|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สมาคมนักวิเคราะห์ชี้หุ้นไทยในมือต่างชาติเกือบ 30% มูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท แม้จะแก้กฎหมายแต่ยังมีเรื่องให้คิดต่อ เทคโอเวอร์-เทนเดอร์ออฟเฟอร์-แนวทางการตรวจสอบพิสูจน์ จะเอายังไง มือกฎหมายติงถ้าจะลดบทบาทต่างด้างคงต้องปิดให้ทุกช่องโห่ว สิทธิ์ออกเสียงผู้ถือหุ้น-คณะกรรมการออกเสียง-อำนาจผู้ลงนาม
ในยุคที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพง่อนแง่นแสนสาหัสจากการที่โดนหม้อต้มยำกุ้งลวกเมื่อ 10 ปีก่อน กฎหมายจึงได้มีการแก้ไขเปิดช่องให้เงินต่างด้าวสามารถเข้ามาได้มากขึ้นทั้งการ ซื้อหุ้นเดิม หรือ เพิ่มทุนใหม่ ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นยาวิเศษที่เข้ามาช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนได้ไม่น้อย แม้ฝรั่งกลุ่มนี้จะได้กำไรจำนวนมากจากการซื้อของถูกมาขายแพงก็ตามที แต่สำหรับวันนี้ที่ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทางการเงินมากขึ้นหลังจากเป็นทางผ่านในการสร้างผลประโยชน์ให้ต่างชาติมานาน คำถามคือ เรายังต้องการให้ต่างชาติถือหุ้นส่วนใหญ่เพื่อครอบงำกิจการของไทยอีกต่อไปหรือไม่
ในงานสัมนา"ผลกระทบของพ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าวฉบับแก้ไขต่อบริษัทจดทะเบียน"ซึ่งจัดโดยสมาคมบริษัทจดทะเบียน สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์และไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มจาก เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ เอเชียพลัส กล่าวว่าการลงทุนของต่างชาติในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีนัยสำคัญต่อภาพรวมของตลาดหุ้นไทย โดยจากข้อมูลปี 40-49 พบว่ามีนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2.4 แสนล้านบาท
โดยปริมาณตัวเลขการปิดโอนในชื่อของนักลงทุนต่างชาติสูงสุดในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ปี 49 ที่มีมูลค่ามากถึง 1.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น30% ของตลาดรวม ล่าสุดเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาพบว่าตัวเลขการปิดโอนในชื่อของนักลงทุนต่างประเทศมีมูลค่า1.425 ล้านล้านบาท ซึ่งการลงทุนดังกล่าวคาดว่าจะเป็นการลงทุนระยะยาว เนื่องจากนักลงทุนที่มีรายชื่อปิดโอน ซึ่งส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์การลงทุนก็คือการมีสิทธิในการออกเสียง(โหวต) หรือสิทธิในการรับเงินปันผลด้วย
นอกเหนือจากการลงทุนตรงของต่างชาติแล้ว ในช่วงหลังต่างชาติสามารถลงทุนผ่านใบสำคัญแสดงสิทธิ์ในหลักทรัพย์อ้างอิง(NVDR)ได้ด้วย โดยตัวเลขสิ้นปี 49 พบว่ามีมูลค่า 2.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของมูลค่าตลาดรวม และหากนับรวมกับที่มีการปิดโอนในชื่อของนักลงทุนต่างประเทศ จะมีมูลค่ารวมกันมากถึง 1.55 ล้านล้านบาท
หากแยกเป็นรายกลุ่มหลักทรัพย์จะพบว่าต่างชาติลงทุนอยู่ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ประมาณ 24% รองลงมาคือกลุ่มพลังงาน 21.2% ซึ่งการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในหุ้นกลุ่มแบงก์นั้น ได้สูงขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่เกิดวิกฤติการเงินในปี 2540ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นค่อนข้างมากหลายๆ แบงก์จะถือหุ้นเกินเพดาน ซึ่งจะได้รับการอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
จากบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดเกือบ 500 แห่ง พบว่ามี 84 บริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นเกิน 40% และมีการปิดโอนชื่อด้วย แยกเป็น 40 บริษัทที่ต่างชาติถือหุ้นเกิน 66.67% แต่กลุ่มบริษัทดังกล่าวไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องแก้ไขการถือครองหุ้นของต่างชาติ เนื่องจากได้รับการยกเว้นเช่นกรณีได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ รวมทั้งการดำเนินธุรกิจภายใต้พ.ร.บ.นิคมอุตสาหกรรม ส่วนอีก 40 กว่าบริษัทที่เหลือมีบางบริษัทที่ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากขณะนี้แม้จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลไทย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าสัดส่วนที่เหลืออีก 51% จะเป็นไทยแท้หรือไทยเทียม โดยบริษัทที่มีความเสี่ยงประกอบด้วยบริษัท บางกอกแร้นท์ ไรมอนแลนด์ และโกลเด้นแลนด์ส่วนกรณีกุหลาบแก้ว หากพิสูจน์แล้วพบว่าเป็นต่างด้าวก็จะมีผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มชินคอร์ป แต่ชินแซทเทลไลท์ อาจจะไม่เข้าข่าย
