มีคนบางคนเคยเปรียบเปรยว่า เมื่อมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นครั้งแรกในโลก เมื่อนั้นก็เกิดการถือหุ้นแทน (Nominee) ตามมาด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่ธุรกิจส่วนใหญ่ในโลกนี้ ต่างมีบริษัทถือหุ้นแทน จนแทบจะกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว
การมี Nominee ดีหรือไม่ ไม่ใช่คำตอบหรือเหตุผลที่จะมาสรุปกันในตอนนี้ คิดง่ายๆ ในดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงอยู่ตลอดเวลา ยังมีจุดดับ การถือหุ้นแทนก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่าจะมองในมุมไหน และใครเป็นคนมอง
"ผู้จัดการ" ไม่ได้ตั้งธงว่า ดีหรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่ แต่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการทำงานของบริษัท Nominee ที่มีอยู่ในบ้านเราขณะนี้ว่ามีใครบ้าง และยิ่งใหญ่ขนาดไหน
แน่นอนว่า เราคงไม่สามารถเสาะหาทุกบริษัทในประเทศไทย จึงตัดสินใจเจาะจงไปที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะถือว่าเป็นแหล่งข้อมูลเปิดเผยเป็นทางการ สามารถนำมาใช้อ้างอิง และเป็นหลักฐานทางศาลได้
อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นพื้นที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของบริษัทถือหุ้นแทนเหล่านี้และเติบใหญ่ขึ้นทุกนาที
การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทจดทะเบียน 450 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้เห็นภาพของ Nominee ชัดเจนขึ้น และมีความน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
145 Nominees จาก SET 450
จากการสำรวจข้อมูลพบว่า จำนวนรายชื่อบริษัทที่ชี้ได้ว่าน่าจะเข้าข่ายเป็นนอมินีนั้นมีรวมกันประมาณ 145 ราย โดยแบ่งตามประเภทการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินทั้งในและนอกประเทศ อันประกอบด้วยธนาคารที่มีบริการด้าน Private Banking และการดูแลเก็บรักษาใบหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆ ให้แก่นักลงทุนทุกกลุ่มทุกประเภท (Custodian)
บริษัทหลักทรัพย์ ในฐานะที่เป็นโบรกเกอร์ หรือ Custodian และกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) ซึ่งมีธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้บริหารแผนเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้แก่พวกเศรษฐีผู้มีอันจะกินด้วย
รวมถึงบริษัทนอมินีทั่วไปในสังกัดธนาคาร และนอมินีจากเมืองผู้ดีที่ถือได้ว่าเป็น Shell Company พันธุ์แท้ เพราะเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในเขตปลอดภาษี 2 ราย คือ Albouys Nominees Limited และ Somers Nominees Limited โดยทั้ง 2 รายนี้ เป็นนอมินีที่ไม่มีการถือหุ้นในประเทศอื่นใด และเป็นบริษัทย่อยของ Bank of Bermuda ที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดภาษีด้วยเช่นกัน
สำหรับสัญชาติของกลุ่มนอมินีที่ให้บริการรับจ้างถือหุ้นแก่นักลงทุนในตลาดหุ้นเมืองไทย มีทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ แคนาดา และลักเซมเบิร์ก
ความหมายโดยนัยสำคัญก็คือ การมีบริษัทถือหุ้นแทนไม่ใช่เรื่องแปลก หรือเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับผู้คนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
การเข้ามาของบริษัทถือหุ้นแทนส่วนใหญ่จะเข้ามาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งการล่มสลายของเศรษฐกิจไทยครั้งนั้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์ผู้ร่วมลงทุนเข้ามาในบริษัทต่างๆ จำนวนมาก และนั่นคือจุดเริ่มต้นของบริษัทถือหุ้นแทนที่ยังดำเนินต่อมาจนถึงทุกวันนี้
7 Nominees Play maker
