|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2550
|
 |

โรงพยาบาลกรุงเทพเตรียมรุกตลาดคนไข้ต่างชาติอย่างเข้มข้นจริงจังยิ่งขึ้นในปีนี้ โดยใช้สเต็มเซลล์เป็นหัวหอกในการบุกตลาดอเมริกา พร้อมทั้งชิมลางการขยายออกสู่ต่างประเทศเป็นครั้งแรกที่กัมพูชา
บรรยากาศและการตกแต่งภายในอาคารโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล อาจทำให้ผู้ป่วยต่างชาติบางคนเผลอคิดไปว่ากำลังเดินอยู่ในโรงพยาบาลในประเทศบ้านเกิดได้ง่ายๆ ผู้ป่วยจากแดนซามูไรอาจบรรเทาอาการคิดถึงบ้านไปได้บ้างเมื่อย่างเท้าเข้าไปในโซนผู้ป่วยญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่ในโซนนี้พูดภาษาญี่ปุ่นได้คล่องแคล่ว ระหว่างนั่งรอสามารถเลือกอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือเอกสารแผ่นพับที่เป็นภาษาญี่ปุ่นไปพลางๆ หรือถ้าติดทีวีก็ยังนั่งชมรายการโทรทัศน์จากญี่ปุ่นได้อีกด้วย
บรรยากาศเช่นนี้มีให้เห็นทั้งในโซนชาติตะวันตกและตะวันออกกลาง ที่ต่างก็มีรูปแบบการตกแต่งเฉพาะตัวเพื่อสร้างความคุ้นเคยและสบายใจให้กับผู้ป่วยมากที่สุด
โรงพยาบาลกรุงเทพจะมีอายุครบ 35 ปีในปีนี้ แต่เพิ่งเริ่มรุกตลาดคนไข้ต่างชาติอย่างจริงจังมาได้เพียง 3 ปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม พื้นฐานด้านการแพทย์ที่แข็งแกร่งบวกกับชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักกันดีในสังคมไทย ประกอบกับเครือข่ายที่มีอยู่ถึง 17 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ประสบความสำเร็จในตลาดคนไข้ต่างชาติอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันยอดผู้ป่วยต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของคนไข้ทั้งหมด และยังมีอัตราการเติบโตสูงกว่ายอดผู้ป่วยไทยอีกด้วย ซึ่งผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพคาดว่า ภายใน 2 ปี สัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 40-50% ได้ไม่ยาก
"ตอนนี้บางโรงพยาบาลในกลุ่มของเรามีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติถึง 50% แล้ว ปีที่ผ่านมาคนไข้ต่างชาติมี growth ถึง 70% ซึ่งถือว่าเยอะ เพราะคนไข้ไทยทำได้ 15% ก็ถือว่าเก่งแล้ว" นพ.ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพกล่าว
หลังจากที่กำหนดนโยบายจะรุกตลาดคนไข้ต่างชาติอย่างจริงจังในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลกรุงเทพใช้เงินลงทุนทั้งในการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ ซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือเพิ่มเติม รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรรวมทั้งสิ้นเป็นเงินเกือบ 3 พันล้านบาท
ผู้ป่วยจากสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่โรงพยาบาลกรุงเทพให้ความสนใจอย่างมากในขณะนี้ ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจด้วยสเต็มเซลล์ (Stem Cell) โดยมีความร่วมมือทางด้านการแพทย์กับมหาวิทยาลัยพิตสเบิร์กในสหรัฐอเมริกา
สเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด เป็นการรักษาโรคด้วยการใช้เซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากเลือด หรือไขกระดูกของผู้ป่วยมาซ่อมแซมในส่วนผิดปกติของร่างกาย โดยทั่วไปแล้วจะเน้นไปที่โรคร้ายแรงหรือโรคเรื้อรัง เช่น อัลไซเมอร์ พาร์คินสัน มะเร็ง เบาหวาน และที่ได้ผลมากที่สุดในขณะนี้คือโรคหัวใจ ปัจจุบันสหรัฐอเมริกายังไม่อนุญาตให้ทำการรักษาโดยการใช้สเต็มเซลล์ เนื่องจากปัญหาทางด้านจริยธรรม เพราะนอกจากจะได้จากเลือดและไขกระดูกแล้ว สเต็มเซลล์ยังสามารถสกัดออกมาจากตัวอ่อนของมนุษย์ได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยที่ต้องการจะรักษาโรคโดยใช้สเต็มเซลล์จึงต้องเดินทางออกมารักษาตัวในต่างประเทศ
"ของเราไม่ได้ใช้เซลล์ตัวอ่อน เราใช้เซลล์ของผู้ป่วยเอง ตอนนี้เราใช้ในการรักษาโรคหัวใจอย่างเดียว แค่ปีเดียวทำไป 90 กว่าราย มีนักร้องรุ่นเก่าชาวฮาวายดังมากอายุ 70 กว่าแล้ว เขาเป็นโรคหัวใจต้องรอเปลี่ยนก็มาทำที่นี่ จากที่เคยร้องเพลงได้ 10 นาที ตอนนี้ร้องได้ 90 นาทีเลย อันนี้คือจุดแข็งของเราที่จะใช้ในตลาดอเมริกากับแคนาดา"
ปัจจุบันโรงพยาบาลกรุงเทพมีสำนักงานตัวแทนกระจายอยู่ในหลายประเทศด้วยกัน เช่น บังกลาเทศ จีน เวียดนาม ซาอุดีอาระเบียและกัมพูชา ซึ่งเป็นชาติที่มีคนไข้มาใช้บริการมากเป็นอันดับต้นๆ แห่งหนึ่ง และในเดือนนี้โรงพยาบาลกรุงเทพจะเปิดดำเนินงานโรงพยาบาลในเครือชื่อรอยัล อังกอร์ ที่เมืองเสียมเรียบ กัมพูชา รวมทั้งกำลังเจรจาเกี่ยวกับการร่วมทุนกับหน่วยงานของดูไบเพื่อเปิดโรงพยาบาลกรุงเทพที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย
ปีนี้บอกได้เลยว่าเราจะทำเชิงรุก เราจะเปิดโรงพยาบาลที่กัมพูชาแล้วก็จะไปเปิดสำนักงานในต่างประเทศ เอาคนของเราไปประจำการที่นั่นเลย 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงลงทุน ตอนนี้เป็นช่วงเก็บเกี่ยวแล้ว" นพ.ชาตรีกล่าว
|
|
 |
|
|