Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2536
"ขุมทรัพย์ที่ชายแดน"             
โดย วิลเลี่ยม เมลเลอร์
 

   
related stories

"ถนนทุกสายมุ่งสู่คุนหมิง"
"ธุรกิจรถยนต์ที่ชายแดน"
"ความฝันของจาง หวาน หยุน ฝากไว้กับทางรถไฟสายเก่า"

   
search resources

คาสแมน




เมื่อสองปีก่อน มหาเศรษฐีนักธุรกิจชาวอินโดนีเซียคนหนึ่ง ซึ่งมีกิจการอยู่ในสิงคโปร์ได้เดินทางเข้าไปในป่าลึกทางตอนเหนือของพม่า เพื่อแสวงหาลู่ทางในการขยายธุรกิจป่าไม้ของเขา ผลจากการเดินทางครั้งนั้นไม่ใช่สัมปทานป่าไม้ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนแคบ ๆ ยาว 1 กิโลเมตรที่ขนานไปกับถนนโคลน ซึ่งทอดตัวเป็นเส้นพรมแดนระหว่างจีนกับพม่า

ดูเผิน ๆ พื้นที่นี้ไม่น่าจะเป็นแหล่งรองรับการลงทุนจากต่างประเทศได้ เพราะเป็นชายแดนที่ห่างไกลของมณฑลยูนนานที่ยื่นเข้าไปเหมือนไส้ติ่งในประเทศพม่า ใกล้ ๆ กันนั้นเป็นถนนของพม่าที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อลำเลียงทหารจีนไปสู้รบกับญี่ปุ่น ถนนสายนี้เริ่มต้นจากเมืองลาเจียว (LASHIO) ทางตอนเหนือของพม่า คดเคี้ยวไปตามภูเขาและป่าไม้สักไปสิ้นสุดที่คุนหมิง เมืองหลวงของยูนนาน เป็นเส้นทางขนส่งฝิ่น อาวุธ หยกและพลอย แน่นอนว่าเป็นของเถื่อนทั้งนั้น พื้นที่ในแถบนี้เป็นดินแดนต้องห้ามสำหรับบุคคลภายนอกและการค้าขายที่ถูกต้องตามกฎหมาย

เมื่อนักธุรกิจชาวอินโดนีเซียคนนี้ ซึ่งมีชื่อว่า คาสแมน เล่าถึงการลงทุนของเขาให้เพื่อนนักธุรกิจชาวจีนในสิงคโปร์ฟัง ใคร ๆ ก็บอกว่าเขาเสียสติไปแล้ว แต่คาสแมนไม่หวั่นไหว เขาทุ่มเงิน 30 ล้านเหรียญก่อสร้างศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน 4 ชั้นขึ้นมาบนที่ดิน 1,040 ตารางเมตรซึ่งอยู่ริมถนนชายแดนฝั่งประเทศจีน

มาถึงวันนี้ เมื่อจีนเปิดพรมแดนสำหรับการค้า คาสแมน ซึ่งมีอายุ 57 ปี ก็คุยด้วยความภูมิใจว่า "หลุ่ยลี่" (RUILI) เมืองชายแดนซึ่งศูนย์การค้าของเขาตั้งอยู่ เป็นเมืองที่เป็นท่าเรือในประเทศที่ใหญ่ที่สุดของจีน เขาเรียกมันว่า "เซินเจิ้น แห่งภาคตะวันตกเฉียงใต้"

ถ้าคำพูดของคาสแมนจะเกินความจริงไปบ้าง เขาก็มีเหตุผลของเขา คาสแมนเป็นหนึ่งในกลุ่มนักธุรกิจเอเซียที่มีสายตายาวไกลซึ่งคาดการณ์ได้ถูกว่าพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนที่ติดกับพม่า จะเป็นหนึ่งในวงกลมความเติบโตของโลกแห่งใหม่ เขาทุ่มเงินทุน 30 ล้านเหรียญลงไปในดินแดนที่ห่างไกลจากความเจริญแห่งนี้ และเป็นพื้นที่น่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุด ในอาณาบริเวณวงกลมเศรษฐกิจแห่งใหม่นี้ ซึ่งครอบคลุมภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน พม่า ไทยและลาวอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ บางครั้งรถบรรทุกต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมงสำหรับระยะทางไม่ถึง 200 กิโลเมตร บนถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่นในหน้าแล้ง และเละเป็นโคลนในหน้าฝน

