|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ในที่สุด ตระกูลแบงเกอร์เก่าแก่ "รัตนรักษ์" เจ้าของแบงก์สีเหลืองสด"กรุงศรีอยุธยา" ก็เลือก "ที่จะอยู่และไป" ในเวลาเดียวกัน ภายใต้ปีกมหามิตรจากโลกตะวันตก "จีอี" หรือ กองทัพ"ข่าน"แห่งวงการรีเทล แบงกิ้ง" ด้วยความเต็มอกเต็มใจ...ที่อยู่ก็คือ การรักษาธนาคารที่เป็น"มรดกชิ้นสำคัญของตระกูล" เอาไว้ได้สุดชีวิต และที่ไปก็คือ ยอมคายหุ้นที่ถือทั้ง29% เพื่อเปิดทางให้ "พันธมิตร" ที่กลายมาเป็น "เครือญาติสนิท" เข้ามายึดครองอาณาจักรที่เคยเป็นของ "รัตนรักษ์" มานานกว่า 60 ปี ตลอด 2 ชั่วอายุคน อย่างสมบรูณ์แบบ แต่โดยดี...
งานเปิดตัว โครงสร้างผู้บริหารใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งใน "แผน 100 วัน" ของดีล "จีอี" และ แบงก์กรุงศรีอยุธยา ที่ลงเอยอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง เมื่อสัปดาห์ก่อน คือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้มาใหม่ "จีอี" คือผู้กำหนดชะตากรรมแบงก์ของตระกูล "รัตนรักษ์" อย่างแท้จริง
ถึงแม้จะไม่มีความเคลื่อนไหวในเชิงนโยบายให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างตลอดช่วงเวลา 1 ชั่วโมง แต่ข้อมูลฝั่งตัวแทนผู้บริหารชาวญี่ปุ่นจาก "จีอี" ก็มากพอจะคาดเดาได้ว่า ครึ่งแรกปีนี้กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่พลิกตำนานแบงก์กรุงศรีอยุธยา จนไม่เหลือเค้าโครงเดิม
โดยเฉพาะโครงสร้างทีมผู้บริหารในส่วนยอดปิรมิดหลายราย ที่ได้อิมพอร์ตเข้ามาจาก "จีอี" เกือบจะยกชุด ส่วนคนของฝั่ง "รัตนรักษ์" จึงเป็นได้เพียง "ร่างทรง" หรือ "นอมินิ" ที่แทบจะไร้บทบาทโดยสิ้นเชิง
และที่มองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ "บุญเก่า" ที่เก็บเกี่ยวมาตลอด 2 ชั่วอายุคน ในช่วงเวลา 60 ปี ของ "รัตนรักษ์" ไม่ว่าจะเป็น ฐานลูกค้ารายใหญ่ เอสเอ็มอี รวมถึงเครือข่ายสาขามากกว่า 500 แห่ง จะเป็นเครื่องมือขยายตลาดให้กับ พญาอินทรีจากโลกตะวันตกได้เป็นอย่างดี และนี่ก็จึงเป็นการไร้สมรรถภาพที่ทรงคุณค่าในมุมของ "จีอี"...
ยังไม่นับ การถอยฉากด้วยมารยาททางธุรกิจของ "กฤตย์ รัตนรักษ์" ประธานกรรมการธนาคารกรุงศรีฯ ทายาทคนรุ่นที่ 2 ที่จะทำให้ โลโก้จีอี ขึ้นมายืนเหนือสัญลักษณ์ยอดเจดีย์สีทอง โดยไม่ต้องอธิบายความใดใด...
การเปิดตัว ฝั่งพันธมิตรเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จึงสร้างความอุ่นใจให้กับแบงก์กรุงศรีฯในด้านการเงินที่ไหลเข้ามาในช่วงแรก ร่วม 2 .2 หมื่นล้านบาท รวมเข้ากับ เทคนิคการบริหารที่เชี่ยวชาญ ช่ำชอง ขณะเดียวกันก็สร้างความน่าเกรงขามให้กับแบงเกอร์รายอื่นไม่น้อย
"จีอี" จึงมีภาพไม่ต่างจากมหามิตรผู้มาโปรดจากแดนไกล เข้ามากอบกู้สถานภาพกรุงศรีฯที่ตกอยู่ในอาการบอบช้ำ จากโลกการแข่งขันยุคติจิตอล ที่ไร้แรงต้านทาน รวมถึงกฎเกณฑ์กติกาใหม่ๆ ที่กลายมาเป็นแรงกดดัน จนจวนเจียนจะเกิดเหตุการณ์ "กรุงแตก" เป็นครั้งที่ 3 ...
