สถาบันภาษาที่มีประวัติยาวนานกว่า 125 ปีแห่งนี้ คงเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มี
Maximilian D. Berlitz แต่ดูเหมือนอนาคตของ Berlitz จากนี้ไปขึ้นอยู่กับทิศทางของ
Benesse Corporation ผู้ประกอบการด้านสื่อการศึกษาจากญี่ปุ่นรายนี้มากกว่า
Maximilian Delphinius Berlitz เกิดเมื่อปี 1852 ในเมือง Wurttemberg และเติบโตในบริเวณที่เรียกว่า
Black Forest ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี ในครอบครัวและเครือญาติที่ประกอบอาชีพครูและนักคณิตศาสตร์
ก่อนที่ในปี 1872 Maximilian D. Berlitz ในวัย 20 ปี จะอพยพมาสู่สหรัฐอเมริกา
โดยมุ่งหมายจะมาเป็นครูสอนภาษากรีก ภาษาละติน และภาษาของภาคพื้นยุโรปอีก
6 ภาษา ท่ามกลางขนบของการสอนที่เคร่งครัดในเรื่องของไวยากรณ์และวิธีการถ่ายทอดคำแปล
หลังจากประสบความสำเร็จอย่างดีในฐานะครูพิเศษด้านภาษา Maximilian D. Berlitz
ได้เข้าเป็นอาจารย์ใน Warner Polytechnic College ในฐานะศาสตราจารย์ ด้านภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมัน
แต่สถาบันแห่งนี้มิได้มีความหลากหลายดังเช่นชื่อสถาบัน โดย Maximilian D.
Berlitz พบว่าเขาต้องเป็นทั้งคณบดี อาจารย์ใหญ่ และครูประจำคณะที่มีเพียงเขาอยู่คนเดียว
เขาเริ่มรับสมัครครูสอนภาษาฝรั่งเศสให้มาเป็นผู้ช่วย และได้คัดเลือก Nicholas
Joly ครูหนุ่มจากใบสมัครที่เขียนภาษาฝรั่งเศสได้อย่างวิจิตร แต่เมื่อ Nicholas
Joly เดินทางมาถึงเมือง Providence ความมุ่งหมายของ Maximilian D. Berlitz
ก็อยู่ในภาวะที่ย่ำแย่หนักไปอีกเมื่อเขาพบว่า ครูที่จะ มาช่วยสอนภาษาฝรั่งเศสรายนี้พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย
Maximilian D. Berlitz ซึ่งขณะนั้นกำลังป่วยจากการกรำงานหนักแนะนำให้ Nicholas
Joly ชี้ไปที่วัตถุและแสดงกิริยาต่างๆ เท่าที่ครูหนุ่มจะทำได้เพื่อใช้เป็นสื่อในการสร้างความเข้าใจกับนักเรียน
พร้อมกับฝากชะตากรรมของโรงเรียนแห่งนี้ไว้ในมือของครูหนุ่มชั่วคราวเพื่อไปรักษาอาการป่วย
6 สัปดาห์ต่อมา Maximilian D. Berlitz ฟื้นตัวจากอาการป่วยและเตรียมตัวเตรียมใจที่จะพบกับความล้มเหลวในการสอนของครูหนุ่ม
แต่ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าเขา กลับกลายเป็นห้องเรียนที่ผู้เรียนต่างแลกเปลี่ยนคำถามคำตอบกับครู
ผู้สอนอย่างสนุกสนานและด้วยสำเนียงภาษาฝรั่งเศสที่ยอดเยี่ยมงดงาม
ความน่าเบื่อหน่ายของห้องเรียนแบบเดิมที่เน้นแบบ แผนและความขึ้งขลังมลายหายไป
แต่นั่นอาจไม่ใช่มาตรวัดความสำเร็จเท่ากับข้อเท็จจริงที่ว่า นักเรียนเหล่านี้สามารถพัฒนาความสามารถด้านภาษาฝรั่งเศส
ภายในระยะเวลาเพียง 6 สัปดาห์ได้ดีกว่าวิธีการที่ Maximilian D. Berlitz
ได้รับสั่งสมมาในอดีต
Maximilian D. Berlitz ได้สรุปผลของวิธีการดังกล่าวว่าเป็นประหนึ่งนวัตกรรมของวิธีการทางการศึกษา
และนำวิธีใหม่ที่ทำให้นักเรียนมีความตื่นตัว และสนใจนี้เข้าไปใช้แทนวิธีการเรียนการสอน
ในลักษณะของการท่องจำแบบเดิม ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษามาเนิ่นนานทันที
ปี 1878 จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของวิธีการแบบ Berlitz หรือ Berlitz Method
เมื่อ Maximillian D. Berlitz เปิดโรงเรียนสอนภาษา Berlitz แห่งแรกที่เมือง
Providence ใน Rhode Island สหรัฐอเมริกา โดยใช้วิธีการเรียนการสอนที่ เขาได้ค้นพบและพัฒนาขึ้นมา
ด้วยระยะเวลาเพียงสั้นๆ Berlitz Method ก็ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางขึ้นเป็นลำดับ
ในปี 1881 โรงเรียน Berlitz แห่งที่สองก็เปิดตัวขึ้นใน Boston รัฐ Massachusetts
และขยายไปสู่ New York และ Washington, D.C. รวมถึงเมืองอื่นๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา
ก่อน ที่ความสำเร็จดังกล่าวจะนำไปสู่การเปิดโรงเรียน Berlitz แห่งแรกในยุโรป
ที่กรุง Berlin ประเทศเยอรมนี ในปี 1888 หรือ 10 ปี หลังจากที่ Berlitz พัฒนาวิธีการแบบใหม่นี้ขึ้นมา
ขณะที่รูปแบบและวิธีการของ Berlitz ก็ได้รับการยอมรับและขยายตัวอย่างรวดเร็วในหมู่นักการศึกษา
และครู ผู้สอนภาษาด้วยเช่นกัน
ปริมาณการค้าระหว่างประเทศและการเกิดขึ้นของบรรษัทระหว่างประเทศ ตั้งแต่ช่วงต้นของศตวรรษที่
20 ทำให้ภาษาอังกฤษเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้นทดแทนภาษาฝรั่งเศส ซึ่งแต่เดิมเป็นภาษาหลักในการเจรจาธุรกิจการค้า
และนับเป็นแรงกระตุ้นการเติบโตของ Berlitz ในยุคถัดมาเป็นอย่างดี
เมื่อ Maximillian D. Berlitz ผู้ก่อตั้ง Berlitz เสียชีวิตในปี 1921 กิจการของ
Berlitz อยู่ในการดูแลของบุตรเขยของเขา Victor Harrison และเมื่อ Victor
Harrison เสียชีวิตใน ปี 1932 กิจการของ Berlitz จึงได้รับการส่งผ่านไปสู่การดูแลของ
Victor Harrison,Jr.
