วันที่ได้พบกับโตชิโอะ โอกิฮาชิ (Toshio Okihashi) รองประธานอาวุโสธุรกิจแบรนด์
au บริษัท KDDI และทีมผู้บริหารอีก 3-4 คน ในช่วงเช้าของ
วันที่ 12 ธันวาคมปีที่แล้ว ที่สำนักงานใหญ่ของ KDDI กลางกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นอาคารขนาดกลางๆ
ตกแต่งแบบเรียบง่าย ด้านล่างเป็นพื้นที่โล่ง
มีเกาอี้รับแขกไม่กี่ตัว ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ เป็นพิเศษ ยกเว้นป้ายชื่อ KDDI
สีทอง ด้านหน้าประตูอาคาร
จากนั้นลิฟต์ก็พาพวกเรามาถึงห้องประชุมขนาดใหญ่ ที่มีเพียงโต๊ะประชุมรูปไข่ที่ผู้บริหารของ
KDDI ใช้บอกเล่าถึงความสำเร็จที่เขาได้รับมาจากการเข้าสู่เทคโนโลยี 3G
"เป็นความเสี่ยงของ KDDI อยู่พอสมควร ใน ขณะนั้น ระบบ PDC ยังนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย
และไม่มีการรับรองใดๆ ว่า ระบบใหม่นี้จะได้รับความสนใจจากผู้ใช้มากน้อยแค่ไหน"
โอกิฮาชิบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีต
ภาพซ้อนระหว่างวัฒนธรรมเก่ากับความ ทันสมัยของเทคโนโลยี ยังเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน
ท่ามกลางความล้ำสมัยของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ยังคงเป็นพลังขับเคลื่อนธุรกิจที่สำคัญของ
ประเทศแห่งนี้พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ร้านปาจิงโกะอันเก่าแก่ยังคงเป็นสถานที่ผ่อนคลายยามว่าง
ของชาวญี่ปุ่นต่างวัยที่มาใช้บริการ ร้านบะหมี่ราเมน ตามสไตล์ดั้งเดิมยังคงมีดาษดื่นตามตรอกซอกซอย
มหานครใหญ่แห่งนี้ยังคงเป็นที่ตั้งของบริษัทรถยนต์อย่าง โตโยต้า ฮอนด้า
มิตซูบิชิ หรือเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นสินค้าอันทรงอิทธิพลแผ่ขยายไปทั่วโลก
พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารญี่ปุ่นใช้เครื่องปาล์มในมือ บันทึกรายการอาหารจากลูกค้า
ออนไลน์ข้อมูลไปยังห้องครัว เป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้มาก พอๆ กับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ๆ ที่ออกวางขาย ต่อเนื่องทุกเดือน
แม้ทุกวันนี้ ญี่ปุ่นยังซึมซับเอาอิทธิพลความบันเทิง และสิ่งปลูกสร้างของ
ตะวันตกอย่างมากมาย ดิสนีย์แลนด์โตเกียวที่ยังคงหนาแน่นไปด้วยผู้คน หอโตเกียวที่กระเดียดไปทางหอไอเฟลของฝรั่งเศส
ปรากฏหราอยู่ใจกลางกรุง เดวิด เบคแฮม ยังคงเป็นพรีเซนเตอร์ยอดฮิตภาพยนตร์โฆษณาสินค้าต่างๆ
บนหน้าจอ ทีวี และโปสเตอร์ขนาดใหญ่ริมถนน
แต่สำหรับธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ญี่ปุ่นกลับมีแบบฉบับเป็นของตัวเอง
ในขณะที่ยุโรป และหลายประเทศทั่วโลกเลือกใช้ระบบ GSM สำหรับการให้บริการโทรศัพท์มือถืออย่างแพร่หลาย
แต่ญี่ปุ่นกลับพัฒนาระบบ PDC (Personal Digital Cellular) คลื่นความถี่ 1500
เมกะเฮิรตซ์ ใช้งานภายในประเทศเป็นของตัวเอง แม้จะเป็นระบบปิดมีใช้แค่ในประเทศ