แต่ศักยภาพในทางเศรษฐกิจของผืนแผ่นดินนี้มีอยู่มหาศาล ทั้ง 5 มณฑลทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนมีประชากรรวมกัน 220 ล้านคน ครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในเสฉวน ซึ่งเป็นมณฑลที่มีพลเมืองอาศัยอยู่มากที่สุดของจีน ถ้าทั้ง 5 มณฑลนี้รวมกันแยกตัวเป็นอิสระจากจีน ก็จะกลายเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นที่สี่ของโลก

ส่วนไทย พม่าและลาวก็มีประชากรรวมกัน 105 ล้านคน ถ้ารวมกับ 5 มณฑลที่ว่าของจีนแล้ว ก็จะเป็นตลาดขนาด 325 ล้านคน ซึ่งพอฟัดพอเหวี่ยงกับกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรปและนาฟต้าที่กำลังตั้งไข่อยู่

สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ วงกลมเศรษฐกิจทางภาคตะวันตกเฉียงใต้นี้เป็นตลาดการค้าโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาจากปัจจัยด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ด้านภูมิศาสตร์-ระยะทางจากบริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนไปยังท่าเรือในพม่าและไทยใกล้กว่าเซี่ยงไฮ้และกวางโจวมาก เมืองหลุ่ยลี่อยู่ห่างจากปักกิ่ง 4,000 กิโลเมตร แต่ห่างจากร่างกุ้ง เมืองหลวงพม่าแค่ 1,100 กิโลเมตรเท่านั้น การส่งสินค้าไปยุโรปโดยใช้เส้นทางลงใต้สู่มหาสมุทรอินเดียหรืออ่าวไทย ร่นระยะทางได้มากกว่า 9,000 กิโลเมตรและเวลาเดินทางนับสัปดาห์เมื่อเทียบกับการส่งไปลงเรือที่เมืองท่าชายฝั่ง ทางฝั่งตะวันออกของจีน นักวิชาการพม่าชื่อ MYATHAN แห่งสถาบันเอเซียอาคเนย์ศึกษาที่สิงคโปร์กล่าวว่า "พม่า ลาวและไทยกำลังฟอร์มตัวกันเป็นแลนด์บริดจ์เลยเข้าไปในดินแดนจีนที่อยู่ห่างทะเล" มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นประตูเข้าสู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีพรมแดนร่วมกับพม่าและลาวเป็นระยะทาง 2,700 กิโลเมตร ส่วนประเทศไทยแม้จะไม่ติดกับจีนแต่ก็ห่างออกไปไม่ถึง 200 กิโลเมตร

ด้านประวัติศาสตร์-พื้นที่เขตวงกลมแห่งการเติบโตทางทิศตะวันตกเฉียงใต้นี้ เป็นชุมทางการค้านานาชาติมานานนับพันปี ก่อนที่นักการเมืองจากแดนไกลจะมาลากเส้นกำหนดพรมแดนให้ ระหว่างสมัยราชวงศ์จิ๋น ของจีน (221-207 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งเป็นเวลาอย่างน้อยที่สุด 200 ปี ก่อนที่เส้นทางสายไหมอันลือชื่อที่เชื่อมระหว่างฉางอันกับยุโรปจะเกิดขึ้น เส้นทางสายไหมตอนใต้ที่มีคนรู้จักน้อยกว่าก็มีอยู่แล้ว ทางสายนี้เริ่มจากเฉิงตู เมืองหลวงปัจจุบันของเสฉวน ผ่านตอนเหนือของพม่า ใกล้ ๆ กับเมืองหลุ่ยลี่ไปสิ้นสุดที่แคว้นอัสสัมของอินเดีย นอกจากนี้ยังมีเส้นทางย่อยหลายสายแตกแขนงเข้าไปในส่วนที่เป็นดินแดนลาวและไทยในทุกวันนี้