ในภาพรวมอาจดูเหมือนว่าในบ้านเรามีนอมินีจำนวนมากเข้ามาให้บริการสนองความต้องการแก่กลุ่มคนที่อยากอำพรางการถือครองหุ้นในมือด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แต่หากจะว่ากันถึงจำนวนผู้เล่นหลักๆ แล้วน่าจะมีรวมกันแค่เพียง 7 รายคือ
STATE STREET BANK AND TRUST, CHASE, HSBC, BANK OF NEW YORK, MELLON BANK, CITIGROUP, UBS และ DEUTSHE BANK
ถึงจะมีผู้เล่นหลักถึง 7 รายก็ตาม แต่รายใหญ่ในแวดวงนอมินีจริงๆ เห็นจะมีเพียงแค่ 3 ค่าย คือ นอมินีจากค่าย STATE STREET BANK AND TRUST, ค่าย CHASE และค่าย HSBC (ดูตาราง : Top-10 Nominees)
ตัวเลขมูลค่าพอร์ตล่าสุดของ STATE STREE BANK และ CHASE ยังปรับเพิ่มขึ้นอีกกว่าหมื่นล้านเมื่อเทียบจากมูลค่าที่ทั้ง 2 ค่ายเคยมีในช่วงเดือนสิงหาคมปีก่อน ยกเว้นกลุ่ม HSBC ซึ่งมูลค่าพอร์ตอาจหดหายลงไปบ้างคือร่วม 20,000 ล้านบาทเศษๆ จนปล่อยให้ CHASE ทำผลงานแซงหน้าขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 2
ข้อมูลที่ได้มายืนยันว่า บริษัทถือหุ้นแทน 10 อันดับแรกที่รวบรวมได้ มีเงินลงทุนถึง 574,843 ล้านบาท โดยคำนวณจากราคาหุ้น ณ วันที่ 19 มกราคม 2550
มูลค่าขนาดนี้ประมาณเกือบ 50% ของงบประมาณแผ่นดินบ้านเรา
ที่น่าสนใจคือ 3 อันดับแรกของบริษัทถือหุ้นแทนแต่ละรายมีเงินลงทุนรายละกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนอันดับที่ 4 ลงไปอยู่ที่แค่หลักหมื่นล้าน ขนาดการลงทุนของกลุ่มอันดับต้นๆ กับอันดับรองลงมา เป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
บริษัท Nominee อันดับแรกที่ถือหุ้นมากที่สุด ก็คือ STATE STREET BANK AND TRUST ที่มูลค่าสูงถึง 152,461 ล้านบาท
อันดับสองคือ CHASE บริษัทสัญชาติอเมริกันอีกรายหนึ่ง โดยการลงทุนของบริษัทถือหุ้นแทนตัวนี้มีมูลค่าประมาณ 137,422 ล้านบาท
อันดับ 3 คือ กลุ่ม HSBC ที่ตามมาด้วยมูลค่า 101,744 ล้านบาท
Top 3 Nominees ถือหุ้นอะไร
บทบาทของนอมินีรายใหญ่ในตลาดหุ้นไทย จะมีการถือครองหุ้นในบริษัทมากมายตั้งแต่ 30 แห่งจนถึง 100 แห่ง โดยกระจัดกระจายไปตามหมวดธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่หมวดเกษตรจนถึงหมวดขนส่งและลอจิสติกส์ จะเห็นได้ว่านอมินีหลายรายได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1-3 ในกิจการบางแห่ง
เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ที่มี CHASE LIMITED 42 แห่งค่าย CHASE ขึ้นอันดับเป็นผู้ถือหุ้นหมายเลข 1 ของธนาคาร เช่นเดียวกับกรณีของบริษัทอมตะที่ได้ THE BANK OF NEW YORK (NOMINEES) LIMITED มาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 รองจากวิกรม กรมดิษฐ์ และบริษัทบ้านปูมี MELLON BANK เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2
ส่วนที่บริษัท อ.ส.ม.ท. หรือ MCOT มี THE GOVERNMENT OF SINGAPORE INVESTMENT CORPORATION C เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 3 และขณะเดียวกัน THE GOVERNMENT OF SINGAPORE INVESTMENT CORPORATION C ก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ในควอลิตี้เฮ้าส์ หรือ QH ด้วยเช่นกัน
การถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ของนอมินี จะเน้นหนักธุรกิจในหมวดธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ พลังงานและสาธารณูปโภค ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์
เคยมีการประเมินภาพรวมสัดส่วนการใช้บริษัทนอมินีถือหุ้นพบว่า หมวดเทคโนโลยี (รวมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์) เป็นกลุ่มที่น่าจะมีการใช้นอมินีถือหุ้นแทนสูงสุดคือ 39.0% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดในหมวด รองลงมาคือธนาคาร 32.0%, หมวดธุรกิจการเงิน 30.27% สุดท้ายหมวดก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ 24.3%
|