|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ศึกชิงลูกค้ารายย่อยระอุ ขาใหญ่"ออมสิน"เปิดตัวปีนี้รุกรีเทล แบงก์กิ้งเต็มสูบ ตั้งเป้าขยายสินเชื่อรายย่อยปี 50 เพิ่ม 3.3 หมื่นล้านบาท ดันพอร์ตรายย่อยโตรวม 2.33 แสนล้านบาท มั่นใจศักยภาพครอบคลุม จากเครือข่ายสาขาที่มีกว่า 600 แห่ง รับหมดยุคพึงนโยบายรัฐต้องปรับตัวให้แข่งขันกับแบงก์พาณิชย์ได้อย่างเต็มที่
นายธีระ วิทวุฒิศักดิ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้หันมารุกธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ธนาคารออมสินทำธุรกรรมนี้แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อธนาคารเห็นโอกาสการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์(นอนแบงก์)เร่งขยายสินเชื่อในส่วนนี้และทำรายได้อย่างมาก ธนาคารออมสินจึงลงมาแข่งขันในธุรกิจนี้อย่างเต็มตัว โดยธนาคารออมสินจะอาศัยจุดแข็งของธนาคารที่มีเครือข่ายสาขากว่า 600 แห่งที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศและความสัมพันธ์อันดีของพนักงานธนาคารกับประชาชนในพื้นที่มาเป็นส่วนช่วยให้ธุรกิจนี้ขยายตัวไปได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ธนาคารยังจะใช้ความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการกับลูกค้าเหล่านี้ให้มากที่สุด
“เราปล่อยให้แบงก์พาณิชย์และนอนแบงก์เก็บลูกค้าไปมากแล้ว แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมของตลาดแล้วเรายังมีโอกาสที่จะเติบโตในธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยได้อีกมากเนื่องจากยังมีลูกค้าที่ยังต้องการสินเชื่อในส่วนนี้อีกมาก โดยเฉพาะลูกค้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เรามีความสัมพันธ์อันดีซึ่งธนาคารได้จัดโครงการสินเชื่อสวัสดิการให้กับลูกค้ากลุ่มดังกล่าว” นายธีระกล่าว
นายธีระกล่าวว่า ในปี 2549 ที่ผ่านมาธนาคารออมสินถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการทำธุรกิจรีเทล ไฟแนนซ์ โดยมีพอร์ตสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2549 จำนวน 200,000 ล้านบาท และในปี 2550 ธนาคารเตรียมนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เพื่อตอบสนองแก่ลูกค้ารายย่อยอย่างเต็มที่ โดยธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อใหม่ในปี 2550 จำนวน 33,000 ล้านบาท ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อรวมในสิ้นปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 233,000 ล้านบาท
“จริงๆแล้วสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยของธนาคารออมสินมีความหลายหลายมากแต่ที่ผ่านมาเราทำอย่างเงียบๆ ไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ในปี 50 เราจะเร่งทำความเข้าใจกับพนักงานทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจแก่ลูกค้าและทำยอดสินเชื่อให้เข้าเป้าที่ธนาคารวางไว้ ซึ่งเมื่อดูอัตราการทำรายได้ของธนาคารออมสินจะพบว่าธุรกิจรีเทลแบงกิ้งทำรายได้สูงถึง 70-80%ของรายได้รวมทั้งหมดของธนาคาร”นายธีระกล่าว
นายธีระกล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ธนาคารออมสินเตรียมเปิดตัวสินเชื่อเคหะเพิ่มยอด โดยธนาคารจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อแบบอเนกประสงค์สำหรับลูกค้าที่กู้เงินซื้อบ้านกับธนาคารออมสินและเป็นลูกค้าที่มีประวัติการชำระเงินที่ดีหรือผ่อนเงินกู้บ้านใกล้หมดแล้วสามารถยื่นขอกู้เพิ่มได้สูงสุดเท่ากับวงเงินกู้เดิมหรือไม่เกินราคาประเมินของหลักประกัน ซึ่งสินเชื่ออเนกประสงค์ดังกล่าวธนาคารออมสินไม่ได้จำกัดวัตถุประสงค์ในการใช้จ่าย ลูกค้าสามารถใช้สำหรับอุปโภคบริโภคสินค้าและบริการต่างๆได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียนของบุตร เพื่อการท่องเที่ยว ตกแต่งซ่อมแซมบ้าน เป็นต้น โดยจะให้สิทธิสำหรับลูกค้าที่มีการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านเป็นเวลา 1 ปีขึ้นไปและคิดดอกเบี้ยในอัตราเดิมกับสินเชื่อบ้านที่ลูกค้าผ่อนชำระอยู่แล้ว
“เมื่อเทียบกับสินเชื่ออเนกประสงค์หรือสินเชื่อบุคคลทั่วไปของแบงก์พาณิชย์และนอนแบงก์แล้วสินเชื่อเคหะเพิ่มยอดของธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราที่ต่ำมาก ซึ่งสถาบันการเงินอื่นๆคิดดอกเบี้ยสินเชื่อประเภทนี้สูงถึง 18-28% จึงน่าจะทำให้ลูกค้าที่กู้เงินกับธนาคารออมสินอยู่แล้วตัดสินใจที่จะกู้เงินจากโครงการสินเชื่อเคหะเพิ่มยอดได้ง่ายขึ้น และธนาคารก็มีหลักทรัพย์ของลูกค้าเพื่อค้ำประกันวงเงินกู้นี้ไว้อยู่แล้ว โดยธนาคารตั้งเป้าว่าในปี 50 จะมีลูกค้ามาใช้บริการสินเชื่อเคหะเพิ่มยอดสูงถึง 4 พันล้านบาท” นายธีระกล่าว
รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวอีกว่า ปีนี้ธุรกิจรีเทลแบงกิ้งจะมีการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้นทำให้ผู้เล่นในตลาดทุกรายต้องเหนื่อยกันมาก แต่เดิมธนาคารออมสินเองมีโครงการสินเชื่อต่างๆของภาครัฐเข้ามาหนุนทำให้ไม่ต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆมากนัก แต่ในปัจจุบันแทบจะเรียกได้ว่าธนาคารออมสินต้องแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มตัว ธนาคารจึงต้องเร่งปรับตัวและหาเครื่องมือ พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
|
|
|
|
|