สุรยุทธ์ สั่ง หม่อมอุ๋ย ตอกฝาโลง ไอทีวี ต้องชดใช้สัมปทานค้างจ่าย 2,210 ล. 31 ม.ค.นี้ ลั่นรัฐ “ไม่โง่ติดดิน” ที่จะยอมให้ผ่อน อ้างศาลสั่ง รัฐไม่ยอมเสียเปรียบยก 5 แนวทางเข้าหารือ ครม. อสส. รู้หน้าที่แล้ว ยอมรับลูก สปน. ส่งฟ้องบังคับคดีค่าสัมปทาน-ค่าปรับแสนล้านจากไอทีวี โยนศาลตัดสินตั้ง-ไม่ตั้งอนุญาโตฯ ด้านผู้บริหารไอทีวี แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอเสนอแปลงหนี้ค่าสัมปทานส่วนต่างเป็นทุน โดยจะชำระหนี้ด้วยการออกหุ้นใหม่ 1,500 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1 บาท และชำระเป็นเงินสด 710 ล้านบาท ให้ สปน. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ ส่วนที่เหลือขอผ่อนชำระ 5 ปี ขณะเดียวกัน ระบุมีบริษัทเอกชนไทยสนใจเข้ามาซื้อหุ้นของไอทีวี พร้อมรับผิดชอบเจรจาภาระหนี้สินและข้อพิพาทต่าง ๆ สมเกียรติ ลากไส้ ไอทีวี ยื่นแผนต่อรอง หวังเตะถ่วงเวลา เตือนรัฐบาล-คมช.อย่าหน่อมแน้มหลงกล ย้ำงดซูเอี๋ยคนผิด
ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเข้าหารือกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กรณีไอทีวียื่น 5 แนวทางในการชำระสัมปทานค้างจ่ายจำนวน 2,210 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดต้องชำระในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ว่า วันนี้นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รายงานความคืบหน้ากรณีไอทีวีต้องจ่ายสัมปทานให้กับนายกรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งทางไอทีวีได้เสนอแนวทางมาหลายอย่าง ทั้งนี้ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ทางไอทีวีจะต้องนำเงินมาจ่ายเป็นค่าปรับ 2,210 ล้านบาท ก่อนจะมาเสนอขอเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะกรณีนี้ศาลสั่งแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ให้แนวทางอย่างนี้
ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าวหนักแน่นว่า จะไม่พิจารณา 5 แนวทางที่ไอทีวีเสนอมา จนกว่าไอทีวีจะจ่ายเงินค่าสัมปทานค้างจ่าย ถ้าพิจารณาก่อนก็เสียเปรียบ อะไรที่ศาลตัดสินแล้วต้องปฏิบัติก่อน ซึ่งการดำเนินการให้ไอทีวีรับทราบเป็นหน้าที่ของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่จะจัดการเอง
เมื่อถามว่า ในส่วนที่ไอทีวีไปยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการ รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องค่าปรับผิดสัญญากรณีปรับผังจำนวนกว่า 97,000 ล้านบาทนั้น ไว้คุยทีหลัง ขอ 2,210 ล้านบาทมาก่อน เมื่อถามว่า ทาง สปน.ระบุว่า เรื่องการขอผ่อนผันจ่ายสัมปทานค้างจ่ายเป็นงวดๆ ต้องหารือกับกระทรวงการคลังก่อน ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าวว่า ไม่ต้องหารือกระทรวงการคลังเลย ไม่ผ่อน ศาลตัดสินแล้วยังจะไปอ่อนได้อย่างไร ก็แพ้เขาทั้งชีวิตซิ
เมื่อถามว่า สถานภาพของไอทีวีมีเงินไหม รองนายกฯ กล่าวว่า ถ้าเขาอยากทำทีวีเงินแค่นี้เขาก็หาได้ เมื่อถามถึงกรณีที่ไอทีวีเสนอแนวทางให้รัฐซื้อหุ้นคืน ม.ร.ว.ปรีดียาธร ย้อนถามว่า “ทำไมต้องเอาเงินไปให้เขา ทุกอย่างเขาต้องเอาเงินให้เรา คิดดูถ้าเราเอาเงินไปให้เขา แล้วเขาบอกว่าเราเอาเงินไปให้ แหมถ้าใครทำโอ้ย..ต้องบอกว่าโง่ติดดินเลยนะ”
อัยการสูงสุดยันไม่ล่าช้า
นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) เตรียมส่งหนังสือยืนยันไปถึงอัยการสูงสุดในเรื่องการตั้งหรือไม่ตั้งอนุญาโตตุลาการว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับเรื่องอย่างเป็นทางการ คาดว่าหาก สปน.ส่งหนังสือไป เรื่องก็คงจะอยู่ที่สำนักงานคดีปกครอง ทั้งนี้ตนทราบว่าทางไอทีวีได้เสนอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการแล้ว แต่ทาง สปน.ไม่ยอม ซึ่งถือเป็นข้อโต้แย้งที่ต่างฝ่ายสามารถทำได้ เพราะเมื่อต่างฝ่ายไม่เห็นพ้องกัน โดยฝ่ายหนึ่งให้ตั้ง แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ให้ตั้ง กระบวนการก็ต้องไปสู่ศาล ส่วนศาลจะพิจารณาไปเลยหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นก็แล้วแต่ศาล
