ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ปี 49 เพิ่มขึ้น 2.34 แสนล้านบาท หรือโต 6.25% เมื่อเทียบกับปีก่อน "ไทยพาณิชย์"นำโด่งขยายตัวมากสุดในบรรดาแบงก์ขนาดใหญ่โต 16.75% ตามด้วย"กสิกรไทย"โต 9.11% ขณะที่"กรุงไทย"ขยับเพิ่มแค่ 3.88% ส่วนแบงก์ขนาดกลาง"นครหลวงไทย-ไทยธนาคาร"สินเชื่อหด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานตัวเลขสินเชื่อ เงินฝาก และสินทรัพย์ ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ตามฐานข้อมูลที่ปรากฏในแบบรายงาน ธ.พ. 1.1 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 ปรากฎว่า ยอดคงค้างสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในเดือนธันวาคม 2549 มีจำนวน 4,899,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 25,671 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 0.53 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.25 โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ขณะที่สินเชื่อในธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและเล็กบางแห่งมียอดลดลง ซึ่งสินเชื่อที่ลดลงของธนาคารบางแห่ง อาจเป็นผลจากการตั้งสำรอง เนื่องจากตัวเลขที่ปรากฏในรายงาน ธ.พ. 1.1 เป็นตัวเลขสินเชื่อสุทธิหลังหักสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแล้ว
สำหรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง พบว่า สินเชื่อปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 51,488 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.71 นำโดยธนาคารกสิกรไทย และไทยพาณิชย์ จำนวน 15,185 และ 14,798 ล้านบาทตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มของสินเชื่อประเภทตั๋วเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเงินให้กู้ยืม ตามมาด้วยธนาคารกรุงไทย และกรุงเทพ มียอดสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น จำนวน 11,580 และ 9,925 ล้านบาทตามลำดับ จากการขยายสินเชื่อภาครัฐ และสินเชื่อประเภทตั๋วเงินเป็นหลัก
ขณะที่กลุ่มธนาคารขนาดกลาง 3 แห่ง สินเชื่อรวมลดลงจากเดือนก่อนหน้า 28,440 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 2.37 โดยเป็นการลดลงทั้งกลุ่ม นำโดยธนาคารทหารไทย มีสินเชื่อลดลง 15,170 ล้านบาท จากสินเชื่อประเภทเงินให้กู้ยืม ตามมาด้วยธนาคารกรุงศรีอยุธยา และนครหลวงไทย มีสินเชื่อลดลง 8,475 และ 4,796 ล้านบาท จากสินเชื่อประเภทตั๋วเงิน เงินให้กู้ยืม และเงินเบิกเกินบัญชี เป็นหลัก ด้านกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 7 แห่ง สินเชื่อเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว จำนวน 2,624 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.40 โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธนาคารธนชาต และธนาคารทิสโก้ จำนวน 4,311 และ 2,445 ล้านบาทตามลำดับ ตามมาด้วยไทยธนาคาร และสินเอเซีย จำนวน 2,025 และ 1,837 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์(ไทย) และสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย มีสินเชื่อลดลง 4,741 และ 3,688 ล้านบาทตามลำดับ
สำหรับเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเดือนธันวาคม 2549 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 5,932,412 ล้านบาท ลดลงจากเดือนที่แล้ว 154,758 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 2.54 ซึ่งเงินฝากที่ลดลงในเดือน ธ.ค. เป็นไปตามปัจจัยทุกวันสิ้นงวดที่มีการคำนวณเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ในขณะที่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เงินฝากขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 6.19
โดยการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง เงินฝากปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 44,405 ล้านบาท หรือลลดงร้อยละ 1.18 นำโดยธนาคารกรุงไทย และไทยพาณิชย์ เงินฝากลดลง 31,366 และ 22,750 ล้านบาทตามลำดับ จากบัญชีเงินฝากประจำของธนาคารกรุงไทย และบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันของธนาคารไทยพาณิชย์ ส่วนธนาคารกรุงเทพ และกสิกรไทย มีเงินฝากเพิ่มขึ้น 8,131 และ 1,576 ล้านบาทตามลำดับ ตามการเพิ่มขึ้นของเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์
สำหรับกลุ่มธนาคารขนาดกลาง 3 แห่ง เงินฝากลดลงจากเดือนก่อนหน้า 43,488 ล้านบาท นำโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา และนครหลวงไทย มีเงินฝากลดลงจำนวน 23,155 และ 22,325 ล้านบาทตามลำดับ จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และประจำในธนาคารกรุงศรีอยุธยา ส่วนธนาคารนครหลวงไทยเป็นการลดลงของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน โดยเฉพาะของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ธนาคารทหารไทย เป็นธนาคารเดียวในกลุ่มที่มีเงินฝากเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1,992 ล้านบาท จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และประจำ
ขณะที่กลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 7 แห่ง เงินฝากลดลงจากเดือนที่แล้ว จำนวน 66,865 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 8.54 เป็นการปรับตัวลดลงแทบทั้งกลุ่ม นำโดยธนาคารธนชาต ทิสโก้ และยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์(ไทย) จำนวน 27,267 17,538 และ 11,867 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่ธนาคารเกียรตินาคิน เป็นธนาคารเดียวในกลุ่มที่มีเงินฝากเพิ่มขึ้น 3,748 ล้านบาท
นอกจากนี้ในส่วนของสินทรัพย์รวมในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 มีจำนวน 7,487,645 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 119,236 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.57 นำโดยธนาคารนครหลวงไทย ธนชาต กรุงศรีอยุธยาไทย มีสินทรัพย์รวมลดลง 23,025 19,698 และ 19,420 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการลดลงในรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงิน และหลักทรัพย์ซื้อโดยมีสัญญาขายคืน ซึ่งเป็นรายการที่ธนาคารใช้ในการปรับสภาพคล่องของตนเอง ขณะที่ธนาคารที่มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ และเกียรตินาคิน จำนวน 10,389 และ 2,973 ล้านบาทตามลำดับ
|