แต่ก็สร้างความสำเร็จขึ้นอย่างมากมาย จากการสร้างการเรียนรู้ใหม่ให้กับคนของเขากับการใช้โทรศัพท์มือถือท่องเว็บ
ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่นมี 3 รายใหญ่ NTT DOCOMO บริษัท KDDI
และ J-Phone ซึ่งรายหลังมีบริษัท VODAPHONE ของอังกฤษร่วมถือหุ้น รายใหญ่สุดในตลาด
คือ NTT DOCOMO ที่สร้างชื่อจากบริการ i-mode จนกล่าวขานไปทั่วโลกจากสูตรการคำนวณส่วนแบ่งรายได้ให้กับผู้ให้บริการเนื้อหา
จนมีข้อมูลหลากหลาย ใช้ท่องเว็บ ดาวน์โหลดเกม ดูข้อมูลที่หลากหลาย ทำให้
คนญี่ปุ่นเข้าใจคำว่า "โมบายอินเทอร์เน็ต" ได้ก่อนใคร
ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ค่าย ต่างก็ช่วงชิงตลาดระหว่างกันอย่างเข้มข้น
ผู้นำในตลาดที่สร้างเรื่องราวความสำเร็จจนโด่งดังไปทั่วโลก คือ บริการ I-mode
ของ NTT DOCOMO ครองตลาดสูงสุด 58.5% ตามมาด้วย J-Phone มีส่วนแบ่ง 18% มีบริการ
Tuka ของ KDDI รั้งท้ายด้วยส่วนแบ่ง 5.4%
อาคารขนาดใหญ่ของ NTT DOCOMO ตั้งอยู่โดดเด่นใจกลางกรุงโตเกียว และเคาน์เตอร์ขายของ
NTT DOCOMO ในห้างสรรพสินค้าที่ยังมีลูกค้ามาซื้อรายละ 3-4 เครื่อง เป็นบทพิสูจน์ได้ในทางหนึ่ง
ในขณะที่ผู้ให้บริการในยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหาเงิน ที่ถูกใช้ไปอย่างมากมายในการช่วงชิงคลื่น
ความถี่ที่ใช้กับระบบ 3G แต่เมืองใหญ่แห่งนี้ก้าวเข้าสู่การใช้โทรศัพท์มือถือยุคที่
3 ได้ก่อนใคร
ในญี่ปุ่นมีประชากร 130 ล้านคน มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ 72,081,000
ราย หรือคิดเป็น 60.1% ของประชากร เทียบเป็นอัตราส่วนแล้ว มีโทรศัพท์มือถือใช้งาน
1 เครื่องต่อประชากร 2 คน
ยอดผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในปีที่แล้ว ที่จะครบในเดือนมีนาคมนี้ ถูกคาดหมายว่ามี
13 ล้านคนเกินครึ่งในจำนวนนี้จะเป็นผู้ใช้บริการระบบ 3G
การเติบโตของโทรศัพท์มือถือของประเทศนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้ที่มีอยู่มากมาย
แต่พัฒนา ไปสู่บริการด้านเนื้อหาที่มีให้เลือกมากมาย จากตัวการ์ตูนที่วิ่งเล่นบนหน้าจอกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว
ในค่ำคืนท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ ของต้นฤดูหนาว ชายหนุ่มถ่ายรูปแฟนสาวด้านล่างหอโตเกียว
ด้วยโทรศัพท์มือถือจอภาพสีที่มีกล้องถ่ายรูป ถัดไปไม่ไกลนัก หนุ่มวัยรุ่นหยิบโทรศัพท์มือถือจอสี
เล่นเกมดาวน์โหลดมาจากเกมนับหมื่นๆ ที่มีให้เลือกจากผู้ให้บริการจำนวนมาก
ระหว่างรอรถไฟฟ้าใต้ดิน คือสิ่งที่ถูกบันทึกการเดินทางครั้งนี้ในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีวิวัฒนาการ
เทคโนโลยีมากที่สุดแห่งหนึ่ง
ด้วยความที่อยู่ในอันดับรั้งท้าย เรื่องราวของ KDDI ไม่ได้ถูกกล่าวขานมากนัก