เมื่อถามว่า เมื่อ สปน.ส่งหนังสือไปยังอัยการสูงสุดกระบวนการจะล่าช้าหรือไม่ นายพชร ยืนยันว่า ไม่ช้าอย่างแน่นอน เราจะพยายามทำให้เร็ว เรื่องนี้ไม่เห็นต้องใช้เวลาในการพิจารณามากมายนัก เพราะความเห็นในการตั้งอนุญาโตตุลาการร่วมหรือไม่ ไม่ทำให้เวลาล่าช้า ส่วนกระบวนการส่งฟ้องศาลบังคับคดีในกรณีค่าปรับที่ทำผิดสัญญาและค่าสัมปทานค้างจ่ายนั้น เมื่อสปน.ส่งเรื่องไปอย่างไร เราก็ต้องยืนยันตามความเห็นของ สปน.
ส่วนกรณีที่ไอทีวีได้เสนอทางเลือกในการจ่ายค่าสัมปทานค้างจ่ายต่อสปน.นั้นนายพชร กล่าวว่า เรื่องนี้ทาง อสส.ไม่เกี่ยวข้องเพราะเป็นเรื่องระหว่าง สปน.กับไอทีวีที่จะเจรจากัน เพราะค่าสัมปทานค้างจ่ายกับค่าปรับกรณีที่ไอทีวีทำผิดสัญญาเป็นคนละเรื่องกัน
ไอทีวียังดิ้นทุรนทุราย
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการประสานงานการดำเนินการตามสัญญาเข้าร่วมงาน และดำเนินการสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ระบบ UHF โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นประธานที่ประชุม เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2550 บริษัทได้แจ้งว่า สถานะการเงินของบริษัทปัจจุบันมีเงินสดในมือประมาณ 1,300 ล้านบาท ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ และบริษัทยังไม่ประสบความสำเร็จในการขอกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน รวมทั้งยังไม่สามารถดำเนินการระดมทุนผ่านตลาดทุน โดยการออกหุ้นเพิ่มทุนเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป หรือการออกหุ้นเพิ่มทุนเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมทุกรายได้ในขณะนี้ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ความไม่แน่นอนของจำนวนเงินค่าปรับจากการปรับผังรายการจำนวนเกือบหนึ่งแสนล้านบาท ซึ่งไม่มีธุรกิจใดสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างการติดต่อหาแหล่งเงินจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม และเจรจากับ สปน. เกี่ยวกับแนวทางชำระหนี้ดังกล่าวอยู่ โดยได้เสนอขอให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พิจารณาข้อเสนอของบริษัทในการแก้ไขปัญหาการชำระค่าสัมปทานส่วนต่างจำนวน 2,210 ล้านบาท ใน 5 แนวทาง พร้อมเหตุผล ข้อดี ข้อเสีย ของแต่ละแนวทาง
บริษัทขอเสนอให้แปลงหนี้ค่าสัมปทานส่วนต่างดังกล่าวเป็นทุน โดยบริษัทชำระหนี้ด้วยการออกหุ้นใหม่ 1,500 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1 บาท และชำระเป็นเงินสด 710 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ สปน. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในอัตราร้อยละ 55.4 ของหุ้นทั้งหมดที่ชำระแล้ว ซึ่งในแนวทางนี้ ภาระหนี้สินจำนวน 2,210 ล้านบาท จะหมดสิ้นไป การดำเนินงานของบริษัทในอนาคตจะมีความมั่นคงยิ่งขึ้น อันจะเป็นผลดีกับผู้ถือหุ้นรายย่อย และพนักงานไอทีวี หาก สปน.เห็นชอบกับแนวทางนี้ บริษัทฯ จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติต่อไป
