นายทาลาล จัสซิม อัล-บาฮาร์ ประธานกรรมการผู้จัดการ กลุ่มโรงแรมและรีสอร์ท IFA HR เปิดเผยเป็นครั้งแรก ภายหลังที่ได้เข้ามาซื้อหุ้นจากกลุ่มไทเก้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ว่า การร่วมทุนกับบริษัทฯ เนื่องจากต้องการให้เป็นฐานะในการลงทุนของบริษัท ที่จะสามารถขยายฐานการลงทุนไปสู่ภูมิภาคเอเชียได้สะดวก
และง่ายขึ้น โดยประเทศไทยถือว่าเป้ฯระเทศที่มีฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี และจะสามารถขยายตัวได้ดีในอนาคต
ทั้งนี้ ทางกลุ่มไม่มีแผนที่จะลงทุนบริษัทอื่นในประเทศไทยเพิ่มในขณะนี้ หลังจากที่ได้เลือกลงทุนในบริษัทไรมอนแลนด์ฯไปแล้วประมาณ 24% เพราะมีเป้าหมายที่จะสร้างให้ไรมอนแลนด์ฯเป็นบริษัทอสังหาฯที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยทางกลุ่มคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในบริษัทประมาณ 30% ซึ่งไม่นับรวมการปรับเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น
นายไนเจิล เจ. คอร์นิค กรรมการผู้อำนวยการ กล่าวว่า ผู้ร่วมทุนจากตะวันออกกลาง ทั้ง2 ราย จะมีส่วนช่วยเสริมความแข็งแกรงด้านการเงินให้แก่บริษัท และสามารถขยายการลงทุนโครงการใหม่ๆ ขณะเดียวกันยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆในการก่อสร้าง และด้วยความแข็งแกร่งของชื่อเสียง(แบรนด์)ของผู้ร่วมทุน จะช่วยบริษัทมีฐานลูกค้าที่กว้างมากขึ้น เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่ใหญ่ในตะวันออกลาง ยุโรป และสหรัฐอเมริกาฯ ทำให้เป็นผลดีต่อการทำตลาดของบริษัทอย่างมาก ทั้งนี้ ผู้ร่วมทุนทั้ง 2 กลุ่ม จะถือหุ้นในสัดส่วน 42% แต่ละบริษัทถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 24.9 % มีมูลค่ารวมประมาณ 2,000 ล้านบาท และมีทางกลุ่มเข้ามานั่งในการบริหารงานในคณะกรรมการ 6 ที่นั่ง
อนึ่ง กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มีประสบการณ์ด้านตลาดอสังหาฯระดับโลก ซึ่งกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ท IFA เป็นบริษัทที่ทำการพัฒนาโครงการที่พักอาศัย ,โรงแรม และรีสอร์ทระดับไฮเอนด์ เช่น มีการร่วมมือกับโรงแรมที่มีชื่อเสียงหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มโรงแรมสตาร์วูด (Starwood) กลุ่มโรงแรมแฟร์มงต์ โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท และกลุ่มโรงแรมโมเวนพิค โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท และถือเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ไรมอนแลนด์ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มของการบริหารรีสอร์ทในจุดต่างๆของประเทศไทย
2-3ปีผุดโครงการใหญ่เกือบ3หมื่นล.