จนเมื่อก้าวเข้าสู่โทรศัพท์มือถือยุคที่ 3 KDDI ตัดสินใจเปิดเกมนี้ก่อนใคร
au เป็นชื่อบริการในระบบ 3G ที่ย่อมาจากคำว่า access to you มีสัญลักษณ์รูปไข่
เป็นโลโกที่ใช้กับบริการ และร้านค้า
ตัวเลขยอดขาย 4 เลขหมายบริการ au ในช่วง 14 เดือนแรกของการเริ่มต้น บริการในยุค
3G แซงหน้าคู่แข่งสำคัญอย่าง NTT DoCoMo ที่ยังมียอดขายอยู่เพียง แค่ 1.5
แสนเลขหมาย ทำให้เราได้สัมผัสกับเรื่องราวความสำเร็จของพวกเขา ที่มีความท้าทายอยู่ไม่น้อย
ในขณะที่คู่แข่งทั้งสองราย คือ NTT DoCoMo และ J-Phone เลือกใช้ระบบ WCDMA
(Wideband Code Division Multiple Access) นำมาให้บริการในระบบ 3G โดยที่
KDDI เป็นรายเดียวที่เลือกใช้ระบบ CDMA 2000 1X
โตชิโอะ โอกิฮาชิ เป็นผู้บริหารวัยกลางคนของ KDDI ที่มีบุคลิกตามแบบฉบับ
ผู้บริหารองค์กรธุรกิจของญี่ปุ่นทั่วไป ความเคร่งขรึมของเขา ดูจะตรงข้ามกับความร้อนแรง
และสีสันของการให้บริการในตลาดโทรศัพท์มือถือที่พวกเขาต้องเผชิญ
โอกิฮาชิบอกว่า กุญแจความสำเร็จของ KDDI แซงหน้า DoCoMo ในช่วงเริ่มต้น
มาจากปัจจัย 3 ส่วนหลักๆ เริ่มตั้งแต่เรื่องของเทคโนโลยีที่ KDDI ตัดสินใจ
เปลี่ยนจากระบบ PDC มาใช้เทคโนโลยี CDMA ONE
"มีความเสี่ยงอยู่มาก เพราะระบบ PDC ในเวลานั้นยังเป็นที่นิยมอยู่มาก แต่
ก็ถือว่าเรามาถูกทาง"
การตัดสินใจในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับก้าวเข้าสู่บริการ
3G ที่ KDDI เลือกเอามาตรฐานของ CDMA 2000 1X มาใช้ในการให้บริการในระบบ
3G
"ข้อดีของเทคโนโลยีระบบ CDMA ONE ใช้ร่วมกับโครงข่ายของระบบ CDMA 2000
1X ทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก และเป็นระบบต่อเนื่อง การติดตั้งทำได้เร็ว
และเปิดให้บริการเร็วกว่าคู่แข่ง" โอกิฮาชิบอก
ในช่วงต้น ดูเหมือนว่า KDDI เดินมาถูกทาง เพราะบริการ 3G ของ KDDI ในชื่อ
au ทำส่วนแบ่งตลาดให้กับ KDDI เพิ่มขึ้นมาเป็น 18% เมื่อเทียบยอดขายเดือนต่อเดือนแล้ว
มียอดขายแซงหน้าคู่แข่งอย่าง NTT DoCoMo ที่ให้บริการในชื่อ FOMA ที่ยอดขายยังไม่กระเตื้องมียอดผู้ใช้
1.5 แสนเลขหมาย
ส่วน J-PHONE เลือกใช้ WCDMA และใช้ชื่อว่า J-Sky แต่เปิดให้บริการ ล่าช้ากว่าเพื่อน
คือในวันที่ 20 ธันวาคม 2545
เครื่องลูกข่ายในระบบ 3G ที่นอกจากจะต้องเป็นโทรศัพท์ที่มีจอสี ถ่ายภาพเคลื่อนไหว
รับส่งอีเมล ที่ถือเป็นบริการยอดฮิตของคนญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่บริการ FOMA
และ au มีให้ไม่แตกต่างกัน แต่ขนาดของเครื่องที่เล็กกว่า และราคาถูก กว่า
เป็นอีกปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้ au เป็นทางเลือกของผู้ใช้ในระบบ 3G มาก
กว่าบริการ FOMA ของ NTT DoCoMo
โทรศัพท์มือถือจอสี ดู และส่งภาพเคลื่อนไหวแบบวิดีโอ เป็นฟังก์ชั่นปกติที่หาซื้อได้ทั่วไป
รุ่นล่าสุดที่ KDDI ออกวางตลาดปลายปีที่แล้ว ที่ได้ไปสัมผัส เป็นรุ่นที่มีเสียงเรียกเข้าเป็นเพลง