การค้าบริเวณนี้ดำเนินไปเป็นเวลาถึง 2,000 ปี ก่อนที่จะหยุดชะงักลงในศตวรรษที่ 19 และ 20 เพราะผลจากลัทธิอาณานิคมและสงครามเย็น ทำให้มีการขีดเส้นพรมแดนแบ่งพื้นที่นี้ออกเป็นดินแดนของหลาย ๆ ประเทศ เมื่อมีการเปิดพรมแดนขึ้นอีกครั้งในปัจจุบัน นักธุรกิจอย่างเช่นคาสแมน ก็คาดการณ์ว่า ยุคทองของการค้าจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งตามเส้นทางโบราณนี้ ฟาน เจี้ยนหัว นักประวัติศาสตร์แห่ง YUNAN ACADEMY OF SOCIAL SCIENCES กล่าวว่า "เส้นทางสายไหมฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว"

ความผูกพันทางวัฒนธรรม-พลังที่ขับเคลื่อนกิจกรรมการค้าในวงกลมแห่งความเติบโตนี้คือ พ่อค้านักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล แต่ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของพื้นที่แถบนี้คือ มีคนเผ่า "ไต" ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน ซึ่งเมื่อรวมกับพลเมือง 57 ล้านคนของประเทศไทยแล้ว ก็จะเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรม และภาษาใกล้เคียงกัน ซึ่งมีขนาดเท่ากับกลุ่มคนที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสหรือเยอรมนีในยุโรป ไกรสร จิตธรธรรม แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า "สำหรับประเทศไทย การเปิดพรมแดนเหล่านี้เพื่อการค้า ก็เหมือนกับการรวมเยอรมนีตะวันออกเข้าด้วยกันกับตะวันตก เพียงแต่ว่า เราไม่มีปัญหาอย่างที่เยอรมนีประสบอยู่หลังการรวมชาติ"

ลักษณะตลาดที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน-ตลาดในพม่าและลาว ซึ่งคนยังยากจนอยู่ มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมราคาถูกจากจีน ส่วนคนจีนที่เริ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้วก็ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้นและทันสมัยจากไทย ทั้งไทยและจีนต่างก็ต้องการไม้ แหล่งพลังงานน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า และแรงงานราคาถูกจากพม่าและลาว ในปัจจุบันนักธุรกิจภาคเหนือของไทยกำลังเจาะเข้าไปในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เพื่อแสวงหาตลาดสำหรับสินค้ารวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวด้วย

พื้นที่ที่เป็นหัวใจของวงกลมแห่งความเติบโตทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนนี้ คือเขตปกครองตนเองเดฮองและสิบสองปันนา จุดที่มีความสำคัญมากที่สุดในปัจจุบันคือจุดผ่านแดน 2 จุดที่เมืองหลุ่ยลี่และวันดิง ทางการจีนประเมินว่าสินค้าที่ผ่าน 2 จุดนี้ มีสัดส่วน 75% ของการค้าระหว่างชายแดนทั้งหมดของยูนนาน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 400 ล้านเหรียญ

ที่ JIEGAO ซึ่งอยู่ในหลุ่ยลี่ได้รับการจัดตั้งเป็นเขตการค้าพิเศษ ซึ่งนักลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีอากร รวมทั้งสัญญาเช่าที่ดินก็มีเงื่อนไขที่ดีกว่าที่เซินเจิ้นมาก DAO AN JU ผู้ว่าการเขตเดฮองคุยว่า "ที่นี่ก็เปรียบเหมือนฮ่องกง ถึงแม้ว่าขนาดจะต่างกัน แต่หลักการเดียวกันคือ การค้าเสรี"

