บล.กรุงศรีฯ คาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/49 กลุ่มหลักทรัพย์ 479 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากงวดเดียวกันปี 48 เหตุมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น ขณะที่ทั้งปี 49 กำไรสุทธิลดลง 3% อยู่ที่ 2.6 พันล้านบาท พร้อมปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 50 ลง 24% เหลือ 2.2 พันล้านบาท เหตุได้รับผลกระทบมาตรการเก็งกำไรค่าเงินบาท เหตุการณ์ระเบิด และพ.ร.บ.ต่างด้าว กดดันดัชนีตลาดหุ้นไทย ทำให้ธุรกิจหลักทรัพย์ไม่น่าสนใจเข้าลงทุน
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กรุงศรีอยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ประเมินฐานะการดำเนินงานหุ้นในกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ (บล. 12 แห่ง) ว่า ไตรมาส 4/2549 คาดว่ากลุ่มหลักทรัพย์จะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 34% เป็น 497 จากไตรมาส 4/2548 ที่มีกำไรสุทธิ 369 ล้านบาท เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในช่วงไตรมาส 4/49ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 15,900 ล้านบาท จากไตรมาส 3/49 ที่มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 13,000 ล้านบาท
จากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้รายได้ด้านค่านายหน้ารวมของกลุ่มหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2,049 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16% จากไตรมาส 3/49 ที่มีรายได้ 1,766 ล้านบาท รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมของกลุ่มหลักทรัพย์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 16% เป็น 364 ล้านบาท จากไตรมาส 3/49 ที่มีรายได้ 313 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามจำนวนบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มสูงขึ้น และการออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในไตรมาส 4/49 นี้ บล. บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS คาดว่าจะเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นที่สุด คือ กำไรสุทธิไตรมาส 4/49 จำนวน 214 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 57% จากการที่ส่วนแบ่งการตลาดและรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่ม
"จากรายได้ค่านายหน้ารวมปี 2549 ของกลุ่มหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 9% เหลือ 8.64 พันล้านบาท จากปีก่อน แต่จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่กลับมาเติบโตที่เพิ่มขึ้น 6%เป็น 1.4 พันล้านบาท จากงวดเดียวกันปีก่อนเพราะมีหลักทรัพย์ขนาดใหญ่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงทำให้กำไรสุทธิในหุ้นกลุ่มหลักทรัพย์ปีนี้จะอยู่ที่ 2,662 ล้านบาท ลดลง 3% จากปี 2548 ที่มีกำไรสุทธิ 2,733 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปี 49 อยู่ที่ระดับ 16,300 ล้านบาทต่อวัน"
นักวิเคราะห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่นักลงทุนต่างชาติได้เข้ามามีบทบาทในการลงทุนตลาดหุ้นไทยปี 49 เพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนการลงทุนเพิ่มเป็น 33% จากปีก่อนที่ 28% ส่งผลให้บริษัทหลักทรัพย์ที่มีฐานลูกค้าหลักเป็นนักลงทุนในประเทศ หรือรายย่อยมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ลดลง โดยเฉพาะโบรกเกอร์อันดับหนึ่ง บล.กิมเอ็ง จำกัด (มหาชน) หรือ KEST มาร์เกตแชร์เหลือ 8.57% จากปี 48 ที่มี 10.2% และบล.เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน)หรือ ASP มาร์เกตแชร์ปรับตัวลดลงเหลือ 6.19% จากปี 48 ที่มี 7.14%
สำหรับแนวโน้มในปี 2550 นั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงได้รับปัจจัยเสี่ยง 3 ปัจจัยหลัก คือ มาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เหตุการณ์ลอบลอบวางระเบิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และการแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว (พ.ร.บ.ต่างด้าว) ซึ่งถือเป็นปัจจัยลบกดดันภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย
จากปัจจัยลบต่างๆ ที่เข้ามากระทบตลาดหุ้น บล.กรุงศรีอยุธยา จึงได้ปรับลดการคาดการณ์มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในวันที่ปี 50 ลดลงเหลือ 15,000 ล้านบาท จากเดิมที่ 18,000 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิรวมของหุ้นกลุ่มบล.ปี 50 มีการปรับตัวลดลงเหลือ 2,227 ล้านบาท หรือลดลง 24% จากเดิมที่ 2,964 ล้านบาท พร้อมกับปรับลดเป้าหมายค่า P/E ปี 50 ของหุ้นในกลุ่มลดลง เพื่อสะท้อนความเสี่ยงในการตลาดที่สูงขึ้น ซึ่งหุ้นในกลุ่มหลักทรัพย์เป็นกลุ่มที่ได้รับผลประทบโดยตรงจากปัจจัยลบที่รุมเร้าดังที่กล่าว ส่งผลให้ราคาหุ้นเหมาะสมกลุ่มหลักทรัพย์ปีนี้ปรับตัวลดลงจากเดิมโดยเฉลี่ย 24%
"จากปัจจัยพื้นฐานของหุ้นกลุ่มหลักทรัพย์ที่ไม่เอื้ออำนวยแล้ว ยังต้องเจอความเสี่ยงเรื่องการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นในอนาคต จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของกลุ่มหลักทรัพย์จำนวนมาก เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากค่านายหน้าหลักทรัพย์ ยังเป็นรายได้หลักสัดส่วนสูงถึง 82% ของรายได้รวม ขณะเดียวกันยังจะส่งผลให้มีการแข่งขันดึงลูกค้ากับอย่างรุนแรง และทำให้บริษัทหลักทรัพย์ขนาดเล็กที่มีการพัฒนาธุรกิจอื่นๆ เข้ามาช่วยเสริมรายได้ มีแนวโน้มที่จะมีผลขาดทุน และไม่อาจสามารถอยู่รอดในธุรกิจหลักทรัพย์ได้ ส่งผลให้จะเห็นจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ที่ลดลงในอนาคตจากการควบรวมกิจการหรือหาพันธมิตรร่วมทุนจากต่างประเทศ"
อย่างไรก็ตาม บล.กรุงศรีอยุธยาจึงให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์น้อยกว่าตลาด ส่วนหุ้นที่มีความโดดเด่น และบริษัทแนะนำซื้อ คือบล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS และ บล.ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ PHATRA
|