ไม่ใช่แค่ทำนอง แต่มาพร้อมเสียงนักร้อง
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นชาวญี่ปุ่น ใช้มือถือค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
ถ่ายรูปส่งให้เพื่อน หรือแม้แต่ใช้เป็นอุปกรณ์ประชุมทางไกล หรือวิดีโอคอนเฟอ
เรนซ์ จนถึงกับเป็นกฎห้ามใช้โทรศัพท์มือถือบนรถไฟฟ้า เพราะรบกวนคนรอบข้าง
กลยุทธ์การทำตลาดที่ KDDI ที่ให้ผู้ใช้บริการเรียนรู้ก่อนล่วงหน้าแต่ไม่คาดหวัง
เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ KDDI ใช้ในการเปิดบริการ 3G ด้วยการให้ผู้ใช้บริการ
ได้สัมผัสและคุ้นเคยกับฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ระดับการส่งถ่ายข้อมูลค่อนข้างช้า
และเมื่อถึงเวลาเปิดให้บริการด้วยความเร็วที่สูงขึ้นกว่าเดิม ในเวลานั้นผู้ใช้ต่างคุ้นเคย
กับแอพพลิเคชั่นต่างๆ ไปก่อนหน้านั้นแล้ว
แม้จะไม่ได้ชมห้องทดลอง หรือเยี่ยมชมสำนักงานอย่างทั่วถึง แต่ KDDI ก็นำเอาผู้ให้บริการเนื้อหามาสาธิตให้ดู
ข้อที่ลืมไม่ได้ก็คือ บริการด้านเนื้อหาที่ KDDI ต้องให้น้ำหนักไม่แพ้ส่วนอื่นๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ระบบ 3G ที่จะนำไปสู่บริการรับส่งข้อมูลความเร็วสูง
วิดีโอคลิปบนโทรศัพท์มือถือ
ez web คือ ชื่อแหล่งรวมบริการเนื้อหาที่ว่านี้ ซึ่ง KDDI ใช้วิธีเดียวกับ
ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั่วโลกคือ ไม่ทำเอง แต่ใช้วิธีร่วมมือกับเจ้าของเนื้อหา
หรือผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น โดยแบ่งรายได้กัน ซึ่งถือ เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของผู้ให้บริการในญี่ปุ่น
ทำให้บริการโมบายอินเทอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลาย ในญี่ปุ่น มีบริษัทให้บริการเนื้อหาและแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์
มือถือไม่น้อยกว่า 50,000 ราย
บริการเนื้อหาอย่างเกม ดูภาพเคลื่อนไหวเป็น บริการมาตรฐานที่ไม่ว่าผู้ให้บริการรายไหนมีให้ไม่แตกต่างกัน
แต่สิ่งที่ทำให้ au เหนือกว่าคู่แข่ง อยู่ที่ บริการที่เกี่ยวกับการค้นหาตำแหน่ง
แอพพลิเคชั่นและบริการเนื้อหาที่ KDDI นำเสนอมาแสดง ล้วนแต่เป็นบริการบอกตำแหน่งทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีของ Location base service และบางบริการก็นำเอาระบบค้นหาพิกัดตำแหน่งด้วยดาวเทียม
และ GPS (Global Positioning System) มาใช้ด้วย
NAVITIME คือ หนึ่งในผู้ให้บริการที่ว่านี้พวกเขาเป็นเจ้าของโปรแกรมค้นหาเส้นทาง
และแผนที่ ใช้ค้นหาตำแหน่ง จากนั้นเริ่มนำมาพัฒนาใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ
เริ่มกับบริการ au ของบริการ KDDI เป็นรายแรก
"บริการของเรา คือ การนำไฟล์แผนที่มาไว้ บนมือถือ" เคสุเกะ โอนิชิ (Keisuke
