"ทุกอย่างแฮปปี้ เอนดิ้ง จบลงด้วยดี เขาก็พยายามอธิบายถึงเหตุผลของปัญหาที่เกิดขึ้นให้เราฟัง
แล้วก็บอกว่า เขาจะแก้ไขอย่างไร พวกผู้ถือหุ้นก็ให้โอกาสเขา เพราะเขายังเป็นคนหนุ่ม
อายุยังไม่ถึง 30 ทำบริษัทมาได้ถึงขนาดนี้ ถึงมีปัญหา เขาก็น่าจะทำต่อไปได้"
ผู้ถือหุ้นรายย่อยคนหนึ่ง ของบริษัทรอยเน็ทบอกกับ "ผู้จัดการ" หลังเดินออกจาก
ห้องประชุมผู้ถือหุ้น
ก่อนหน้านี้ประมาณ 3 ชั่วโมง ก่อนที่การประชุมผู้ถือหุ้นจะเริ่มต้นขึ้น
ผู้ถือหุ้นรายนี้ยังแสดงอาการเกรี้ยวกราด ไม่พอใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบริษัทรอยเน็ท
โดยเฉพาะการแจ้งผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ของปี 2545 ไม่ชอบมาพากล
จนส่งผลให้ราคาหุ้นรอยเน็ทลดต่ำลงอย่างรุนแรง จากที่เคยซื้อขายกันสูงสุดที่
12 บาท ลงมาเหลือเพียง 70 สตางค์ ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นเครื่องหมาย
SP สั่งห้ามการซื้อขายชั่วคราว
เขาคนที่ผู้ถือหุ้นรายนี้ระบุถึงคือ กิตติพัฒน์ เยาวพฤกษ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
ของบริษัทรอยเน็ท
กรณีที่เกิดขึ้นกับรอยเน็ท ถูกมองเป็นหลายกรณี บางคนมองว่าเป็นเรื่องของความไม่โปร่งใสในการจัดทำบัญชี
ขณะที่อีกหลายคนมองเป็นเรื่องของการขาดประสบการณ์ของผู้บริหาร โดยเฉพาะในเรื่องระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติ
กรณีที่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
อย่างไรก็ตาม การที่ทุกสิ่งทุกอย่างลงเอยด้วยความสบายใจของทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย
นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่ผู้บริหารเมื่อทำพลาด แล้วกล้าออกมายอมรับผิด และ
ผู้ถือหุ้นก็ให้อภัย และยังให้โอกาสในการบริหารต่อ กิตติพัฒน์ เยาวพฤกษ์
จำเป็นต้องจดจำบทเรียนครั้งนี้ไว้ เพื่อไม่ให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นมาอีก