บรรยากาศการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับแต่เริ่มก่อตั้งของบริษัทเวสท์
แมเนจเม้นท์ สยาม (WMS) ค่อนข้างร้อนอบอ้าว เพราะนอกจากเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการพูดถึงผลการดำเนินงานที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในประเทศไทยแล้ว
ยังจัดขึ้นในวันเดียวกับที่เครื่องปรับอากาศของห้องซันฟลาวเวอร์ ภายในบางกอกคลับ
บนชั้นที่ 28 อาคารสาธร ซิตี้ เกิดขัดข้องขึ้นชั่วคราว
Edward A. Corcoran ประธานกรรมการ และผู้อำนวย การฝ่ายปฏิบัติการ WMS ถึงกับต้องถอดเสื้อนอกออกระหว่างการแถลง
"ปริมาณธุรกิจของเรายังค่อนข้างต่ำและไม่มั่นคง เนื่อง จากยังมีผู้ให้บริการอีกหลายรายที่ทำไม่ถูกต้อง
ไม่ถูกกฎหมาย และกฎหมายเองก็ยังนำมาบังคับใช้ไม่เต็มที่" Edward Corcoran
ให้เหตุผล
WMS เป็นผู้ให้บริการศูนย์กำจัดของเสียชนิดไม่อันตรายครบวงจร ที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการรายเดียวในประเทศไทย
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 ปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินการ "ศูนย์กำจัด ของเสียครบวงจรเพื่อสิ่งแวดล้อม"
(Eastern Seaboard Environmental Complex : ESBEC) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่
275 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมชลบุรี (บ่อวิน)
ESBEC ให้บริการหลุมฝังกลบขยะไม่มีพิษแบบนิรภัย (Secure Landfill) ที่ได้รับการออกแบบอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
นอกจากนี้ยังให้บริการขนส่งและคัดแยกขยะเพื่อนำมาสู่กระบวนการผลิตใหม่ (Recycle)
บริการบำบัดน้ำเสีย ระบบรวบรวมและกำจัดก๊าซ และบริการตรวจสอบ และติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ภายใต้เงื่อนไขที่ได้รับอนุมัติในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และระบบ
ISO 14000
กลุ่มลูกค้าของ ESBEC ประกอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม และธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีขยะมูลฝอยชนิดไม่อันตรายในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก
โดยมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าไม่เฉพาะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเท่านั้น
แต่ยังขยายขอบข่ายการให้บริการไปทั่วประเทศ
ESBEC เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
แต่จนถึงปัจจุบัน ปริมาณธุรกิจที่เข้ามามีน้อยมาก
ความจุของหลุมฝังกลบของ ESBEC สามารถรองรับขยะได้ในปริมาณสูงสุดถึง 2 ล้านลูกบาศก์เมตร
มีความสามารถ ในการให้บริการตรวจรับ และฝังกลบขยะวันละ 500-2,000 ตัน แต่ปริมาณขยะที่มีเข้ามาในแต่ละวัน
ปัจจุบันมีไม่ถึงครึ่ง
"มันเป็นเรื่องของพฤติกรรม (behaviour) ของนักธุรกิจไทย ที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง"
Corcoran ค่อนข้างจะเน้นย้ำเรื่องความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง behaviour
บ่อยครั้งตลอดการแถลงข่าว และ behaviour ที่เขาสรุปออกมาได้มีหลายข้อ แต่ที่สำคัญคือเรื่องของการลดต้นทุน
โดยเฉพาะความนิยมในการกำจัดขยะโดยใช้วิธีการเทกอง ที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าวิธีการฝังกลบ
ทำให้บริษัทอุตสาหกรรมของไทยไม่นิยมใช้วิธีหลัง แม้ว่าจะถูกหลักวิชาการมากกว่า
ปัจจุบันการให้บริการกำจัดขยะโดยวิธีการเทกองในประเทศไทย มีผู้ให้บริการอยู่แล้วคือผู้บริหารส่วนท้องถิ่น
เช่นเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล แต่ส่วนมากเป็นการจัดการ โดยปราศจากการควบคุมให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล
โดยเป็น เพียงการนำขยะมาเท และกองสุมไว้เฉยๆ
"แม้แต่บริษัทที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นบริษัทชั้นนำระดับประเทศ
ก็มีหลายแห่งที่ละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อม และบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมที่ต้องเข้าไปตรวจสอบเพื่อให้การรับรองในมาตรฐานอุตสาหกรรม
หรือ ISO 14000 เอง ก็ไม่เปิดเผยว่าบริษัทเหล่านั้นมีวิธีการจัดการกับขยะ
หรือของเสียอย่างไร โดยวิธีใด"
ESBEC คิดค่าใช้จ่ายในการจัดการกับขยะในอัตราตันละ 1,000-1,500 บาทต่อเดือน
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเทกอง โดยผ่านเทศบาลตกเดือนละไม่ถึง 100 บาท นอกจากนี้กิจการอีกหลายแห่งยังนิยมนำขยะไปทิ้งยังที่ว่างเปล่า
โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างยิ่งต่อธุรกิจของ
ESBEC
"ค่าใช้จ่ายในการจัดการกับของเสียของ ESBEC คิดแล้วไม่ถึง 0.1% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด"
เขาย้ำว่าแม้ดูตัวเลขอาจสูง แต่ผลที่ได้รับต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม และประโยชน์ที่จะตกกับสังคมแล้วถือว่าคุ้มค่า
อีกจุดหนึ่ง ซึ่ง Corcoran พยายามย้ำคือภาวะการแข่งขัน การค้าในตลาดโลกปัจจุบัน
ที่กำลังมีความพยายามเปิดเสรีทางด้านภาษี ดังนั้นแต่ละประเทศจึงจำเป็นต้องสรรหาวิธีการกีดกันการค้ารูปแบบอื่น
ซึ่งประเด็นของสิ่งแวดล้อม ก็เป็นประเด็นสำคัญ ประเด็นหนึ่งที่ถูกนำมาใช้
"ระบบของ WMS ถูกออกแบบมาตามมาตรฐานที่ถูกกำหนดโดยองค์กรการค้าโลก (WTO)
ตลาดร่วมยุโรป (EU) และ มาตรฐานสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (USEPA)"
การแถลงข่าวเปิดตัว WMS ครั้งนี้อาจดูแตกต่างจาก การเปิดตัวบริษัทอื่นๆ
ทั่วไป เพราะประเด็นที่ถูกนำมาพูดส่วน ใหญ่เป็นเรื่องของปัญหา ซึ่ง Edward
A. Corcoran คงคาดหวังไว้เป็นอย่างยิ่งว่าเหตุผลต่างๆ ที่นำมาพูดผ่านสื่อในครั้งนี้
น่าจะมีผลกระตุ้นให้เอกชนไทยมีการตื่นตัว และปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการกับขยะใหม่
ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล