ในที่สุดนักวิจัยก็สามารถสรุปได้ว่า ใช่เพียงแต่ โรคซึมเศร้าซึ่งเป็นโรคทางใจร้ายแรงเท่านั้น
ที่อาจสามารถทำร้ายร่างกายเราได้ แม้แต่เพียงอาการป่วยทางใจที่รุนแรงน้อยกว่าอย่างอาการเครียดเรื้อรัง
ก็สามารถทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนหลายต่อหลายตัว ซึ่งในระยะสั้นแล้วมีประโยชน์
แต่กลับเป็นพิษต่อร่างกายหากคงอยู่เป็นเวลานาน ที่แย่ก็คือ อาการเครียดเรื้อรังดังกล่าวเป็นสิ่งเกือบจะเกิดขึ้นเป็นปกติ
ในชีวิตประจำของคนนับล้านๆ คนทั่วโลก อันเกิดจาก การพยายามจัดการกับแรงกดดันของวิถีชีวิตสมัยใหม่ในยุคนี้
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่กลวิธีต่างๆ ในการลดความเครียดซึ่งช่วยทำให้จิตใจรู้สึกผ่อนคลาย
อันได้แก่ การทำสมาธิ โยคะ และการออกกำลังกายเพื่อการผ่อนคลายอื่นๆ จึงไม่เพียงแต่ช่วยด้านจิตใจเท่านั้น
แต่ยังสามารถช่วยให้ร่างกายของคุณรู้สึกสบายไปด้วย
ปฏิกิริยาทางร่างกายของมนุษย์ที่มีต่อความเครียด ที่เรียกว่าปฏิกิริยา
"สู้หรือหนี" อาจวิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อ ช่วยให้บรรพบุรุษยุคหินของเรา
สามารถจัดการกับโลกที่ยัง ป่าเถื่อนในสมัยนั้นได้ เมื่อเผชิญหน้ากับอันตรายที่อยู่ตรงหน้า
เช่น เสือที่กำลังแยกเขี้ยวพร้อมจะกระโจนเข้ามาขม้ำ หรือศัตรูที่กำลังควงตะบองอย่างบ้าระห่ำ
ร่างกายของเราจำเป็นต้องอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมในทันที เพื่อปกป้องตัวเองหรือเผ่นป่าราบเพื่อเอาชีวิตรอด
ด้วยเหตุนั้น สมองซึ่งกำลังตื่นตกใจ จึงส่งสัญญาณไปยังต่อมหมวกไต ซึ่งตั้งอยู่เหนือไต
เพื่อให้หลั่งฮอร์โมนได้แก่ adrenaline (หรือชื่อทางเทคนิคคือ epinephrine)
และฮอร์โมนกลุ่ม glucocorticoids และส่งสัญญาณไปยังเซลล์ประสาทให้หลั่งฮอร์โมน
norepinephrine สารเคมีอันทรง พลังเหล่านี้ ช่วยทำให้ประสาทรับความรู้สึกของเราเฉียบคมขึ้น
ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น หัวใจเต้นแรงขึ้น ในกระแสเลือดเต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำตาลซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สามารถนำมาใช้ได้ทันที
เมื่ออันตรายที่คุกคามนั้นผ่านพ้นไป ปฏิกิริยาต่างๆ เหล่านี้จะหยุดลงทันที
แต่ในโลกสมัยใหม่ยุคคอมพิวเตอร์ ความเครียดมักจะปรากฏในรูปแบบที่แตกต่างไปจากยุคหินโดยสิ้นเชิง
แต่ทว่าปฏิกิริยา "สู้หรือหนี" ของร่างกายเรากลับยังคงอยู่เหมือนเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงตามลักษณะของความเครียดส่วนใหญ่ที่เราเผชิญในโลกสมัยใหม่
มักเป็นความเครียดที่คงอยู่อย่าง ต่อเนื่องและไม่รุนแรง และมักจะเกิดในสถานการณ์ที่เราไม่อาจจะ
"สู้หรือถอย" ได้ เช่น การเผชิญกับเจ้านายเจ้าอารมณ์ รถติด ทะเลาะกับแฟน
หุ้นตก หรือแม้แต่การรู้สึกว่าคุณไม่สามารถควบคุมอะไรๆ ในชีวิตได้อีกต่อไปแล้ว
แม้ว่าฮอร์โมนบางตัวที่ร่างกายหลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียดจะไม่คงอยู่ในระดับสูงตลอดเวลา
แต่ฮอร์โมนกลุ่ม glucocorticoids จะยังคงอยู่ในระดับสูงแม้ความเครียดนั้นจะผ่านพ้นไปแล้ว
โดยเฉพาะฮอร์โมน cortisol ซึ่งเป็นฮอร์โมนตัวหนึ่งในกลุ่มนี้ สามารถจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ
และอาจทำให้โรคมะเร็งและโรคติดเชื้ออื่นๆ เลวร้ายลง อย่างไรก็ตาม การวัดผลต่อร่างกายที่เกิดจากความเครียดเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ผลการศึกษาหลายชิ้นบ่งชี้ถึงผลดีของการนำกลวิธีคลายเครียดต่างๆ มาใช้กับผู้ป่วย
ในการศึกษาผู้ป่วยโรคเรื้อนครั้งหนึ่งได้แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกผู้ป่วยได้ทำสมาธิร่วมกับการรักษา
ส่วนกลุ่มหลังไม่ได้ทำสมาธิ ผลปรากฏว่า กลุ่มแรกเห็นผลในการรักษาเร็วกว่า
ผลการศึกษาอีกหลายชิ้นแสดงว่า ผู้ป่วยที่สวดมนต์เป็นประจำและผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีทัศนคติเป็นบวก
หรือสามารถระบายความโกรธที่มีต่อโรคร้ายที่ตนเป็นออกมาได้ มักจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ป่วยด้วยโรคเดียวกันที่ไม่ได้มีการสงบจิตใจหรือระบายความอัดอั้นตันใจออกมา
ผลการศึกษาต่างๆ ข้างต้นเป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่เวลาเผชิญกับโรคร้ายแรงมากๆ
จริงๆ กลวิธีคลายเครียดต่างๆ จะสามารถช่วยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับการรักษาแผนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม หากการทำสมาธิ การสวดมนต์และการออกกำลังกายประเภทคลายเครียดต่างๆ
สามารถกำจัดแรงกดดันออกไปจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราได้ แม้จะเพียงทีละเล็กละน้อยเท่านั้นก็ตาม
แต่เมื่อเวลาผ่าน ไปนานๆ เข้า ก็ย่อมจะมีส่วนช่วยให้เรามีชีวิตที่มีสุขภาพ
ดีขึ้นได้