บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation : IFC)
เป็น 1 ในกลุ่มสมาชิกธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งประกอบด้วยธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา
(IBRD) สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ (IDA) และองค์การค้ำประกันพหุภาคี (MIGA)
IFC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1956 (2499) เพื่อส่งเสริมกิจกรรมของภาคเอกชนในประเทศกำลังพัฒนา
โดยมีการดำเนินงานหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการของภาคเอกชน,
ให้ความช่วยเหลือธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนา ในการระดมเงินทุนในตลาดการเงินระหว่างประเทศ
และให้คำปรึกษา รวมทั้งความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคแก่กิจการ และรัฐบาลของประเทศต่างๆ
ปัจจุบัน IFC มีสมาชิกที่ประกอบด้วยประเทศต่างๆ ทั่วโลก 175 ประเทศ มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น
2.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีจำนวนพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 2,000 คน ในสำนักงานใหญ่
ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และใน 70 สำนักงาน ทั่วโลก
ปี 2544 IFC มีการลงทุนทั่วโลก จำนวน 240 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 3,700
ล้านดอลลาร์
สำหรับประเทศไทย IFC ได้เข้ามาลงทุนเป็นครั้งแรกในปี 1959 (2502) ซึ่งเมื่อนับจนถึงวันที่
31 พฤษภาคม 2545 IFC ได้อนุมัติเงินลงทุนไปแล้ว 55 โครงการ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น
2,700 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เป็นเงินลงทุนโดยตรงของ IFC เองจำนวน 999 ล้านดอลลาร์
ส่วนที่เหลืออีก 1,701 ล้านดอลลาร์ เป็นของผู้ให้กู้ร่วม
ภาคเศรษฐกิจของไทยที่ IFC ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือการลงทุนในสถาบันการเงิน
เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันการเงิน การสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางการเงิน
เพื่อเสริมสร้างธรรมาธิบาล การสนับสนุนบริษัทต่างๆ รวมทั้งบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม
(SMEs) ให้สามารถกู้เงินในระยะยาวได้ และการลงทุนในการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะการสาธารณสุข
และการศึกษา
โดยการลงทุนครั้งสำคัญของ IFC ในไทย ประกอบด้วยการอนุมัติเงินลงทุนจำนวน
37.5 ล้านดอลลาร์ เพื่อก่อตั้ง Thai Equity Fund ในปี 2543 ซึ่งเป็นกองทุนที่จะนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้
และตราสารทุนของบริษัทในตลาด หลักทรัพย์ เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ในปี 2544 IFC ได้ค้ำประกันเงินกู้บางส่วนของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์นครธน
จำนวน 50 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังได้เข้าลงทุนในบริษัทเทเลคอมเอเซีย จำนวน
100 ล้านดอลลาร์ โดยแบ่งเป็นการลงทุนกึ่งหุ้นจำนวน 25 ล้านดอลลาร์ และการประกันหุ้นกู้บางส่วนอีก
75 ล้านดอลลาร์
ในปี 2545 IFC ได้ให้เงินกู้ระยะยาวกับบริษัท แฟบริเนท ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออก
เป็นเงินกู้ระยะยาวจำนวน 12 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงเทคโนโลยี
และขยายกำลังการผลิต
นอกจากการลงทุนทางด้านการเงินแล้ว ในปี 2544 IFC ยังได้ให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) ในการกำหนดมาตรฐาน วิธีการและการกำกับดูแล ตลาดตราสารอนุพันธ์ และในปัจจุบัน
IFC ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้