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ Berlitz อยู่ที่การก้าวเข้ามาดูแลกิจการโดย Jacques
Strumpen-Darrie ในตำแหน่งประธานเมื่อปี 1933 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนผู้บริหารจากบุคลากรภายในครอบครัว
ไปสู่บุคคลจากภายนอก หากแต่ Jacques Strumpen-Darrie ก็มีอดีตเป็นครูผู้สอนในสถาบันของ
Berlitz มานานกว่า 30 ปี ทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ก่อนที่ Robert Strumpen-Darrie
บุตรชายของ Jacques จะก้าวขึ้นเป็นประธานบริษัทในปี 1953
ทศวรรษที่ 1950 เป็นช่วงที่ Berlitz ขยายตัวและเพิ่มรูปแบบของธุรกิจมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการรุกเข้าไปเปิดศูนย์ภาษาในละตินอเมริกา ที่เริ่มจากเม็กซิโก
ไล่เรียงไปสู่บราซิล, เวเนซูเอลา, อาร์เจนตินา, โคลัมเบีย และชิลี ขณะที่การขยายตัวในเอเชียเริ่มขึ้นอย่างช้าๆ
โดยในปี 1968 โรงเรียน Berlitz แห่งแรกในย่านเอเชียได้เริ่มเปิดดำเนินการในกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น
ควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจไปสู่ธุรกิจสื่อการสอนเพื่อรองรับกับความต้องการที่หลากหลายขึ้นด้วย
ในยุคของ Robert Strumpen-Darrie นี้เองที่ Berlitz ได้รับการผนวกเข้าเป็นบริษัทในเครือของ
Macmillan, Inc. ในปี 1966 โดย Robert Strumpen-Darrie ยังดำรงตำแหน่งประธานจนครบวาระเกษียนในปี
1970 โดยมี Elio Boccitto เข้ามาเป็นประธานและบริหารกิจการตลอดช่วงทศวรรษที่
1980 เดือนพฤศจิกายน 1988 Maxwell Communication Corporation เข้าควบกิจการของ
Macmillian ซึ่งทำให้ Berlitz เปลี่ยนไปอยู่ภายใต้ร่มธงของ Maxwell Communication
Corporation และในปี 1989 Berlitz ได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์
New York
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ Berlitz เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ Fukutake Publishing
หรือที่ปัจจุบันอยู่ในนาม Benesse Corporation ซึ่งเป็นบรรษัทผู้จัดพิมพ์เอกสาร
และสื่อการศึกษาชั้นนำของญี่ปุ่นเข้าถือครองหุ้นส่วนใหญ่ของ Berlitz เมื่อปี
1993 ก่อนที่ในปี 2001 Benesse Corporation ได้เข้าถือครองหุ้นทั้งหมด 100%
และทำให้ Berlitz เป็นบริษัทที่ถือครองโดยเอกชนรายเดียวอีกครั้ง
การเข้ามาของ Benesse Corporation ซึ่งมีความชำนาญในธุรกิจการศึกษาในระดับนำ
ดูจะเป็นสิ่งน่ายินดีสำหรับ Berlitz เพราะ Benesse มีนโยบายที่มุ่งเน้นให้
Berlitz ดำเนินธุรกิจหลักในการเป็นสถาบันสอนภาษาที่ถนัดเป็น ด้านหลัก
โดย Berlitz ได้บรรลุข้อตกลงกับ Lagenscheidt KG ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ด้านภาษารายใหญ่อีกแห่งหนึ่งของเยอรมนี
(Lagenscheidt มีความหมายว่า Languages) ซึ่งมีฐานใหญ่อยู่ในเมืองมิวนิค
ให้เป็นผู้มีสิทธิในการจัดพิมพ์หนังสือสำหรับผู้บริโภคในต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรป
ขณะที่ Benesse ได้จำหน่ายส่วนธุรกิจด้านการแปลที่เรียกว่า Berlitz GlobalNet
ออกไป
กระทั่งในเดือนกันยายน 2002 การเรียนการสอน Berlitz English ซึ่งเป็นพัฒนาการอีกขั้นของสถาบันภาษาแห่งนี้จึงปรากฏตัวออกมาเป็นประหนึ่งเรือธงของศูนย์ภาษา
Berlitz 400 แห่งในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก พร้อมกับนโยบายเชิงรุก ที่น่าจับตายิ่ง