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจคือ ในอนาคตจะมีการแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ ตามมาหรือไม่ เช่นกฎหมายเทนเดอร์ออฟเฟอร์ หากต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเกินจุดที่ต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร แนวทางการตรวจสอบและการพิสูจน์เจตนาจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่าสภานิติบัญญัติจะมีการแก้ไขในประเด็นใดบ้าง
ด้านกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอยู่ในบัญชีที่ 1 ของ พรบ.ประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าวหากเข้าข่ายจะต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติหรือเลิกกิจการ แต่ในอีกมุมหนึ่งอาจจะเร่งให้เกิดการร่วมทุนกับต่างชาติเร็วขึ้น ขณะเดียวกันอาจจะทำให้การระดมทุนยากขึ้น โดยเฉพาะการระดมทุนผ่านกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะติดปัญหาการสำรองเงินทุน30% ตามเกณฑ์แบงก์ชาติ
ขณะที่ ศิริพงศ์ ศุภกิจจานุสรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ได้ตั้งข้อสังเกต พ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าวฉบับแก้ไขว่า แม้ว่ากฎหมายที่ออกมาให้ปรับปรุงในส่วนของการมีสิทธิออกเสียงของต่างด้าวไม่ให้เกิน 50% ซึ่งก็มีคำถามตามมาว่า แม้ต่างด้าวจะเป็นเสียงข้างน้อยแต่ในข้อกฎหมายไม่มีข้อห้ามว่าคณะกรรมการจะต้องมีต่างด้าวร่วมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นช่องโหว่ได้หรือไม่ รวมถึงอำนาจการลงนามต่างๆ ของบริษัท หากบอร์ดตัดสินใจที่จะให้ต่างด่าวมีสิทธิในการลงนามแล้ว ต่างชาติก็ยังสามารถควบคุมธุรกิจได้เหมือนเดิม
นอกจากนี้เรื่องของการกำหนดระยะเวลาในการแจ้งและให้มีการปรับปรุงภายในเวลาที่กำหนด มองว่าจะมีบริษัทไหนที่กล้ายอมรับว่าตัวเองผิดและต้องปรับปรุง หรือในทางกลับกันหากบริษัทใดยอมรับว่าจะต้องมีการปรับปรุง ก็จะต้องมีการรายงานเพื่อต้องการดำเนินธุรกิจต่อ ซึ่งหากมีความผิดจะต้องถูกลงโทษหรือไม่ ซึ่งจะต้องรอการพิสูจน์ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะดำเนินการ ก็ต้องการความชัดเจนเช่นกัน
ผลกระทบโดยทั่วไปในแง่ของการแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว อาจจะส่งผลให้บริษัทต่างประเทศที่มีนโยบายที่จะเข้ามาร่วมลงทุน มีแนวโน้มที่จะเป็นการปล่อยสินเชื่อแทน รวมถึงการสนับสนับทางด้านเทคโนโลยีอาจจะไม่ทันสมัยเหมือนกับเป้าหมายเดิมอาจจะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
ด้านดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ นักเศรษฐศาสตร์ ประธานกรรมการโครงการปฏิรูปประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ มองว่า ผลกระทบการแก้ไขพ.ร.บ.ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและตลาดการเงินมากนัก แต่มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เนื่องจากที่ผ่านมา นโยบายการบริหารของประเทศ เป็นการเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว แต่มาถึงตอนนี้ รัฐบาลได้มีการใช้มาตรการที่เหมือนกับไม่ต้อนรับต่างชาติ ดังนั้นจึงมองว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ คือทำให้ภาวะการลงทุนในประเทศปีนี้และปีหน้าไม่สดใส โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะต่ำสุดในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมา
โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขทันที ซึ่งการแก้ไขในช่วงนี้ ถือว่าเป็นจังหวะที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากสิ่งที่รัฐบาลทำเป็นการไม่ต้อนรับต่างชาติ และดูเหมือนว่าจะเป็นการกระทำที่ต้องการเอาผิดกุหลาบแก้ว แต่ผลกระทบต่อภาพรวม
"นโยบายที่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ยิ่งเปิดมากเท่าไหร่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะจะเป็นการกระจายความมั่งคั่งออกไป แต่ต้องมีการจัดระเบียบที่ดี แต่กรณีของเราดูเหมือนว่าเมื่อเกิดปัญหาเรื่องดีลชินคอร์ปแล้วจึงค่อยมาแก้ไขปัญหา พ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าว"
ขณะนี้ทั่วโลกเป็นกระแสของโลกาภิวัตน์ ซึ่งการที่พ.ร.บ.ออกมาในจังหวะที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลให้การลงทุนของต่างประเทศหนีไปลงทุนในประเทศอื่น เช่นเวียดนาม และในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งจะทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทในประเทศมีการเปลี่ยนไป โดยจะมีการกู้เงินมากขึ้น ดังนั้นมองว่า พ.ร.บ.ที่จะมีการเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ จะต้องมีการทบทวนในบางประเด็น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม
|
|
|
|
|