เผยทุนสัญชาติสิงคโปร์ที่ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนเกินร้อยละ 5 รวมทั้งสิ้น 39 บริษัท มูลค่าลงทุน 1.5 แสนล้าน แต่หากนับรวมที่ถือหุ้นต่ำกว่า 5% แล้วทั้งรัฐบาลและเอกชนสิงคโปร์ลงทุนในตลาดหุ้นไทย 5 แสนล้าน เผยธุรกิจแบงก์อยู่ในกำมือสิงคโปร์ วงการอสังหาฯ ชี้ไทยเสียเปรียบบานแม้ได้เทคโนโลยีแต่ไม่คุ้ม โบรกเกอร์ห่วงการเดินสายไม่หยุดของ "ทักษิณ" ทำลายบรรยากาศและกระทบต่อการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ
มาตรการตอบโต้ทางการทูตของรัฐบาลไทยต่อรัฐบาลสิงคโปร์ ภายหลังจากที่รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์อนุญาตให้อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยเข้าพบ แม้ว่าหลายฝ่ายจะออกมาประเมินว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบทั้งต่อทางด้านเศรษฐกิจรวมถึงทางด้านตลาดทุนมากนัก แต่สิ่งที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนค่อนข้างมากคือ ความไม่มั่นใจต่อการเคลื่อนไหวที่ตามมาของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ยังมีอย่างต่อเนื่องในอีกหลายประเทศว่าจะสะท้อนเป็นความกังวลของนักลงทุนต่างประเทศด้วยการขายสุทธิออกมาอย่างชัดเจนเมื่อใด
หากประเมินมูลค่าการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนจากสิงคโปร์พบว่า การเข้ามาถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนที่มีสัดส่วนเกินกว่า 5% มีมูลค่ามากกว่า 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.7% เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดรวม หรือ มาร์เกตแคป ของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งอยู่ที่ 5.4 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามหากนับรวมการเข้ามาลงทุนในหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่มีสัดส่วนต่ำว่า 5% เข้าไปด้วยพบว่ามูลค่าเงินลงทุนของนักลงทุนจากสิงคโปร์ในตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าสูงเกือบ 5 แสนล้านบาท โดยครอบคลุมในธุรกิจโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ เกษตรแปรรูป และนิคมอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ยังครอบครองธนาคารยูโอบีรัตนสินกับธนาคารสแตนดาร์ชาเตอร์ดนครธน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารทหารไทยผ่านดีบีเอส และเป็นผู้ถือหุ้นทั้งทางตรงและใช้ตัวแทน (นอมินี) ในธนาคารขนาดใหญ่ อย่างธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 5% ผู้ถือหุ้นธนาคารเหล่านี้อยู่ในเครือข่ายของเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ และจีไอซี
สำหรับบริษัทเอกชนภายใต้เครือข่ายที่รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ในเงื่อนไขการบริหารงานต้องอยู่ภายใต้นโยบายรัฐบาลสิงคโปร์ มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 ราย เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ได้แก่ CITIBANK NOMINEES SINGAPORE PTE LTD-FORT, DBSBANK A/C 003, UBS SECURITIES , HSBC (SINGAPORE)NOMINEES PTE LTD, LLC-HFS CUSTOMER SEGREGAT , HSBC BANK PLC-CLIENTS GENERAL A/C , DBS NOMINEES A/C SELETARINVESTMENT PTE , UBS AG INGAPORE,BRANCH-PB SECURITIES CL,SINGAPORE TELECOM INTERNATIONAL PTE LTD , GOVERNMENT OF SINGAPOREINVESTMENT CORPO ,NOMURA SINGAPORE LIMITED-CUSTOMER SEGREG เป็นต้น
เริ่มรุกคืบตลาดหุ้นปี 48