Ohnishi) ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท NAVITIME บอก
คนญี่ปุ่นเวลานี้ สามารถกดปุ่มจากโทรศัพท์มือถือ เพื่อหาข้อมูลได้ว่าจะเดินทางด้วยการเดิน
นั่ง รถไฟฟ้า หรือรถยนต์ไปชอปปิ้ง หาร้านอาหาร หรือ กลับบ้าน วิธีไหนจึงประหยัดเวลาได้มากที่สุด
ใช้เวลาเดินทางเท่าไร มีคำนวณออกมาให้ แถมยังมีแผนที่บอกทางให้เบ็ดเสร็จ
เรียกว่ามีบริการนี้ก็ไม่ต้องกลัวหลงทาง
บริการของ NAVITIME พัฒนาขึ้นล่าสุด สามารถรู้เส้นทางเดินรถกี่โมง ใช้เวลาเดินทางถึงสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดในเวลากี่นาที
และเข้าประตูที่เท่าไร ขึ้นสถานีไหน และเดิน หรือต่อรถอะไรจึงจะถึงจุดที่ต้องการเดินทางไป
ข้อมูลคลาดเคลื่อนประมาณ 10%
"ถ้าเป็นผู้สูงอายุจะกำหนดให้ช้าลง และถ้าเป็นนักธุรกิจกำหนดให้เร็วขึ้น
โดยเลือกเวลาออกเดินทาง เช่น ดูหนังที่โยโกฮามา ต้องออกเดินทางกี่โมง จาก
นั้นไปกินข้าวที่กินซ่า จะต้องออกกี่โมง" โอนิชิบอก
หญิงสาวดาวน์โหลดแผนที่พร้อมรูปร้านอาหารส่งไปให้แฟนหนุ่ม เพื่อไปตามที่นัดหมาย
หรือนักธุรกิจไปพบลูกค้าในสถานที่ไม่เคยไปมาก่อน ก็สามารถ ใช้บริการนี้ช่วยให้การเดินทางง่ายขึ้น
อัตราค่าบริการ 300 เยนต่อเดือน จะใช้กี่ครั้งก็ได้
ทุกวันนี้มีลูกค้าใช้บริการ 50,000 ราย เมื่อความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการพัฒนาโทรศัพท์มือถือระบบ
3G ที่มีปุ่มเข็มทิศ พอกดปุ่มเสร็จ แผนที่จะแสดงออกมาทันที
บริการนี้ นอกจากต้องมีโปรแกรมที่เป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาแล้ว ยังต้อง
มีระบบแผนที่ออนไลน์ข้อมูลตารางเดินรถไฟ รถเมล์ ที่ขาดไม่ได้คือ ข้อมูลการจราจรที่ต้อง
update ข้อมูลกันทุก 1 นาที เพราะการเดินทางในแต่ละช่วงเวลา แตกต่างกัน
หากจะนำมาใช้ในเมืองไทยคงต้องคิดหนัก เพราะรถไฟฟ้าออกตรงตามเวลากำหนด ข้อมูลการจราจรเป็นแบบออนไลน์
และแผนที่ก็มีให้บริการ เรียกว่า ต้องแม่นยำพอสมควร
ก่อนจากกัน ผู้บริหารของ KDDI ทิ้งท้ายไว้ว่า ตุลาคมปีนี้จะมีการลงทุน
อีกขั้น คือการนำเอาระบบ CDMA 2000 1X EVDO เข้ามาให้บริการ ถือเป็นไม้เด็ดสำหรับพวกเขาในตลาดมือถือยุคที่
3 เพราะจะทำให้ส่งข้อความเร็วขึ้นไปอีก การดาวน์โหลดวิดีโอ ดาวน์โหลดเกมขนาดใหญ่
วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จะเป็นเรื่องง่ายขึ้นไปอีก
หลังจากสัมผัสกับ 1 ในผู้ให้บริการโทรศัพท์ มือถือของญี่ปุ่นแล้ว มาถึงตลาดการค้าโทรศัพท์มือถือ
ที่ในย่านการค้าสำคัญ 2 แห่ง ที่ชินจูกุ และฮากิอา บาระ
ห้าง Bic P Kan ในย่านชินจูกุ ย่านการค้าโทรศัพท์มือถือแห่งแรกที่เราได้สัมผัส
ห้างสรรพสินค้า แห่งนี้มีขนาด 6 ชั้น ขายสินค้าทั่วไป แต่เน้นหนักที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์
เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ละชั้นจะแบ่งกันตามชนิดของสินค้า โทรศัพท์มือถืออยู่ทางเข้าห้างชั้น