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เดฮองอยู่บนเส้นทางระหว่างคุนหมิงกับเมืองลาเจียวของพม่า ซึ่งเป็นต้นทางรถไฟที่จะต่อไปยังมัณฑะเลย์ ร่างกุ้ง และท่าเรือ เมือง BASSIEN ที่เป็นเมืองท่าสำหรับการค้าขายกับจีนอย่างเป็นทางการ

ชายแดนฝั่งตรงข้ามกับเดฮองในพื้นที่ของพม่าคือถนนหลักอีกสายหนึ่งชื่อว่า เลโดซึ่งวิ่งขึ้นไปทางเหนือจนถึงอินเดีย ปัจจุบันมีรถวิ่งผ่านพรมแดนตรงเมืองหลุ่ยลี่วันละไม่ต่ำกว่า 2,200 คันและที่วันดิงซึ่งอยู่ห่างออกไป 26 กิโลเมตรอีกวันละ 1,000 คัน

ความคึกคักของตลาดกลางคืนที่เมืองหลุ่ยลี่เป็นประจักษ์พยานถึงความเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของเมืองชายแดนแห่งนี้ คนที่มีทำมาค้าขายที่นี่ มีทั้งชาวพม่าในชุดโสร่งที่นำหยกข้ามแดนมาขาย พ่อค้าผ้าไหมและงาช้างจากอัสสัม พ่อค้าจากบังคลาเทศ เนปาล ภูฐาน ตลอดจนถึงปากีสถาน

ห่างจากตลาดไม่กี่กิโลเมตรเป็นลานจอดรถที่มีรถบรรทุกจากจีนและพม่าจอดอยู่เต็ม สินค้าที่มากับรถบรรทุกคือไม้สัก หนังสัตว์ อาหารทะเล เครื่องไฟฟ้าจากไต้หวันและฮ่องกง เครื่องสำอางและสินค้าอุปโภค บริโภคจากไทย รถยนต์จากญี่ปุ่นและเยอรมนี ส่วนสินค้าที่มากับรถบรรทุกจีนมีทุกอย่าง ตั้งแต่เครื่องยนต์ดีเซลไปจนถึงเข็มหมุด

ถ้าเดฮอง คือศูนย์กลางของวงกลมของความเติบโตด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีนในวันนี้ มันก็กำลังถูกท้าทายจากเมืองชายแดนหลาย ๆ เมืองที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศสซึ่งยังมีอำนาจปกครองเวียดนามอยู่ในตอนนั้น ใฝ่ฝันที่จะใช้แม่น้ำโขงเป็นประตูหลังเข้าสู่จีน แต่ก็เป็นแค่ความฝันเท่านั้น ผู้ที่บรรลุความฝันนี้ กลับเป็นคนเอเซียด้วยกันเอง ทุกวันนี้มีเรือบรรทุกสินค้าระวางต่ำกว่า 100 ตัน ขนปูนซีเมนต์ล่องลงมาจากเชียงรุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของสิบสองปันนา มาขึ้นท่าที่อำเภอเชียงของ ในจังหวัดเชียงราย

ขบวนเรือที่กำลังจะตามมาก็คือ เรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว ถ้าแผนการของรัฐบาลจีนที่จะระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขงลุล่วงไปได้ บริษัทท่องเที่ยวทั่วของจีนและไทยก็หวังว่าจะสามารถเปิดเส้นทางท่องเที่ยวตามลำโขง โดยใช้เรือขนาด 2000 ตันล่องระหว่างเมืองซือเหมาที่อยู่ถัดเชียงรุ้งไปทางเหนือกับเวียงจันทน์ และจะหยุดตามท่าเรือริมโขง 6 แห่งของจีน กับอีก 4 แห่งของไทย

