Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2550
บ้านบานเกล็ดบนเนินทราย             
 


   
search resources

Architecture




บ้านพักนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของ Harbour Island แผ่นดินผืนเล็กๆ ของหมู่เกาะ Bahamas คนพื้นเมืองที่นี่พากันบอกว่า คุณต้องเป็นบ้าไปแล้วแน่ๆ ที่สร้างบ้านตรงด้านนี้ของเกาะ เพราะเป็นฝั่งที่โดนพายุเฮอริเคนถล่มอยู่เสมอ แต่ไม่มีใครปฏิเสธเหมือนกันว่า ฝั่งตะวันตกของเกาะนี้มีหาดทรายสีชมพูทอดยาวเป็นแนวตรงสวยงาม มีเส้นขอบฟ้าไกลสุดลูกหูลูกตาแลดูน่าตื่นตาตื่นใจให้ได้ชื่นชมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เพราะความงดงามชวนหลงใหลนี้นี่เองที่ทำให้เจ้าของชาวนิวยอร์ก ผู้ถือกำเนิดในฝรั่งเศส ตัดสินใจเลือกที่นี่เป็นมุมพักผ่อนอย่างสุขสงบ ด้วยการสร้างบ้านพักสไตล์บ้านเขตร้อนขึ้นมา เธอมีจุดยืนง่ายๆ ว่า ถ้าไม่สามารถหยุดพายุเฮอริเคนได้ก็ยังมีสิ่งที่ทำได้คือ สร้างบ้านที่สามารถต้านทานแรงลมพายุให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

เธอจ้างสองสถาปนิกสาวชาวแมนฮัตตัน ที่เพิ่งตั้งบริษัท Lubrano Ciavarra Design ของตัวเองขึ้นมาให้รับผิดชอบงานออกแบบบ้านในปี 1999

"เธอเป็นลูกค้ารายแรกของเรา" Lea Ciavarra สถาปนิกสาวหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทฟื้นความหลัง

"เธออนุญาตให้เราทำงานสำรวจ" Anne Marie Lubrano พูดเสริม

งานสำรวจที่ว่านี้หมายถึงการทำวิจัยในหนังสือและนิตยสารต่างๆ รวมทั้งการเดินทางไปดูสถานที่จริงที่ Harbour Island ด้วย นอกจากนี้ยังเข้าเยี่ยมชม Brooklyn Botanic Garden ซึ่งเป็นบ้านเขตร้อนที่ให้ความสดชื่นสบายใจแก่ผู้ได้สัมผัสเพื่อศึกษาดูแนวทางสำหรับโครงการนี้

"เราไปที่นั่นเพื่อหาแรงบันดาลใจมากขึ้น แต่สิ่งที่ได้กลับเป็นแรงบันดาลใจจากต้นปาล์ม" Ciavarra เล่า

ขณะที่สองสถาปนิกสาวกำลังเขียนแบบแปลนอยู่นั้น พายุเฮอริเคน Floyd ก็พัดถล่มตัวเกาะอย่างเต็มๆ ผลที่ตามมาคือมันกวาดเอาเนินทรายในเขตที่ดินของลูกค้าของพวกเธอไปด้วย ทำให้ต้องตัดสินใจขยับตัวบ้านขึ้นจากแนวน้ำทะเลหนุนสูงสุดออกไปอีก 25 ฟุต คราวนี้พวกเธอจึงประจักษ์แก่ใจตัวเองแล้วว่า คำเตือนของชาวเกาะที่นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป

เจ้าของต้องการบ้านขนาดใหญ่และกว้างขวางพอสำหรับครอบครัวและเพื่อนๆ ของเธอคือ 5 ห้องนอน และกระท่อมหลังเล็กๆ ที่แยกออกไปต่างหากอีกหลังหนึ่ง

เธอยังตั้งโจทย์ว่า บ้านที่ออกแบบสร้างขึ้นมาต้องแสดงออกถึงความเคารพในความเป็นมิตรและประเพณีดั้งเดิมอันสงบเสงี่ยมของเกาะ พูดง่ายๆ คือ "ต้องไม่เกิดความรู้สึกแยกพวกเขาพวกเราบน Harbour Island นี้" ทั้งยังต้องให้บ้านกลมกลืนไปกับภูมิทัศน์โดยรอบของตัวเกาะด้วย

สองสถาปนิกจึงแก้โจทย์ของลูกค้าด้วยการออกแบบให้ตัวบ้านแลดูเหมือนถูกโอบล้อมอยู่ในเนินทรายในลักษณะหลอกตาผู้พบเห็น คือเมื่อมองมาจากชายหาด จะเห็นเป็นกระท่อมหลังเล็กๆ แลดูคล้ายหมู่บ้านขนาดย่อมตั้งรวมตัวอยู่เป็นกลุ่ม ไม่ใช่บ้านหลังเดียวโดดๆ เมื่อไปยืนมองจากถนนเข้ามานั่นแหละจึงจะเห็นว่าเป็นบ้าน 2 ชั้นตั้งตระหง่านอยู่

