คิวเฮ้าส์เผยไม่มั่นใจการเมือง แต่ไม่คิดปรับแผนลงทุน เชื่อมั่นระเบิดไม่สะเทือนดีมานด์บ้านถูก ตั้งเป้าปีนี้โต 20% พร้อมรุก 6 โครงการใหม่ วางเป้าสัดส่วนรายได้ คาซ่าปี 51 ขยับเป็น 50% ทั้งแนวราบ-แนวสูง เตรียมสยายปีกคาซ่าเจาะตลาดคอนโดครั้งแรก
การตัดสินใจใช้ “คาซ่า วิลล์” เป็นไฟท์ติ้งแบรนด์เพื่อรุกตลาดบ้านระดับกลางของคิวเฮ้าส์ ถือเป็นกลยุทธ์ที่คิวเฮ้าส์มองไว้ไม่ผิดพลาด หลังจากปี 2548 ที่เริ่มค้นพบว่าตลาดบ้านราคาแพงเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว คิวเฮ้าส์จึงก่อตั้ง บริษัท คาซ่า วิลล์ จำกัด และเข้าไปถือหุ้นในบริษัท 100% เริ่มบุกเบิกซื้อที่ดินในย่านวัชรพล, ราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์, ศรีนครินทร์ ,พระราม 2 และเอกมัย-รามอินทรา พัฒนาเป็นบ้านเดี่ยวภายใต้แบรนด์ “คาซ่า วิลล์” และทาวน์เฮาส์ภายใต้แบรนด์ “คาซ่า ซิตี้” เป็นบ้านสร้างเสร็จก่อนขายตามจุดยืนของคิวเฮ้าส์ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในการทำตลาดเป็นอย่างดี เพราะเป็นสินค้าที่มาถูกจังหวะในช่วงที่ดีมานด์บ้านระดับกลางกำลังเติบโตอย่างมาก
รัตน์ พานิชพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ คิวเฮ้าส์ กล่าวว่า ยอดขายในปีที่ผ่านมามีไม่มากนัก เนื่องจากเป็นบ้านสร้างเสร็จก่อนขาย แต่คาดว่ายอดรับรู้รายได้จะสูงกว่าปี 2548 ประมาณ 20% ส่วนหนึ่งมาจาก 2 โครงการของคาซ่า วิลล์ ประมาณ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้แบ่งเป็นยอดรับรู้รายได้จากคิวเฮ้าส์ 60% และคาซ่า วิลล์ 40% คาดว่าปีนี้จะมียอดรับรู้รายได้รวมอยู่ที่ 5,500 ล้านบาท และมองว่ายอดรับรู้รายได้ปี 2551 จะโตกว่าปีนี้ 20%
จากการขายอาคารสำนักงาน 3 แห่งให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ควอลิตี้เฮ้าส์ ทำให้คิวเฮ้าส์มีสภาพคล่องมากขึ้น สามารถลดสัดส่วนหนี้สินลงมาอยู่ที่ 1 เท่า หลังจากต้องแบกรับภาระหนี้สิน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการก่อสร้างอาคารสูงมานานหลายปี เมื่อฐานะทางการเงินแข็งแกร่งแล้ว คิวเฮ้าส์จึงมีความพร้อมที่จะขยายการลงทุนเพิ่มทั้งโครงการแนวราบและแนวสูง
ปี 2550 คิวเฮ้าส์ตั้งเป้าจะปิด 6 โครงการเก่าต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และเปิด 6 โครงการใหม่ มูลค่ารวม7,770 ล้านบาท ได้แก่ พฤกษ์ภิรมย์ รีเจนท์ ราชพฤกษ์-สาทร, ลัดดารมย์ ราชพฤกษ์-ปิ่นเกล้า, คาซ่า วิลล์ เอกมัย-รามอินทรา, คาซ่า วิลล์ ศรีนครินทร์, คาซ่า ซิตี้ นวลจันทร์ 1 และคาซ่า ซิตี้ รามคำแหง
ปัจจุบันคิวเฮ้าส์มีสต็อกบ้านสร้างเสร็จพร้อมอยู่ประมาณ 600 ล้านบาท และในอนาคตฐานการรับรู้รายได้ของคิวเฮ้าส์จะขยายไปสู่โครงการของคาซ่า วิลล์มากขึ้นเป็นสัดส่วน 50% ของยอดรับรู้รายได้รวมของกลุ่มบริษัทในปี 2551
สำหรับปี 2551 คาซ่า วิลล์ มีแผนที่จะรุกเข้าสู่ตลาดคอนโดมิเนียม ภายใต้แบรนด์ “คาซ่า คอนโด” โดยได้ซื้อที่ดิน 2-3 ไร่ย่านท่าพระ ใกล้กับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสสายตากสินแล้ว นอกจากนี้ยังดูที่ดินอีกหลายแปลงเพื่อลงทุนพัฒนาบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียมเพิ่ม สำหรับคอนโดมิเนียมจะพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมราคาขาย 3 ล้านบาทต่อยูนิต เน้นทำเลสุขุมวิท และทำเลเกาะแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเกาะแนวเส้นทางส่วนต่อขยาย เนื่องจากมีความแน่นอนของการก่อสร้าง
ในส่วนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ควอลิตี้เฮ้าส์ รัตน์ กล่าวว่าไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อยที่เป็นคนไทย ซึ่งจะมีความตื่นตระหนกกับเหตุการณ์น้อยกว่านักลงทุนต่างชาติ คาดว่าในปีนี้จะมีการขายเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ของคิวเฮ้าส์เข้ากองทุนอีก 5 แห่ง มูลค่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนเพิ่มเป็น 13,000 ล้านบาท
รัตน์ แสดงความเห็นว่า สำหรับสถานการณ์ของประเทศที่เพิ่งผ่านมายังเร็วเกินไปที่จะวิเคราะห์ผลกระทบ แต่ทั้งนี้มีความไม่มั่นใจเรื่องภาวะความไม่สงบทางการเมืองมากที่สุด หากเหตุการณ์ยังไม่รุนแรง บริษัทฯ จะยังไม่ปรับแผนการลงทุนแต่อย่างใด ทั้งนี้มั่นใจว่าการตัดสินใจซื้อบ้านระดับกลาง-ล่างจะไม่ถูกกระทบจากเหตุการณ์ เพราะเป็นความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค
|