เส้นทางเดินเรือเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ โครงการที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในดินแดนแถบนี้ เส้นทางขนส่ง คมนาคมอื่น ๆ ได้แก่

ถนน-ขณะนี้กำลังมีการก่อสร้างถนนวงแหวนที่จะเชื่อมทุกประเทศ ยกเว้นเวียดนามเข้าด้วยกัน ส่วนบนสุดของถนนวงแหวนสายนี้คือเชียงรุ้ง ด้านใต้คือเชียงราย เส้นทางยาว 250 กิโลเมตรที่ยืดออกไปทางทิศตะวันออกจะเชื่อมเมืองต้าหลัวซึ่งอยู่ตรงชายแดนจีน-พม่าเข้ากับอำเภอแม่สอด โดยผ่านเชียงตุงเมืองหลวงของรัฐฉาน ส่วนเส้นทางทิศตะวันออกจะผ่านหลวงน้ำทา บนชายแดนยูนนาน-ลาว ไปสิ้นสุดที่ห้วยทราย จากห้วยทรายจะมีเรือเฟอร์รี่ข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งไทยที่เชียงของ

เมื่อใดที่โครงการนี้สำเร็จไปได้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นปี 1996 การเดินทางด้วยรถยนต์จากกรุงเทพเป็นระยะทาง 1,300 กิโลเมตรไปถึงคุนหมิงก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้

การเดินทางทางอากาศ-ปัจจุบันมีเที่ยวบินจากเชียงใหม่ไปคุนหมิงสัปดาห์ละ 2 เที่ยว และที่เชียงรายกำลังมีการขยายสนามบินให้เป็นสนามบินนานาชาติ เพื่อรองรับเครื่องโบอิ้ง 747 ที่อำเภอแม่สาย ASHOK JAGOTA นักธุรกิจท่องเที่ยวและพ่อค้าสิ่งทอ กำลังพยายามตั้งสายการบิน "โรยัล ออร์คิด" โดยการหนุนหลังจากนักธุรกิจไทย เพื่อเปิดเส้นทางบินระหว่างเชียงราย เชียงตุง ตองคะยี พะกันและมัณฑะเลย์

นอกจากนั้น ยังมีการเสนอให้เปิดเที่ยวบินจากเชียงใหม่และเชียงรายไปยังเชียงรุ้งซึ่งมีสนามบินแล้ว กับเมืองหลวงพระบาง ในเขตเดฮอง สนามบินใหม่ที่มังชา เปิดใช้งานมาได้ 20 เดือนแล้ว สนามบินแห่งนี้เกิดขึ้นด้วยการผลักดันของผู้ว่า DAO ซึ่งมีเชื้อชาติไตด้วย เมื่อสามปีก่อน ทุกวันนี้การเดินทางโดยเครื่องบินจากคุนหมิงไปเดฮองใช้เวลาเพียง 50 นาที หากเดินทางด้วยรถยนต์ต้องใช้เวลา 2-3 วัน สำหรับระยะทาง 900 กิโลเมตร ขณะนี้ DAO กำลังเคลื่อนไหวให้สนามบินมังชาเป็นสนามบินนานาชาติด้วยและการเปิดบริการเฮลิคอปเตอร์จากมังชาไปหลุ่ยลี่

สายการบินยูนนาน แอร์ไลน์ซึ่งเป็นของรัฐ เพิ่งจะรับเครื่องโบอิ้ง 737 มาประจำการ 4 ลำ โดยใช้วิธีบาร์เตอร์ แลกแร่ดีบุกกับโบอิ้ง ยูนนานแอร์ไลน์ บินไปกรุงเทพสัปดาห์ละ 5 วัน

ทางรถไฟ-การเชื่อมเมืองสำคัญ ๆ ในวงกลมแห่งความเติบโตด้วยทางรถไฟ เป็นแผนการที่ดูเหมือนจะมุ่งหวังในผลสำเร็จมากที่สุดในบรรดาแผนการทั้งหมด ในปี 1970 จีนสามารถสร้างทางรถไฟจากเฉิงตู ผ่านเทือกเขาที่ทุรกันดารของเสฉวนไปถึงคุนหมิงได้สำเร็จ ซึ่งเท่ากับเป็นการลบล้างคำพูดของหลี่ไป๋ กวีเอกในราชวงศ์ถังที่ว่า การไปให้ถึงเสฉวนยากยิ่งกว่าไปสวรรค์ เป็นที่คาดกันว่า ในปี 1995 ทางรถไฟนี้จะขยายไปทางตะวันตกจนถึงดาลิ

เป้าหมายในขณะนี้คือ การต่อทางรถไฟให้ผ่านเดฮองและข้ามพรมแดนไปบรรจบกับทางรถไฟของพม่าที่เมืองลาเจียว "เป็นไปได้ที่แผนการนี้จะเป็นจริงในชั่วชีวิตของผม เราอาจจะได้เห็นก่อนสิ้นศตวรรษนี้ด้วยซ้ำ" DAO ซึ่งอายุ 58 ปีแล้วกล่าวยืนยัน

สำหรับลาว สะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงจากหนองคาย ก็มีพื้นที่ที่กันไว้สำหรับสร้างทางรถไฟไปถึงเวียงจันทน์ที่อยู่ห่างออกไป 23 กิโลเมตรได้ ซึ่งจะทำให้สามารถบรรทุกผู้โดยสารและสินค้าจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ผ่านไทยตรงไปยังเวียงจันทน์ได้

ขณะที่นักการเมืองยังนั่งฝันหวานถึงโครงการในอนาคตที่วาดไว้สวยงาม นักธุรกิจและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็เดินหน้าไปก่อนแล้ว ทุกวันนี้ในเส้นทางระหว่างเชียงรายกับเชียงรุ้ง เต็มไปด้วยรถบรรทุกเก่า ๆ ที่บรรทุกสินค้าน้ำหนักถึง 35 ตันของพ่อค้า สินค้าส่วนใหญ่จะต้องผ่านดินแดนพม่า และจะต้องเสียค่าผ่านทางให้กับพวกกบฎว้า ซึ่งคุมเส้นทางช่วงเชียงตุงถึงชายแดนยูนนานอยู่ การเรียกค่าคุ้มครองเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลพม่าไม่ได้ให้ความสนใจที่จะจัดการให้หมดไป เพื่อให้มีการค้าขายข้ามพรมแดนเป็นไปได้โดยสะดวก

อันที่จริงแล้ว ความตั้งใจของคนท้องถิ่นในการขจัดเงื่อนไขเรื่องพรมแดนประเทศ ซึ่งกำหนดจากนักการเมืองในเมืองหลวงที่ห่างไกล มีผลในการสลายอำนาจของรัฐสมัยใหม่อย่างสำคัญ ในด้านธุรกิจการค้า ปรากฏการณ์ "ข้ามรัฐ ลอดรัฐ" นี้ ยิ่งทำให้บทบาทของรัฐบาลส่วนกลางไม่มีความหมายเลย เช่นกรณีของหอการค้าเชียงราย ที่ได้สร้างความสัมพันธ์กับหอการค้าสิบสองปันนานั้นเกิดขึ้นล่วงหน้าก่อนที่รัฐบาลชวน หลีกภัยจะไปทำข้อตกลงแบบเดียวกันนี้กับรัฐบาลจีนระหว่างเยือนปักกิ่งด้วยซ้ำไป

ความสนใจของภาคธุรกิจไทยที่มีต่อเพื่อนบ้านทางตอนเหนือ ซึ่งไม่ได้สังกัดอยู่ในกลุ่มอาเซี่ยนนั้นทำให้สมาชิกอาเซี่ยนอื่น ๆ เฝ้ามองด้วยความกังวลใจ ทั้งๆ ที่หนึ่งในกลุ่มอาเซี่ยนอย่างสิงคโปร์เอง ก็แสดงความกระตือรือร้นในการอ้าแขนรับประเทศจีนที่อยู่นอกกลุ่มอาเซี่ยนอย่างเปิดเผย

ตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก เป็นแรงจูงใจที่ทำให้ไทยต้องให้ความสนใจกับประเทศเพื่อนบ้านตอนเหนือ อย่างไม่ต้องใส่ใจว่า จะเป็นอาเซี่ยนหรือไม่เป็น เพราะตัวเลขการค้าชายแดนอย่างเป็นทางการที่เปิดเผยกันในปัจจุบัน แม้จะมีมูลค่าสูง แต่ทุกคนก็รู้ว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมูลค่าการค้าที่เกิดขึ้นจริงๆ อย่างมากก็แค่ 50% ส่วนที่เหลือคือ การค้าที่ไม่ได้ผ่านจุดผ่านแดนที่เป็นทางการ ในเดฮองที่เดียวมีจุดผ่านแดนเล็ก ๆ นับร้อยแห่งที่ยังคงใช้รถจักรยานและแรงงานคนขนส่งสินค้า

ประเทศที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการค้าข้ามชายแดนที่เป็นไปอย่างเสรีคือจีน เนื่องจากสามารถระบายสินค้าจำนวนมากจากคุนหมิง ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาขายที่นี่ได้ สินค้าเหล่านี้มีราคาถูก เพราะต้นทุนการผลิตของจีนยังต่ำอยู่ และนี่คือสัญญาณสำหรับประเทศไทยว่า จีนคือคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดในอนาคตอันใกล้นี้

ปณิธิ ตั้งผาติ รองประธานหอการค้าจังหวัดตากวัย 43 ปี แสดงความไม่สบายใจต่อเรื่องนี้ โดยเฉพาะในประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนของเงินจ๊าตในตลาดมืด ที่พ่อค้าจีนให้ราคาดีกว่าไทย คือ 3 จ๊าตต่อ 1 บาท ขณะที่พ่อค้าไทยที่แม่สอดกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน 5 จ๊าตต่อ 1 บาท "สินค้าจีนคุณภาพสู้ของเราไม่ได้ แต่ราคาถูกกว่า" ปณิธิกล่าว

แต่อนันต์ เหล่าธรรมทัศน์ เลขานุการหอการค้าเชียงรายวัย 35 ปี ไม่สู้เป็นห่วงนัก เขากล่าวว่า "เราชอบการท้าทาย เราอยู่ในระบบทุนนิยมโลกมานานกว่าจีน เรามีการตลาดและการบริหารที่ดีกว่า"

อนันต์มีเหตุผลที่จะมีความมั่นใจเช่นนี้ เพราะสนามบินเชียงรายได้รับการขยายเป็นสนามบินนานาชาติเรียบร้อยแล้ว ราคาที่ดินในตัวเมืองก็ขยับสูงขึ้นถึง 20 เท่าตัวในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา ที่ดินซึ่งมีราคาไร่ละไม่ถึง 25,000 บาท เมื่อสิบปีก่อน ปัจจุบันซื้อขายกันในราคา 6 ล้านกว่าบาท ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในอนาคตทางเศรษฐกิจของเชียงรายได้เป็นอย่างดี

ส่วนที่แม่สายก็กำลังเติบโต โดยเฉพาะหลังจากพม่าเปิดพรมแดนให้นักท่องเที่ยวเข้าไปได้เมื่อปีที่แล้ว หลังจากนั้นราคาที่ดินก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะที่ดินที่อยู่ในรัศมีครึ่งกิโลเมตรจากชายแดนมีราคาแพงจนซื้อไม่ลงแล้ว อีกพื้นที่หนึ่งกำลังพัฒนาไปอย่างน่าทึ่งคือ เมืองท่าขี้เหล็กที่ชายแดนพม่า ตรงข้ามกับแม่สาย เจ้าของร้านค้าที่นี่ไม่รับเงินจ๊าต รับเงินบาทเพียงสกุลเดียว

