|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
แบงก์ประสานเสียงการประชุมครั้งแรกในรอบปีนี้ของเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25% เหตุปัจจัยกดดันด้านเงินเฟ้อยังสูง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐไม่เลวร้ายอย่างที่คาด แต่มีแนวโน้มที่ปรับลดลงได้ในครั้งหลังของปี ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องตลอดครั้งปีแรก ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น และจะส่งผลดีต่อการลดการเก็งกำไรค่าบาท
นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ในครั้งนี้น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังไม่มีการปรับลดลง ประกอบกับปัจจัยจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐก็ยังออกมาในทิศทางที่ดี ทั้งตัวเลขการจ้างงานก็ยังออกมาในระดับที่สูง
"ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐตอนนี้บางตัวก็ยังดีอยู่โดยเฉพาะตัวเลขตลาดแรงงานยังอยู่ในระดับที่สูงแต่ยอดขายปลีกชะลอลงเยอะ ซึ่งส่งผลให้สหรัฐอาจจะยังสับสนกับเศรษฐกิจว่าจะรุ่งหรือร่วง ดังนั้นเรื่องของทิศทางอัตราดอกเบี้ยจึงยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าเฟดคงจะรอดูให้แน่ใจว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่สูงมากก่อนถึงจะเริ่มขยับลดอัตราดอกเบี้ยลง "นายบันลือศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในปลายไตรมาส2 หรือในครึ่งหลังของปีนี้ เฟดจะเริ่มขยับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เชื่อว่าจะไม่มีแรงกดดันทำให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตราดอกเบี้ยตาม แต่เชื่อว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยในการประชุม กนง.ในครั้งต่อไปจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง
คาดครึ่งปีหลังมีแนวโน้มลดดบ.
นางสาวอุสรา วิไลพิญช์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯน่าจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ 5.25% เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลง แต่ก็ไม่มากอย่างที่หลายๆฝ่ายเกรงว่าจะเกิดขึ้น ทำให้เชื่อว่าเฟดยังไม่มีความกดดันที่จะต้องปรับลดดอกเบี้ยมากนัก โดยคาดว่าการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และจะปรับลดลงประมาณ 0.75%
ขณะที่แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธปท.นั้น คงจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดครึ่งปีแรก เนื่องจากทิศทางของเงินเฟ้อเริ่มคลายตัวลงมาพอสมควรแล้ว และธปท.ยังสามารถใช้มาตรการด้านดอกเบี้ยในการลดแรงกดดันในเรื่องของเงินทุนไหลเข้าแทนการใช้มาตรการ capital control ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวไปพอสมควรแล้ว
"ต่อไปเราก็จะเห็นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐที่กว้างขึ้น จากแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯที่จะทรงตัวในช่วยครึ่งปีแรก ขณะที่มีความเป็นไปได้ที่ทางการไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในครึ่งปีแรก ซึ่งส่วนต่างที่กว้างขึ้นก็จะเป็นผลดีที่จะช่วยลดการเก็งกำไรค่าเงินบาทด้วย"นางสาวอุสรากล่าว
นางรัตนา เล็งศิริวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ครั้งแรกในรอบปีนี้ที่จะจัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 30-31 มกราคมนี้ น่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate ที่ร้อยละ 5.25 ต่อไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐ ที่ยังคงเกินจากระดับเป้าหมายที่กำหนด โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธันวาคม 2549 เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.5 จากร้อยละ 2.0 ของ เดือน พฤศจิกายน 2549 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐานทรงตัวในระดับเดียวกับเดือน พฤศจิกายน 2549 ที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 1.0 - 2.0 จึงมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางของสหรัฐ จะยังต้องวิตกต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับสูงมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะที่ การใช้จ่ายด้านการอุปโภคบริโภคยังปรับตัวในเกณฑ์ดีโดยยอดขายปลีก เดือน ธันวาคม 2549 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ที่ร้อยละ 5.4 จากร้อยละ 4.9 ของเดือน พฤศจิกายน 2549 เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีความมั่นใจผู้บริโภค เดือน ธันวาคม 2549 ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมากจากระดับ 105.3 ของเดือน พฤศจิกายน 2549 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 109.0 สำหรับการชะลอตัวของภาวะตลาดที่อยู่อาศัย คาดว่ายังไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคในสหรัฐฯ ในขณะนี้ เนื่องจากการบริโภคขยายตัวได้ดีจากการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและราคาน้ำมันที่ปรับลดลง
