Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์29 มกราคม 2550
แฉเส้นทางเงินหนุนกวนเมือง ทักษิณต่อท่อผ่านนายทุน             
 


   
search resources

ทักษิณ ชินวัตร
Political and Government




- จับไต๋ “คำลวง” ทักษิณวางมือการเมือง
- บ่งชี้เครือข่ายระบอบทักษิณยังเคลื่อนไหว ส่งน้ำเลี้ยงแบบ “โพยก๊วน” ให้รับเงินจากกระเป๋านายทุน เพื่อหลบการตรวจสอบของระบบธนาคาร
- คมช.มั่นใจ ผลการชี้ความผิดแกนนำกลุ่มอำนาจเก่า น่าจะดำเนินคดีได้หลายกรณี
- นักวิชาการวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน พร้อมแนวทางแก้จุดอ่อน เพื่อแก้ปัญหาให้สำเร็จ

พลเอกอนุพงศ์ เผ่าจินดา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า การที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พยายามเคลื่อนไหวนอกประเทศ โดยใช้เครื่องมือสื่อให้ต่างประเทศเข้าใจและทำให้เกิดการรับรู้ว่าสถานการณ์ประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร และเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ แต่ก็ทำให้เกิดผลทำให้ต่างชาติมองคมช.ไม่ดี

“การกลับเข้ามาในประเทศ ในแง่กฎหมาย ส่วนชี้มูลความผิดได้ เมื่อผิดแล้วและกลายเป็นคดีอาญา ซึ่งเมื่อมีการควบคุมตามกฎหมาย จะต้องคิดถึงการแก้ไขสถานการณ์ เพราะมองตามรูปการณ์คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) สามารถเอาผิดได้ และถ้าไม่ผิดก็อยู่เฉยๆ สู้คดีตามกฎหมาย และจะสร้างคะแนนเสียงโดยขอเข้ามาต่อสู้คดีมีทนายต่อสู้กันด้วยหลักฐานตัวบทกฎหมาย ไม่ต้องมีขบวนกองเชียร์มาต้อนรับที่สนามบินที่ไม่เกิดประโยชน์ ตรงกันข้ามถ้าทำเพื่อประเทศชาติ ก็ออกมาประกาศไม่ให้กองเชียร์ที่สนับสนุนมา เพราะจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย”

โดยมั่นใจว่าทักษิณมีความผิดจาก 1.คดีการยุบพรรค 2.การชี้มูลความผิดเรื่องการซื้อที่ดินย่านรัชดาของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยาอดีตนายกฯ และการจัดซื้อเครื่องตรวจจับซีทีเอ็กซ์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

อำนาจเก่าเคลื่อนไหวลับส่งเงินผ่านช่องทางใหม่

พลเอกอนุพงศ์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวที่มีเหมือนเป็นการส่งสัญญาณโดยนัย โดยเข้ามาในลักษณะทุนแบบตั๋วเงิน ใช้เครดิตแทนเงินที่ไม่ได้เป็นเส้นทางปกติ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะหากมีการเคลื่อนไหวเงินในระบบเดิมจะมีแบงก์ชาติจับตามองอยู่ และสามารถสาวถึงต้นตอได้ ส่วนการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มอำนาจเก่า ร่างทรงเก่า และหัวคะแนนที่เข้าถึงระดับรากหญ้า ที่ต้องการพลิกสถานการณ์กลับมาไม่สามารถทำการเคลื่อนไหวได้ เพราะโดนจับตามองอยู่เช่นกัน

“มั่นใจว่าระบอบทักษิณไม่สามารถกลับมาได้ เพราะทุกอย่างจบแล้ว เมื่อหยุดการใช้อำนาจ มีการตั้งรัฐบาลและมีขั้นตอนการตั้งรัฐธรรมนูญ ไม่มีทางกลับมา” พลเอกอนุพงศ์ กล่าว

ท่ามกลางความพยายามกลับคืนสู่อำนาจนั้น หลายฝ่ายมองกันว่า สิ่งที่กลุ่มอำนาจเก่าพยายามก็คือ ทำให้เกิดภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี สร้างความระส่ำ ระสาย ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ปลุกรากหญ้าพร้อมกับคนในเมืองก่อให้เกิดจราจล ซึ่งต้องการให้เกิดนัยว่า คมช.และรัฐบาลไม่สามารถจะปกครองประเทศได้ เศรษฐกิจเลวลง ความมั่นคงปลอดภัยไม่มี

ถ้ามองในเชิงยุทธศาสตร์ของคมช.และรัฐบาล ที่อยู่ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของฝั่งตรงข้าม คือ การบริหารที่อยู่ภายในคอนเซปต์เดิม โดยหยุดการใช้อำนาจของกลุ่มการเมืองเก่า และเหตุผลของการตั้งรัฐบาลขึ้นมาและไม่ทำโครงการใหญ่ เพราะตัวเองไม่ได้เกิดมาจากการเลือกตั้ง หน้าที่เพื่อประคองการบริหารงานราชการแผ่นดินให้เกิดการเลือกตั้ง

แหล่งข่าวกล่าวว่า ต้องยอมรับช่วงที่ผ่านมาคมช.และรัฐบาล มีจุดอ่อน1.สถานการณ์ความมั่นคง ที่มีการวางระเบิด ไม่ว่าจะเป็นฝีมือใครทำ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคมช.และรัฐบาลต้องรับผิดชอบ 2.แนวคิดรัฐบาลไม่ทำการตลาดหวือหวา ดังนั้นวิธีการปิดจุดอ่อนนั้นคือ พยายามผลักดันทุกวิถีทาง แก้ไขด้านเทคโนโลยีเพื่อรักษาความปลอดภัย การก่อวินาศกรรมในเมืองค่อนข้างมั่นใจว่าจบ เพราะไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายจากภาคใต้ และในเมืองกรุงเริ่มตื่นตัวช่วยกันสอดส่องระวังมากขึ้น

สำหรับภารกิจด้านการสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคม เพื่อสยบการก่อกวนของกลุ่มอำนาจเก่าและทำให้เกิดการเมืองใหม่นั้น มีการคุยพูดกันภายในและอยู่ระหว่างการออกแบบโปรแกรมกลยุทธ์การสื่อสาร และไม่เห็นด้วยกับการสื่อสารโดยใช้สปอตผ่านช่องทางสื่อทั้งหมดของกองทัพ แต่เห็นจุดอ่อนว่า การยิงสปอตแบบถี่นั้นไม่สามารถสร้างผลกระทบได้มากนัก โดยเห็นว่าการวิจารณ์นำเสนอข่าวทั้ง 2 ด้านของสื่อกลับเป็นช่องทางที่มีศักยภาพสูงและสามารถสร้างการรับรู้ และเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า

ยุทธศาสตร์กำจัดจุดอ่อน คมช.