อีกฟากหนึ่ง "จีอี" ก็กำลังสร้างความสัมพันธ์กับฐานลูกค้าระดับล่าง ที่แบงก์ต่างๆเคยหมางเมินในครั้งอดีต... จีอีจึงเป็นเป็นทั้งเพื่อนแท้ยามยาก และนายทุนหรือเจ้าหนี้ที่เขี้ยวสุดจะพรรณนา
แต่ที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตุก็คือ การบริหารธุรกิจสไตล์ "จีอี" มักจะพกเอาความอนุรักษ์นิยมมาด้วยทุกครั้ง มาเงียบ เก็บตัวเงียบ เติบโตแบบเงียบๆ แต่ขยายตัวแบบไร้ขอบเขตจำกัด
ว่ากันว่า แบงก์กรุงศรีฯในอดีต ที่ถูกมองเป็นแบงก์อนุรักษ์นิยม "แบบขวาจัด" กระทั่งเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองในมุมที่มีสีสันแปลกตาไปกว่าเดิม แต่เมื่อมาเจอกับเครือญาติจากโลกตะวันตกอย่าง "จีอี" ยังต้องล่าถอย
จีอี เริ่มต้นเส้นทางเดินในตลาดเมืองไทย ในช่วงที่แบงก์และไฟแนนซ์ล้มระเนระนาดในปี 2540 จากการเข้าซื้อพอร์ตเช่าซื้อรถยนต์จาก ปรส. ไม่นานนักข้อมูลลูกค้าในพอร์ต ก็เติบใหญ่ ขยายจากเช่าซื้อรถยนต์ มาเป็นฐานตลาดสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเงินผ่อน และสินเชื่อเงินสด มากขึ้นเรื่อยๆแบบยั้งไม่อยู่
รวมถึงการเข้าไปซื้อธุรกิจบัตรเซ็นทรัลการ์ด และเพาเวอร์บาย ก่อนจะเข้ามา "ฝังตัว" แบบไม่ค่อยกระโตกกระตากใน บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา ที่ถือหุ้นฝ่ายละครึ่งกับ "รัตนรักษ์"
เกือบ 10 ปี จีอี ก็ขยายอาณาจักร "ราชาเงินผ่อน" ได้อย่างเต็มภาคภูมิ จนแบงก์อื่น เพิ่งจะไหวตัวตาม แต่ก็ยังวิ่งไล่หลังอยู่หลายช่วงตัว
ธุรกิจที่เข้าไปมีบทบาท จึงเป็น "ทางตรง" สถานเดียว ไม่มี "อ้อมค้อม" ธุรกิจบัตรเครดิต ก็บริหารโดยคนของ จีอี ส่วนคนฝั่งแบงก์กรุงศรีฯ ทำได้อย่างเดียวคือ เป็นกระบอกเสียง และประชาสัมพันธ์
ว่ากันว่า แผน 100 วัน ก็คือ ร่างนโยบาย อันเป็นลักษณะเฉพาะโมเดลธุรกิจของ "จีอี" นั่นก็คือ เติมเงิน และบุคลากรจากฝั่งตนเองเข้าไปแทรกในพื้นที่ของอีกฝั่งจนกลมกลืน กลายเป็นวัฒนธรรมเดียวกัน จากนั้นก็เก็บ กวาดและล้างบ้านให้สะอาดเอี่ยมอ่อง จนกลายเป็นเจ้าของบ้านเสียเอง ด้วยความยินยอมและเต็มใจของเจ้าบ้านเดิม
พรรณพร คงยิ่งยง กรรมการ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คือ หนึ่งตัวแทนจากฝั่งจีอี ให้คำอธิบาย "แผน 100 วัน" ที่บอกให้รู้ถึงวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ การผสมผสานวัฒนธรรมเป็นเนื้อเดียวของ 2 องค์กรจาก โลกตะวันออกและตะวันตก เป็นการสร้างความรู้สึก เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน
ความหมายก็คือ การยกกองทัพเข้ายึดครอง และปกครองแบบไร้แรงเสียดทาน ไม่มีความขัดแย้งและพร้อมจะเดินไปตามเส้นทางที่ "จีอี" กำหนด