ในส่วนของการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเริ่มมีสัญญาณการเข้ามาที่ชัดเจนเมื่อปี 2548 โดยมีการเข้ามาซื้อสุทธิมากกว่า 1.18 แสนล้านบาท ขณะที่ในปี 2549 ยอดซื้อสุทธิอยู่ที่ 8.34 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้ปัจจุบันสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ประมาณเกือบ 30% โดยหากรวมการถือหุ้นผ่าน NVDR พบว่ามีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ประมาณเกือบ 35% โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 8 ม.ค.50 พบว่ามูลค่าการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติรวมการถือหุ้นผ่าน NVDR มูลค่ารวม 1.59 ล้านล้านบาท หรือ 29.44% โดยเป็นการลงทุนในกลุ่มธนาคารมากที่สุดถึง 27% ตามมาด้วยพลังงาน 20% อสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้างประมาณ 14.6%
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวถึงมาตรการการตอบโต้ของรัฐบาลไทยต่อสิงคโปร์ภายหลังการนำเสนอข่าวการเข้าพบรองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ของอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยว่า เรื่องดังกล่าวหวังว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากนัก เพราะถือว่าเป็นเรื่องทางการเมืองซึ่งนักลงทุนน่าจะเข้าใจในเรื่องที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ คงเป็นเรื่องที่ยากที่จะประเมินตัวเลขการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนจากสิงค์โปร์แม้ว่าจะเพียงแค่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากประเทศสิงคโปร์ถือว่าเป็นทางผ่านของเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลกเพราะถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคเอเชียทำให้เม็ดเงินจากทั่วโลกไม่ว่าจะจากสหรัฐอเมริกา หรือจากกลุ่มประเทศในยุโรปไหลเข้ามาพักเพื่อตัดสินใจเลือกที่จะลงทุนในประเทศต่างๆทั่วเอเชีย
"คงประมาณเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยโดยแยกเพียงนักลงทุนที่มาจากสิงคโปร์เพียงประเทศเดียวยาก เพราะสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางของเงินจากทั่วโลกที่มาพักก็จะแตกแขนงแยกไปลงทุนในประเทศอื่นๆทั่วโลก แต่ส่วนตัวเชื่อว่าเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติที่มาจากสิงคโปร์อยู่ในระดับที่ค่อนข้างมากอย่างแน่นอน"นายก้องเกียรติกล่าว
แหล่งข่าวผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญกับตลาดทุนไทยในตอนนี้ คือ การไม่ได้รับปัจจัยลบเข้ามาเพิ่มโดยเรื่องการใช้มาตรการตอบโต้ทางการฑูตแม้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดหุ้นแต่หากความกังวลเกิดขึ้นในวงที่กว้างมากขึ้น อดีตนายกรัฐมนตรียังเดินทางไปพบกับตัวแทนของประเทศอื่นๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือไม่แล้วทำให้ประเทศไทยต้องมีการตอบโต้ด้วยมาตรการทางการฑูตเรื่องดังกล่าวอาจจะส่งผลทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่ปัจจุบันลดลงแล้วลดลงไปได้อีก
ทั้งนี้ มาตรการที่ประเทศไทยใช้กับรัฐบาลสิงคโปร์ ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าในอนาคตเรื่องดังกล่าวจะส่งผลต่อตลาดหุ้นหรือไม่แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดหุ้นไทยก็ตาม ซึ่งหากเรื่องดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนจากสิงคโปร์ที่ไม่ใช่เป็นเพียงนักลงทุนในประเทศสิงคโปร์เท่านั้นแต่หมายถึงเม็ดเงินจากทั่วโลกที่ไหลเข้ามาเพื่อใช้สิงคโปร์เป็นทางผ่านของเงินในการสร้างผลตอบแทนจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างรุนแรงแน่นอน