ความเคลื่อนไหวของ ทักษิณ ชินวัตร ในการเดินทางไปประเทศต่างๆ และให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศนั้น รวมทั้งการจ้างบริษัท บาร์เบอร์ กริฟฟิธ แอนด์ โรเจอร์ส (บีจีอาร์) ล็อบบี้ยิสต์ชั้นนำของสหรัฐฯ ให้ทำงานให้นั้น เป็นยุทธศาสตร์ที่อดีตนายกรัฐมนตรีจงใจสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง (อ่านล้อมกรอบ จ้างลอบบี้ยิสต์ เปิดศึกข้ามชาติ)

ล่าสุด สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานเมื่อวันที่ 23 มกราคม ว่า ทักษิณเพิ่งให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์อาซาฮี ในญี่ปุ่นอีกครั้งว่า ที่สุดแล้วประเทศไทยก็จะไม่สามารถอดทนกับระบบเผด็จการได้

และในตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ “ทักษิณ” ยังพูดด้วยว่า ผมคิดว่าผมสามารถเป็นประโยชน์ให้กับประเทศได้บ้าง ผมสามารถบอกกับผู้สนับสนุนผมได้ว่า โอเค ถึงเวลาที่เราจะรวมตัวกันได้แล้ว ผมสามารถฟื้นความน่าเชื่อถือของประเทศไทยได้ โดยเฉพาะด้านปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

ถือเป็นความเคลื่อนไหวทางด้านสื่อครั้งล่าสุดที่ออกมา “ขย่ม” รัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คมช. (อ่านล้อมกรอบ เหลี่ยมจ้อผ่านสื่อยุ่น ขย่มไทยอีกระลอก)

รศ.ดร.เสรี วงศ์มณฑา ผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ในฐานะนักวารสารศาสตร์ชื่อดัง กล่าวว่า การที่ ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปประเทศต่างๆ และให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศนั้น เป็นการจงใจให้เกิดอะไรบางอย่างในทางยุทธศาสตร์ด้านสื่อ ซึ่งจะเห็นว่าขณะที่ ทักษิณ อยู่ที่ประเทศจีนก็พิมพ์ประวัติแจก ไปสิงคโปร์ก็ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็น และเอเชียนวอลล์สตรีท เจอร์นัล ไปฮ่องกงก็ให้คนของตัวเองไปพบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการกำหนดและวางแผน (plot and plan) ให้เกิดขึ้น

“ทักษิณทำเรื่องเหล่านี้ด้วยความต้องการลึกๆ เพื่อจะบอกว่าเขาไม่ยอมแพ้ เพราะโดยนิสัยส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคนไม่ยอมแพ้ใคร แต่ในทางยุทธศาสตร์เขาต้องอาศัยนักยุทธศาสตร์ด้านสื่อเข้ามาช่วยวางแผนให้ ซึ่งในเรื่องนี้ ตนในฐานะเป็นนักยุทธศาสตร์ด้านสื่อคนหนึ่งเคยทำให้บริษัทต่างๆ มานาน”

ดร.เสรี กล่าวต่อว่า คนที่ทำการว่าจ้างจะวางพล็อต กำหนดโจทย์ไว้ก่อนว่า เขาอยากจะให้กำลังใจคนของเขา เขาอยากจะให้ คมช.ปั่นป่วน ให้ภาพลักษณ์ของเขาดูดี ให้เขาอยู่ในความสนใจของสาธารณะชนตลอดเวลา เขาก็จะบอกให้นักยุทธศาสตร์ไปกำหนดแผนมา เพื่อที่จะไปออกสื่อ และสื่อที่ให้ความร่วมมือก็จะรับเงินค่าออกรายการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะเขาขายสื่อในฐานะเป็นช่องทาง (เอาต์เลต) ในการแพร่ข้อมูลข่าวสาร เขาก็คิดเงิน แต่คนที่วางยุทธศาสตร์จะรู้ว่าสื่อไหนที่ทำได้หรือทำไม่ได้ ซึ่งเมื่อเขาจ่ายเงิน เขาก็จะทำตัวกลมกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสื่อ หรือที่เรียกว่า media tie in

“เรื่องนี้ยืนยันได้เพราะเคยติดต่อซื้อเวลาซีเอ็นเอ็นให้กับนักธุรกิจใหญ่ของไทยรายหนึ่งมาแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ แต่ประเด็นอยู่ที่ เมื่อใช้เงินซื้อได้ก็สามารถกำหนดได้ว่าจะให้คนถาม ถามเรื่องอะไร ตามพล็อตที่วางไว้ และการกำหนดยุทธศาสตร์สื่อในลักษณะนี้จะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หรือ propaganda ซึ่งจะมุ่งไปที่การสร้างอารมณ์ความรู้สึกให้กับประชาชนผู้รับสื่อ โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลข้อเท็จจริง”

คำกล่าวของ ดร.เสรี ยังสอดคล้องกับ รายงานข่าวของ นิวยอร์กไทมส์ ที่ระบุว่า ทักษิณ ชินวัตร นอกจากจะมีบริษัท บาร์เบอร์ กิฟฟิธ แอนด์ โรเจอร์ เป็นล็อบบี้ยิสต์ให้ที่วอชิงตัน ดี.ซี.แล้ว ยังได้จ้างบริษัทประชาสัมพันธ์ชื่อ Edelman of New York ช่วยจัดการด้านสื่อให้อีกด้วย

อลัน แวนเดอร์โมเลน รองประธานฝ่ายเอเชียแปซิฟิกของ Edelman ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับนิวยอร์กไทมส์ ว่า “เราทำงานให้เขาในฐานะเอกชนรายหนึ่ง โดยเราจะจัดให้มีการการเผยแพร่ข่าวที่สนับสนุนความพยายามของเขาในการเดินทางกลับประเทศไทย”

เหตุกลัวติดภาพเผด็จการ

หากสังเกตความเคลื่อนไหวทางด้านสื่อของ พลเอกสุรยุทธ์ และคมช. ในช่วงเวลานี้ กับตลอดเวลาที่ผ่านมาจะเห็นว่า เป็นยุทธศาสตร์แบบตั้งรับตลอดเวลา และมีปัญหาในด้านการสื่อสารมาตลอด เรื่องนี้ นักวารสารศาสตร์ และนักวางกลยุทธ์ด้านประชาสัมพันธ์ชื่อดัง มองว่า ในเชิงการตลาดต้องมีสินค้าก่อนแล้วจึงจะมาโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้านั้น ปัญหาเรื่องการสื่อสารเป็นปัญหาที่มาที่หลัง ปัญหาที่มาก่อนคือคมช.ไปติดหล่มภาพลักษณ์ คำว่าติดหล่มภาพลักษณ์คือ คมช.กลัวเกินไปว่าจะเป็นเผด็จการ กลัวเกินไปว่าจะทำการอันใดแล้วเข้าข่ายสืบทอดอำนาจ

