่อเผยแพร่ภาษาจีนให้กลายเป็นภาษาของโลก เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ ขณะที่ในขั้นต่อไปนั้น ก็เพื่อจะส่งเสริมให้สถาบันแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษา-วิจัยเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีนของประเทศและภูมิภาคนั้นๆ
นับจากการประชุม The World Chinese Conference ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 ณ มหานครปักกิ่ง ซึ่งทางสำนักงานการศึกษาภาษาจีนกลาง ได้ประกาศตั้งสถาบันขงจื๊อจำนวน 25 แห่งทั่วโลก จนถึงปัจจุบันสถาบันขงจื๊อได้เพิ่มจำนวน โดยมีมากถึง 123 แห่งใน 49 ประเทศ/ภูมิภาคแล้ว
โดยในประเทศไทยนั้น ก็มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่ได้รับการติดต่อเพื่อจัดตั้งสถาบันขงจื๊อขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-มหาวิทยาลัยหัวเฉียว (ประเทศจีน), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-มหาวิทยาลัยครูยูนนาน, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง-มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นต้น
ทั้งนี้มีคนคิดคำนวณดูอัตราเติบโตของสถาบันขงจื๊อแล้ว ก็พบว่าในปี 2549 นั้นมีการจัดตั้งสถาบันขงจื๊อเพิ่มขึ้นหนึ่งแห่งในทุกๆ 4 วัน!
ในเชิงปริมาณ ดูเหมือนว่าจีนกำลังพยายามขยาย Soft Power ของตนเอง ผ่านสถาบันขงจื๊อในอัตราที่รวดเร็วอย่างยิ่งยวด (โดยเฉพาะประเทศที่มองว่าการเติบโตของจีนเป็นภัยคุกคาม) แต่กระนั้นก็มีหลายคนกลับตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนตัวเลขนั้นไม่อาจบ่งบอกได้ว่าภารกิจของสถาบันขงจื๊อนั้นประสบความสำเร็จแค่ไหน เนื่องจากในปัจจุบันภาวะปัญหาที่สถาบันขงจื๊อทั่วโลกประสบอย่างหนักก็คือ การขาดแคลนอาจารย์-ผู้เชี่ยวชาญที่จะไปประจำตามสถาบันขงจื๊อในแต่ละแห่งทั่วโลก, การไม่มีตำราเรียน (โดยเฉพาะภาษาจีน) ที่จะนำมาเป็นมาตรฐานในการสอน หรือถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมจีน ไม่นับรวมกับเนื้อหาการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีนที่ปัจจุบัน ต้องถือว่า ค่อนข้างสะเปะสะปะ ขาดความเป็นเอกภาพ...
อย่างคำที่ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งกล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้น การที่จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลก และทำให้วัฒนธรรมของตนเอง เป็นที่ยอมรับของชาวโลกได้นั้น รัฐบาลจีนจำต้องเกาะ 'กระแสสมัยนิยม' ต้องรู้จักการผสมผสาน เปรียบได้กับการนำเอาแนวคิดของปราชญ์อย่างขงจื๊อ มาผสมผสานกับรูปลักษณ์อันสวยสดของดาราสาวจางจื่ออี๋ให้ได้
ส่วนผลจากการผสมผสานที่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น... ต้องติดตาม
|