ทั้งนี้ มีบริษัทเอกชนไทยบางกลุ่มมีความประสงค์ขอเข้ามาถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยจะขอซื้อหุ้นของบริษัทที่บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือครองอยู่ทั้งหมด โดยบริษัทและผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่เข้ามาบริหารจะเป็นผู้รับผิดชอบเจรจาภาระหนี้สินและข้อพิพาทต่าง ๆ กับ สปน.ต่อไป ซึ่งบริษัทจะสามารถดำเนินธุรกิจตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ ต่อไปได้ ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย และพนักงานไอทีวี แต่ประการใด สำหรับแนวทางเลือกนี้ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของคณะกรรมการ และหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน ) และผลการเจรจากับผู้ลงทุนรายใหม่เสนอให้หน่วยงานของรัฐบาลรับซื้อหุ้นของบริษัท ไอทีวี จาก บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ทั้งหมด โดยมีสัดส่วนร้อยละ 52.9 ของหุ้นทั้งหมดที่ชำระแล้ว หรือจำนวน 638 ล้านหุ้น ซึ่งกรณีนี้รัฐบาลต้องจัดหางบประมาณจำนวนหนึ่งสำหรับการเข้าซื้อหุ้น และการดำเนินกิจการต่อจากนี้
บริษัทฯ เสนอขอชำระหนี้ค่าสัมปทานส่วนต่างบางส่วนจำนวน 1,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 1,210 ล้านบาท บริษัทขอผ่อนชำระภายใน 5 ปี โดยบริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำรายละเอียดประกอบแนวทางข้อเสนอนี้ให้ สปน. พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ในอนาคต หากมีเหตุการณ์หรือปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้บริษัท ไอทีวี ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่ สปน. กำหนด สปน.มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ ได้ สำหรับเรื่องค่าปรับจากการปรับผังรายการและดอกเบี้ยในค่าสัมปทานส่วนต่าง บริษัทฯ ได้เสนอเรื่องเข้ากระบวนอนุญาโตตุลาการแล้ว ตามที่ได้มีหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2550
สมเกียรติเตือนอย่าหลงกลนักธุรกิจ
นายสมเกียรติ อ่อนวิมล อดีตส.ว.สุพรรณบุรีและอดีตกรรมการบริหารฝ่ายข่าวบริษัทไอทีวี จำกัด กล่าวถึงการยื่นข้อเสนอของไอทีวี เพื่อจ่ายค่าสัมปทานค้างจ่ายว่า แนวทางทั้งหมดที่ไอทีวีเสนอมา ถือเป็นดุลพินิจของสปน.ว่าจะทำตามหรือไม่ก็ได้ เพราะท้ายที่สุด หากไอทีวี ไม่มีเงินชำระค่าสัมปทานและค่าปรับ รวมกว่าแสนล้าน สปน.ก็สามารถยึดสัมปทานคืนได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะยึดคืนมาหรือไม่ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีข้อกังขาว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ และคุณหญิงทิพพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำฯที่เป็นผู้กำกับนโยบาย ไม่มีความเด็ดขาดในการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย จึงทำให้นักธุรกิจมายื่นข้อเสนอตามอำเภอใจได้
"การยื่นข้อเสนอของไอทีวีต่อสปน. ไม่ใช่หน้าที่ของไอทีวี เพราะทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับสปน.จะเป็นผู้สั่งการด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงขอเตือนให้รัฐบาลและสปน.รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของนักธุรกิจ เพราะโดยธรรมชาติของการทำธุรกิจ ย่อมมีการถ่วงเวลา เพื่อนำเงินไปหมุนทำอย่างอื่นอยู่แล้ว รัฐบาลไม่ควรหน่อมแน้มกับเรื่องที่เด็ดขาด เพราะหากไปอ่อนข้อให้คนผิด ประชาชนก็จะกล่าวหาว่ารัฐบาลเปิดช่องซูเอี๋ยให้กับไอทีวี เมื่อรัฐบาลเด็ดขาดแล้วก็สามารถยึดคืนสัมปทานกลับคืนมาเป็นของรัฐ แต่ทั้งนี้ บมจ.ไอทีวีก็จะต้องจ่ายหนี้กว่าแสนล้านที่ค้างจ่ายอยู่เต็มจำนวน"
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่ากระบวนการหลังการยึดคืน ไอทีวี สามารถไปฟ้องศาลแพ่งเพื่อให้ศาลตัดสินให้เป็นนิติบุคคลที่ล้มละลายได้หรือไม่ก็ไประดมทุนจากผู้ถือหุ้น ซึ่งตนเชื่อว่าผู้ถือหุ้นจากไอทีวีหรือชินคอร์ป ไม่ใช่คนจน ทุกคนล้วนมีทรัพย์สินมากมายมหาศาลทั้งนั้น โดยเฉพาะกองทุนเทมาเซค ที่ขณะนี้เกือบจะเรียกว่าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่ปัญหาตอนนี้ไอทีวีไม่ยอมควักเงินแม้แต่บาทเดียว แต่กลับยื่นข้อเสนอเพื่อต่อรองและประวิงเวลา เพื่อไม่ให้ตัวเองเสียเปรียบ
|