“จากความกลัวนี้เองเลยทำให้สิ่งที่เขาควรจะทำเพื่อขยายความ 4 เหตุผลหลักในการยึดอำนาจยังไม่ปรากฏชัด” ดร.เสรี กล่าว และว่า ดังนั้น เมื่อยังไม่ปรากฏชัดเลยทำให้เรื่องของการเผยแพร่สื่อสารประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องที่ คทช.กล่าวหารัฐบาลชุดที่แล้วไว้มันไม่เข้มข้น เช่น ทักษิณทำให้เกิดการแตกแยกของแผ่นดินอย่างไรเราก็ยังไม่เห็นชัดเจน ทักษิณทุจริตอย่างไร

หรือเรื่องที่รัฐบาลที่แล้วได้เข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระ ครอบงำองค์กรอิสระ แทรกแซงการทำงานของสื่อ จนทำให้สื่อ และองค์กรอิสระไม่สามารถถ่วงดุลได้ เรื่องนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน หรือแม้ในเรื่องการล่วงละเมิดพระราชอำนาจก็ยังไม่มีความชัดเจนเช่นเดียวกัน ตอนนี้เหมือนกับว่าทางรัฐบาล และคมช.ไม่มีโปรดักส์ก็เลยไม่มีอะไรที่จะมาโฆษณาประชาสัมพันธ์

“ถ้าจะทำการสื่อสารให้ดีขึ้นเขาจะต้องไปปรับปรุงโปรดักส์ตรงนี้ก่อน คือเรื่องของ 4 เหตุผลนี้ให้มีความชัดเจน” นักวางแผนกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ชื่อดัง กล่าว

ดร.เสรี ยังกล่าวอีกด้วยว่า จากปัญหาที่ คมช.ยังไม่สามารถทำให้สื่อมวลชนทั้งหลายมั่นใจว่าอำนาจเก่าจะไม่กลับ ดังนั้น บรรดาสื่อมวลชนทั้งหลายจึงใส่เกียร์ว่าง ไม่กล้าลุยในการนำเสนอความเลวร้ายของระบบทักษิณอย่างเต็มที่ ไม่กล้าแสดงตนเข้าข้างคมช.อย่างเต็มที่ ทำให้คมช.เกิดความเสียเปรียบ ขณะเดียวกันคมช.และรัฐบาลก็ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับว่าการที่จะมีการสื่อสารการประชาสัมพันธ์มันต้องมีงบประมาณ การที่จะขอให้สื่อมวลชนช่วยแบบปกติธรรมดาคงไม่ได้ เพราะสื่อมวลชนเคยชินแล้วว่าการประชาสัมพันธ์ภาครัฐต้องมีงบประมาณ เช่นจะประชาสัมพันธ์ด้านสาธารณสุขต้องมีการจ่ายเงินให้กับเอเยนซีมาวางแผน

“คมช.จะมาหวังว่าตนเองทำเพื่อประเทศชาติ ทำสิ่งดีงามฉะนั้นสิ่งดีเหล่านี้สื่อมวลชนควรจะ pick up เอาไปนำเสนอ อย่างนั้นไม่ใช่ ตามหลักของการประชาสัมพันธ์ที่พวกสื่อเขายึดอยู่ก็คือ ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตัง ฉะนั้นอะไรก็ตามที่คมช.ทำไม่ดีก็ไม่ต้องไปจ้างเขาทำ เขาลงให้เอง แต่ในสิ่งที่คมช.ทำดีหรือรัฐบาลทำดี กลับไม่ได้ลง”

ดังนั้น จึงต้องมีแผนงานการประชาสัมพันธ์ ต้องมีงบประมาณการประชาสัมพันธ์ เพราะการใช้งบประชาสัมพันธ์จะเป็นไปตามหลักของการสื่อสารการตลาดว่า ถ้าต้องการจะสื่อสารอะไรที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการ ผู้ต้องการสื่อสารต้องควบคุม (Control)ได้ ควบคุมได้คือต้องจ่ายเงินซื้อสื่อ มิเช่นนั้นประเด็นที่ต้องการให้ลงก็ไม่ลง แต่ประเด็นที่ไม่ต้องการให้ลงกลับไปลง

“สิ่งที่คมช.ขาด คือ ประการแรก ขาดโปรดักส์ที่ดี คือขาดการทำงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับ 4 เหตุผลหลักที่จะมาพูดคุย ประการที่สอง คือไม่มีนักยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์จะมานั่งทำงานอย่างจริงจัง และประการที่สามไม่มีงบประมาณในการประชาสัมพันธ์คาดหวังจิตสำนึกของสื่อว่าทำดีแล้วจะได้รับการเผยแพร่” ดร.เสรี กล่าว

ในส่วนของงบประมาณนั้น ดร.เสรี กล่าวว่า ถ้าจะใช้ก็ใช้ได้ งบกลางมีตั้งมากมาย แต่คมช. และรัฐบาลไม่กล้าใช้ เพราะกลัวว่าจะสร้างภาพแบบรัฐบาลชุดที่ผ่านมา อีกทั้งเมื่อจะเข้าไปขอความร่วมมือกับสื่อก็เกรงสื่อมองว่าแทรกแซง

“จริงแล้วทุกวันนี้ที่คมช.ตกหล่มสมานฉันท์ ตกหล่มกลัวการเป็นเผด็จการ ก็เกิดขึ้นจากสื่อนี่แหละที่เขียนบอกว่าระวังอย่าสืบทอดอำนาจ ระวังอย่าย้ำรอยรสช. ไปพูดอย่างนี้จนเขาทำอะไรต้องระวังมาก จริงแล้วสื่อต้องมองในสถานการณ์บางอย่างต้องช่วยคมช.ด้วย เพราะอย่าลืมว่าเขาบริหารประเทศไม่ใช่ในภาวะปกติ บริหารประเทศภายใต้สภาวะ ดังนั้น ถ้าเขาคุยกับสื่อ เขาเรียกร้องสื่อขอร้องสื่อ อย่าไปเรียกว่าเขาแทรกแซง เพราะถ้าเขาแทรกแซงหมายถึงเขาใช้อำนาจบังคับ นี่ไม่ใช่บังคับ แต่เป็นการขอร้อง ซึ่งควรเข้าไปอยู่ในสำนึกของสื่อบ้าง”

ถึงเวลารุกกลับทักษิณมาช้าดีกว่าไม่มา

ดร.เสรี กล่าวอีกว่า ภาพรวมของการออกมาตอบโต้ของรัฐบาล และคมช.ในวันนี้อาจจะช้า และมุ่งทำงานเชิงรับมาตลอด ดังจะเห็นได้จากทักษิณรุกมาที ทางรัฐบาลก็แก้ข่าวไปที ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่คมช.ต้องมาทำงานเชิงรุก

