|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ไอทีวี ดิ้นหาแหล่งเงินใหม่จ่ายค่าสัมปทานคงค้างให้กับสปน. มูลค่า 2.2 พันล้านบาท ก่อนถูกยึดสัมปทานคืน หลังเจอทางตันสถาบันการเงินปฏิเสธปล่อยกู้ และไม่สามารถขายหุ้นเพิ่มทุนได้ เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลเม็ดเงินค่าปรับมูลค่าแสนล้าน ด้าน“สปน.” ยืนกรานพันครั้ง ไม่ตั้งอนุญาโตตุลาการ ตามคำขอของ ไอทีวี เตรียมร่อนหนังสือคัดค้านสำนักอนุญาโตฯ 1-2 วันนี้ คาดโทษไอทีวี หากเล่นตุกติกหนีหนี้ “เลิกสัมปทาน”ทันที
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล กรรมการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 1/2550 ได้มีการประชุมกันเพื่อติดตามความคืบหน้า กรณีการชำระค่าสัมปทานส่วนต่างและค่าปรับจากการปรับผังรายการ ที่ต้องจ่ายให้กับ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. หลังจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2549 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2549 ได้อนุมัติจัดหาเงินเพื่อชำระหนี้ค่าสัมปทานส่วนต่างมูลค่า 2,210 ล้านบาท ว่า ขณะนี้คณะกรรมการบริษัทฯยังไม่ประสบความสำเร็จในการจัดหาแหล่งเงินเพื่อนำไปชำระค่าสัมปทานคงค้างดังกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทฯไม่สามารถขอกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญในตลาดทุนเองได้ให้ความเห็นว่า ไอทีวีไม่สามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering) และการออกหุ้นเพิ่มทุนเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมทุกราย (Right Offering) เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญจากความไม่แน่นอนของจำนวนเงินค่าปรับจากการปรับผังรายการจำนวนเกือบหนึ่งแสนล้านบาท
"เม็ดเงินค่าปรับผังรายการมูลค่ามหาศาล เป็นปัจจัยที่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของไอทีวี หรือแม้แต่ธุรกิจอื่นเองก็คงไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หากต้องเจอกับปัญหาดังกล่าว ดังนั้นจึงส่งผลให้ไอทีวีไม่สามารถระดมทุนในตลาดทุน และสถาบันการเงินเองก็ไม่ยอมปล่อยกู้ เนื่องจากไม่มั่นใจในฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท แต่อย่างไรก็ดี ไอทีวีอยู่ระหว่างการติดต่อหาแหล่งเงินจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมและเจรจากับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เกี่ยวกับแนวทางชำระหนี้ดังกล่าวอยู่"
โดยเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ไอทีวีได้มีหนังสือถึงสปน. เสนอแนวทาง และทางเลือกต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาของบริษัท พร้อมทั้งร้องขอให้สปน. จัดประชุมเพื่อพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมโดยเร็ว ขณะที่สปน. ได้ระบุผ่านสื่อมวลชนว่า จะกำหนดวันประชุมคณะกรรมการประสานงานการดำเนินการตามสัญญาเข้าร่วมงาน และดำเนินการสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตาม หากไอทีวีและสปน. ไม่สามารถตกลงกันหาแนวทางในการแก้ปัญหาได้ และไอทีวียังไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนด สปน. มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยูเอชเอฟได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2550 บริษัทฯได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ เกี่ยวกับข้อเรียกร้องของสปน. เรื่องดอกเบี้ยในค่าสัมปทานส่วนต่างและค่าปรับจากการปรับผังรายการ โดยสถาบันอนุญาโตตุลาการได้รับคำเสนอข้อพิพาทของไอทีวี ไว้เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 ระหว่างไอทีวีกับสปน. แล้ว และเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 สถาบันอนุญาโตตุลาการได้จัดส่งสำเนาคำเสนอข้อพิพาทไปยังสปน. เพื่อให้จัดทำคำคัดค้านคำเสนอข้อพิพาทภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำเสนอข้อพิพาท
"ไอทีวีจะดำเนินการแก้ปัญหาของบริษัทอย่างสุดความสามารถ โดยคณะกรรมการจะมีการประชุมกันทุกสัปดาห์ และจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะๆ ต่อไป"
สปน.ยืนกรานไม่ตั้งอนุญาฯ
นายจุลยุทธ หิริณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าดำเนินการเรียกร้องให้ บมจ.ไอทีวี ดำเนินการตามเงื่อนไขที่ทำผิดสัญญาว่า ในวันที่ 24 ม.ค.นี้จะมีการประชุมร่วมคณะกรรมการประสานงานและดำเนินการระหว่างสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอช เอฟ ซึ่งจะมีผู้แทนจากสำนักอัยการสูงสุดมาร่วมประชุมด้วย โดย คาดว่าจะมีการนำเรื่องที่ บมจ.ไอทีวีจะขอจ่ายค่าสัมปทานค้างจ่ายจำนวน 2.2 พันล้านบาท รวมถึงจ่ายค่าปรับกรณีที่ทำผิดสัญญาจำนวน 9.7 หมื่นล้านบาทเข้าสู่การพิจารณาด้วย เนื่องจาก สปน.ได้ทำหนังสือทวงถามไปแล้ว โดยจะครบกำหนด ในวันที่ 30 ม.ค.นี้
ทั้งนี้นายจุลยุทธ ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกรณีที่ไอทีวีอาจจะขอเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อขอลดการจ่ายค่าปรับที่มีกว่า กว่า 9.7 หมื่นล้านบาทว่า เรื่องนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะต้องขอความคิดเห็นจากคณะกรรมการฯ ก่อน ไม่อยากชี้นำ แต่ถ้าไอทีวียังไม่มีคำตอบหลังจากวันที่ครบกำหนดต้องจ่าย สปน.ก็จะทำหนังสือไปทวงถามทันที
ส่วนกรณีที่บมจ.ไอทีวีส่งเรื่องไปยังสถาบันอนุญาโตตุลาการเพื่อให้ตั้งอนุญาโตตุลาการร่วมกัน นายจุลยุทธ กล่าวว่า ทางสปน.เพิ่งได้รับเรื่องดังกล่าว โดยทาง สปน.ก็จะทำคัดค้านไปยังสำนักอนุญาโตตุลาการฯ ภายใน 1-2 วันนี้ ซึ่งจะขอยืนยันว่า จะไม่ตั้งอนุญาโตฯ อย่างแน่นอน การจะตั้งอนุญาโตฯ หรือไม่นั้นถือเป็นสิทธิของแต่ละหน่วยงานอยู่แล้ว เพราะในสัญญาได้เขียนไว้ชัดเจนว่า หากฝ่ายใดอยากตั้งก็สามารถทำได้ แต่ถ้าฝ่ายใดไม่ต้องการก็สามารถทำคัดค้านไม่ให้ตั้งไปยังสำนักอนุญาโตฯ ได้
“เรายืนยันว่าไม่ตั้งอนุญาโตตุลาการอย่างแน่นอน ต่อจากนี้ก็ขอให้สำนักงานอัยการฯ ดำเนินการทางศาล ด้วยการส่งฟ้องไปยังศาลปกครองได้เลย ก่อนหน้านี้ทางอัยการฯ ได้ส่งหนังสือทวงถามมาแล้ว แต่ทางสปน.ยังไม่ได้ตอบกลับ เพราะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ม.ค.นี้ หากที่ประชุมเห็นว่าอย่างไรเราก็จะเร่งตอบไปให้เร็วที่สุด ทั้งนี้เราจะต้องนำผลของการประชุมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีให้รับทราบด้วย”ปลัด สปน.กล่าว
เมื่อถามว่า การจะส่งหนังสือกลับไปทวงถามการเรียกร้องค่าปรับกว่า 9.7 หมื่นล้านบาทนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงสถานภาพทางการเงินของไอทีวีหรือไม่ นายจุลยุทธ กล่าวว่า ตอนนี้เราก็ดูอยู่แล้วและจำเป็นต้องนำข้อมูลที่เป็นจริงมาพิจารณาอีกรอบ แต่ถ้าบมจ.ไอทีวี ดื้อแพ่งไม่ยอมจ่ายค่าปรับจำนวนดังกล่าว ตามสัญญาก็ระบุไว้ชัดเจนว่า สปน.สามารถบอกเลิกสัญญาสัมปทานได้
|
|
|
|
|