เพื่อให้โครงสร้างของบ้านแลดูไม่ใหญ่โตมโหฬารนักและผสมกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมมากขึ้น พวกเธอยังแบ่งตัวบ้านออกเป็น 3 ส่วน แต่ละส่วนประกอบด้วยห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว และพื้นที่ใช้งานอื่นๆ จุดกึ่งกลางซึ่งเป็นที่ที่ทุกคนมารวมตัวพบปะกันออกแบบให้เป็นห้องสมุดความสูง 2 ชั้นขนาดมหึมาที่ลูกค้าต้องการให้เป็นรูปลูกบาศก์มีแต่ละด้านกว้าง 24 ฟุต และสูง 24 ฟุตเท่ากัน

Lubrano ชอบเรียกเจ้าห้องสมุดยักษ์รูปลูกบาศก์นี้ว่า "Rubik's Cube ที่ปราศจากปริศนา" ในโพรงมหึมาของลูกบาศก์ยักษ์ก็เหมือนส่วนอื่นๆ ของบ้านที่ส่วนใหญ่จะใช้ไม้ ipe ซึ่งเป็นไม้จากทวีปอเมริกาใต้ Lubrano ให้เหตุผลว่า "เราเลือกไม้ชนิดนี้เพราะปลวกไม่กิน ปลวกเป็นปัญหาใหญ่ของเกาะนี้"

ฝาผนังด้านนอกของห้องสมุดก็ออกแบบเหมือนตัวบ้านส่วนที่เหลือคือ มีระบบบานเกล็ดซึ่งเป็นงานไม้ฝีมือประณีตหุ้มเอาไว้ บานเกล็ดที่ว่านี้ออกแบบเพื่อให้กระแสลมเย็นจากทะเลพัดเข้าสู่ตัวบ้านได้โดยง่าย และยังช่วยกรองรังสีจากดวงอาทิตย์อันร้อนแรงเจิดจ้าของหมู่เกาะ Bahamas ให้อ่อนลงด้วย พอตกกลางคืนเจ้าบานเกล็ดมหัศจรรย์จะทำหน้าที่กลับกันกับตอนกลางวันคือ กรองแสงที่ส่องสว่างจากภายในตัวบ้าน ถ้าใครไปยืนอยู่บนชายหาดแล้วมองไปที่บ้านหลังนี้ ก็จะเห็นแสงสว่างที่เล็ดลอดออกมาแลดูนุ่มนวลชวนฝันเหมือนแสงจากโคมกระดาษของชาวจีนยังไงยังงั้น

ผลจากการใช้ความคิดสลับซับซ้อนและความพยายามอย่างเอกอุนี้เอง ทำให้ Mimmi O' Connell มัณฑนากรของบริษัท Port of Call แห่งลอนดอนต้องยกนิ้วยอมรับว่า นี่เป็นบ้านแห่งระเบียบวินัยและเรียบง่ายโดยแท้จริง ในส่วนของงานที่รับผิดชอบนั้น O' Connell เล่าว่า เธอพยายามออกแบบให้ภายในตัวบ้านคงไว้ซึ่งความเรียบง่ายเพราะ "ในเมื่อคุณมีวิวดีๆ อยู่รอบตัว และมีพื้นที่ว่างสุดวิเศษอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งให้รกรุงรังมากมาย"

เจ้าของบ้านยังแสดงออกถึงความเคารพในตัวชาวเกาะผู้เป็นเจ้าของถิ่นด้วยการยืนกรานให้ใช้เฉพาะแรงงานมีฝีมือที่เป็นคนในท้องถิ่นมาช่วยงานสร้างบ้านเท่านั้น เธอยังยื่นมือเข้าไปช่วยถึงขนาดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ให้เมื่อรู้ว่าพวกเขายังไม่มี

ไม่นานนักทั้ง Lubrano และ Ciavarra จึงเริ่มเรียนรู้วิถีทางตามแบบฉบับของเกาะนี้ และเข้าใจสิ่งที่เจ้าของบ้าน ผู้ว่าจ้างพวกเธอไปทำงานได้อย่างลึกซึ้งจากที่วันหนึ่งผู้รับเหมาก่อสร้างโทรศัพท์มาบอกว่า เขาต้องการตะปู ทำให้สองสถาปนิกสาว ถามกลับไปด้วยความฉงนฉงายว่าตะปูอะไร?

"ยาวเท่านิ้วมือของผม" ผู้รับเหมาคนนั้นตอบ

แม้เธอทั้งสองจะพอใจกับวิธีการง่ายๆ ของชาวเกาะ แต่พวกเขาก็ทำให้พวกเธออดทึ่งไม่ได้ในความสามารถเชิงงานฝีมือ ซึ่ง O' Connell มัณฑนากรสาวสรุปง่ายๆ ว่า

"บางโครงการอาจจะถือว่ายากก็จริง แต่โครงการนี้ทำแล้วมีความสุข สุขตั้งแต่เริ่มต้นจนจบโครงการเลยทีเดียว"

แปลและเรียบเรียงโดย ดรุณี แซ่ลิ่ว
จากนิตยสาร Architectural Digest/December 2006   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us