“มีอะไรที่อยากจะพูดเกี่ยวกับความดีของตนก็ต้องมีการวางแผนงานประชาสัมพันธ์ มีงบประชาสัมพันธ์ ขณะเดียวกันอยากจะชี้แจงความเลวร้ายระบอบทักษิณอย่างไรก็ต้องวางแผนพูดไปก่อน ไม่ใช่ให้ทักษิณมาแก้ตัวว่าผมไม่ผิดกฎหมาย ผมมาจากการเลือกตั้ง แล้วคมช.จึงไปนั่งอธิบายทีหลังว่า การเลือกตั้งแต่มันก็โกง การไม่ผิดกฎหมายมันก็เป็นการออกกฎหมายมารองรับการทำผิดของตนเอง หรือใช้เนติบริกรตีความให้กับตัวเอง สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นแล้วเราจะมาขยับที ขยับทีมันไม่ได้ มันต้องทำงานเป็นแบบเชิงรุก ถึงแม้จะบอกว่าเวลานี้จะช้าไปแต่ไม่ได้บอกว่า ไม่ควรทำ ช้าอย่างไรก็ควรทำ ถ้าเราวิ่งทีหลังคนอื่น เราอาจวิ่งให้เร็วกว่าคนอื่นได้”

วิเคราะห์ทักษิณ-คมช.ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ

หากวิเคราะห์ภาพการใช้สื่อระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรี กับคมช. และรัฐบาลชุดนี้ ภายใต้กรอบ Swot Analysis ที่มองถึงจุดแข็ง (Strength) จุดอ่อน (Weakness) โอกาส (opportunity) และอุปสรรค (Threat) จะพบว่า จุดแข็งของทักษิณ คือ ใช้สื่อเป็น และมีเงิน จุดอ่อน คือ ในฐานะของผู้ต้องหา และผู้ถูกกล่าวหาในหลายๆเรื่อง ดังนั้น การสื่อสารที่ออกมาจึงถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องจริง ส่วนโอกาสของทักษิณมีสื่อพร้อมที่ยอมรับเงิน มีข้าราชการที่ยังเกรงกลัวในอำนาจและอิทธิพล จึงพร้อมใจเข้าเกียร์ว่าง เนื่องจากกลัวการกลับมาของทักษิณ ส่วนอุปสรรคของทักษิณ คือ คมช.เป็นทหาร ซึ่งหากวันใดคิดจะทำอะไรจริงจังขึ้นมา ทักษิณก็คงอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่แน่นอน

สำหรับจุดแข็งของ คมช. คือ ความเป็นทหาร มีกองทัพอยู่ในมือ ได้รับเสียงเชียร์จากประชาชนเมื่อตัดสินใจเข้ามาทำการปฏิวัติ ภาพลักษณ์ทางสังคมของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นสุภาพบุรุษ จุดอ่อน คือ ไม่มีนักยุทธศาสตร์ทางการประชาสัมพันธ์ที่แท้จริงอยู่ในทีม ไม่คิดจะใช้งบประมาณ และเป็นคนที่ห่วงภาพลักษณ์ในการดำเนินงานที่จะต้องเป็นเผด็จการอย่างอ่อนๆ ส่วนโอกาสในเวลานี้ คือ ประชาชนเอาใจช่วย และภาพลักษณ์ของทักษิณไม่ดีค่อนข้างมาก ดังนั้น หากคมช.และรัฐบาลสื่อสารข้อมูลข่าวสารออกไปด้วยความชัดเจนแจ่มแจ้งและความถี่ที่สูงไม่ยากที่จะทำให้ประชาชนที่ยังฝังใจ และชื่นชมกับระบอบทักษิณได้รับรู้ความเป็นจริง และเปลี่ยนใจมาเข้าข้างรัฐบาลและคมช.ในที่สุด ส่วนอุปสรรค คือ ข้าราชการที่ไม่ร่วมมือกับคมช. ยังพบเห็นการใส่เกียร์ว่างที่ยังมีมากทั้งในส่วนของข้าราชการและเอกชน นอกจากนี้ทักษิณมียังเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจทำเงินตกอยู่ในมือสื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อให้ทำการต่อต้านคมช. และเชียร์ทักษิณ หากเป็นจริงคมช.คงตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก

รัฐบาลเดิมเกมเข้าทาง “เหลี่ยม”

ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญญาวงศ์ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒน-บริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเดินเกมเข้าทาง ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรีอยู่เสมอหรือการใช้สื่อของรัฐชี้แจงต่อประชาชนก็ดูล่าช้าไม่ทันใจ ว่า ต้องเข้าใจก่อนว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัน คือรัฐบาลเฉพาะกิจเข้ามาสะสางปัญหาบ้านเมืองโดยเฉพาะเรื่องสำคัญๆ ที่รัฐบาลชุดก่อนทำผิดพลาดเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแตกแยกของคนในสังคม,ปัญหาคอร์รัปชั่น,แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญและเหตุผล4ข้อที่ใช้เป็นเหตุผลในยึดอำนาจรัฐบาลชุดที่ผ่านมาปัญหาเหล่านี้คือปัญหาหลักๆที่ต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จทันตามวาระของรัฐบาลปัจจุบัน

อย่างไรก็ดีสิ่งที่หลีกเหลี่ยงไม่ได้คือความคาดหวังของสังคมที่ดูเหมือนรัฐบาลจะทำงานช้าไม่ทันใจดูอืดอาด เพราะหากเปรียบเทียบกับรัฐบาลของทักษิณ การขับเคลื่อนนโยบายเป็นรูปธรรมที่ประชาชนจับต้องได้ชัดเจน มีเป้าหมายตามที่ประกาศไว้ตอนหาเสียงแต่ถูกผิดอีกเรื่องหนึ่งเพราะรัฐบาลชุดที่แล้วมาจากการเลือกตั้งมาจากการอาสาเข้ามาทำหน้าที่จึงตอบโจทย์ประชาชนแบบประชานิยม ซึ่งต่างกับรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ที่มีกรอบระยะเวลาในการทำงานที่จำกัดจึงทำเฉพาะเรื่องที่สำคัญๆประชาชนจึงรู้สึกไม่ทันใจไม่ทันการณ์

“ผมคิดว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับเรื่องประชาสัมพันธ์ผลงานมากขึ้น และให้มีประชาชนมีส่วนร่วมในการทำงานของรัฐบาล ซึ่งเท่าที่ผมได้พูดคุยกับนายกรัฐมนรัฐมนตรีท่านก็บอกว่าต่อไปนี้การออกกฎหมายต่างๆประชาชนต้องรับรู้ถึงข้อดี-ข้อเสียให้ครบทุกด้านไม่ใช่ให้เป็นข่าวออกไปแล้วจึงค่อยมาแก้กันทีหลังอย่างนั้นมันไม่ทันการณ์” ดร.สมบัติ ระบุ

นอกจากนี้แล้วที่หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ไม่ทันเกมทักษิณนั้นก็ไม่จริงไปทั้งหมดเพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่มีหน้าทำการเมืองเพื่อต่อสู้กับขั้วอำนาจเก่า แต่เข้ามาเพื่อความปรองดองของคนในชาติจึงทำเฉพาะเรื่องที่จำเป็นจริงๆ ส่วนเรื่องนโยบายที่ไม่ต้องเร่งด่วนมากก็ให้รัฐบาลชุดต่อไปที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาหน้าที่นั้นได้