นายกิตติ ตั้งศรีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและจัดการ บริษัท ไรมอนแลนด์ฯ กล่าวว่า ผลในเชิงบวกต่อบริษัท จะทำให้ศักยภาพทางด้านการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทได้เตรียมแผนพัฒนาโครงการใหม่ในระยะ 2-3 ปี มูลค่าโครงการประมาณ 25,000-30,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินของการลงทุนมาจากรายได้ของโครงการที่เปิดขายในขณะนี้และที่กำลังเปิดขายในอนาคต นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะเข้าไปพัฒนาโครงกาในหัวหิน ,สมุย และกระบี่เพิ่ม ซึ่งการไปพัฒนาโครงการใหม่นี้ บริษัทจะนำแบรนด์ของผู้ร่วมทุนทั้ง 2 เข้ามาช่วยในการตลาดด้วย
สำหรับโครงการที่บริษัทได้ลงทุนพัฒนาไปแล้วในปี 2550 ประกอบด้วย "เดอะ ริเวอร์" เจ้าพระยา มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท และล่าสุดบริษัทได้ซื้อที่ดินในจ.ภูเก็ต จำนวน37 ไร่ใกล้กับอามันบุรีรีสอร์ท คาดว่าโครงการมีมูลค่าประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะลงทุนพัฒนาเป็นโรงการประเภทใด ส่วนที่ดินสถานทูตเขมร ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ
ในส่วนรายได้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ จะมาจาก 3 โครงการที่เปิดขายคือ โครงการเดอะไฮท์ กะตะ มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท ,โครงการ นอร์ท์พอยต์ พัทยา มูลค่าโครงการ 4,500 ล้านบาท และโครงการเดอะ ล็อฟท์ เย็นอากาศ มูลค่าโครงการ 1,270 ล้านบาท ส่วนในปี2551 คาดว่าจะมีรายได้เติบโตกว่าปี 50ถึง 100% เนื่องจากจะมีโครงการใหม่ที่มูลค่าสูงๆ เปิดตัวอีกมาก อนึ่ง ในปี 2548 บริษัทสามารถขายทั้ง 3 โครงการที่กล่าวมาได้รวมประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่รับรู้รายได้เพียง 100 ล้านบาทเท่านั้น และจะทยอยรับรู้รายได้ทั้ง 3,000 ล้านบาทในปี 2552 และในปี 50 คาดว่าจะสามารถขายได้อีก 5,000-6,000 ล้านบาทที่จะทยอยรับรู้หมดในปี 2553
ไม่หวั่นมาตรการรัฐเหตุเข้ามาถูกต้อง
นายทาลาล จัสซิม กล่าวเสริมถึงประเด็น ปัญหาการเมืองและมาตรการสำรองเงินทุนต่างประเทศ 30% และการแก้ไข พ.ร.บ. ประกอบธุรกิจคนต่างชาติ อาจทำให้สิทธิอำนาจในการบริหารลดลงไปนั้น คิดว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯในประเทศบ้าง แต่โดยส่วนตัวแล้วมองอนาคตมากกว่า ซึ่งเหตุผลที่เข้ามาลงทุนในไรมอนแลนด์ฯ เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพที่มีอยู่สูง สามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่บริษัทได้ดี
ด้านนาย ริชาร์ด จอห์นสัน กรรมการผู้จัดการ กลุ่ม อีสธมาร์ เรียลเอสเตท กล่าวว่า ปัญหาด้านการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ตนได้มีการศึกษาและหารือร่วมกับเพื่อนนักธุรกิจ และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มาแล้ว และคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาใดเกิดนั้น หรือได้รับผลกระทบใด เนื่องจากการเข้ามาถือหุ้นของกลุ่มบริษัทนั้น ไม่ได้ซื้อจากตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เป็นการซื้อจากบริษัทและผู้ถือหุ้นบริษัทโดยตรง
จึงไม่มีผลและได้รับผลกระทบจากการกันสำรองเงินทุนต่างประเทศ 30%
ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับอำนาจในการบริหารบริษัท เชื่อว่าไม่มีปัญหาในการบริหารเช่นกัน เนื่องจากการบริหารงาน หรือการลงมติจะเป็นไปตามคะแนนเสียงข้างมาก ยึดถืออำนาจตามกฎหมายเป็นหลัก คือการถือหุ้นของชาวต่างชาติไม่เกิน 49% และคนไทยถือหุ้นในสัดส่วน 51% เป็นอย่างต่ำ
|