14 พ.ย.2545 ' รอยเนทแจ้งผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3 มายังตลาดหลักทรัพย์ฯ
ว่ามีกำไรสุทธิ 11.87 ล้านบาท และ กำไรงวด 9 เดือน 22.07 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ไตรมาส
3 ขาดทุนสุทธิ 7.29 ล้านบาท และขาดทุนงวด 9 เดือน 18.47 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่ายอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง
760% ในไตรมาส 3 โดย 95% ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ต
ราคาหุ้นในช่วงนี้เพิ่มขึ้นจากหุ้นละ 1.14 บาท ในวันที่ 14 พ.ย.ไปถึงหุ้นละ
2.12 บาท ในวันที่ 21 พ.ย.
9 ธ.ค.2545 ' รอยเนทประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยการยกเลิกทุนที่ยังไม่ได้เรียกชำระเดิม
61 ล้านบาท แล้วเพิ่มทุน จดทะเบียนใหม่อีก 91.5 ล้านบาท รวมเป็นทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น
152.5 ล้านบาท หุ้นเพิ่มทุนกำหนดขายให้กับ ผู้ถือหุ้นเดิม ในอัตราส่วน 1
ต่อ 1 ในราคาหุ้นละ 1.20 บาท และออกวอร์แรนต์อีก 30.5 ล้านหน่วย ให้กับ ผู้ถือหุ้นในอัตรา
2 ต่อ 1 กำหนดปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในวันที่
20 ธ.ค. และเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติการลดทุน/เพิ่มทุนในวันที่
10 ม.ค.2546
ราคาหุ้นในช่วงหลังประกาศเพิ่มทุน ลดลงมาซื้อขายกันอยู่ที่ระดับประมาณ 1.50
บาท
20 ธ.ค.2545 ' บริษัทแจ้งกำหนดวันจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในระหว่างวันที่ 24-30
ม.ค.2546
9 ม.ค.2546 ' หลังปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นแล้ว ปรากฏว่ารอยเนทได้แจ้งเปลี่ยนแปลงผลการดำเนินงาน
งวดไตรมาส 3 ปี 2545 มายังตลาดหลักทรัพย์ จากที่มีกำไรกลายมาเป็นขาดทุนในงวดไตรมาส
3 จำนวน 13.22 ล้านบาท และขาดทุนงวด 9 เดือน 36.69 ล้านบาท
ราคาหุ้นช่วงนี้ลดลงจาก 1.09 ล้านบาท ในวันที่ 9 ม.ค.เหลือเพียง 72 สตางค์
ในวันที่ 13 ม.ค. ซึ่งเป็น การซื้อขายครั้งสุดท้ายก่อนตลาดหลักทรัพย์จะขึ้นเครื่องหมาย
SP ห้ามการซื้อขายหุ้นรอยเนท
10 ม.ค.2546 ' วันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติเรื่องการลดทุน/เพิ่มทุน
ปรากฏว่ามีผู้ถือหุ้นมาประชุมไม่ถึง 1 ใน 3 ของ จำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด ส่งผลให้ไม่สามารถจัดการประชุมผู้ถือหุ้นขึ้นมาได้
บริษัทจึงได้นัดวันประชุมใหม่เป็น วันที่ 30 ม.ค.2546
ระหว่างนี้มีข่าวลือปรากฏออกมาเป็นระยะว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเป็นคนในตระกูลเยาวพฤกษ์
ได้เทหุ้นขายออก มาหมดก่อนหน้านั้นแล้ว โดยได้เงินไปเป็นจำนวนถึงกว่า 30
ล้านบาท และเตรียมเดินทางหนีออกนอกประเทศ
ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยก็เริ่มรวมตัวกันเพื่อเตรียมฟ้องร้องเอาผิดกับผู้บริหารสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุน
ไทย นำโดยมนตรี ฐิรโฆไท เป็นแกนนำที่จะเสนอวาระถอดถอนผู้บริหารกลุ่มเยาวพฤกษ์
ออกจากการบริหาร งานในรอยเนท โดยจะเสนอในวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่
30 ม.ค. ขณะที่กิตติพัฒน์ เยาวพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการเก็บตัวเงียบ ไม่ปรากฏตัวออกมาชี้แจงใดๆ
ทั้งสิ้น
30 ม.ค.2546 ' การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ที่เลื่อนมาจากเมื่อวันที่ 10
ม.ค.เริ่มขึ้น มีผู้ถือหุ้นมาร่วมประชุมเกือบ 30 รายการ ประชุมใช้เวลาประมาณ
3 ชั่วโมง ก็เสร็จสิ้น ที่ประชุมมีมติไม่ให้บริษัทลดทุนจดทะเบียนลงเพื่อเพิ่มทุนใหม่
ดังนั้นจึงไม่สามารถเพิ่มทุนได้ ตามที่เคยแจ้งวาระไว้
ในการประชุมกิตติพัฒน์ ได้ชี้แจงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับงบการเงินไตรมาส 3
ว่า เกิดขึ้นจากปัญหาการสื่อสาร ที่ไม่เข้าใจกันระหว่างผู้บริหารกับผู้สอบบัญชีของบริษัท
ทำให้เกิดการลงบัญชีรายได้ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงใน งบการเงิน ทำให้การรายงานงบการเงินครั้งแรกบริษัทมีกำไร
แต่ต่อมาผู้สอบบัญชีได้มาแก้ไข ผลจึงกลายเป็น บริษัทขาดทุน
บรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือหุ้นรายย่อย เริ่มดีขึ้น ผู้ถือหุ้นรายย่อยหลายคนเข้าใจถึงปัญหาดังกล่าว
ส่วนการถอดถอนผู้บริหาร ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจำนวนผู้ถือหุ้นที่จะเสนอวาระมีไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ยังคงเดินหน้าที่จะถอดถอน และร้องกล่าวโทษเอาผิดกับผู้บริหาร
จากกลุ่มเยาวพฤกษ์ตามที่ได้เคยลั่นวาจาไว้