ขาดการวางกลยุทธ์เลยเละเป็นโจ๊ก

ชลิต ลิมปนะเวช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ หรือเอแบค กล่าวว่า การที่คมช.ไม่สามารถดำเนินการกับระบอบทักษิณอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นเพราะการที่รัฐบาลไม่ยอมอายัดทรัพย์สินทั้งของอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี และแกนนำของรัฐบาลในชุดที่แล้ว ทำให้สามารถนำเม็ดเงินที่มีจำนวนมหาศาลมาเคลื่อนไหวได้

นอกจากนี้ต้องยอมรับว่า รัฐบาลชุดทักษิณมีจุดแข็งตรงที่หัวหน้ารัฐบาลมาจากภาคธุรกิจ ทำให้เข้าใจปัญหาของภาคธุรกิจ และการทำธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีการดึงนักวิชาการทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ นักบริหารกลยุทธ์ชั้นนำเข้ามาร่วมวางแผนแม่บทของประเทศ

จุดอ่อนก็คือ การที่มีบริวาร ญาติพี่น้องในตระกูลเข้ามาหาผลประโยชน์ผ่านโครงการต่างๆ ทำให้ภาพลักษณ์ของทักษิณไม่โปร่งใส ไม่ซื่อสัตย์ ส่วนโอกาสนั้น ชลิต กล่าวว่า เนื่องจากช่วงจังหวะที่ทักษิณเข้ามาบริหารประเทศนั้น เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะย่ำแย่ จนไม่มีอะไรจะย่ำแย่ไปกว่าช่วงเวลานั้นอีกแล้ว และจากการที่สามารถฟื้นเศรษฐกิจกลับมาได้ แม้จะด้วยวิธีการใดก็ตาม จึงกลายเป็นผลงานที่ทำให้หลายคนให้ความเชื่อมั่น อีกทั้งการที่ทักษิณเข้าใจว่าการจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งจะต้องเข้าถึงตลาดแมส หรือตลาดระดับรากหญ้า ดังนั้น จึงใช้กลยุทธ์ประชานิยม ฉวยโอกาสหว่านเงินของคนอื่น เพื่อสร้างชื่อ และความนิยมให้กับตนเอง

“เขารู้ว่าจุดอ่อนของประเทศอยู่ที่รากหญ้า ถ้าเขาคุมได้ก็จะคุมประเทศได้ทั้งหมด” ชลิต กล่าว

หันมามองจุดแข็งและจุดอ่อนของ คมช.และรัฐบาลบ้าง เรื่องนี้ ชลิต คณบดี และนักการตลาด กล่าวว่า แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลแบบอุบัติเหตุ คือ ปฏิวัติด้วยความจำเป็นจึงไม่มีการตั้งทีมกลยุทธ์ขึ้นมาก่อน แต่เนื่องจากมีจุดแข็งเป็นทหารของพระเจ้าอยู่หัว และมีภาพที่ซื่อสัตย์ จึงเป็นโอกาสอันดีในการพิสูจน์สิ่งที่ตนเองได้ทำลงไปว่าทำเพื่อต้องการนำคนที่คอรัปชั่นมาลงโทษ และต้องการสร้างสังคมไทยใหม่

ส่วนอุปสรรคที่สำคัญในช่วงเวลานี้คือ การมีคลื่นใต้น้ำมาก อันเนื่องจากการไม่มีนักวางแผนกลยุทธ์เข้ามาร่วม ซึ่งถ้ามีนักวางแผนตั้งแต่แรกปัญหาต่างๆจะไม่เกิดขึ้น และคมช.กับรัฐบาลไม่ต้องประสบกับการแก้ปัญหารายวันเฉกเช่นทุกวันนี้

นักวิชาการชี้วิกฤติขาดทีมเวิร์คเร่งผนึกคนเสริมจุดแข็ง

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข กรรมการบริหารหัวหน้าหลักสูตรการบริหารงานบุคคล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าระยะเวลาของการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ยังค่อนข้างสั้นหรือประมาณ 3 เดือนเท่านั้น แต่ต้องอาศัยจุดที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้การต้อนรับและด้วยเป็นชุดรัฐบาลที่มีความรู้ หรือมีภาพลักษณ์ “คนเก่ง คนดี” มาเป็นโอกาสโดยเร่งทำงานในเชิงรุกมากขึ้น

ทั้งนี้เกี่ยวเนื่องในเชิงของการบริหารบุคคล เพราะยังขาดการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง ฉะนั้นการทำงานยังประสานกันไม่เกิดความกลมกลืน ถ้าแก้ไขปัญหาต้องจุดนี้ได้จะทำให้สามารถเกิดการทำงานที่คล่องขึ้นและรวดเร็วกว่านี้

แนวทางแก้ไขนั้นต้องยอมรับในจุดหนึ่งว่ารัฐบาลไม่มีสิทธ์ในการจัดการคนเท่าไหร่ แต่การสร้างความเป็นทีมนั้นถ้าชี้แจ้งเป้าประสงค์แต่เริ่มต้น และจัดวางคนทำงานในจุดที่เหมาะสม

ถ้าระบุตัวบุคคลคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่มีความรู้ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษไม่น้อยหน้าใคร เพราะปกติทหารภาษาอังกฤษจะค่อนข้างอ่อน แต่นายกฯ เป็นผู้นำที่มีสง่า ราศี แต่การที่เป็นนักการทหารมาก่อน เวลามาบริหารคน จึงต้องดึงจุดดีของคนในรัฐบาลมาใช้

“เข้าใจว่าชุดรัฐบาลแต่ละท่าน มีประสบการณ์การทำงาน แต่พอมารวมเป็นทีมยังดึงจุดแข็งแต่ละคนมายังใช้ไม่หมด”

รศ.ดร.ศิริยุพา กล่าวต่อไปอีกว่า ในแง่ของการบริหารคน ยังมีมิติอื่นๆ อีก แต่ถ้าจะมามองว่าคนไม่มีความสามารถ คนไม่ทำงาน ต้องเอาออกไปเลย ไม่ว่าบุคคลในชุดรัฐบาลหรือข้าราชการ เพราะถึงแม้เป็นคนเก่ง แต่ทำงานเป็นทีมไม่ได้ ไม่ต้องเอาไว้ดีกว่าคนมาทะเลาะกัน

ขณะเดียวกันยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การเป็นรัฐบาลในระยะเวลา 1 ปี ประชาชนทั่วไปต้องการมากกว่าเป็นรัฐบาลชั่วคราว หรือเป็นรัฐบาลขัดตาทัพ เพราะยังมีโอกาสที่จะสร้างอะไรให้เกิดขึ้นได้มาก เพราะคนในประเทศค่อนข้างยอมรับและรอคอยรัฐบาลที่สะอาดเข้ามาทำงาน ลำดับต่อไปที่ต้องการคือประสิทธิภาพและการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีข้อที่ชัดเจนว่าทำอะไรไม่ดี แต่คนต้องการเห็นแอคชั่นที่รวดเร็ว ชัดเจนมากกว่านี้ ถ้าทีมที่แพคกันแน่นแล้วน่าจะไปกันได้