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วง10 ปีที่ผ่านมา (2540-2549)นักลงทุนต่างประเทศมีการซื้อสุทธิ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วงที่นักลงทุนต่างประเทศมีการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยสูงสุดเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป)จำนวน 1.7 ล้านล้านบาท หรือ 30%ของมาร์เกตแคปตลาดตลาดหุ้นไทย
ปี 2549 เม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนลดลงเหลือ 1.42 ล้านล้านบาท แต่หากรวมกับที่ถือผ่านบริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ที่มีการถืออยู่ 2.5 แสนล้านบาทหรือ 5% ของมาร์เกตแคปรวมเป็น 1.5ล้านล้านบาท
ในส่วนของการถือครองหุ้นบริษัทจดทะเบียนพบว่ามี 40 บริษัทที่มีนักลงทุนต่างประเทศถือหุ้นเกิน 66% แต่ได้รับการยกเว้น ส่วนอีก 40 บริษัท มีความเสี่ยงที่จะต้องมีการพิสูจน์ว่ามีนักลงทุนไทยถือหุ้นแทนหรือไม่
นายวิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่แต่ละช่วงของภาวะตลาดหุ้น โดยเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายที่จะระบุได้อย่างชัดเจนว่าการเข้ามาลงทุนในแต่ละช่วงเป็นการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนสัญชาติใดเนื่องจากต้องหลายบริษัทเป็นการซื้อผ่านบริษัทรับฝากหลักทรัพย์
ทั้งนี้ ในยุครัฐบาลทักษิณ ประเทศไทยยังมีข้อตกลงความร่วมมือด้านตลาดทุนกับสิงคโปร์ ได้แก่ การผลักดันซื้อขายอนุพันธ์ระหว่างกัน การสนับสนุนการพัฒนาระหว่างกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กับกองทุนเทมาเส็ก ร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เป็นเครือข่ายวิสาหกิจ และขยายเพดานหุ้นต่างชาติลงทุนธนาคารพาณิชย์ไทย
อสังหาฯ เสียเปรียบสิงคโปร์
ในช่วง 3-4 ปีหลังจากที่เศรษฐกิจไทยฟื้นจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เริ่มมีกลุ่มทุนจากต่างประเทศ ขยายการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทย และทุนสิงคโปร์นับได้เริ่มขยายอิทธิเข้าสู่ตลาดในเมืองไทย โดยเฉพาะนักลงทุนสิงคโปร์เริ่มให้ความสนใจกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย เนื่องจากราคายังมีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต ขณะที่อัตราผลตอบที่จะได้รับค่อนข้างสูง ความเสี่ยงต่ำหากเทียบกับธุรกิจอื่น ซึ่งการเข้ามาลงทุนมีทั้งมารูปแบบต่างๆ ทั้งกองทุน ในนามบริษัท นอมินี ร่วมทุนกับบริษัทคนไทย รวมไปถึงเข้ามาลงทุนเอง
โดยส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนในบริษัทพัฒนาอสังหาฯขนาดใหญ่ทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และอยู่นอกตลาด โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ อย่าง บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาลงทุนทั้งในบริษัทช่วงหลังวิกฤติกว่า 25% แต่ปัจจุบันลดลงไปเหลือประมาณ 15%
ยังมีบริษัทขนาดใหญ่อย่าง บริษัท ที.ซี.ซี.แคปปิตอลแลนด์ จำกัด ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งร่วมทุนกับ แคปปิตอล แลนด์ ของสิงคโปร์ ถือหุ้นถึง 49% โดยในช่วงที่ผ่านมาพัฒนาไปแล้วทั้งหมด 6 โครงการมีมูลค่ารวมทุกโครงการกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ที.ซี.