ด้าน ภาวะตลาดแรงงานโดยรวม ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดย การจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน ธันวาคม 2549 เพิ่มขึ้นจำนวน 167,000 ตำแหน่งจากที่เพิ่มขึ้นจำนวน 154,000 ตำแหน่งในเดือน พฤศจิกายน 2549 และอัตราการว่างงานเดือน ธันวาคม 2549 ทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับเดือน พฤศจิกายน 2549 ที่ร้อยละ 4.5 ส่วน ภาคการผลิตและภาคบริการ ยังคงขยายตัว โดยดัชนี ISM-ภาคการผลิตและภาคบริการ เดือน ธันวาคม 2549 ปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เกินกว่าระดับ 50 ที่ 51.4 และ 57.1 เทียบกับระดับ 49.5 และ 58.9 ของเดือน พฤศจิกายน 2549 นอกจากนี้ดัชนีวัดภาวะธุรกิจที่จัดทำโดยธนาคารกลางสหรัฐ สาขาฟิลาเดลเฟีย เดือน มกราคม 2550 ระบุว่า ดัชนีปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมากจากระดับ -2.3 ของเดือน ธันวาคม 2549 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8.3 บ่งชี้ว่า ภาวะการผลิตของสหรัฐฯ จะยังคงปรับตัวในเกณฑ์ดี
ทั้งนี้จากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ ของสหรัฐ ยังคงปรับตัวได้ดี และมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2550 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลง ขณะที่ภาคเศรษฐกิจอื่นยังไม่มีสัญญาณของการชะลอตัวที่ชัดเจน ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ ยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้คาดว่าธนาคารกลางของสหรัฐ จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate ไว้ที่ร้อยละ 5.25 ในการประชุมปลายเดือนมกราคมนี้
กสิกรฯชี้ปัจจัยเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังสูง
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ(FOMC)คงจะมีมติให้ยืนอัตราดอเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ร้อยละ 5.25 ตามเดิมในการประชุมรอบแรกของปีในวันที่ 30-31มกราคมนี้ นับจากที่เฟดได้ยุติวงจรขาขึ้นของนโยบายอัตราดออกเบี้ยมาตั้งแต่กลางปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยปัจจัยที่ทำให้เฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมนั้น เนื่องจากเชื่อว่าเฟดจะยังคงให้น้ำหนักในการตัดสินใจจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังสูง
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ประกาศออกมาล่าสุด แรงกดดันด้านเงินเฟ้ดของสหรัฐฯยังคงมีระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อทางด้านผู้บริโภค อัตราทั่วไปในเดือนธันวาคมอยู่ที่ร้อยละ 2.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.0 ในด้วยพฤศจิกายน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทางด้านผู้ผลิตสำหรับสินเชื่อขั้นสุดท้าย อัตราทั่วไปในเดือนธันวาคมอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ปรับขึ้นจากร้อยละ 0.9 ในเดือนพฤศจิกายน เช่นเดียวกับอัตราพื้นฐานที่ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 2.0 จากร้อยละ 1.8 ในเดือนก่อนหน้า และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล อัตราทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อบละ 1.9 ปรับขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในเดือนตุลาคม ส่วนอัตราพื้นฐานซึ่งเป็นตัวแปรที่เฟดมักใช้ประกอบการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 2.2 โดยแม้จะลดลงจากร้อยละ 2.4 ในเดือนก่อนหน้า แต่ก็ยังคงสูงกว่ากรอบที่เฟดเห็นว่าเป็นระดับปกติที่ไม่เกินร้อยละ 2.0
ส่วนดัชนีภาคการผลิตและภาคการบริหาร สถาบันจัดการด้านอุปทาน ISM (Institute for Supply Management) รายงานว่าในเดือนธันวาคม 2549 ดัชนีภาคการผลิตอยู่ที่ระดับ 51.4 เพิ่มขึ้นจาก 49.5 ในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ดัชนีภาคการบริหารปรับตัวลดลงมาที่ 57.1 เทียบกับ 58.9 ในเดือนก่อน กระนั้นก็ดี ดัชนีทั้งสองยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าทั้งภาคการผลิตและภาคการบริหารของสหรัฐฯยังอยู่ในภาวะขยายตัว
และภาวะอุตสาหกรรม ในเดือนธันวาคมตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า เทียบกับที่หดตัวลงต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 81.8 จากร้อยละ 81.6 ในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนว่าการชะลอตัวลงของภาควะอุตสาหกรรมในสหรัฐฯไม่ได้เป็นไปในลักษณะที่รุนแรง
ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญๆของสหรัฐที่ยังมีทิศทางการปรับตัวในระดับที่น่าพอใจในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้มองว่าเฟดยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งนี้
นอกจากนี้ การปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าหรือ Interrest-rate futures ล่าสุดวันที่ 26 มกราคม 2550 บ่งชี้ว่าตลาดมองว่าความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในช่วงครึ่งแรกของปีมีเพียงร้อบละ 4 เท่านั้น โดยตลาดได้เลื่อนการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดว่าอาจจะไปเกิดขึ้นในช่วงปลายปี หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยตลอดทั้งปี 2550 จากเดิมที่ส่วนใหญ่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในช่วงครั้งปีแรก
|
|
 |
|
|