2 ถัดเข้าไปเป็นมุมของกล้องดิจิตอล ที่มีทั้งคนญี่ปุ่น และต่างชาติสนใจเป็นพิเศษ
ถัดขึ้นไป ชั้น 3 จะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หากต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค
ต้องขึ้นไปบนชั้น 4
โทรศัพท์มือถือของทั้ง 3 ค่าย ถูกจัดวางเรียง ตามชั้นวางสินค้าแบบเปิดโล่ง
ให้ทดลองกดปุ่มใช้งาน และมีป้ายบอกราคาชัดเจน แต่ละค่ายจะมีชั้นเป็นของตัวเอง
ใช้สีสัน และแผ่นป้ายเป็นตัวดึงดูดลูกค้า
เครื่องที่วางขาย ยังมีทั้งระบบ PDC และระบบ 3G ไม่ว่าจะเป็นระบบไหนก็ตาม
เกือบทุกรุ่นเป็นจอสี ราคาของโทรศัพท์มือถือที่นี่มีตั้งแต่ 1 เยน (100 เยน
เท่ากับ 36 บาท) แต่มีเงื่อนไขใช้งานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ราคาแพงสุดตกเกือบ
20,000 เยน ส่วนใหญ่เป็นรุ่นในระบบ 3G
เนื่องจากเป็นระบบโทรศัพท์มือถือจะผลิตและขายในประเทศเท่านั้น จะ มีแต่ยี่ห้อคาสิโอ
ซันโย โตชิบา เคียวเซร่า โซนี่-อีริคสัน ทุกยี่ห้อจะมีฟังก์ชั่น การใช้งาน
เช่น จอสี ถ่ายภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว ระบบบอกพิกัดที่ตั้ง จาวา และมีเสียงเรียกเข้าแบบเพลงในแผ่นซีดี
ฮากิอาบาระ เป็นอีกย่านการค้าที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมเครื่องใช้ไฟฟ้า
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ มีตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าอย่างดี ที่มีเครื่องใหม่
ล่าสุดวางขาย ไปจนกระทั่งร้านค้าย่อยที่วางขายแบกะดิน เหมือนกับคลองถม ส่วนใหญ่แบบสินค้ามือสอง
โน้ตบุ๊คขนาดเล็ก สภาพยังดี วางขายบนพื้นถนน ราคาคิดเป็นเงินไทยไม่กี่บาท
แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของญี่ปุ่นจะกินยาวมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วก็ตาม
แต่ในย่านนี้ยังคงคึกคักเต็มไปด้วยกำลังซื้อ นอกจากเครื่องใช้ไฟฟ้า กล้องถ่ายรูปดิจิตอล
สินค้ายอดนิยมของคนต่างชาติ และคนญี่ปุ่นเอง
สำหรับโทรศัพท์มือถือเต็มไปด้วยความคึกคัก อันเป็นผลมาจากการแข่งขัน นอกจากจะมีร้านสาขาของ
au ร้าน DoCoMo ตั้งอยู่สลับกับห้างสรรพสินค้า สองฝั่งทางเดินริมถนน มีซุ้มโปรโมชั่นที่มีพนักงานของทั้ง
2 ค่าย ออกมาร้องเรียกลูกค้า
การมาดูตลาดโทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่นของผู้สื่อข่าวจากไทยในครั้งนี้ ไม่ได้ถูกทำขึ้นอย่างไร้จุดหมาย
แต่เป็นตัวอย่างความสำเร็จ ที่ฮัทชิสัน เทเลคอมมิวนิเคชั่น ประเทศไทย คาดหวังว่าจะมีบทพิสูจน์ที่ไม่แตกต่างกันนัก
โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ควอคอมม์ เจ้าของเทคโนโลยี ผู้คิดค้นระบบ CDMA ที่ต้องการผลักดันให้ระบบ
CDMA สำเร็จในทุกๆ ตลาดในโลก เพราะหมายถึงการแพร่หลาย ของตัวเทคโนโลยี
นี่คือสีสันของญี่ปุ่น สีสันของโทรศัพท์มือถือ