ซี. แคปปิตอล แลนด์ รับหน้าที่บริหารงานก่อสร้างให้แก่โครงการต่างๆของ ทีซีซี แลนด์ มีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังร่วมทุนกับบริษัทกรุงเทพบ้านและที่ดิน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟค จำกัด (มหาชน) โดยมีกลุ่มเฟรเซอร์แอนด์นีฟ จากสิงคโปร์ ถือหุ้นในสัดส่วนเกือบ 40% ซึ่งล่าสุดบริษัทได้เพิ่มทุนจาก 1,500 ล้านบาทเป็น 2,100 ล้านบาท โดยปัจจุบันเฟรเซอร์ได้ใส่เงินเข้ามาแล้วเกือบ 300 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้กรุงเทพบ้านฯ ยังได้ตั้งบริษัทร่วมทุน โดยร่วมกับบริษัท เซ็นเตอร์พอยท์ พร็อพเพอร์ตี้ บริษัทในเครือเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ พัฒนาโครงการ"เดอะพาโน" ซึ่งตามแผนเดิมมีทั้งคอนโดมิเนียม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โรงแรมมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท บนถนนพระราม 3 พัฒนาภายใต้ชื่อบริษัท ริเวอร์ไซด์ โฮมส์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด อีกทั้งยังมีแผนที่จะพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในปีนี้อีกหลายโครงการ
ส่วนบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่น มีทุนจากสิงคโปร์เข้ามาลงทุนเกือบจะทุกบริษัท เพียงแต่มากน้อยแตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังมีเข้ามาลงทุนเต็ม 100% อย่างบริษัท โฮเต็ล พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด เจ้าของโครงการอาคารชุดพักอาศัย "เดอะเม็ท" คอนโดมิเนียมหรูราคาตารางเมตรละกว่า 1 แสนบาท ซึ่งผู้บริหารไม่ได้แสดงท่าทีอย่างใดต่อมาตรการของรัฐบาลไทย นอกจากนี้บริษัทดังกล่าวยังไม่มีแผนที่จะพัฒนาโครงการอสังหาฯในประเทศไทยเพิ่มแต่อย่างใด
หนึ่งในผู้บริหารที่มีกลุ่มทุนสิงคโปร์ร่วมทุน ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนค่อนข้างกังวลต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ไม่มีใครจะบอกได้ว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ถามว่าถ้าคุณเป็นนักลงทุนจะบอกได้หรือเป่าว่า ทางโน่น(สิงคโปร์) เค้าคิดอะไรอยู่ ซึ่งเงินที่เข้ามาลงทุนอยู่ก่อน ใช่ว่าจะถอนเงินคืนเลย ส่วนเงินใหม่ที่จะเข้ามาก็คงต้องว่ากันไป
"ผมอยากให้รัฐบาลคิดอีกทีว่า เกมทางการเมืองและทางธุรกิจควรแยกให้ออก เพราะผู้ลงทุนที่เข้ามาลงทุนอย่างบริสุทธิใจก็ยังมีอยู่ หากรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนเรื่องนโยบายเกี่ยวกับการลงทุนของต่างชาติยิ่งจะทำให้นักลงทุนลังเลไม่กล้าลงทุน ซึ่งไม่เกิดเฉพาะนักลงทุนสิงคโปร์เท่านั้นแต่จะเกิดกับนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด" แหล่งข่าวกล่าว
ผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามไปยังผู้บริหารบริษัท ที.ซี.ซี. แคปิตอลแลนด์ จำกัด แต่ได้ข้อมูลว่า ได้มีสื่อมวลชนจำนวนมากต้องการสอบถามข้อมูลกับนาย โสมพัฒน์ ไตรโสรัส รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ทางผู้บริหารไม่ต้องการจะให้ข้อมูลกับสื่อใดสื่อหนึ่ง และไม่ต้องการจะทำให้เกิดประเด็นหรือสร้างปัญหาให้แก่ประเทศชาติ
แหล่งข่าวยอมรับว่า ในระยะที่ผ่านมา ตลาดอสังหาฯที่สิงคโปร์ให้น้ำหนัก จะอยู่ในเมืองหรือศูนย์กลางธุรกิจ(ซีบีดี) เนื่องจากมีความถนัดและต้องการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้แก่สินทรัพย์ ดังนั้น จึงเปรียบเสมือนเป็นการปั่นราคาที่ดินให้สูงขึ้นไปในอีกทางหนึ่งด้วย เพราะด้วยศักยภาพกำลังเงินแล้ว ทำให้มีโอกาสพัฒนาโครงการที่มีมูลค่าสูง และอยู่ในทำเลที่ดี ส่งผลให้ราคาขายค่อนข้างสูง
"อย่าลืมว่า เวลาโครงการของกลุ่มทุนสิงคโปร์เข้ามา หรือร่วมทุนกับไทยนั้น เครือข่ายของสิงคโปร์หรือธุรกิจอื่นๆจะได้รับผลประโยชน์ ทั้งเรื่องสถาปนิก มีการนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาใช้ แม้ว่าเอกชนไทยจะได้รับส่วนนี้ แต่ก็น้อยนิด สุดท้ายแล้ว เงินตราของไทยก็ไหลออกนอก" แหล่งข่าวกล่าว
|