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในภูมิภาคนี้ไม่ได้มีแต่ด้านที่ดีเพียงด้านเดียว การเปิดเส้นทางการค้าอีกครั้งหนึ่ง คือการเปิดพื้นที่ที่ซ่อนตัวจากอิทธิพลของโลกภายนอกมาเป็นเวลากึ่งศตวรรษ ผลในด้านลบที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดพรมแดนของจีนและพม่าคือ หญิงสาวชาวไตจะหลั่งไหลเข้ามาเป็นสินค้าใหม่ของธุรกิจการค้ากามในไทย

ผลกระทบอีกข้อหนึ่งคือ ผลของการพัฒนาต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแผนการของจีนที่จะระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขง แต่ไม่ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไร การพัฒนาก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว และไม่มีทางที่หยุดถอยไปเหมือนเดิมอีกแล้ว ปู จินฟุ รองประธานเขตเศรษฐกิจจิเกาของเดฮองกล่าวว่า "มันก็เหมือนหม้อข้าว ซึ่งตั้งอยู่บนเตาไฟ รอให้ข้าวสุกเท่านั้น"

ความคาดหวังถึงความรุ่งเรืองของภูมิภาคนี้เกิดขึ้นและแทรกซึมไปถึงประชาชนในระดับล่างแล้ว หลี่ เจิ้น โส่ว นายกเทศมนตรีเมืองหลุ่ยลี่พูดถึงคืนวันอันขมขื่นที่ชาวนาต้องข้ามไปหางานทำในพม่า และหญิงสาวหน้าตาดีปฏิเสธที่จะแต่งงานกับคนจีนด้วยกันเพราะอยากฝากชีวิตไว้กับสามีชาวพม่ามากกว่า

ทุกวันนี้ คนหนุ่มสาวจากส่วนอื่น ๆ ของจีนพากันเดินทางมาที่เดฮอง เมื่องหวง ซิน หัว วัย 26 จากบ้านในคุนหมิงไปเรียนที่สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ในกวางโจว ครอบครัวของเธอคาดว่าเธอจะหางานทำที่นั่น แต่หลังจากจบการศึกษาด้านอิเลคโทรนิคส์ หวงและสามี หวาง เซิน ชิน วัย 29 ก็กลับมายูนนาน และมุ่งหน้าสู่เมืองหลุ่ยลี่ซึ่งห่างจากคุนหมิง 900 กิโลเมตร ทั้งคู่เปิดร้านบนถนนหน้าชายแดนจีน-พม่า ขายสินค้าหัตถกรรมทุกอย่างตั้งแต่ต่างหูหยกราคาถูก ๆ ไปจนถึงตะเกียบงาช้างฝีมือคนอินเดีย คู่ละ 500 เหรียญ

สามี ภรรยาคู่นี้เชื่อเช่นเดียวกับคาสแมนว่าดินแดนสามเหลี่ยมทองคำมีอนาคตในระยะยาวที่ดีกว่าพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของจีน หวางพูดถึงการลงทุนทำธุรกิจหนังสัตว์กับต่างชาติ โดยใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ในการฟอกหนัง และใช้หนังวัว หนังควายจากพม่าเป็นวัตถุดิบ

WANG อธิบายเหตุผลที่เขาเลือกมาอยู่ที่นี่แทนกวางโจวว่า "ผมยังหนุ่ม และที่นี่คือดินแดนใหม่ที่มีศักยภาพที่ยังไม่ได้นำออกมาใช้ มันเป็นที่ที่ผมจะทดสอบตัวเอง" นี่คือความท้าทายที่จะดึงดูดนักธุรกิจหนุ่มสาวชาวเอเซียมาสู่เส้นทางสายไหมสายเก่า ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดินแดนที่ห่างไกลและเต็มไปด้วยภยันตราย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us