“งานของรัฐบาลมีร้อยแปด ต้องหางานที่เป็นจุดสร้างเครดิตให้รัฐบาลให้ได้ หรือพิจารณาลำดับสำคัญของการเริ่มต้น ขอให้ดึงขึ้นภายในหนึ่งปี หรือ 3 เดือน 6 เดือน ให้เห็น เช่น การศึกษา หรือปัญหาภาคใต้ เป็นประเด็นที่ถึงแม้เป็นรัฐบาล 1 ปี แต่คนรอดูผลงานอยู่ ที่จริงการบริหารคนก็ต้องมองดูตลาดลูกค้าด้วยคือประชาชน

ไม่ต้องทำหลายชิ้น แต่เอาชิ้นหลักก่อนที่คนมองอยู่ เช่น ปัญหาความมั่นคงเรื่องภาคใต้เพราะกระทบเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองในประเทศ ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองต้องรีบทำ”

นอกจากนี้ได้มองถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นว่า เกิดจากต่างชาติมากกว่าซึ่งเกิดความไม่เข้าใจ ว่าเป็นรัฐบาลทหารไม่มีประชาธิปไตย ยิ่งมีปัญหาระเบิด ต่างชาติยิ่งมองไม่ดี

ทั้งนี้รัฐบาลต้องมีการให้ข่าวสารข้อมูล เป็นการวางแผนกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์การสื่อสาร เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่จะแก้ไขปัญหาอุปสรรคและการเข้ามาลงทุนต่างๆ

รวมถึงคนในชุดรัฐบาลต้องการรักษาความโปร่งใส และ รับฟังความเห็นของประชาชนดึงเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานหรือเป็นการเข้าหาประชาชนแก้ไขปัญหาร่วมกัน การใกล้ชิดประชาชน เข้าใกล้ปัญหาจะทำให้ทำงานเชิงรุกได้มากขึ้น

นิด้าแนะเตรียมความพร้อมด้วยศก.พอเพียง

ดร.สมบัติ กุสุมาวลี รองคณบดี คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ แสดงความคิดเห็นถึงการบริหารจัดการของรัฐบาลชุดปัจจุบันในมิติด้านบุคลากรว่า ในมุมมองส่วนตัวเห็นว่าต้องมองด้วยความเห็นใจก่อน เนื่องจากที่มาของรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีการเตรียมตัว เพราะจำเป็นต้องจัดตั้งทีมงานขึ้นมาอย่างกะทันหัน และเป็นรัฐบาลชั่วคราว จึงไม่สามารถจะทำงานได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้มีบุคลากรที่อายุมาก มีประสบการณ์การทำงานสูง ดังนั้น ในแง่ของความรอบคอบ ในการบริหารจัดการ การทำงานอย่างเป็นขั้นตอน และพยายามทำให้เห็นถึงความโปร่งใสถูกต้องตามหลักกติกา จึงเห็นว่าเป็นจุดแข็ง ซึ่งเป็นบุคลิกที่ต่างกับรัฐบาลชุดที่แล้ว

แต่สำหรับการตอบโต้ควรจะมีความรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ เช่น เมื่อเกิดเหตุระเบิดก่อกวนความสงบที่ผ่านมา ควรจะนำขบวนออกมารณรงค์ปลุกขวัญกำลังใจ และความสามัคคีของคนในชาติ แต่เมื่อรัฐบาลเงียบไปหลายๆ คนจึงไม่ทราบว่ารัฐบาลกำลังส่งสัญญาณอะไรทำให้เกิดความกลัวมากขึ้น

ดร.สมบัติ มองว่า ประเทศไทยมีจุดอ่อนทุกจุดไม่ว่าจะเป็นทั้งสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ในด้านของสังคมเต็มไปด้วยความเครียด การแข่งขันขาดตัวอย่างที่ดีงาม ขณะที่เศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ที่จะตามมาในอนาคต ถ้ามองในแง่คนจะเกิดวิกฤตคุณภาพของคนในอนาคตจะเห็นแนวโน้มความได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบของคนจะเริ่มหมดไปเรื่อยๆ เช่น ค่าแรงซึ่งหมดความได้เปรียบไปแล้ว ส่วนทักษะและความรู้จะตามคนอื่นไม่ทัน

ในด้านเทคโนโลยีของไทย เรียกได้ว่า มีความทันสมัยแต่ไม่พัฒนา เช่น การมีสื่อเสรีที่รวดเร็วแต่เนื้อหาสาระส่วนใหญ่ไม่มีคุณภาพ ด้านการเมืองอ่อนแอเพราะคนทั่วไปเห็นว่าทุนนิยมสำคัญกว่าประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ และกระบวนการได้มาซึ่งนักการเมืองนั้นมีปัญหา รวมทั้งระบบราชการซึ่งที่ผ่านมาเน้นหนักเรื่องประสิทธิภาพ

ดังนั้น การเตรียมพร้อมโดยการวางแผนระยะยาวให้กับรัฐบาลชุดต่อไปนั้น บางเรื่องเตรียมไว้ดีแล้ว เช่น การสร้างค่านิยมใหม่ โดยการเตรียมปลูกฝังเรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเห็นว่าเป็นรากฐานที่สำคัญมากสำหรับสังคมไทย และเตรียมความพร้อม ทักษะ ความรู้ และทัศนคติชุดใหม่ให้คนในสังคม ขณะที่สื่อโดยเฉพาะทีวีควรต้องปรับปรุงเพราะหล่อหลวมจิตสำนึกที่ไม่ดีงามให้สังคม

“เป็นเรื่องดีที่ท่านนายากรัฐมนตรีพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงว่าสามารถประยุกต์ใช้ในทุกภาคส่วน แต่ดูเหมือนว่าคณะรัฐมนตรียังไม่มีความพร้อมเพรียงกันในเรื่องนี้ เพราะรับมนตรีบางท่านแทบจะไม่ได้พูดในเรื่องนี้เลย สัญญาณที่ส่งออกมาไม่แรงพอ จึงอาจจะกลายเป็นจุดอ่อนได้ เพราะถ้าทำต้องทุกกระทรวงส่งสัญญาณไปพร้อมๆ กัน

เพราะโดยภาพรวมของความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ดูจะยังไม่ชัดเจนแม้จะมีการพูดกันมาก มักจะมีการอ้างคำว่าพอ ทั้งที่ต้องเห็นก่อนว่าเราสามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงหรือยัง”