การผ่านเข้ามาของกองทัพ "จีอี" เท่าที่ผ่านมา จึงแทบไม่เห็นร่องรอยความขัดแย้งเมื่อเทียบกับแบงก์อื่นๆ ที่เคยมีประสบการณ์เดียวกัน ขณะที่จุดจบและผลลัพธ์กลับต่างกันโดยสิ้นเชิง
"จีอี" เดินทัพเข้ามาอย่างราบรื่น แทบไม่เห็นแรงต้าน หรือการก่อหวอดจากฝั่งตรงข้าม แถมธุรกิจที่รุกเข้าไปทุกที่ นับวันมีแต่จะเติบใหญ่ ไม่เคยจะสะดุดสักครั้ง ต่างจากสถาบันการเงินอื่น ที่มีข่าวด้านลบโถมซัดเข้ามาอยู่เป็นช่วงๆ
ไม่ว่าจะเป็น แบงก์ทหารไทย ที่ควันไฟไม่ทันดับมอด ยังคงเหลือเชื้อที่พร้อมจะปะทุได้ทุกเมื่อ หากสถานการณ์พลิกผัน หรือแม้แต่ แบงก์นครหลวงไทย ที่ยังไม่มีบทสรุปการแต่งตั้ง เอ็มดีหรือ "แม่ทัพ" คนใหม่ ที่กลายมาเป็นชนวนศึกระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่ และสหภาพแรงงานของแบงก์ที่ออกมาต่อต้านสุดกำลัง
ขณะที่ซามูไรนักรบค่าย "อีซี่ บาย" ที่ทำธุรกิจเดียวกัน ก็ยังต้องหันไปใช้ชื่อ "ยูเมะ พลัส" เพื่อหลบเลี่ยงการปะทะจากการรวมตัวก่อจราจลในกลุ่มลูกหนี้
แต่ก็ใช่ว่า จีอี จะไม่มีปัญหาบ้างเลย เพียงแต่ที่ผ่านมาเสียงของปัญหามักจะไม่ดังเปรี้ยงปร้าง เล็ดลอดสู่สาธารณะเหมือนกับคู่ต่อสู้รายอื่น เพียงเท่านี้ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพของ "ฝั่งจีอี" ที่ใครต่อใครก็อยากเจริญรอยตาม
โยชิอากิ ฟูจิโมริ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีอี มันนี่ ถูกดึงตัวมาจาก ญี่ปุ่น ในชั่วโมงสำคัญ ตอบคำถามถึงทิศทางธุรกิจ หลังดีลจบลงด้วยดีว่า จีอี มันนี่ จะเริ่มต้นขั้นตอนการถ่ายทอดความเชี่ยวชาญด้าน รีเทล แบงกิ้ง หรือ การให้บริการทางการเงินเพื่อรายย่อย การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า การบริหารความเสี่ยง รวมถึงระบบงานเพื่อบริการลูกค้ารายย่อยอย่างรวดเร็ว
จากนั้นก็จะข้ามไปถึงขั้นตอนแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือ ซีอีโอ คนใหม่ภายในไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งแน่นอนว่าคงหนีไม่พ้น การอิมพอร์ตคนจากฝั่งจีอี เข้ามาควบคุมเสียงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
การเข้ามาปักหลักลงฐาน ของกองทัพ "ข่าน" แห่งวงการรีเทล แบงกิ้ง" ในครอบครัว "รัตนรักษ์" จึงเป็นทั้งการสิ้นสุดตำแหน่ง "เอ็มดี" หรือ "กรรมการผู้จัดการใหญ่"ลงโดยปริยาย ขณะเดียวกันก็เป็นการ "รูดม่าน" เส้นทางแบงเกอร์ของตระกูล "รัตนรักษ์" ให้จบลงอย่างสวยงาม
ไม่เสียเลือดเนื้อ ไม่เสียสมบัติชิ้นสำคัญของวงศ์ตระกูล แต่ก็ต้องแลกมาด้วย การสูญเสีย "เอกราช" และ "อิสรภาพ" ทางด้านการควบคุมเสียงข้างมากของครอบครัวแบงเกอร์เก่าแก่ ที่มีวัยล่วงเลย 60 ปีลงอย่างง่ายดาย...
|
|
 |
|
|