สำหรับโอกาส เนื่องจากที่ผ่านมาภาคราชการถูกเน้นเรื่องประสิทธิภาพจากรับบาลชุดเดิมมากเกินไป ทำให้ในภาคราชการหลายคนบ่นถึงเรื่องของความมีคุณภาพ เช่น การทำงานอย่างมีวินัย ความโปร่งใส จึงมองว่าเป็นโอกาสของรัฐบาลชุดนี้ที่จะสนับสนุนให้เกิดคุณภาพในภาคราชการได้เป็นอย่างดี ในภาคเอกชนหลายหน่วยงานมองเห็นความจำเป็นในการสร้างองค์ความรู้ จึงเห็นว่าเป็นโอกาสของรัฐบาลในการส่งเสริมองค์ความรู้ของสังคมไทย โดยควรร่วมมือกับเอกชนรายนั้นเพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีงาม และขยายวงออกไป เพราะประเทศไทยต้องการจะก้าวไปเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และประเทศอื่นๆ มีเอกชนเป็นตัวนำในเรื่องนี้เช่นกันโดยรัฐบาลร่วมผลักดัน

นอกจากนี้ มองว่าในส่วนภารกิจรัฐบาลมี 2 ประเด็นใหญ่ที่สำคัญ คือ เรื่องเฉพาะหน้าที่ต้องทำมีรัฐมนตรีหลายคนพยายามแสดงบทบาทที่ชัดเจน เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งออกมาดำเนินการเรื่องค่าเชื่อมโยงโครงข่ายที่ทรูมูฟและดีแทคต้องจ่ายให้กับบริษัท ทีโอที ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ เพราะความต้องการดูแลผลประโยชน์ของประเทศเป็นเหตุผลหนึ่งของการออกมาปฏิวัติในครั้งนี้ ส่วนเรื่องระยะยาว คิดว่าเป็นเรื่องของคน ซึ่งรัฐบาลต้องวางรากฐานที่ดีงาม และกฎกติกาเพื่อสังคมไทยในอนาคต และเตรียมพร้อมให้กับรัฐบาลในชุดต่อมา

ทางด้านอุปสรรคการบริหารจัดการคนให้ก้าวหน้า เนื่องจากจากคนไทยที่ถูกหล่อหลอมมาด้วยทัศนคติ ค่านิยม และวัฒนธรรมแบบไทยๆ เช่น จะเห็นได้ว่านายทุนไทยจำนวนมากยังไม่เห็นถึงความสำคัญของการสร้างองค์กความรู้ซึ่งเป็นประโยชน์ในระยะยาว หรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม

ขณะที่ ประเทศญี่ปุ่น จะเห็นว่า เอกชน คน ประเทศ มีการมองอย่างเป็นองค์รวมว่าเอกชนได้ประโยชน์ ประเทศก็ได้ด้วย แต่ประเทศไทย เอกชนไม่ได้มองภาพรวมของประเทศเท่าไหร่ มักจะมุ่งผลประโยชน์เฉพาะหน้า นี่คืออุปสรรคใหญ่และเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่จะเปลี่ยนทัศนคติของคนไทย รัฐบาลชุดนี้คงทำอะไรไม่ได้มาก มีแต่การเตรียมปูพื้นฐานโดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเน้นถึงความยั่งยืน


เหลี่ยมจ้อผ่านสื่อยุ่นขย่มไทยอีกระลอก

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังคงอยู่ในญี่ปุ่นได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์อาซาฮี เมื่อวันที่23 มกราคม โดยระบุว่า ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงและไทยจำเป็นต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นของต่างชาติโดยแสดงให้เห็นว่ามีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

“ความน่าเชื่อถือของกฎหมายและระบบศาลยุติธรรมของไทยในสายตาต่างชาติกำลังย่ำแย่ สิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศวิตกกังวลคือการที่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญและไม่เคารพกฎหมาย”

ทักษิณ ยังแสดงความคาดหวังว่าคงจะไม่ต้องอาศัยอยู่นอกประเทศเนิ่นนานนัก พร้อมกล่าวว่า สามารถแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์และทำประโยชน์ในการสร้างความสามัคคีในชาติ และฟื้นฟูความเชื่อมั่นในสายตาประชาคมระหว่างประเทศต่อประเทศไทยให้กลับคืนมา เพราะการปฏิวัติที่ผ่านมาทำลายชื่อเสียงของไทยในประชาคมโลกที่ผู้นำซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนถูกโค่นล้มจากอำนาจ

“คนไทยชอบประชาธิปไตย และไม่เคยต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการหรือรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตย พวกเขาอาจสามารถทนได้และยอมให้กับสิ่งนี้ในระยะหนึ่ง แต่ไม่ใช่ในระยะยาว หากรัฐบาลทหารเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป ประชาชนและนักลงทุนต่างชาติจะหลีกหนีจากประเทศไทย เพราะคนไทยก็เป็นเหมือนกับนักลงทุนต่างชาติที่จะไม่ทนต่อระบอบเผด็จการทหารเป็นเวลานาน”

นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า ผู้นำกองทัพก็คือข้าราชการซึ่งไม่มีความตั้งใจและความสามารถพอที่จะเท่าทันการแข่งขันที่กำลังเข้มข้นในโลก และหากได้รับอนุญาตให้กลับประเทศต้องขอการรับประกันว่าจะได้รับความปลอดภัย เพราะไม่ได้มีเจตนาใดๆ ที่จะกลับสู่เวทีการเมือง โดยจะปล่อยให้สมาชิกรุ่นใหม่ของพรรคเป็นคนนำประเทศต่อไป

“ผมกำลังรอให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ เพราะผมต้องการที่จะขอให้รัฐบาลทหารฟื้นฟูความเป็นเอกภาพระหว่างคนไทยด้วยกัน ผมเชื่อว่าผมสามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศ และบอกกับกลุ่มผู้สนับสนุนของผมว่า โอเค นี่คือเวลาที่เราต้องหันมาสู่ความสมานฉันท์ ประเทศไทยยังเป็นที่ที่ดีสำหรับเข้ามาทำงานและมาลงทุน นี่คือสิ่งที่ผมจะบอกกับนักลงทุน รัฐบาลต่างชาติ และภาคเอกชน”

นอกจากนี้ ทักษิณยังให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเกียวโด ของญี่ปุ่นโดยย้ำว่า การเดินทางมาญี่ปุ่นในครั้งนี้ก็เพื่อชอปปิ้งกับครอบครัว และพบกับเพื่อนเก่าจากภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่น แต่ปฏิเสธที่จะระบุชื่อบุคคลที่เข้าพบหรือเปิดเผยรายละเอียดอื่นๆ ซึ่งเกียวโดระบุว่า เป็นเพราะไม่ต้องการให้เกิดความตึงเครียดระหว่างไทย-ญี่ปุ่น หลังจากที่การเดินทางเยือนสิงคโปร์ก่อนหน้านี้ของ ทักษิณซึ่งมีการพบกับ เอส. จายากุมาร รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเกิดปัญหา

อย่างไรก็ดี เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับปฏิกิริยาของรัฐบาลไทยต่อสิงคโปร์ ทักษิณกล่าวว่า รัฐบาล ควรจะนิ่งกว่านี้ และไม่ปริวิตกจนเกินไป แต่รัฐบาลคงไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติแบบสากล

ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ ทักษิณย้ำว่า จะไม่เดินทางกลับไทยเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ แต่ยืนยันว่าตนเองมีสิทธิเต็มที่ที่จะเดินทางกลับไปในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง แต่ไม่ระบุเวลาแน่ชัดว่าจะเดินทางกลับไทยเมื่อใด

นอกจากนี้ ทักษิณยังปฏิเสธข้อกล่าวหาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐบาลทักษิณรวมถึงการใช้อำนาจโดยมิชอบขณะอยู่ในตำแหน่ง โดยกล่าวว่า คอร์รัปชั่นคือข้ออ้างสำหรับการปฏิวัติทุกครั้ง แต่ตนเป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อประชาธิปไตยจะกระทำสิ่งที่เป็นการละเมิดกฎหมายได้อย่างไร

เมื่อถามว่า ทำไมจึงยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท. ทักษิณอย่างต่อเนื่อง พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า นั่นอาจเป็นผลจากข้อเท็จจริงที่ว่าผลประโยชน์ของคนในกองทัพถูกทำลายด้วยโครงการที่รัฐบาลภายใต้การนำของเขาริเริ่มขึ้น


จ้างลอบบี้ยิสต์เปิดศึกข้ามชาติ

ในเว็บไซต์ www.korbsak.com ของ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดเผยข้อมูลถึงความเป็นมาของบริษัท บาร์เบอร์ กริฟฟิธ แอนด์ โรเจอร์ส (บีจีอาร์) ซึ่ง ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ว่าจ้างให้ทำงานให้ ว่า เป็นบริษัทล็อบบี้ชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกาจริง มีอิทธิพล เส้นสายใหญ่โต สนิทสนมกับรัฐบาลของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เป็นอย่างดี ส่วนโรเบิร์ต ดี. แบล็กวิล หัวหน้าทีม เบอร์ 1 ของบริษัทก็ดำรงตำแหน่งใหญ่โตในเวทีการเมืองของสหรัฐฯ

การที่ นพดล ปัทมะ ทนายความของทักษิณระบุว่า ทักษิณไปพบปะกับตัวแทนของบีจีอาร์เพราะรู้จักกันในฐานะที่รัฐบาลไทยเคยว่าจ้างบริษัทบีจีอาร์นั้น กอร์ปศักดิ์ระบุว่า กล้าเดิมพันได้เลยว่า รัฐบาลไทยไม่เคยว่าจ้าง บริษัทบีจีอาร์ให้เป็นลอบบี้ยิสต์อย่างแน่นอน มีแต่บริษัท ชินแซทเทลไลท์ ต่างหากที่เป็นลูกค้าของบริษัทบีจีอาร์ โดยเริ่มจ้างกันมาตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2544 (2001) จ่ายเงินไปทั้งหมด คาดว่าจะประมาณ 160,000 ดอลลาร์หรือประมาณ 8 ล้านบาท สัญญาว่าจ้างยุติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 (2003)

ทั้งนี้ งานที่ บริษัท ชินแซทเทลไลท์ มอบหมายคือ ขอให้ล็อบบี้ สภาสูง (Senate) และสภาล่าง (Representatives) รวมทั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของสหรัฐฯ เพื่อให้สนับสนุนการขอกู้เงิน เพื่อใช้ในโครงการดาวเทียม (IP Star) นั่นเอง ซึ่งมีเอกสารที่นำเสนออยู่ในระบบของ สภาสูงของสหรัฐฯ (US Senate)

กอร์ปศักดิ์ ระบุด้วยว่า ทักษิณได้ว่าจ้าง บีจีอาร์ ให้เป็นผู้ให้คำแนะนำ และให้คำปรึกษา(guidance and council) สำหรับผลประโยชน์ของ ทักษิณ ในวอชิงตัน ดี.ซี. และในต่างประเทศ (Thaksin’s interest in Washington DC and abroad) ทำสัญญาว่าจ้างเป็นการส่วนตัว โดยทักษิณ ใช้ที่อยู่ที่ Mayfair District, London

นอกจากนี้ กอร์ปศักดิ์ยังเปิดเผยเอกสารที่ได้มาจากระบบการรายงานของสภาสูงของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ระบุถึงชื่อ ทักษิณ เป็นผู้ว่าจ้าง โดยระบุว่าเอกสารที่นำมาแสดงมาจากระบบการรายงานของสภาสูงของสหรัฐฯ รายงานเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 สองเดือนที่ผ่านมานี้ โดย ทักษิณ ได้จ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับอินเตอร์มาเป็นกุนซือวางแผนให้ทั้งหมด

นั่นคือ Robert Blackwill รองผู้ช่วยประธานาธิบดี / รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคง (Deputy Asst. to President / Deputy National Security advisor) และ Walker Roberts รองหัวหน้าสำนักงานกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Deputy Chief of Staff, House Int’l Relations Comm.)

กอร์ปศักดิ์ระบุด้วยว่า ทั้งสองคนนี้ “ไม่ธรรมดา” เพราะมีเส้น มีสาย พอสมควร เขาจึงตั้งข้อสังเกตว่า ไม่น่าแปลกที่ระยะหลังถึงได้เห็นว่าสื่อต่างประเทศบางรายให้ความสำคัญเกินพอดีกับอดีตนายกฯ ที่ชื่อ “ทักษิณ”ทั้งการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ เอเชียน วอลล์สตรีท เจอร์นัล กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น หรือแม้แต่การพูดผ่านสื่อมวลชนที่ญี่ปุ่นในช่วงวันสองวันที่ผ่านมา

หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวของทักษิณในช่วงที่ผ่านมา มีนัยทางการเมืองไม่น้อย ตั้งการเดินทางไปกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2549 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่พลเอกสุรยุทธ์ เข้าร่วมประชุมอาเซียน-จีน ที่เมืองหนานหนิง จากนั้นในวันที่ 11 พ.ย. 2549 เดินทางไปฮ่องกง ก่อนเดินทางไปบาหลี อินโดนีเซีย เพื่อร่วมฉลองวันเกิดคุณหญิงพจมาน ขณะที่พลเอกสุรยุทธ์ร่วมประชุมอาเซม ที่เวียดนาม และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2550 เดินทางไปสิงคโปร์ช่วงเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีประชุมอาเซียน-ซัมมิต ที่ฟิลิปปินส์ และให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศจนส่งผลกระทบต่อรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการแสดงความบริสุทธิ์ของทักษิณให้ชาวโลกเห็นใจว่า กำลังถูกกลั่นแกล้งและดิสเครดิต ทำลายความชอบธรรมรัฐบาล และคมช.   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us